ความหมาย หัวใจเต้นเร็ว (Tachycardia)
หัวใจเต้นเร็ว (Tachycardia) คืออาการที่หัวใจเต้นเร็วผิดปกติประมาณ 100 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป ซึ่งอัตราการเต้นของหัวใจปกติจะอยู่ที่ประมาณ 60–100 ครั้งต่อนาที ทั้งนี้ สามารถเกิดขึ้นได้แม้ในขณะที่ไม่ได้ทำกิจกรรมใด ๆ โดยอาจเป็นการตอบสนองของร่างกายต่อความวิตกกังวล อาการไข้ ภาวะเสียเลือดกะทันหัน หรือการออกกำลังกายที่ต้องใช้กำลังกายมาก
นอกจากนี้ อาการหัวใจเต้นเร็วอาจเกิดจากโรคหรือความผิดปกติในร่างกาย เช่น ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism) หรือโรคปอดบวม รวมไปถึงผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด หรือการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มบางอย่าง เช่น ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย
สาเหตุของหัวใจเต้นเร็ว
ปกติหัวใจจะมีกลุ่มเซลล์หัวใจทำหน้าที่ส่งสัญญาณไฟฟ้า เพื่อทำให้ห้องหัวใจปั๊มเลือดทำงานได้ปกติ แต่ภาวะหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติจะเกิดขึ้นเนื่องจากมีปัจจัยบางอย่างที่รบกวนการส่งสัญญาณไฟฟ้า โดยปัจจัยที่ไปรบกวนการส่งสัญญาณไฟฟ้าอาจเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้
- ภาวะที่ทำให้หัวใจทำงานหนัก และเนื้อเยื่อหัวใจถูกทำลายจากโรคหัวใจ
- โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease)
- ภาวะโลหิตจาง (Anemia)
- ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism)
- ความดันโลหิตต่ำหรือความดันโลหิตสูง
- เป็นไข้
- เสียความสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการเต้นของหัวใจ
- ความเครียด วิตกกังวลหรือตกใจ
- ออกกำลังกาย
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีนมากเกินไป
- สูบบุหรี่
- ใช้ยาเสพติดหรือสารกระตุ้นที่ผิดกฎหมาย เช่น โคเคน
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษาโรคบางชนิด
นอกจากนี้ ปัจจัยอื่น ๆ ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหัวใจเต้นเร็ว เช่น การมีประวัติของคนในครอบครัวที่หัวใจเต้นเร็วผิดปกติหรือเคยมีความผิดปกติการเต้นของหัวใจอื่น ๆ รวมถึงการที่อายุเพิ่มขึ้น ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นเร็วด้วย
อาการหัวใจเต้นเร็ว
หัวใจเต้นเร็วมี 3 ประเภท ได้แก่
1. หัวใจเต้นเร็วที่เกิดในหัวใจห้องบน (Supraventricular Tachycardia) เกิดจากความผิดปกติหรือความผิดพลาดของคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่หัวใจห้องบน ซึ่งทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น
2. หัวใจเต้นเร็วที่เกิดในหัวใจห้องล่าง (Ventricular Tachycardia) เกิดจากความผิดพลาดของคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่หัวใจห้องล่าง ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น
3. หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ (Sinus Tachycardia) จะเกิดขึ้นเมื่อส่วนการควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจตามธรรมชาติของร่างกายได้ส่งคลื่นไฟฟ้าที่มีความเร็วกว่าปกติและทำให้หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ
ภาวะหัวใจเต้นเร็วทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้เนื้อเยื่อหรืออวัยวะในร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ อาจมีอาการต่าง ๆ เช่น รู้สึกอ่อนเพลีย เจ็บหน้าอก หายใจตื้น และหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือบางรายอาจมีอาการเฉพาะเวลาออกกำลังกายเท่านั้น แต่โดยทั่วไป อาการหัวใจเต้นเร็วมักปรากฎอาการดังต่อไปนี้
- ใจสั่น หรือรู้สึกว่าหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ
- หายใจหอบเหนื่อย
- เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
- เวียนศีรษะ หรือรู้สึกหวิว
- ในกรณีที่ร้ายแรงอาจเป็นลมหมดสติเนื่องจากขาดออกซิเจน หรือเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นได้
ทั้งนี้ ในผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีปรากฎอาการใด ๆ เลย แต่ถูกตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram)
นอกจากนี้ อาการหัวใจเต้นเร็วที่มีสาเหตุจากโรคหรือภาวะบางอย่าง เช่น ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism) จะมีอาการเพิ่มเติมแตกต่างกันออกไป เช่น มีอาการทางระบบประสาท นอนไม่หลับ มีอาการสั่น เหงื่อออก หรือภาวะหัวใจเต้นเร็วที่มีสาเหตุมาจากโรคปอดหรือโรคหัวใจมักจะมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจตื้น หรือวิงเวียนศีรษะร่วมด้วย
อาการหัวใจเต้นเร็วที่ควรไปพบแพทย์
อาการหัวใจเต้นเร็วที่ควรไปพบแพทย์ ได้แก่ มีอาการหัวใจเต้นเร็วร่วมกับอาการหายใจติดขัด หรือเจ็บหน้าอกนานหลายนาที หรือมีสัญญาณของการขาดออกซิเจน เช่น ปากม่วง เล็บมือเขียว ควรรีบติดต่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์ฉุกเฉินหรือพบแพทย์โดยเร็ว เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของโรคหัวใจขาดเลือดที่รุนแรงได้
การวินิจฉัยหัวใจเต้นเร็ว
การวินิจฉัยหัวใจเต้นเร็ว แพทย์จะเริ่มจากถามอาการที่เกิดขึ้นทั้งหมด สอบถามประวัติทางการแพทย์ในอดีตของผู้ป่วยและหาสาเหตุที่มีความเป็นได้ และตรวจร่างกายอย่างละเอียด รวมไปถึงจับชีพจร ตรวจดูจังหวะการเต้นของหัวใจ ฟังปอดหรือตรวจดูสัญญาณความผิดปกติของต่อมไทรอยด์หากสงสัยว่าเกิดภาวะไทรอยด์ทำงานมากเกินไป
ในบางกรณี แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram) ซึ่งจะช่วยให้แพทย์รู้ว่าคลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ป่วยมีการทำงานอย่างไร และการตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ (Electrophysiological Test) เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยได้อย่างละเอียดยิ่งขึ้น หรือเพื่อให้สามารถระบุตำแหน่งของปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบหัวใจ
นอกจากนี้ ยังมีการตรวจหัวใจด้วยการดูภาพ เพื่อตรวจสอบโครงสร้างที่อาจมีความผิดปกติและส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนโลหิต จนนำไปสู่ภาวะหัวใจเต้นเร็ว การวินิจฉัยด้วยการดูภาพมีหลายวิธีด้วยกัน ได้แก่
- การเอกซเรย์ทรวงอก ช่วยให้เห็นภาพนิ่งของปอดและหัวใจ ซึ่งอาจช่วยให้แพทย์เห็นความผิดปกติ เช่น อาการหัวใจโต
- การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) เป็นการตรวจดูประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจด้วยการใช้การสะท้อนกลับของคลื่นเสียงความถี่สูง
- การตรวจด้วยครื่องสนามแม่เหล็กแรงสูง (Magnetic Resonance Imaging: MRI) ช่วยตรวจหาความผิดปกติของการหมุนเวียนโลหิตในหัวใจและตรวจหาความผิดปกติของหัวใจอื่น ๆ
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computerized Tomography) ช่วยให้เห็นรายละเอียดของภาพมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับแพทย์ในการหาความผิดปกติในหัวใจ
- ตรวจด้วยการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angiogram) เป็นวิธีที่ใช้เพื่อหาความผิดปกติหรือตรวจสอบการอุดกั้นของการไหลเวียนโลหิตในหลอดเลือดหัวใจ
- การตรวจทดสอบสมรรถภาพหัวใจ (Stress Test) เป็นการติดขั้วไฟฟ้าเพื่อบันทึกการทำงานของหัวใจไว้ที่บริเวณหน้าอกในระหว่างที่ให้ผู้ป่วยวิ่งบนลู่วิ่ง หรือให้รับประทานยาที่ทำให้หัวใจเต้นเร็ว ซึ่งจะช่วยให้เห็นการทำงานของหัวใจเมื่อต้องใช้งานหนัก
- การตรวจหัวใจด้วยเตียงปรับระดับ (Tilt Table Test) เป็นวิธีที่ช่วยให้แพทย์ประเมินและเข้าใจถึงภาวะหัวใจเต้นเร็วที่ทำให้เป็นลมหมดสติ ระหว่างการตรวจผู้ป่วยจะรับประทานยาที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นเร็วและนอนบนเตียงพิเศษเพื่อดูการตอบสนองของหัวใจและระบบประสาทเมื่อปรับระดับเตียง
การรักษาหัวใจเต้นเร็ว
การรักษาหัวใจเต้นเร็ว แพทย์จะเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคนไข้ โดยพิจารณาจากประวัติทางการแพทย์ การตรวจร่างกายและการตรวจเพิ่มเติมอื่น ๆ ประกอบกัน ซึ่งแพทย์จะรักษาสาเหตุที่ทำให้หัวใจเต้นเร็ว พร้อมทั้งให้การรักษาเพื่อชะลอไม่ให้หัวใจเต้นเร็วมากเกินไป หรือป้องกันการเกิดหัวใจเต้นเร็วอีกในอนาคต และลดภาวะแทรกซ้อนให้เหลือน้อยที่สุด
การรักษาโรคประจำตัวที่เป็นสาเหตุของหัวใจเต้นเร็ว
แพทย์จะรักษาหัวใจเต้นเร็วผิดปกติตามสาเหตุ โดยรักษาที่ตัวโรคหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายโดยตรง ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นเร็ว เช่น รักษาภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism) หรือควบคุมความดันโลหิตสูงให้เป็นปกติ
การรักษาด้วยการชะลออัตราการเต้นของหัวใจให้ช้าลง
ตัวอย่างการรักษาด้วยการชะลออัตราการเต้นของหัวใจให้ช้าลง เช่น
- การทำ Vagal Maneuvers เป็นวิธีที่แพทย์จะใช้ชะลออัตราการเต้นของหัวใจด้วยการกระตุ้นประสาทเวกัส (Vagus Nerve) โดยจะให้ผู้ป่วยไอ นั่งยอง ๆ หรือนำถุงน้ำแข็งมาวางไว้บนใบหน้า
- การรักษาด้วยยา แพทย์อาจให้ฉีดหรือรับประทานยาต้านภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เพื่อให้อัตราการเต้นของหัวใจกลับมาเป็นปกติ
- การช็อกหัวใจด้วยไฟฟ้า (Cardioversion) เป็นวิธีจะช่วยให้จังหวะการเต้นหัวใจกลับมาเป็นปกติได้ โดยอาจจะใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจแบบอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator: AED) หรือแบบแผ่นแปะที่บริเวณหน้าอก ซึ่งมักใช้ในภาวะฉุกเฉิน
การป้องกันการเกิดหัวใจเต้นเร็วในอนาคต
ตัวอย่างการป้องกันการเกิดหัวใจเต้นเร็วในอนาคต มีดังนี้
- การจี้หัวใจ (Catheter Ablation) เป็นวิธีรักษาหัวใจเต้นเร็วผิดปกติด้วยการใช้สายสวนหัวใจผ่านทางหลอดเลือดที่บริเวณขาหนีบ แขนหรือคอ โดยแพทย์จะใช้สายสวนหัวใจนี้ตรวจหาความผิดปกติหรือหาจุดกำเนิดของหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หากพบจึงจี้ทำลายบริเวณนั้น
- การรักษาด้วยยา ช่วยป้องกันหัวใจเต้นเร็วผิดปกติได้เมื่อรับประทานยาต้านภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นประจำ หรือแพทย์อาจให้ใช้ยาทางเลือกอื่น ๆ เช่น เบต้า บล็อกเกอร์ และแคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ โดยยาทั้ง 2 ชนิดนี้อาจใช้รวมกันกับยาต้านภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
- การใช้อุปกรณ์ไฟฟ้ากระตุ้นให้อัตราการเต้นของหัวใจสม่ำเสมอ (Pacemaker) เป็นอุปกรณ์ที่จะฝังไว้ใต้ผิวหนังผู้ป่วย โดยอุปกรณ์นี้จะปล่อยคลื่นไฟฟ้าเพื่อช่วยให้จังหวะการเต้นของหัวใจที่เร็วผิดปกติกลับมาเป็นปกติได้
- การฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ (Implantable Cardioverter) แพทย์จะแนะนำวิธีนี้สำหรับผู้ป่วยหัวใจเต้นเร็วที่มีความรุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิต แพทย์จะฝังเครื่องดังกล่าวไว้ที่บริเวณหน้าอก โดยเครื่องจะตรวจสอบจังหวะการเต้นของหัวใจและหากพบว่าจังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติก็จะส่งคลื่นไฟฟ้าที่ทำให้จังหวะการเต้นของหัวใจกลับมาเป็นปกติ
- การผ่าตัด เป็นวิธีที่แพทย์จะเลือกเมื่อการรักษาวิธีอื่น ๆ ไม่เกิดผลหรือมีความจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อรักษาความผิดปกติของหัวใจประเภทต่าง ๆ และกรณีหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ แพทย์จะผ่าตัดเพื่อทำลายเนื้อเยื่อที่เป็นจุดกำเนิดของคลื่นไฟฟ้า ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะหัวใจเต้นเร็ว
การป้องกันการเกิดลิ่มเลือดที่อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยหัวใจเต้นเร็ว
ผู้ป่วยหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ มีโอกาสสูงที่จะเกิดลิ่มเลือดซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดในสมอง โดยแพทย์อาจสั่งยาต้านการแข็งตัวของเลือด เพื่อช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าว
นอกจากนี้ ผู้ป่วยต้องดูแลสุขภาพของตนเองด้วยการลดน้ำหนักและออกกำลังกาย เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) และโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นเร็วด้วย
ภาวะแทรกซ้อนของหัวใจเต้นเร็ว
ภาวะแทรกซ้อนของหัวใจเต้นเร็วที่อาจเกิดขึ้นได้ คือผู้ป่วยอาจมีอาการหน้ามืดหรือหมดสติบ่อยครั้ง มีการเกิดลิ่มเลือด (Blood Clots) ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดโรคร้ายแรงอย่างโรคหลอดเลือดในสมองอุดตันหรือโรคหัวใจได้
รวมถึงภาวะหัวใจวาย (Heart Failure) และการเสียชีวิตอย่างกะทันหัน ที่มักเกิดขึ้นกับภาวะหัวใจเต้นเร็วที่เกิดในหัวใจห้องล่าง (Ventricular Tachycardia) หรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างสั่นพริ้ว (Ventricular Fibrillation) ด้วย
การป้องกันหัวใจเต้นเร็ว
การป้องกันการเกิดภาวะหัวใจเต้นเร็วอาจเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นหัวใจเต้นเร็วจากโรคหัวใจ อย่างไรก็ตาม ยังพอมีวิธีที่จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดหัวใจเต้นเร็วจากโรคหัวใจให้น้อยลงได้ ด้วยการดูแลสุขภาพหัวใจให้แข็งแรง หรือปฎิบัติตนอย่างเหมาะสมตามแผนการรักษาของแพทย์ พร้อมทั้งหมั่นสังเกตอาการหรือความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
วิธีดูแลตนเองเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ สามารถทำได้ดังนี้
- ออกกำลังกาย สม่ำเสมอและรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผักและผลไม้ หรือธัญพืชต่าง ๆ
- รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะหากมีน้ำหนักตัวที่มากเกินจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจได้
- ควบคุมระดับคอเลสเตอรอลและความดันโลหิตให้เป็นปกติ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำ
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างพอเหมาะ ซึ่งบางรายแพทย์อาจแนะนำให้เลิกดื่ม
- ดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนอย่างพอเหมาะ ไม่เกินวันละ 1–2 แก้ว
- เลิกสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงยาเสพติดหรือสารกระตุ้นที่ผิดกฎหมาย
- ระมัดระวังการใช้ยาบางชนิดที่ซื้อใช้เอง เช่น ยาแก้ไอหรือยาแก้ไข้ เพราะมีส่วนประกอบที่อาจไปกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็ว ควรปรึกษาแพทย์ว่าควรหลีกเลี่ยงยาชนิดใด
- หลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความเครียด ซึ่งปัจจุบันมีวิธีผ่อนคลาย ลดความตึงเครียดมากมาย เพื่อรับมือกับความเครียดในชีวิตประวันได้