วัคซีนอีสุกอีใส

วัคซีนอีสุกอีใส

วัคซีนอีสุกอีใส (Varicella Vaccine/Chickenpox Vaccine) เป็นวัคซีนผลิตจากเชื้อไวรัสมีชีวิตที่ชื่อว่า วาริเซลลา ซอสเตอร์ ไวรัส (Varicella Zoster Virus: VZV) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอีสุกอีใส ในคน แต่ถูกทำให้ฤทธิ์อ่อนลงจนไม่สามารถก่อโรคได้ เพื่อเข้าไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและป้องกันการเกิดโรคอีสุกอีใส โดยแพทย์จะแนะนำให้ฉีดวัคซีนนี้จำนวน 2 เข็ม ตามเกณฑ์ที่กำหนด

การฉีดวัคซีนอีสุกอีใสเป็นวิธีป้องกันโรคอีสุกอีใสอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ช่วยป้องกันการเกิดโรคได้ประมาณ 98 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วยังคงติดเชื้อโรคอีสุกอีใสได้ แต่อาการจะไม่รุนแรงเท่าผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน อาจเกิดผื่นขึ้นเพียงเล็กน้อย มีไข้อ่อน ๆ หรือบางรายก็ไม่มีไข้ และอาการมักหายเร็ว

Chickenpox Vaccine

ในประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสทั้งรูปแบบวัคซีนเดี่ยว (VZV) และวัคซีนรวม (MMRV) ซึ่งเป็นวัคซีนฉีดป้องกันโรคหัด โรคคางทูม โรคหัดเยอรมัน และโรคอีสุกอีใสไปพร้อมกัน โดยจะฉีดจำนวน 2 เข็ม เช่นเดียวกับวัคซีนเดี่ยว

เกี่ยวกับวัคซีนอีสุกอีใส

กลุ่มยา วัคซีนป้องกันโรค
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ ป้องกันโรคอีสุกอีใส
กลุ่มผู้ป่วย เด็กอายุ 1 ปี ขึ้นไป
รูปแบบของยา ยาฉีด

คำเตือนสำหรับการฉีดวัคซีนอีสุกอีใส

  • ผู้ที่มีปฏิกิริยาการแพ้รุนแรงหลังได้รับวัคซีนเข็มแรกหรือมีอาการแพ้ส่วนประกอบใด ๆ จากวัคซีน รวมทั้งอาการแพ้สารเจลาตินหรือยานีโอมัยซิน (Neomycin) ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนในเบื้องต้น เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแพ้ตามมา
  • ผู้ที่กำลังป่วยและมีอาการค่อนข้างรุนแรง เกิดการติดเชื้อ มีไข้ หรือเป็นวัณโรคและไม่ได้รับการรักษา ควรรอให้อาการดีขึ้นหรือหายขาดก่อนฉีดวัคซีนอีสุกอีใส อีกทั้งควรแจ้งแพทย์ให้ทราบถึงประวัติการป่วยดังกล่าว
  • หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรฉีดวัคซีนอีสุกอีใส ควรรอจนกว่าจะคลอดเรียบร้อย เพราะยังไม่มีรายงานยืนยันความปลอดภัย และมีความเสี่ยงทำให้ทารกพิการแต่กำเนิด น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ หรือติดเชื้ออย่างรุนแรงได้ นอกจากนี้ ยังอาจส่งผลให้มารดาได้รับเชื้อไวรัสชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายในปริมาณน้อย
  • หญิงที่กำลังวางแผนจะมีบุตรควรทิ้งระยะเวลาการตั้งครรภ์หลังการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1-3 เดือน
  • ผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือเป็นโรคเอดส์ รวมถึงโรคที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน เคยมีประวัติเป็นโรคมะเร็ง อยู่ในช่วงรับประทานยาที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน หรือเคยเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งด้วยการฉายแสงหรือรับประทานยา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบและขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนก่อนทุกครั้ง
  • ผู้ที่เพิ่งได้รับการถ่ายเลือด ได้รับอิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) หรือส่วนประกอบอื่นของเลือด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีนนี้

ปริมาณการฉีดวัคซีนอีสุกอีใส

การฉีดวัคซีนอีสุกอีใสที่แนะนำโดยสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี แพทย์จะแนะนำให้เริ่มฉีดตั้งแต่เด็กมีอายุ 1 ปีขึ้นไป โดยควรฉีดเข็มแรกเมื่ออายุ 12-18 เดือน และฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 4-6 ปี ทั้งนี้ ในกรณีที่มีการระบาดของโรคสามารถฉีดเข็มที่ 2 ก่อนอายุ 4 ปีได้ แต่ต้องทิ้งระยะห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 3 เดือน
  • เด็กอายุ 13 ปีขึ้นไปและไม่เคยฉีดวัคซีนนี้มาก่อน ควรได้รับการฉีดวัคซีนจำนวน 2 เข็มเช่นเดียวกัน ซึ่งจะฉีดวัคซีนเข็มแรกและเข็มที่ 2 ห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน
  • วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม-อีสุกอีใส (MMRV) ใช้ฉีดแทนวัคซีนอีสุกอีใสแบบเดี่ยวได้ เริ่มฉีดในเด็กอายุตั้งแต่ 1-12 ปี

การฉีดวัคซีนอีสุกอีใส

วัคซีนอีสุกอีใสต้องฉีดโดยผู้เชี่ยวชาญและอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น โดยก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนควรแจ้งโรคประจำตัว ภาวะผิดปกติ หรืออาการแพ้ใด ๆ ให้แพทย์ทราบ ส่วนในกรณีที่ลืมไปฉีดวัคซีนตามนัดก็ควรแจ้งแพทย์และกลับไปรับวัคซีนทันทีที่ทราบ เพื่อช่วยป้องกันการเกิดโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะไม่จำเป็นต้องได้รับการฉีดเข็มแรกใหม่

ทั้งนี้ หลังการฉีดวัคซีนควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือใกล้ชิดกับทารกแรกเกิด หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน หรือผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เป็นเวลาอย่างน้อย 6 สัปดาห์ เพราะอาจกระตุ้นให้บุคคลดังกล่าวติดเชื้อได้ง่าย อย่างไรก็ตาม หากเกิดความผิดปกติหรือมีอาการรุนแรงหลังได้รับวัคซีน ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบทันที

ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนอีสุกอีใส

วัคซีนอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้เช่นเดียวกับยารักษาโรค โดยเกิดขึ้นได้หลายระดับ ตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรงตามแต่ละบุคคล และมักมีอาการหลังการฉีดเข็มแรกมากกว่าเข็มที่ 2 ซึ่งผลข้างเคียงที่อาจพบได้ มีดังนี้

ผลข้างเคียงทั่วไป มีอาการปวด บวมแดง คัน หรือช้ำบริเวณที่ฉีดวัคซีน มีไข้ต่ำ หรือเกิดผื่นขึ้นเล็กน้อย บางรายอาจมีผื่นขึ้นในช่วง 1 เดือนหลังจากการฉีดวัคซีน ซึ่งจะเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้ใกล้ชิด แต่พบได้ค่อนข้างน้อย

ผลข้างเคียงรุนแรง บางรายอาจเกิดอาการชักจากไข้ ตาแข็ง กล้ามเนื้อเกร็งและกระตุก หรือในรายที่รุนแรงมากอาจมีอาการของโรคปอดบวม แต่มักพบได้น้อยจากการฉีดวัคซีนชนิดนี้

อย่างไรก็ตาม ควรไปพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้สูง ชัก ไอ ปวดหรือรู้สึกแน่นบริเวณหน้าอก มีปัญหาในการหายใจ อ่อนเพลียมาก เกิดรอยช้ำ เลือดออกง่าย หรือมีอาการแพ้อย่างรุนแรง ซึ่งสังเกตได้จากอาการวิงเวียนศีรษะ เหนื่อยล้าง่าย หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว มีอาการบวมที่ใบหน้า ปาก ลิ้น หรือลำคอ