หลอดอาหารอักเสบ (Esophagitis)

ความหมาย หลอดอาหารอักเสบ (Esophagitis)

หลอดอาหารอักเสบ (Esophagitis) เกิดจากการอักเสบหรือการระคายเคืองของเยื่อบุภายในหลอดอาหาร  ซึ่งเป็นท่อที่นำอาหารจากปากไปสู่กระเพาะอาหาร ส่งผลให้ผู้ป่วยมีปัญหาในการกลืนอาหาร เจ็บคอ และมีอาการแสบร้อนกลางอก โดยมักมีสาเหตุมาจากกรดไหลย้อน โรคภูมิแพ้ ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด และการติดเชื้อโรค หากผู้ป่วยไม่เข้ารับการรักษาหรือไปพบแพทย์ อาจส่งผลให้หลอดอาหารเป็นแผลหรือหลอดอาหารตีบตามมาได้  

อาการของหลอดอาหารอักเสบ

โดยทั่วไป ผู้ป่วยหลอดอาหารอักเสบมักมีอาการ เช่น กลืนอาหารได้ลำบาก รู้สึกเจ็บเวลากลืนอาหาร เจ็บหน้าอกโดยเฉพาะระหว่างการรับประทานอาหาร แสบร้อนกลางอก มีน้ำรสเปรี้ยวหรือขมไหลย้อนขึ้นมาในปากและคอ ไอ เจ็บคอ เสียงแหบแห้ง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ความอยากอาหารลดลง เป็นต้น ในกรณีของเด็กเล็กอาจรับประทานอาหารได้ยากขึ้นหรือการเจริญเติบโตของร่างกายต่ำกว่าเกณฑ์ ทั้งนี้ หากมีอาการหายใจไม่อิ่มหรือเจ็บหน้าอก มีอาการรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการรับประทานอาหาร ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ไปจนถึงมีไข้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม

หลอดอาหารอักเสบ

สาเหตุของหลอดอาหารอักเสบ

หลอดอาหารอักเสบเกิดขึ้นได้จากปัจจัยและภาวะทางสุขภาพบางอย่าง โดยมีสาเหตุหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

กรดไหลย้อน คือภาวะที่กรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับสู่หลอดอาหารบ่อยครั้ง อันเนื่องมาจาการทำงานที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณส่วนปลายของหลอดอาหาร ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังและการระคายเคืองหลอดอาหาร 

โรคภูมิแพ้ เมื่อร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้มากเกินไปอาจทำให้เม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิลในกระเพาะอาหารถูกผลิตออกมาในปริมาณมาก ส่งผลให้หลอดอาหารเกิดการอักเสบได้ โดยหลอดอาหารอักเสบประเภทนี้อาจถูกกระตุ้นจากอาหารชนิดต่าง ๆ เช่น นม ไข่ ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ถั่วลิสง หอย เนื้อวัว เป็นต้น รวมไปถึงการสูดดมเกสรดอกไม้ด้วย

การใช้ยา ผู้ป่วยที่รับประทานยาบางชนิดโดยไม่ได้ดื่มน้ำตามหรือดื่มน้ำเพียงเล็กน้อยอาจส่งผลให้ตัวยาอยู่ภายในหลอดอาหารนานจนเกินไป จนเกิดการอักเสบขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น ยาแก้ปวดอย่างแอสไพรินหรือไอบูโพรเฟน ยาปฏิชีวนะ โพแทสเซียมคลอไรด์ ยาบิสฟอตโฟเนต และยาควินิดีน เป็นต้น

การติดเชื้อ เป็นสาเหตุของหลอดอาหารอักเสบที่พบได้น้อย เกิดขึ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา หรือปรสิตในเนื้อเยื่อของหลอดอาหาร ในผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และผู้ป่วยที่ใช้ยาสเตียรอยด์หรือยาปฏิชีวนะเป็นระยะเวลานาน อาจพบเชื้อราแคนดิดาภายในช่องปากได้

นอกจากนั้น พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ปัญหาสุขภาพ หรือการรักษาบางวิธีอาจเสี่ยงต่อการเกิดหลอดอาหารอักเสบด้วย เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ อาเจียนเรื้อรัง ภาวะอ้วน โรคเบาหวาน โรคไส้เลื่อนกะบังลม ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องอันเนื่องมาจากการติดเชื้อเอชไอวี มะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือมะเร็งต่อมน้ำเหลือง การใช้ยาแก้อักเสบ ยาแอสไพริน ยากดภูมิคุ้มกัน ยาป้องกันการต่อต้านอวัยวะใหม่ เคมีบำบัด รังสีรักษาและการผ่าตัดบริเวณหน้าอก เป็นต้น   

การวินิจฉัยหลอดอาหารอักเสบ

หากสงสัยว่าผู้ป่วยอาจเป็นหลอดอาหารอักเสบ แพทย์อาจตรวจร่างกายผู้ป่วยอย่างละเอียดและสอบถามประวัติการใช้ยาทุกชนิด ยิ่งไปกว่านั้น ยังอาจนำวิธีการทดสอบอื่น ๆ มาช่วยในการวินิจฉัยเเพื่อให้เกิดความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น เช่น

  • การส่องกล้องตรวจหลอดอาหาร โดยแพทย์จะสอดกล้องเข้าไปทางปากเพื่อตรวจดูความผิดปกติหรืออาการอักเสบภายในหลอดอาหาร และอาจเก็บชิ้นเนื้อในบริเวณดังกล่าวออกมาทดสอบการติดเชื้อโรคอย่างแบคทีเรีย ไวรัสและเชื้อรา ตรวจวัดปริมาณของเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิล หรือตรวจหาเซลล์มะเร็งหรือการเปลี่ยนแปลงก่อนเกิดมะเร็ง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคนี้   
  • การเอกซเรย์ระบบทางเดินอาหารส่วนบน หรือเรียกอีกอย่างว่า การกลืนแป้งแบเรียม เป็นวิธีที่แพทย์จะให้ผู้ป่วยดื่มแบเรียมซึ่งเป็นสารทึบรังสีหรือยาที่เคลือบด้วยแบเรียม ก่อนจะถ่ายภาพเอกซ์เรย์หลอดอาหาร เพื่อตรวจหาความผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น การตีบลงของหลอดอาหาร การเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ภายในหลอดอาหาร โรคไส้เลื่อนกระบังลม เนื้องอก เป็นต้น  

การรักษาหลอดอาหารอักเสบ

การรักษาหลอดอาหารอักเสบแตกต่างกันไปตามแต่ละสาเหตุ ซึ่งหากรู้ถึงสาเหตุที่ทำให้หลอดอาหารอักเสบจะช่วยให้รักษาได้อย่างตรงจุดและหายเร็วยิ่งขึ้น โดยสาเหตุที่พบได้บ่อยดังต่อนี้อาจมีวิธีการรักษาหลากหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น หากเกิดจากกรดไหลย้อนอาจรักษาโดยปรับพฤติกรรมการทานอาหาร ใช้ยาลดกรดหรือยายับยั้งการหลั่งกรด รวมถึงเข้ารับการผ่าตัดในกรณีที่มีอาการรุนแรง หากเกิดจากโรคภูมิแพ้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ และใช้ยายับยั้งการหลั่งกรดในกลุ่มโปรตอน ปั๊ม อินฮิบิเตอร์หรือยาสเตียรอยด์ร่วมด้วย หากสาเหตุเกิดจากการใช้ยาอาจปรึกษาแพทย์เพื่อสอบถามวิธีการรับประทานยาที่ถูกต้องเหมาะสม อาจหยุดใช้ยา เปลี่ยนไปใช้ยาชนิดอื่น หรือดื่มน้ำตามให้มากยิ่งขึ้น เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของหลอดอาหารอักเสบ

ผู้ป่วยหลอดอาหารอักเสบที่ละเลยและไม่เข้ารับการรักษาที่ถูกต้องอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับโครงสร้างและการทำงานของหลอดอาหารดังต่อไปนี้

  • หลอดอาหารตีบ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะทางเดินอาหารอุดตันและมีปัญหาในการกลืน
  • หลอดอาหารฉีกขาด ซึ่งอาจเกิดได้จากโรคในบริเวณหลอดอาหารเองหรือเป็นผลข้างเคียงจากหัตถการในบริเวณดังกล่าว
  • ภาวะหลอดอาหารอักเสบเรื้อรัง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์บริเวณเยื่อบุผิวหลอดอาหาร ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งหลอดอาหาร

วิธีป้องกันหลอดอาหารอักเสบ

เนื่องจากหลอดอาหารอักเสบเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ วิธีป้องกันจึงมีลักษณะแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ส่งผลให้อาการแย่ลงและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันตามคำแนะนำดังต่อไปนี้ อาจช่วยบรรเทาอาการและลดความเสี่ยงของหลอดอาหารอักเสบได้

พฤติกรรมการรับประทานอาหาร

  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารบางชนิดที่ส่งผลให้อาการของกรดไหลย้อนแย่ลง อาหารรสเผ็ดที่มีส่วนผสมของพริกสด พริกป่น หรือเครื่องแกง อาหารที่มีลักษณะแข็งอย่างถั่ว แครกเกอร์ หรือผักสด รวมถึงอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นกรดอย่างมะเขือเทศ ส้มและน้ำผลไม้ต่าง ๆ
  • รับประทานอาหารอ่อนที่ง่ายต่อการกลืน เช่น ซีเรียลสุก มันบด คัสตาร์ด พุดดิ้ง เป็นต้น 
  • ควรกัดอาหารเพียงคำเล็ก ๆ และเคี้ยวอาหารให้ละเอียดอยู่เสมอ
  • นำหลอดดูดมาใช้ในการดื่มน้ำ เพื่อช่วยให้กลืนได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น

พฤติกรรมการนอน

  • หลีกเลี่ยงการก้มหรืองอตัวโดยเฉพาะทันทีที่รับประทานอาหารเสร็จ
  • หลีกเลี่ยงการล้มตัวนอนหลังการรับประทานอาหาร แต่ควรเว้นระยะเวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมง จึงค่อยล้มตัวนอน
  • ปรับหัวนอนให้สูงขึ้น โดยใช้บล็อกไม้มาช่วยรองศีรษะให้สูงขึ้นประมาน 6-8 นิ้ว    

พฤติกรรมการใช้ยา    

  • หลีกเลี่ยงยาบางชนิดอย่างยาแก้ปวดหรือยาปฏิชีวนะ รวมถึงปรึกษาการใช้ยาและผลข้างเคียงกับแพทย์ทุกครั้งก่อนใช้ยา
  • ดื่มน้ำหลังรับประทานยาให้มาก ๆ และควรอยู่ในท่านั่งหลังรับประทานยาเสร็จแล้วอย่างน้อย 30 นาทีก่อนจะล้มตัวลงนอน

ยิ่งไปกว่านั้น การดูแลสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ งดดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ รวมถึงลดน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมก็เป็นอีกหนทางที่ช่วยลดความเสี่ยงของหลอดอาหารอักเสบเช่นกัน