วัคซีนไข้เลือดออก

วัคซีนไข้เลือดออก

วัคซีนไข้เลือดออก (Dengue Vaccine) เป็นวัคซีนผลิตจากเชื้อไวรัสมีชีวิต แต่ถูกทำให้ฤทธิ์อ่อนลงจนไม่สามารถก่อโรคในคนได้ ใช้ฉีดกระตุ้นเพื่อให้ร่างกายสร้างสารภูมิต้านทาน ช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสเดงกี่  (Dengue) สาเหตุของโรคไข้เลือดออกได้ครอบคลุมทั้ง 4 สายพันธุ์ แต่ระดับการป้องกันเชื้อแต่ละสายพันธุ์จะแตกต่างกัน ส่วนประสิทธิภาพของวัคซีนต่อการป้องกันโรคโดยรวมเมื่อฉีดครบจำนวน 3 เข็มตามกำหนดอยู่ที่ประมาณ 65.6 เปอร์เซ็นต์ แต่ขึ้นอยู่กับสุขภาพของผู้รับวัคซีนด้วย ทั้งนี้ ประสิทธิภาพของวัคซีนในคนที่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสเดงกี่จะสูงกว่าคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันมาก่อน

โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ โดยมียุงลายเป็นพาหะนำเชื้อไปสู่คน ปัจจุบันมีวัคซีนไข้เลือดออกที่ป้องกันเชื้อชนิดนี้ได้ครบทุกสายพันธ์ุ คือ CYD-TDV หรือเรียกว่า Denvaxia ถูกคิดค้นและพัฒนาจนเริ่มใช้กับคนได้จริงเป็นครั้งแรกที่ประเทศเม็กซิโก ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2558 ส่วนในประเทศไทย วัคซีนนี้ผ่านการขึ้นทะเบียนและเริ่มใช้ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2559 แต่ยังเป็นวัคซีนเสริมที่ต้องฉีดเพิ่มเติมเอง

Dengue Vaccine

อย่างไรก็ตาม วัคซีนไข้เลือดออกรูปแบบอื่นยังอยู่ในช่วงศึกษาและทดลองประสิทธิภาพ โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่าง 5 ประเทศในทวีปเอเชีย ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย กับประเทศแถบลาตินอเมริกาอีก 5 ประเทศ ได้แก่ บราซิล โคลอมเบีย ฮอนดูรัส เม็กซิโก และเปอร์โตริโก ซึ่งล้วนอยู่ในเขตร้อนชื้นที่โรคไข้เลือดออกแพร่ระบาดได้ง่าย

เกี่ยวกับวัคซีนไข้เลือดออก

กลุ่มยา วัคซีนป้องกันโรค
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ ป้องกันโรคไข้เลือดออก
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่ อายุ 9-45 ปี
รูปแบบของยา ยาฉีด

คำเตือนของการฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

  • ผู้ที่มีปฏิกิริยาแพ้รุนแรงหลังได้รับวัคซีนเข็มแรกหรือมีอาการแพ้ส่วนประกอบใด ๆ ของวัคซีน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพราะเสี่ยงเกิดอาการแพ้ตามมา
  • ผู้ป่วยอาการปานกลางถึงรุนแรง มีไข้สูง หรือเป็นโรคไม่ร้ายแรงที่หายได้ภายในระยะสั้น ควรรอให้อาการดีขึ้นหรือหายขาดก่อนฉีดวัคซีนไข้เลือดออก รวมทั้งควรแจ้งแพทย์ให้ทราบถึงประวัติการป่วยของตนเอง
  • ผู้มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ติดเชื้อเอชไอวี เป็นโรคทางพันธุกรรมหรือโรคที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน อยู่ในช่วงรับประทานยาหรือเข้ารับการรักษาที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น ควรแจ้งแพทย์และขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนก่อนทุกครั้ง
  • เด็กอายุต่ำกว่า 9 ปี ไม่ควรฉีดวัคซีน เนื่องจากไม่อาจยืนยันถึงผลดีและผลเสียหลังได้รับวัคซีน
  • หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรฉีดวัคซีนไข้เลือดออก ควรรอจนกว่าคลอดบุตรเรียบร้อย เพราะยังไม่มีรายงานยืนยันว่าปลอดภัยต่อทารก
  • หญิงที่วางแผนมีบุตรควรทิ้งระยะเวลาตั้งครรภ์หลังฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เดือน

ปริมาณการฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

ผู้ที่มีอายุ 9-45 ปี จะได้รับวัคซีนทั้งหมด 3 เข็ม แต่ละเข็มระยะเวลาห่างกัน 6 เดือน โดยฉีดวัคซีนเข้าใต้ชั้นผิวหนังบริเวณต้นแขน ครั้งละ 0.5 มิลลิลิตร  

การฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

วัคซีนไข้เลือดออกต้องฉีดโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น โดยก่อนเข้ารับวัคซีนควรแจ้งโรคประจำตัว ภาวะผิดปกติ หรืออาการแพ้ใด ๆ ให้แพทย์ทราบ และควรไปฉีดตามนัดอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยป้องกันการเกิดโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในกรณีที่ลืมไปตามนัด ควรแจ้งสถานพยาบาลนั้น ๆ เพื่อกลับไปฉีดวัคซีนใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้ หากมีอาการรุนแรงหรืออาการผิดปกติใด ๆ หลังฉีดวัคซีน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที

อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนไข้เลือดออกเป็นเพียงวิธีลดความเสี่ยงในการเกิดโรค แต่ไม่อาจป้องกันการติดเชื้อไวรัสเดงกี่แต่ละสายพันธุ์ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ การป้องกันที่ดีที่สุดคือ หลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกยุงกัด และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรค  

ผลข้างเคียงจากการใช้วัคซีนไข้เลือดออก

วัคซีนไข้เลือดออกอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อผู้ที่รับการฉีดวัคซีนบางราย ตั้งแต่ระดับเล็กน้อยถึงรุนแรง ดังนี้

ผลข้างเคียงทั่วไป มักเกิดขึ้นภายใน 3 วัน หลังฉีดวัคซีน โดยอาจพบได้ 1 ใน 10 คน เช่น

  • เจ็บหรือปวด บวมแดง ช้ำ หรือคันบริเวณที่ฉีดวัคซีน
  • ปวดศีรษะ
  • รู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัว
  • ปวดกล้ามเนื้อ 
  • อ่อนเพลีย หมดแรง
  • มีไข้  

สำหรับบางรายอาจเกิดผลข้างเคียงที่พบได้ไม่บ่อย ซึ่งคาดว่าพบได้ 1 ใน 100 คน เช่น

  • ติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ
  • เวียนศีรษะ คลื่นไส้
  • เจ็บบริเวณคอหอย
  • ไอ
  • น้ำมูกไหล
  • ปวดคอ
  • ผิวหนังบริเวณที่ฉีดวัคซีนบวมเป็นไตแข็ง
  • ต่อมน้ำเหลืองโต
  • ปวดศีรษะข้างเดียว
  • ปวดตามข้อ
  • มีอาการคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย หนาวสั่น ปวดศีรษะ เป็นต้น
  • ลมพิษ มักพบในเด็กอายุ 9-17 ปี

นอกจากนี้ บางรายอาจเกิดอาการแพ้รุนแรง แต่พบได้ค่อนข้างน้อย คิดเป็นประมาณ 1 ใน 10,000 คน โดยอาจมีอาการหายใจลำบาก ผื่นขึ้น ใบหน้าหรือลำคอบวม ปากและลิ้นเป็นสีม่วงคล้ำ ความดันเลือดต่ำจนทำให้เวียนศีรษะหรือล้มหมดสติ หากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน