วัคซีนปอดอักเสบ

วัคซีนปอดอักเสบ

วัคซีนปอดอักเสบ (Pneumococcal Vaccine) เป็นวัคซีนป้องกันโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส นิวโมเนีย (Streptococcus Pneumoniae) อย่างโรคปอดอักเสบ ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพที่มีความรุนแรงและอาจส่งผลให้สมองถูกทำลายหรือเสียชีวิตได้ โดยวัคซีนจะช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในการกำจัดเชื้อแบคทีเรียภายในร่างกาย แม้จะไม่สามารถป้องกันโรคได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ช่วยลดอาการที่อาจเกิดขึ้นหลังการติดเชื้อ

วัคซีนปอดอักเสบ

ทั้งนี้ วัคซีนปอดอักเสบจะผลิตมาจากเชื้อแบคทีเรียที่ตายแล้ว จึงไม่ก่อให้เกิดโรคจากเชื้อดังกล่าว โดยวัคซีนที่ใช้ในปัจจุบันจะมีด้วยกัน 2 ชนิด ดังนี้ 

1. วัคซีนปอดอักเสบชนิด 13 สายพันธุ์ (Pneumococcal Conjugate Vaccine: PCV13) ใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เด็กอายุมากกว่า 2 ปีที่มีโรคประจำตัวบางประการ และผู้สูงอายุบางรายที่ผ่านการพิจารณาจากแพทย์

2. วัคซีนปอดอักเสบชนิด 23 สายพันธุ์ (Pneumococcal Polysaccharide Vaccine: PPSV23) ใช้ในผู้มีอายุ 2-64 ปีที่มีโรคประจำตัวบางประการ ผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้มีอายุ 19-64 ปีที่สูบบุหรี่

เกี่ยวกับวัคซีนปอดอักเสบ

กลุ่มยา วัคซีนป้องกันโรค
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ ป้องกันโรคจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส นิวโมเนีย
กลุ่มผู้ป่วย เด็ก ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาฉีด
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้วัคซีนปอดอักเสบเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายานี้สามารถส่งผ่านทางน้ำนมและเป็นอันตรายต่อทารกหรือไม่ ดังนั้น ผู้ที่ตั้งครรภ์ กำลังวางแผนตั้งครรภ์ และผู้ที่กำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ฉีดวัคซีน

คำเตือนในการฉีดวัคซีนปอดอักเสบ

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการฉีดวัคซีนปอดอักเสบ ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

  • ห้ามใช้วัคซีนปอดอักเสบกับผู้ที่มีประวัติการแพ้วัคซีนปอดอักเสบชนิด 13 สายพันธุ์ (PCV13) วัคซีนวัคซีนปอดอักเสบชนิด 23 สายพันธุ์ (PPSV23) วัคซีนปอดอักเสบชนิด 7 สายพันธุ์ (PCV7) หรือวัคซีนที่มีส่วนผสมของวัคซีนคอตีบ  
  • ผู้ที่มีปฏิกิริยาการแพ้หลังฉีดวัคซีนเข็มแรกควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการฉีดวัคซีนหากผู้ป่วยมีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ปัญหาเกี่ยวกับปอด ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือโรคประจำตัวอื่น ๆ 
  • ผู้ที่มีอาการป่วยรุนแรงอย่างมีไข้สูงหรือหนาวสั่น ควรรอให้หายดีก่อนแล้วค่อยเข้ารับการฉีดวัคซีน  ส่วนผู้ที่มีอาการป่วยไม่รุนแรงอย่างไข้หวัด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการฉีดวัคซีน เพื่อให้แน่ใจว่าปลอดภัยต่อร่างกาย 

ปริมาณการใช้วัคซีนปอดอักเสบ

ปริมาณและระยะเวลาในการฉีดวัคซีนปอดอักเสบจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีรายละเอียดการฉีดดังนี้

วัคซีนปอดอักเสบชนิด 13 สายพันธุ์ (PCV13)
รายละเอียดการฉีดวัคซีนปอดอักเสบชนิด 13 สายพันธุ์ (PCV13) 

เด็ก ให้ฉีด 3 เข็มในปริมาณ 0.5 มิลลิตร โดยฉีดเมื่ออายุ 2, 4, และ 6 เดือน แล้วจึงฉีดกระตุ้นเมื่ออายุ 12-15 เดือน หรืออย่างน้อย 6 เดือนหลังการฉีดเข็มสุดท้าย

เด็กที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน
ให้ฉีดตามช่วงอายุ ได้แก่ 

  • อายุ 7-11 เดือน ให้ฉีด 2 เข็มในปริมาณ 0.5 มิลลิตร โดยเว้นระยะในการฉีดอย่างน้อย 1 เดือน แล้วจึงฉีดเข็มที่ 3 เมื่ออายุ 2 ปี 
  • อายุ 2-23 เดือน ให้ฉีด 2 เข็มในปริมาณ 0.5 มิลลิตร โดยเว้นระยะในการฉีดอย่างน้อย 2 เดือน 
  • อายุ 2-17 ปี ให้ฉีดเข็มเดียวในปริมาณ 0.5 มิลลิลิตร

ผู้ใหญ่ ให้ฉีดเข็มเดียวในปริมาณ 0.5 มิลลิลิตร

วัคซีนปอดอักเสบชนิด 23 สายพันธุ์ (PCV23)
รายละเอียดการฉีดวัคซีนปอดอักเสบชนิด 23 สายพันธุ์ (PCV23)

เด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ ให้ฉีดเข็มเดียวในปริมาณ 0.5 มิลลิลิตร หากเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงอาจต้องฉีดซ้ำตามดุลยพินิจของแพทย์

การฉีดวัคซีนปอดอักเสบ

วัคซีนปอดอักเสบจะฉีดโดยแพทย์ผู้ดูแลหรือเจ้าหน้าที่พยาบาล ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด และควรไปฉีดวัคซีนตามนัดหมายให้ครบทุกเข็มเพื่อให้ได้รับประสิทธิภาพสูงสุด ในกรณีที่ไม่สามารถไปตามนัดหมายได้หรือลืมไปฉีดวัคซีนตามเวลาที่กำหนดควรแจ้งให้แพทย์ทราบโดยเร็ว

ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนปอดอักเสบ

โดยทั่วไป วัคซีนปอดอักเสบอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น มีไข้ต่ำ รอยแดงหรือบวมบริเวณที่ฉีดวัคซีน ไม่อยากอาหาร รู้สึกหงุดหงิดหรือเหนื่อย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หรือมีอาการหนาวสั่น เป็นต้น นอกจากนี้ ในบางรายอาจเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์อื่น ๆ หลังการฉีดวัคซีน แต่มักพบได้น้อยมาก ได้แก่

  • เวียนศีรษะ การมองเห็นเปลี่ยนแปลงไป หูอื้อ ซึ่งเป็นสัญญาณของการหมดสติ  
  • ปวดบริเวณหัวไหล่อย่างรุนแรงและขยับหัวไหล่ที่ถูกฉีดยาได้ยาก
  • อาการแพ้วัคซีนที่รุนแรง

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยมักจะได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างรวดเร็ว เนื่องจากผลข้างเคียงเหล่านี้อาจปรากฏออกมาภายในเวลาไม่กี่นาทีหรือไม่กี่ชั่วโมงหลังได้รับวัคซีน แต่หากพบอาการแพ้หรือความผิดปกติใด ๆ นอกเหนือจากนี้ในภายหลังจากการฉีควัคซีนปอดอักเสบ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที