หลั่งเร็ว (Premature Ejaculation)

ความหมาย หลั่งเร็ว (Premature Ejaculation)

หลั่งเร็ว (Premature Ejaculation) คือ ภาวะที่มีการหลั่งน้ำอสุจิเมื่อมีกิจกรรมทางเพศเร็วเกินไป ไม่สามารถควบคุมหรือชะลอการหลั่งได้ หลั่งภายในช่วงเวลาสั้น ๆ หลังการสอดใส่ เป็นหนึ่งในปัญหาเพศสัมพันธ์ที่พบในเพศชายซึ่งสร้างความหงุดหงิด วิตกกังวล จนเกิดเป็นความทุกข์ที่อาจนำไปสู่ปัญหาความสัมพันธ์ทางเพศ หรือขาดความมั่นใจจนทำให้ลดหรือหลีกเลี่ยงกิจกรรมทางเพศ 

อาการหลั่งเร็วสามารถรักษาให้หายได้หากทราบสาเหตุและได้รักษาอย่างถูกต้อง ซึ่งสาเหตุของการหลั่งเร็วอาจมาจากปัจจัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ การรักษาในเบื้องต้นอาจทำได้ด้วยการดูแลตนเอง แต่หากเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอจนส่งผลกระทบต่อชีวิตคู่ ผู้ป่วยอาจปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม

หลั่งเร็ว

อาการของการหลั่งเร็ว

การหลั่งเร็วในเพศชายมี 2 ลักษณะ คือ ภาวะหลั่งเร็วตั้งแต่มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกและหลั่งเร็วทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ กับภาวะหลั่งเร็วในภายหลัง ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่เคยหลั่งปกติมาก่อน

โดยอาการหลักของการหลั่งเร็ว ได้แก่

  • หลังการสอดใส่อวัยวะเพศ ไม่สามารถควบคุมหรือไม่สามารถชะลอการหลั่งได้เกินกว่า 1 นาที
  • หลั่งก่อนที่จะสอดใส่อวัยวะเพศเข้าในช่องคลอด

สาเหตุของการหลั่งเร็ว

การหลั่งเร็วอาจเกิดจากบางสาเหตุ หรืออาจมาจากหลายสาเหตุ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดการหลั่งเร็ว คือ

ทางร่างกาย
อาจเกิดจากความผิดปกติของระดับฮอร์โมน ความผิดปกติของสารเคมีในสมอง (สารสื่อประสาท) ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ การอักเสบและติดเชื้อที่ท่อปัสสาวะหรือบริเวณต่อมลูกหมาก การถ่ายทอดทางพันธุกรรม อยู่ในภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ และการใช้ยาหรือสารเสพติด

ทางจิตใจ
อาจมีปัจจัยที่กระทบต่อจิตใจจนส่งผลต่อการหลั่งเร็ว เช่น เครียด มีความวิตกกังวล อยู่ในภาวะซึมเศร้ มีปัญหาความสัมพันธ์ มีประสบการณ์ทางเพศเร็วหรือก่อนวัย  มีเพศสัมพันธ์จากการทารุณกรรมทางเพศ เป็นต้น

การวินิจฉัยการหลั่งเร็ว

หากการหลั่งเร็วไม่ได้กระทบต่อความสัมพันธ์ทางเพศหรือไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาและความไม่สบายใจ ก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องไปพบแพทย์ แต่หากการหลั่งเร็วเริ่มสร้างปัญหา และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง ควรไปปรึกษาขอคำแนะนำจากแพทย์

เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะซักถามเกี่ยวกับเรื่องทางเพศ กิจกรรมทางเพศ ปัญหาความสัมพันธ์ และประวัติการรักษาทางการแพทย์ พร้อมกับตรวจสุขภาพร่างกายในปัจจุบัน 

