ความหมาย หนองในแท้
หนองในแท้ (Gonorrhea) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย การติดเชื้อหนองในแท้ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่อวัยวะเพศ ทวารหนัก ลำคอ และมักติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อหรือการสัมผัสของเหลวจากร่างกาย รวมทั้งสามารถติดต่อจากหญิงตั้งครรภ์ไปสู่ทารกในช่วงระหว่างคลอดได้
อาการของหนองในแท้
โรคหนองในแท้มักแสดงอาการภายในประมาณ 2 สัปดาห์หลังจากได้รับเชื้อ หรือบางรายที่อาจไม่มีอาการใด ๆ ปรากฏจนกระทั่งผ่านไปหลายเดือนแล้ว โดยกว่าครึ่งของหญิงที่ป่วยเป็นโรคนี้และประมาณ 1 ใน 10 ของผู้ป่วยเพศชายที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการแสดงชัดเจน ทำให้ผู้ป่วยอาจไม่รู้ตัวและไม่ได้รับการรักษา
การติดเชื้อโรคหนองในแท้ที่อวัยวะเพศในเพศหญิงและชายอาจมีอาการต่างกัน โดยอาการที่ปรากฏในเพศหญิงมีได้ดังนี้
- มีตกขาวผิดปกติขับออกมาจากช่องคลอด ลักษณะเป็นน้ำ หรือเส้นบาง ๆ สีออกเขียวหรือเหลือง หรือตกขาวมีปริมาณมากขึ้น
- ปัสสาวะแล้วรู้สึกเจ็บหรือแสบ
- เจ็บหรือฟกช้ำบริเวณท้องน้อย แต่พบได้ไม่บ่อย
- มีเลือดออกระหว่างรอบเดือนและหลังการมีเพศสัมพันธ์ หรือประจำเดือนมามากผิดปกติ ซึ่งเป็นอาการที่พบได้น้อย
อาการติดเชื้อหนองในแท้ที่อวัยวะเพศในเพศชายที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่
- มีหนองสีเหลืองหรือเขียวไหลออกมาจากส่วนปลายของอวัยวะเพศ โดยอาจเกิดขึ้นหลังการมีเพศสัมพันธ์
- เจ็บหรือแสบขณะปัสสาวะ
- เกิดการอักเสบของหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ
- เจ็บ บวม หรือฟกช้ำที่ลูกอัณฑะข้างใดข้างหนึ่ง แต่พบไม่บ่อย
นอกจากนี้การติดเชื้อหนองในแท้ที่บริเวณอื่น ๆ เช่น ทวารหนัก ลำคอ ดวงตา หรือข้อต่อก็ย่อมทำให้มีอาการแตกต่างกันไป ดังนี้
- การติดเชื้อที่ทวารหนักจะทำให้รู้สึกไม่สบายบริเวณนี้ เจ็บ หรือมีของเหลวขับออกมาได้
- การติดเชื้อที่ดวงตาสามารถทำให้ระคายเคือง เจ็บ บวมหรือมีของเหลวไหลจากดวงตา
- การติดเชื้อที่ข้อต่อ จะส่งผลให้ข้อต่อที่ติดเชื้อรู้สึกอุ่น บวมแดง และเจ็บมาก โดยเฉพาะเมื่อมีการเคลื่อนไหวบริเวณดังกล่าว
- การติดเชื้อที่ลำคออาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บคอและต่อมน้ำเหลืองที่คอโต
โรคหนองในแท้ยังสามารถแพร่จากหญิงตั้งครรภ์ไปสู่ทารกในขณะที่คลอดออกมาผ่านการสัมผัสเยื่อบุช่องคลอดของมารดา โดยทารกแรกเกิดที่ได้รับผลกระทบมักจะแสดงอาการติดเชื้อที่ดวงตาในช่วง 2 สัปดาห์แรก ซึ่งจะสามารถทำให้ตาของทารกบวมแดง มีของเหลวลักษณะเหนียวข้นคล้ายหนองไหลออกมา หรือถึงขั้นทำให้ทารกตาบอด นอกจากนี้ยังอาจเกิดการติดเชื้อรุนแรงกับอวัยวะอื่น ๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตทารกได้
ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการหรือมีเหตุสงสัยว่าอาจติดเชื้อหนองในจึงควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม รวมทั้งผู้ป่วยที่คิดว่าตนอาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อหนองในแท้แม้จะไม่มีอาการของโรคที่แสดงเด่นชัดหรือเคยมีอาการข้างต้นแต่หายไปได้เอง เนื่องจากโรคหนองในแท้ที่ไม่ได้รับการตรวจรักษานั้นอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงและเกิดการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้
สาเหตุของหนองในแท้
โรคหนองในแท้เกิดจากแบคทีเรียที่ชื่อว่าไนซ์ซีเรีย โกโนร์เรีย (Neisseria Gonorrhoeae) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่สามารถเติบโตและเพิ่มจำนวนในเยื่อเมือกบุผิวของร่างกายได้อย่างง่ายดาย โดยสามารถเติบโตในพื้นที่ที่มีความอุ่นและชื้นอย่างระบบสืบพันธ์ุ ได้แก่ ปากมดลูก มดลูก ท่อนำไข่ และท่อปัสสาวะ รวมถึงบริเวณปาก ลำคอ และทวารหนัก ซึ่งเชื้อนี้จะแพร่จากคนไปสู่คนผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทั้งทางด้านหน้าและทางทวารหนัก รวมถึงการใช้ปากสำเร็จความใคร่
ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อหนองในแท้ ได้แก่
- อายุยังน้อย
- มีการเปลี่ยนคู่นอนใหม่
- มีคู่นอนหลายคน
- ใช้คู่นอนร่วมกับผู้อื่น
- ไม่ใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์
- ติดยาเสพติด
- เคยตรวจพบว่าเป็นโรคหนองในมาก่อน
- ป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น เช่น โรคซิฟิลิส
การวินิจฉัยหนองในแท้
โรคหนองในแท้สามารถวินิจฉัยได้หลากหลายวิธี โดยส่วนใหญ่จะใช้สำลีป้ายเก็บตัวอย่างเชื้อจากบริเวณที่อาจมีการติดเชื้อเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ การเก็บตัวอย่างนั้นใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีและไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยโรคหนองในในเพศชายและเพศหญิงอาจมีข้อแตกต่างกัน คือ
- การวินิจฉัยในเพศหญิง แพทย์หรือพยาบาลมักจะใช้สำลีป้ายเก็บตัวอย่างจากช่องคลอดหรือปากมดลูกระหว่างที่ตรวจภายใน หรือบางกรณีก็อาจมีการเก็บตัวอย่างจากบริเวณท่อปัสสาวะด้วย ทั้งนี้ผู้ป่วยจะขอเก็บตัวอย่างจากภายในช่องคลอดด้วยสำลีหรือผ้าอนามัยแบบสอดด้วยตนเองก็ได้ แต่การตรวจโรคหนองในแท้ในเพศหญิงจะไม่ตรวจโดยเก็บตัวอย่างปัสสาวะเหมือนการตรวจในเพศชาย
- การวินิจฉัยในเพศชายมักใช้การตรวจปัสสาวะ หรือเก็บตัวอย่างจากของเหลวที่ถูกขับออกมาจากปลายอวัยวะเพศ ซึ่งผู้ป่วยต้องไม่ปัสสาวะเป็นเวลา 2 ชั่วโมงก่อนหน้าการเก็บตัวอย่าง เนื่องจากการปัสสาวะจะไปล้างเชื้อแบคทีเรียโรคหนองในแท้ ส่งผลต่อความแม่นยำของการวินิจฉัยโรค
ทั้งนี้โรคหนองในแท้ที่ติดเชื้อบริเวณอื่น ๆ นอกเหนือจากอวัยวะเพศ เช่น ลำคอหรือทวารหนัก แพทย์หรือพยาบาลจะใช้สำลีป้ายเก็บตัวอย่างจากบริเวณเหล่านี้ และหากผู้ป่วยมีเยื่อบุตาอักเสบ เช่น ตาแดง อักเสบ หรือมีของเหลวไหลออกจากตาก็อาจมีการเก็บตัวอย่างจากของเหลวนี้ส่งตรวจด้วย
