วิตามินเอ
วิตามินเอ (Vitamin A) จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของกระดูก รวมถึงช่วยบำรุงสุขภาพผิวหนังและสายตา คนส่วนใหญ่ได้รับวิตามินเออย่างเพียงพอจากการรับประทานอาหาร แต่ในกรณีที่ร่างกายขาดวิตามินชนิดนี้หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานวิตามินเอในรูปแบบอาหารเสริม เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคตับ โรคตับอ่อน ไทรอยด์เป็นพิษ ผู้มีภาวะขาดโปรตีน เป็นต้น
วิตามินเอ พบได้ตามธรรมชาติในอาหารหลายชนิด เช่น นม ไข่ เครื่องในสัตว์ แครอท มันเทศ ผักใบเขียว ผักที่มีสีเหลือง เป็นต้น หากมีภาวะขาดวิตามินเอ อาจส่งผลกระทบต่อดวงตาและการมองเห็น เช่น ตาบอดกลางคืน หรืออาจรุนแรงจนทำให้ดวงตาเสียหายถาวร การได้รับวิตามินเสริมชนิดนี้จึงจำเป็นต่อผู้ป่วยภาวะขาดวิตามินเอ หรือผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง
เกี่ยวกับวิตามินเอ
กลุ่มยา | วิตามินเสริม |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาหาซื้อได้เอง |
สรรพคุณ | ป้องกันหรือรักษาการขาดวิตามินเอ |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็กและผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยารับประทานชนิดเม็ด ยารับประทานชนิดแคปซูล |
คำเตือนของการใช้วิตามินเอ
- ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้วิตามินเอ
- แจ้งให้แพทย์ทราบถึงโรคประจำตัวหรือประวัติการเจ็บป่วยก่อนใช้
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังใช้ยารักษาโรคชนิดใดก็ตาม
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาลดความอ้วนหรือน้ำมันมิเนอรัลขณะใช้วิตามินเอ
- สตรีมีครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ เนื่องจากการรับประทานวิตามินเอ ในปริมาณมากอาจส่งผลให้ทารกพิการแต่กำเนิด แพทย์อาจแนะนำให้ใช้วิตามินบำรุงก่อนตั้งครรภ์โดยเฉพาะแทน
- สตรีที่กำลังให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานวิตามินเอ เนื่องจากปริมาณที่ควรใช้อาจแตกต่างจากคนทั่วไป
ปริมาณการใช้วิตามินเอ
ป้องกันการขาดวิตามินเอ
ปริมาณวิตามินเอที่ร่างกายควรได้รับต่อวันตามแต่ละช่วงอายุ มีดังนี้
- ทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือน ควรได้รับวิตามินเอจากน้ำนมแม่เป็นหลัก
- ทารกอายุ 6 เดือน-3 ปี ควรได้รับวิตามินเอ 400 ไมโครกรัมต่อวัน
- เด็กอายุ 4-5 ปี ควรได้รับวิตามินเอ 450 ไมโครกรัมต่อวัน
- เด็กอายุ 6-8 ปี ควรได้รับวิตามินเอ 500 ไมโครกรัมต่อวัน
- ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 9 ปีขึ้นไป ควรได้รับวิตามินเอ 600 ไมโครกรัมต่อวัน
- ผู้ชายอายุ 9-15 ปี ควรได้รับวิตามินเอ 600 ไมโครกรัมต่อวัน ส่วนชายที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปให้เพิ่มปริมาณเป็น 700 ไมโครกรัมต่อวัน
- หญิงตั้งครรภ์ ควรได้รับวิตามินเอ เพิ่มจากปริมาณปกติ 200 ไมโครกรัมต่อวัน
- หญิงให้นมบุตร ควรได้รับวิตามินเอ เพิ่มจากปริมาณปกติ 375 ไมโครกรัมต่อวัน
รักษาการขาดวิตามินเอ
- ผู้ใหญ่ หากมีอาการขาดวิตามินเอรุนแรงร่วมกับกระจกตาผิดปกติ ควรรับประทาน 500,000 หน่วยต่อวัน ติดต่อกัน 3 วัน จากนั้นปรับลดปริมาณเป็น 50,000 หน่วยต่อวัน ติดต่อกัน 2 สัปดาห์ และปรับลดลงเป็น 10,000-20,000 หน่วยต่อวัน ติดต่อกัน 2 เดือน
- ผู้ใหญ่ หากมีอาการกระจกตาผิดปกติ ควรรับประทาน 10,000-25,000 หน่วยต่อวันจนหายเป็นปกติ โดยทั่วไปมักใช้เวลา 1-2 สัปดาห์
- เด็ก หากมีอาการเยื่อตาแห้ง ควรรับประทาน 5,000 หน่วยต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ติดต่อกัน 5 วัน หรือจนหายเป็นปกติ
การใช้วิตามินเอ
- ปฏิบัติตามฉลากหรือตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามรับประทานมากกว่าหรือน้อยกว่าปริมาณที่กำหนด
- ไม่ควรรับประทานวิตามินเอเสริมจากหลายผลิตภัณฑ์พร้อมกัน ยกเว้นกรณีที่แพทย์แนะนำ เนื่องจากเสี่ยงได้รับในปริมาณมากเกินไปและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
- ควรรับประทานวิตามินเอร่วมกับมื้ออาหาร โดยกลืนลงไปทั้งเม็ด ไม่ต้องเคี้ยวก่อนกลืน
- หากลืมรับประทานตามเวลาที่กำหนด ให้รับประทานทันทีที่นึกได้ แต่หากใกล้ถึงเวลาแล้ว ให้ข้ามไปครั้งถัดไปได้เลย ห้ามเพิ่มปริมาณเป็น 2 เท่า
- เก็บวิตามินเอ ไว้ที่อุณหภูมิห้อง ปิดฝาขวดให้สนิท หลีกเลี่ยงความชื้นและป้องกันไม่ให้ถูกแสงแดด
ผลข้างเคียงของวิตามินเอ
วิตามินเอ มีผลข้างเคียงน้อยมาก ผลข้างเคียงที่รุนแรงมักเกิดจากการรับประทานเกินปริมาณที่กำหนด ซึ่งอาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ผมร่วง ผิวลอก ริมฝีปากแตก อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ปวดตามข้อต่อ ปวดศรีษะรุนแรง ปวดท้องรุนแรง ปวดด้านหลังดวงตา ประจำเดือนมาไม่ปกติ ปัสสาวะมีสีเข้ม ดีซ่าน การมองเห็นผิดปกติ นอกจากนี้ บางรายอาจมีอาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก บวมตามใบหน้า ริมฝีปาก หรือลำคอ หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์ทันที