หากพบปัญหาการหลั่งเร็วที่มาพร้อมกับปัญหาอวัยวะเพศชายไม่แข็งตัว แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจเลือดหาความผิดปกติของระดับฮอร์โมนเพศชาย ตรวจหาความผิดปกติของท่อปัสสาวะ หรือแนะนำให้พบจิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เพื่อหาแนวทางในการรักษาและแก้ไขต่อไป

การรักษาการหลั่งเร็ว

อาการหลั่งเร็วสามารถรักษาให้หายได้หากได้รักษาอย่างถูกต้องที่สาเหตุ และผู้ป่วยจะสามารถมีเพศสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดความพึงพอใจได้  โดยแนวทางในการรักษาอาการหลั่งเร็วมีดังต่อไปนี้

การดูแลรักษาอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง
ในเบื้องต้น ผู้ป่วยสามารถดูแลรักษาอาการได้ด้วยตนเองเมื่อมีกิจกรรมทางเพศด้วยวิธีง่าย ๆ อย่างการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองก่อนการมีเพศสัมพันธ์ 12 ชั่วโมง การเลือกใช้ถุงยางอนามัยที่มีความหนาไม่ให้อวัยวะเพศไวต่อความรู้สึกจากผิวสัมผัส 

นอกจากนั้น ขณะมีเพศสัมพันธ์ควรหยุดพักและนึกถึงเรื่องอื่นที่ไม่ทำให้เกิดอารมณ์ หยุดการทำกิจกรรมทางเพศ หรือหายใจเข้าลึก ๆ แล้วพยายามชะลอการหลั่งในขณะที่ใกล้หลั่ง แล้วค่อยเริ่มทำกิจกรรมต่ออีกครั้งหนึ่ง

อีกวิธีคือการใช้เทคนิคบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ซึ่งเป็นบริเวณที่ส่งผลต่อความสามารถในการควบคุมการหลั่งอสุจิได้ วิธีการบริหารเริ่มจากการหากล้ามเนื้อที่ต้องการบริหารให้เจอ โดยการหยุดปัสสาวะกลางคันแล้วเกร็งกล้ามเนื้อ เมื่อพบกล้ามเนื้อบริเวณที่ต้องการแล้ว หลังจากนั้นให้หดเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณนั้น 3 วินาที แล้วคลายตัวอีก 3 วินาที 

ทำเช่นนี้ 10 ครั้ง ต่อ 1 รอบ ระหว่างนี้ให้หายใจเข้าออกตามปกติ บริหารกล้ามเนื้อเช่นนี้เป็นประจำทุกวัน วันละ 3 รอบ เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและลดปัญหาการหลั่งเร็วหรือควบคุมการหลั่งไม่ได้

การให้ยา
หากผู้ป่วยมีอาการป่วยเดิมที่เกี่ยวข้องเป็นเหตุทำให้เกิดการหลั่งเร็ว แพทย์จะรักษาด้วยการให้ยาตามอาการและความเหมาะสม ได้แก่

ยาต้านเศร้า (Antidepressant)
นอกจากจะใช้รักษาผู้ที่มีอาการและอยู่ในภาวะซึมเศร้า ผลข้างเคียงของกลไกการออกฤทธิ์ของยาต้านเศร้า คือ ชะลอการถึงจุดสุดยอดของการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเท่ากับชะลอการหลั่งอสุจิในเพศชายด้วย ตัวยาที่ใช้ เช่น พาร็อกซีทีน (Paroxetine) เซอร์ทราลีน (Sertraline) และฟลูออกซีทีน (Fluoxetine)

ดาพ็อกซิทีน (Dapoxetine)
เป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดกลับสารซีโรโทนินเช่นเดียวกับกลุ่มยาต้านเศร้า แต่ดาพ็อกซิทีนจะส่งผลรักษาอาการหลั่งเร็วและออกฤทธิ์ได้เร็วกว่า โดยต้องใช้ยาไม่เกินวันละ 1 ครั้ง รับประทานก่อนมีเพศสัมพันธ์ 13 ชั่วโมง และไม่สามารถใช้ในผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับหัวใจ ตับและไต ผลข้างเคียงจากการใช้ยาตัวนี้ คือ อาการปวดหัว วิงเวียน รู้สึกป่วย