การรักษาหนองในแท้
โรคหนองในนั้นสามารถรักษาให้หายดีได้ โดยผู้ที่จำเป็นต้องรับการรักษาคือผู้ที่วินิจฉัยพบว่าติดเชื้อหนองในหรือมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ รวมถึงคู่นอนของตนเองด้วย ถึงแม้ในขณะนั้นจะยังไม่รู้ผลการวินิจฉัยก็ตาม
การรักษาโรคหนองในแท้สามารถทำได้ด้วยการให้ยาปฏิชีวนะในช่วงสั้น ๆ โดยฉีดยาปฏิชีวนะแล้วตามด้วยการให้ยาปฏิชีวนะแบบเม็ด หลังจากได้รับยา ผู้ป่วยจะค่อย ๆ มีอาการดีขึ้นภายใน 2-3 วัน แต่อาการเจ็บบริเวณเชิงกรานหรือลูกอัณฑะนั้นอาจต้องใช้เวลาถึง 2 สัปดาห์จึงจะหายดี ส่วนผู้ป่วยที่มีเลือดออกระหว่างรอบเดือนหรือประจำเดือนมามากผิดปกติซึ่งเป็นอาการหนึ่งของโรคจะพบว่าอาการดีขึ้นเมื่อถึงรอบเดือนครั้งถัดไป
หลังจากการรักษา 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยควรไปตามการนัดหมายของแพทย์ แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม ทั้งนี้ก็เพื่อที่แพทย์จะได้ตรวจดูอีกครั้งให้แน่ใจว่าเชื้อแบคทีเรียถูกกำจัดออกไปจนหมด และเป็นการป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อขึ้นอีกครั้งหรือเกิดการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น แต่หากอาการหลังการรักษาไม่ดีขึ้นหรือสงสัยว่าตนเองอาจติดเชื้อซ้ำ ให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอีกครั้งหรือวินิจฉัยเพิ่มเติม
นอกจากนี้ คู่นอนของผู้ป่วยที่วินิจฉัยพบโรคหนองในแท้ก็ควรเข้ารับการตรวจรักษาเช่นเดียวกัน เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ จึงมีความเป็นไปได้ที่คู่นอนของผู้ป่วยจะเป็นผู้แพร่เชื้อหรือติดเชื้อไปได้ ซึ่งคู่นอนที่ไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลให้ผู้ป่วยติดเชื้อหนองในแท้ซ้ำอีกครั้ง
ส่วนการรักษาทารกที่ได้รับเชื้อหนองในแท้เมื่อแรกเกิดหรือเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากมารดาที่เป็นโรคหนองในแท้ แพทย์จะให้ยาหยอดตาเด็กทันทีที่คลอดออกมาเพื่อป้องกันการติดเชื้อ แต่หากอาการติดเชื้อพัฒนาขึ้นแล้วจึงรักษาด้วยปฏิชีวนะที่ไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก เพื่อช่วยป้องกันการสูญเสียการมองเห็น รวมถึงภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ จากการได้รับเชื้อหนองในแท้
ภาวะแทรกซ้อนของหนองในแท้
โรคหนองในแท้ที่ไม่ได้รับการรักษาสามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา เช่น
- ภาวะมีบุตรยากในเพศหญิง เชื้อหนองในสามารถแพร่กระจายไปยังมดลูกและท่อนำไข่ เป็นสาเหตุของการติดเชื้อและอักเสบในอุ้งเชิงกราน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดพังผืดที่ท่อนำไข่ เสี่ยงต่อการท้องนอกมดลูก อาการปวดเชิงกรานระยะยาว ภาวะมีบุตรยาก รวมถึงภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ ได้แก่ แท้งบุตร คลอดก่อนกำหนด เยื่อบุตาทารกอักเสบ เป็นต้น การติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานจึงถือเป็นการติดเชื้อชนิดร้ายแรงที่ต้องได้รับการรักษาโดยด่วน
- ภาวะมีบุตรยากในเพศชาย โรคหนองในที่ไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลให้มีภาวะอัณฑะอักเสบ ซึ่งเป็นการอักเสบของท่อม้วนขนาดเล็กในส่วนหลังของลูกอัณฑะที่มีท่ออสุจิอยู่ โดยภาวะอัณฑะอักเสบที่ไม่ได้รับการรักษานี้สามารถนำไปสู่การเกิดภาวะมีบุตรยากในที่สุด
- การติดเชื้อแพร่ไปยังข้อต่อและส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เชื้อแบคทีเรียต้นเหตุของโรคหนองในแท้สามารถแพร่กระจายผ่านกระแสเลือด ส่งผลให้มีการติดเชื้อที่อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หนึ่งในนี้คือการติดเชื้อบริเวณข้อต่อซึ่งอาจทำให้มีอาการเจ็บผิวหนัง ปวดข้อต่อ เป็นไข้ ผื่นขึ้น บวม และรู้สึกเมื่อยตามมา ทั้งนี้การติดเชื้อบางบริเวณยังอาจเป็นอันตรายร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิตได้
- เสี่ยงต่อติดเชื้อเอชไอวีหรือเชื้อเอดส์ โรคหนองในจะส่งผลให้ผู้ป่วยไวต่อการติดเชื้อเอชไอวีซึ่งเป็นไวรัสที่นำไปสู่โรคเอดส์ และผู้ที่ติดเชื้อทั้งโรคหนองในแท้และโรคเอชไอวีจะสามารถแพร่กระจายโรคทั้ง 2 ชนิดนี้ไปสู่คู่นอนของตนเองได้รวดเร็วกว่าปกติ
- ภาวะแทรกซ้อนในทารก การได้รับเชื้อหนองในแท้จากมารดาระหว่างตั้งครรภ์อาจส่งผลต่อการมองเห็นของทารกจนทำให้ตาบอด และเกิดการติดเชื้อรุนแรงที่อวัยวะอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของทารกได้
การป้องกันโรคหนองในแท้
โรคหนองในแท้สามารถป้องกันด้วยการปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อดังนี้
- ใช้ถุงยางทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยโรคหนองในหรือคู่นอนที่มีความเสี่ยง แต่หากเลือกที่จะมีเพศสัมพันธ์ก็ควรป้องกันด้วยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์ทางด้านหน้า ทางทวารหนัก หรือการใช้ปากสำเร็จความใคร่ก็ตาม
- ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ เพราะจะยิ่งเสี่ยงต่อการได้รับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีอาการผิดปกติ โดยเป็นอาการที่บ่งบอกถึงการป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ปวดแสบขณะปัสสาวะ เจ็บหรือมีผื่นขึ้นที่อวัยวะเพศ
- พูดคุยสอบถามคู่ของตนเองเกี่ยวกับการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงโรคหนองในแท้ก่อนเริ่มมีความสัมพันธ์ทางเพศ
- รับการตรวจโรคหนองในแท้เป็นประจำ หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ที่มีอายุน้อยกว่า 25 ปี หรือหญิงอายุมากกว่านี้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น เปลี่ยนคู่นอนใหม่ มีคู่นอนหลายคน ใช้คู่นอนร่วมกับผู้อื่น หรือคู่นอนป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรเข้ารับการตรวจโรคหนองในแท้เป็นประจำทุกปี