ยาชาเฉพาะที่
ในบางครั้งอาจใช้ยาชาในรูปแบบครีมทา เช่น เบนโซเคน (Benzocaine) ลิโดเคน (Lidocaine) และไพรโลเคน (Prilocaine) ทาบริเวณอวัยวะเพศชายก่อนมีเพศสัมพันธ์ 1015 นาที เพื่อลดความรู้สึกและชะลอการหลั่งอสุจิ แต่ยาเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อฝ่ายหญิงไปด้วยเมื่อมีการดูดซึมยาบริเวณช่องคลอด

การเข้ารับการบำบัดจากผู้เชี่ยวชาญ
แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น

การบำบัดร่วมกับคู่ครอง (Couple Therapy)
นักบำบัดจะให้คู่ครองเปิดใจพูดคุยกันถึงปัญหาความสัมพันธ์ที่มีอยู่ แล้วแนะนำแนวทางแก้ไข หรืออีกวิธีคือ การใช้เทคนิคช่วยให้ฝ่ายชายลดปัญหาการหลั่งเร็ว ด้วยการให้ฝ่ายหญิงช่วยสำเร็จความใคร่ให้คู่ครอง แล้วหยุดทำก่อนฝ่ายชายจะถึงจุดสุดยอดและหลั่งอสุจิ พักชั่วขณะแล้วจึงเริ่มทำกิจกรรมทางเพศต่อ เพื่อฝึกควบคุมและชะลอการหลั่งของฝ่ายชาย

การรับคำปรึกษาจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพจิต
เป็นกระบวนการพูดคุยปรึกษาหาคำแนะนำ เพื่อช่วยผ่อนคลายความวิตกกังวล ช่วยให้สามารถรับมือกับปัญหาและจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้องเหมาะสม อาจเห็นผลทางการรักษาได้ดียิ่งขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับวิธีการรักษาด้วยยา

ภาวะแทรกซ้อนของการหลั่งเร็ว

การหลั่งเร็วอาจกระทบต่อการดำเนินชีวิตของบุคคลได้ เช่น ก่อให้เกิดความเครียด เกิดปัญหาความสัมพันธ์กับคู่ครอง และอาจเกิดปัญหามีลูกยากในกรณีที่อสุจิไม่ได้เข้าไปภายในช่องคลอดของฝ่ายหญิงจากพฤติกรรมการหลั่งเร็ว

การป้องกันการหลั่งเร็ว

การหลั่งเร็วเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ จึงไม่มีวิธีการป้องกันได้อย่างแน่นอน แต่วิธีการหลัก ๆ ที่จะช่วยลดปัญหาการหลั่งเร็ว ได้แก่

การมีทัศนคติที่ดีต่อเรื่องเพศสัมพันธ์
ไม่วิตกกังวลหรือพยายามให้ถึงเป้าหมายจนเกินไป หากมีปัญหาไม่สบายใจ รู้สึกขาดความมั่นใจ หรือรู้สึกผิดเกี่ยวกับเรื่องทางเพศ ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนรักษา

การทำความเข้าใจภาวะหลั่งเร็ว
การหลั่งเร็วเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้จากสาเหตุปัจจัยที่แตกต่างกันไปตามแต่กรณี ดังนั้น เมื่อต้องเผชิญกับภาวะหลั่งเร็วบ้างเป็นครั้งคราว ก็ไม่ควรวิตกกังวลจนเกินไป แต่หากการหลั่งเร็วสร้างปัญหาต่อความสัมพันธ์ หรือส่งผลต่อสภาพจิตใจมากจนเกินไป ควรไปพบแพทย์

สนับสนุนโดย: