หูชั้นกลางอักเสบ

ความหมาย หูชั้นกลางอักเสบ

หูชั้นกลางอักเสบ (Otitis Media) คืออาการอักเสบภายในของบริเวณหูชั้นกลาง ส่วนใหญ่แล้วมักเกิดจากการติดเชื้อที่เนื้อเยื่อหู จนก่อให้เกิดอาการบวมแดง อักเสบ และเกิดของเหลวที่บริเวณหลังแก้วหู หูชั้นกลางอักเสบมักเกิดขึ้นในเด็กเล็ก แต่ก็อาจพบในวัยอื่น ๆ ได้ด้วยเช่นกัน รักษาให้หายได้ด้วยการใช้ยา

Otitis Media

 โดยระดับของการอักเสบแบ่งออกเป็น 4 ระดับดังนี้

  • หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน โดยปกติแล้วหากผู้ป่วยไม่มีอาการหูชั้นกลางอักเสบมาก่อน จะถือว่าเป็นหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน เนื่องจากอาการดังกล่าวจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • ภาวะน้ำคั่งในหูชั้นกลาง เมื่อเกิดการอักเสบที่หูชั้นกลางจะทำให้เกิดของเหลวภายในหู ซึ่งอาจส่งผลต่อการได้ยินในระยะสั้น
  • ภาวะน้ำคั่งในหูชั้นกลางเรื้อรัง ของเหลวที่คั่งในหูเป็นเวลานานจะส่งผลให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัสซ้ำได้ ซึ่งหากเกิดการติดเชื้อบ่อย ๆ ก็อาจส่งผลต่อการได้ยิน
  • หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง หากแพทย์พบว่ามีการฉีกขาดของแก้วหูบ่อย ๆ และมีร่องรอยของการอักเสบ ก็อาจทำให้แพทย์วินิจฉัยได้ว่ามีการอักเสบอย่างเรื้อรังที่หูชั้นกลางได้

อาการหูชั้นกลางอักเสบ

อาการที่เกิดขึ้นโดยส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันภายในเวลาไม่กี่วัน อาการที่เกิดขึ้นในเด็ก และผู้ใหญ่มีความแตกต่างกันดังนี้

เด็ก - เป็นวัยที่ยังไม่สามารถบ่งบอกอาการได้อย่างชัดเจน แต่ผู้ปกครองอาจใช้วิธีสังเกตสัญญาณหรืออาการจากเด็กดังต่อไปนี้

  • ปวดหู โดยเฉพาะเวลาที่นอนหงาย
  • ดึงหูตัวเองบ่อย ๆ
  • นอนยาก
  • ร้องไห้ อารมณ์หงุดหงิดมากผิดปกติ หรือซึมลง โดยเฉพาะเวลาที่มีไข้สูง
  • มีปัญหาในการได้ยิน หรือตอบสนองต่อเสียงต่าง ๆ ช้า
  • สูญเสียการทรงตัว
  • มีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส
  • มีของเหลวไหลออกมาจากหู
  • ปวดศีรษะ
  • ความอยากอาหารลดลง

ผู้ใหญ่ - อาการจากหูชั้นกลางอักเสบที่พบได้ ได้แก่

  • ปวดหู
  • มีของเหลวไหลออกมาจากหู
  • มีปัญหาในเรื่องการได้ยิน
  • วิงเวียนศีรษะ

ในกรณีที่การอักเสบของหูชั้นกลางก่อให้เกิดของเหลวขึ้นภายหลังแก้วหู ผู้ป่วยอาจได้ยินเสียงป็อบ เสียงวิ้ง ๆ หรือรู้สึกแน่นภายในหู หากเป็นในเด็กก็สามารถสังเกตได้จากท่าทางของเด็กที่มักจะใช้มือถูที่หูเพื่อบรรเทาอาการ ทั้งนี้หากเกิดอาการแล้วควรรีบรักษา และควรรีบพาบุตรหลานไปพบแพทย์โดยด่วนหากเกิดอาการเหล่านี้

  • มีอาการติดต่อกันมากกว่า 2-3 วัน
  • มีอาการปวดหูอย่างรุนแรง
  • อาการเกิดขึ้นกับเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 6 เดือน
  • เด็กเล็กหรือเด็กทารกไม่สามารถนอนหลับได้ หรือมีอาการหงุดหงิดหลังจากเป็นไข้หวัด หรือการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน
  • มีของเหลว หนอง หรือเลือดไหลออกมาจากหู

ส่วนในผู้ใหญ่นั้น หากมีอาการปวดหูอย่างรุนแรง หรือมีของเหลวไหลออกมาจากหูควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วนเพื่อความปลอดภัย

สาเหตุ

สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดการอักเสบที่หูชั้นกลางมักเกิดจากการติดเชื้อที่ไม่รุนแรงอย่างไข้หวัด ซึ่งเชื้อดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดมูกเหลวภายในหูชั้นกลาง ซึ่งหากมูกเหลวเหล่านั้นตกค้างก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น และทำให้ต่อมอะดีนอยด์ (Adenoid) ขยายตัวขึ้นไปขัดขวางท่อยูสเตเชียน (Eustachian Tube) ซึ่งเป็นท่อเชื่อมต่อระหว่างหูชั้นกลางและจมูกถูกขัดขวาง หรือมีอาการบวม นำไปสู่การอักเสบที่หูชั้นกลางได้บ่อยมากขึ้น

ทั้งนี้ยังมีปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการติดเชื้อภายในหูชั้นกลางจนกลายเป็นการอักเสบได้ ซึ่งได้แก่

  • อายุ หูชั้นกลางอักเสบมักเกิดขึ้นในเด็กอายุ 6 เดือน-2 ปี เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากท่อยูสเตเชียนของเด็กอยู่ในลักษณะแนวราบทำให้เกิดการระบายของเหลวไม่ดีพอเหมือนผู้ใหญ่
  • ปัญหาสุขภาพ เด็กที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่มีความเสี่ยงที่จะเกิดติดเชื้อในหูชั้นกลาง เนื่องจากความผิดปกติดังกล่าวจะส่งผลให้เชื้อโรคเข้าสู่ท่อยูสเตเชียนและเข้าสู่หูชั้นกลางได้ง่ายกว่าคนปกติทั่วไป นอกจากนี้ ผู้ป่วยกลุ่มดาวน์ซินโดรม (Down's Syndrome) ที่มีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างจากเด็กคนทั่วไปจะมีโอกาสเสี่ยงในการเกิดหูชั้นกลางอักเสบได้มากขึ้น
  • การดูแลเด็ก เด็กที่ต้องได้รับการดูแลในสถานรับเลี้ยงมีความเสี่ยงที่จะเป็นไข้หวัดและเกิดการติดเชื้อที่หูได้ง่าย เนื่องจากภูมิคุ้มกันของเด็กยังไม่พัฒนา และสถานรับเลี้ยงเด็กมักเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคที่ทำให้เด็กป่วยได้มากที่สุด
  • การดื่มนมแม่ เด็กที่ไม่ได้ดื่มนมแม่ตั้งแต่กำเนิดจะทำให้มีภูมิคุ้มกันในช่วงแรกเกิดน้อยกว่าเด็กที่ดื่มนมแม่ เนื่องจากในน้ำนมแม่มีภูมิคุ้มกันที่ดีและช่วยป้องกันการติดเชื้อต่าง ๆ ได้
  • การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ไข้หวัดมักเป็นกันมากในฤดูฝน และฤดูหนาว ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยติดเชื้อที่หูได้ง่ายขึ้นเมื่อเป็นไข้หวัด นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อากาศก็ยังมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อได้อีกด้วย
  • มลพิษทางอากาศ ฝุ่นควันในอากาศอาจกระตุ้นให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และหูได้ง่ายขึ้น

การวินิจฉัยหูชั้นกลางอักเสบ

ผู้ป่วยสามารถสังเกตอาการได้ในเบื้องต้น หากมีอาการปวดหู หรือมีของเหลวไหลออกมาจากหูอย่างไม่มีสาเหตุ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจ เพราะหากยิ่งรักษาช้าอาจทำให้อาการยิ่งรุนแรงหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้

ทั้งนี้ เมื่อไปพบแพทย์แล้ว แพทย์จะตรวจด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อวินิจฉัยผล โดยในเบื้องต้นแพทย์จะใช้ที่ตรวจหูอย่างกล้องส่องหู (Otoscope) เป็นหลักเพื่อสำรวจดูความผิดปกติภายในช่องหู เช่น แก้วหูทะลุ มีของเหลวคั่งในหู หรือมีเนื้อเยื่ออักเสบภายในช่องหูหรือไม่ ซึ่งบางกรณีก็อาจวินิจฉัยได้จากการตรวจด้วยกล้องส่องหู แต่บางกรณีที่อาการรุนแรง หรือตรวจลำบาก แพทย์อาจสั่งตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อระบุอาการให้ชัดเจนมากขึ้น วิธีที่แพทย์มักใช้ได้แก่

  • การตรวจการทำงานของหูชั้นกลาง (Tympanometry) เป็นการตรวจเพื่อดูการทำงานของหูชั้นกลางอย่างแก้วหูว่ามีการทำงานที่เป็นปกติหรือไม่ โดยอุปกรณ์ที่ใช้ตรวจจะมีลักษณะพิเศษ ได้รับการออกแบบให้ปิดช่องหูทั้งหมด จากนั้นเครื่องจะเป่าลมซึ่งมีแรงดันอากาศเข้าไปในหู ทำให้แก้วหูสั่นสะเทือน จากนั้นอุปกรณ์จะวัดว่าแก้วหูมีการสั่นสะเทือนที่เป็นปกติหรือไม่ และมีแรงดันอากาศภายในหูชั้นกลางเป็นอย่างไร
  • การตรวจการกระตุกอัตโนมัติของกล้ามเนื้อหูชั้นกลาง (Acoustic Reflectometry) การตรวจนี้จะช่วยให้แพทย์ทราบว่าผู้ป่วยมีของเหลวคั่งภายในหูหรือไม่ โดยการปล่อยคลื่นเสียงไปที่แก้วหูเพื่อดูการสั่นสะเทือนของแก้วหู หากมีของเหลวอยู่ภายในหูมากเกินไปก็จะยิ่งทำให้เกิดแรงดันและเกิดการสะท้อนของเสียงมากขึ้น
  • การเจาะเยื่อแก้วหู (Tympanocentesis) เป็นวิธีตรวจที่พบได้น้อย โดยแพทย์อาจนำท่อขนาดเล็กมาเจาะเพื่อระบายของเหลวในหูชั้นกลาง และนำของเหลวดังกล่าวไปตรวจเพื่อหาชนิดของเชื้อที่ทำให้เกิดการอักเสบ โดยวิธีดังกล่าวจะใช้ในกรณีที่การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ไม่ได้ผล
  • การตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ ในกรณีที่เกิดหูชั้นกลางอักเสบเกิดขึ้นเรื้อรัง หรือมีของเหลวในหูเรื้อรัง แพทย์อาจส่งตัวให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการได้ยินตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีเฉพาะ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถรับมือกับความผิดปกติที่เกิดจากปัญหาการได้ยินดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ผลจากการตรวจด้วยวิธีข้างต้น จะช่วยให้แพทย์ระบุได้ว่าผู้ป่วยมีภาวะหูชั้นกลางอักเสบในระดับใด และวางแผนในการรักษาต่อไป

การรักษาหูชั้นกลางอักเสบ

หูชั้นกลางอักเสบนั้นรักษาให้หายได้ด้วยการใช้ยา โดยในระหว่างการรักษาแพทย์อาจต้องระบายของเหลวที่อยู่ในหูเพื่อบรรเทาอาการด้วย นอกเหนือจากการรักษาทางการแพทย์แล้ว ผู้ป่วยจะต้องดูแลรักษาตัวเองด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • ประคบร้อน ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดหูเนื่องจากการติดเชื้อ การประคบร้อนจะช่วยลดอาการปวดได้
  • อยู่ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก ในระหว่างการรักษา ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่มีมลพิษทางอากาศ จะช่วยให้อาการดีขึ้น

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยเป็นเด็ก ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิด หากบุตรหลานมีอาการที่ผิดปกติหรือรุนแรงมากขึ้น ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันทีเพื่อความปลอดภัย ส่วนการรักษาด้วยยา แพทย์มักสั่งใช้ยาหลัก ๆ อยู่ 2 ชนิด ได้แก่

  • ยาระงับอาการปวด หูชั้นกลางอักเสบอาจก่อให้เกิดอาการปวด หรือมีไข้ได้ แพทย์จึงมักแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาแก้ปวดอย่าง พาราเซตามอล และยาไอบูโพรเฟน เพื่อบรรเทาอาการ แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน เพราะอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้
  • ยาปฏิชีวนะ แพทย์จะสั่งใช้ยานี้เพื่อรักษาการอักเสบ โดยผู้ป่วยจะต้องรับประทานตามที่แพทย์กำหนด อาการจึงจะดีขึ้น แต่หากรับประทานไม่ครบตามกำหนดจะทำให้มีโอกาสติดเชื้อซ้ำ และอาการจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากเชื้อมักดื้อยา

ทั้งนี้ ในผู้ที่มีการติดเชื้อรุนแรงจนทำให้มีของเหลวคั่งในหูส่วนกลาง แพทย์จำเป็นที่จะต้องนำของเหลวที่คั่งอยู่ออกมาด้วยการผ่าตัดเจาะแก้วหู (Myringotomy) โดยแพทย์จะเจาะแก้วหูเป็นรูขนาดเล็กแล้วสอดท่อเพื่อให้ของเหลวในหูไหลออกมา ในรายที่มีอาการเรื้อรังแพทย์อาจสอดท่อเอาไว้จนกว่าอาการจะหายสนิท อาจใช้ระยะเวลาประมาณ 6-18 เดือน

ทว่าการผ่าตัดด้วยวิธีดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดการอักเสบ หรือแผลเป็นได้ แต่มีโอกาสเกิดได้น้อย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรติดตามผลในระยะยาวเพื่อไม่ให้อาการดังกล่าวเกิดขึ้นอีกได้

ภาวะแทรกซ้อนจากหูชั้นกลางอักเสบ

ปกติแล้วภาวะแทรกซ้อนจากหูชั้นกลางอักเสบนั้นเกิดขึ้นได้น้อยมาก โดยเฉพาะในเด็ก เนื่องจากเป็นวัยที่มีภูมิคุ้มกันสูง แต่อาจพบอาการที่เป็นอันตรายได้ เช่น

  • แก้วหูฉีกขาด อาการอักเสบอาจส่งผลให้แก้วหูฉีกขาดได้ แต่มีโอกาาหายเองได้ แต่ในบางกรณีก็อาจต้องผ่าตัดเพื่อรักษา ทั้งนี้แก้วหูจะรักษาตัวเร็วหรือช้ามักขึ้นอยู่ว่าแผลฉีกขาดมีขนาดใหญ่หรือไม่
  • ความบกพร่องทางการได้ยิน โดยปกติแล้วเมื่อหูชั้นกลางเกิดการอักเสบก็อาจทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการได้ยินชั่วคราว แต่อาการจะไม่รุนแรงมากนัก ยกเว้นเกิดการอักเสบเรื้อรัง หรือมีของเหลวอยู่ในหูนาน ๆ อาจทำให้สูญเสียการได้ยินอย่างถาวร
  • โพรงกกหูอักเสบ (Mastoiditis) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นเมื่อเชื้อโรคที่ทำให้หูชั้นกลางอักเสบแพร่กระจายเข้าไปในโพรงกกหูจนเกิดอาการอักเสบบริเวณดังกล่าว โดยภาวะแทรกซ้อนนี้อาจก่อให้เกิดอาการ เช่น ไข้สูง ปวดศีรษะ หลังหูบวม มีอาการบวมแดง หรือกดเจ็บที่หลังหู มีหนองออกมาจากหู และอาจทำให้สูญเสียการได้ยิน ภาวะนี้จะต้องรักษาโดยการให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ หรือหากรุนแรงมากอาจจะต้องผ่าตัดเพื่อนำหนองออกจากหู หรือตัดกระดูกกกหูออก
  • ขี้ไคลในหูชั้นกลาง (Cholesteatoma) เกิดจากการที่เซลล์ผิวหนังภายในหูเข้าไปอยู่ในหูชั้นกลาง หากไม่รักษาอาจทำลายโครงสร้างภายในหูได้ เช่น อาจไปทำให้กระดูกเล็ก ๆ ในหูที่มีสำคัญต่อการได้ยินเสียหาย และอาจก่อให้เกิดอาการเหล่านี้ เช่น สูญเสียการได้ยิน ใบหน้าซีกหนึ่งอ่อนแรง วิงเวียนศีรษะ หูอื้อ การรักษาที่ดีที่สุดคือการผ่าตัดเพื่อนำขี้ไคลเหล่านั้นออก
  • หูชั้นในอักเสบ (Labyrinthitis) หากไม่รักษาอาการอักเสบที่หูส่วนกลาง การอักเสบอาจแพร่กระจายเข้าไปยังหูชั้นในได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ บ้านหมุน สูญเสียการทรงตัว และสูญเสียการได้ยินได้ โดยการรักษาจะต้องใช้ยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการและลดการติดเชื้อ
  • อัมพาตบนใบหน้า (Facial Paralysis) อาการบวมที่ใบหน้าจากภาวะหูชั้นกลางอักเสบหากเรื้อรังอาจทำให้เกิดแรงกดที่เส้นประสาทบนใบหน้า และเกิดปัญหาในการควบคุมกล้ามเนื้อ หรือแสดงสีหน้าได้ แต่เกิดขึ้นได้น้อยมาก หรือหากเกิดก็มีน้อยรายมากเช่นกันที่เป็นโดยถาวร
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก แต่เป็นอันตรายมาก หากการติดเชื้อลุกลามไปยังเยื่อหุ้มสมอง หรือไขสันหลัง  อาจก่อให้เกิดอาการที่รุนแรงต่าง ๆ ได้ เช่น ปวดหัวอย่างรุนแรง รู้สึกไม่สบาย มีไข้สูง คอติด แพ้แสง หายใจเร็ว หรือมีผื่นแดงบนผิวหนัง ซึ่งหากไม่รีบรักษา จะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
  • ฝีในสมอง อีกหนึ่งภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก หากเชื้อโรคแพร่กระจายไปที่สมองจะทำให้เกิดฝีในสมอง ส่งผลให้มีอาการอื่น ๆ ตามมา ได้แก่ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง สภาพจิตเปลี่ยนแปลงผิดปกติ เกิดอาการอ่อนแรง หรือเป็นอัมพฤกษ์ซีกใดซีกหนึ่งในร่างกาย มีไข้สูง และมีอาการชักได้ โดยฝีในสมองมักจะต้องได้รับรักษาด้วยการใช้ยาควบคู่กับการผ่าตัด

นอกจากนี้ หากเป็นผู้ป่วยเด็กซึ่งมีอาการหูชั้นนอกอักเสบเกิดขึ้นบ่อย ๆ อาจทำให้พัฒนาการด้านการพูดของเด็กมีปัญหาได้ ต่อเนื่องกลายเป็นปัญหาเกี่ยวกับการได้ยิน หากผู้ปกครองพบความผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที

การป้องกันหูชั้นกลางอักเสบ

หูชั้นกลางอักเสบเป็นอาการที่มักพบในเด็ก ซึ่งเป็นวัยที่ป้องกันและสังเกตอาการได้ยาก เนื่องจากเด็กยังไม่สามารถบอกอาการแก่ผู้ปกครองได้ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย ผู้ปกครองควรดูแลเด็กให้ห่างไกลจากความเสี่ยง และเสริมภูมิคุ้มกันให้เด็กด้วยวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ให้เด็กดื่มนมแม่จนครบกำหนด เด็กที่ดื่มนมแม่ติดต่อกันอย่างน้อย 12 เดือนจะมีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อต่าง ๆ มากกว่าเด็กที่ไม่ได้ดื่มนมแม่
  • ให้เด็กอยู่ในที่ที่มีอากาศสะอาด อากาศที่มีมลพิษจะทำให้เด็กเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้น จึงควรให้เด็กอยู่ในที่ที่มีอากาศปลอดโปร่ง และหลีกเลี่ยงควัน โดยเฉพาะควันบุหรี่ ไม่ควรนำเด็กไปฝากที่สถานรับเลี้ยง เพราะเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อที่ทำให้ป่วยได้
  • พาเด็กไปรับวัคซีนให้ตรงตามกำหนด การได้รับวัคซีนตรงตามกำหนดอย่างครบถ้วนจะช่วยให้ภูมิคุ้มกันของเด็กแข็งแรงมากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้จุกนมปลอม ในเด็กเล็กที่มีอายุ 12 เดือนขึ้นไป การใช้จุกนมปลอมจะทำให้เด็กเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่าง ๆ รวมทั้งการติดเชื้อที่หูชั้นกลางมากขึ้น ดังนั้น ผู้ปกครองควรหลีกเลี่ยงการให้เด็กใช้จุกนมปลอมจะดีที่สุด

สำหรับผู้ใหญ่ แม้ภาวะหูชั้นกลางอักเสบจะเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากเมื่อโตขึ้นท่อยูสเตเชียนจะมีขนาดใหญ่ขึ้น และลักษณะของท่อยูสเตเชียนจะทำมุมกับแนวราบมากขึ้น ทำให้เกิดการอุดตันซึ่งเป็นสาเหตุของการอักเสบได้ยาก แต่ควรระมัดระวังไว้เช่นกัน หากมีอาการปวดหู และมีของเหลวผิดปกติไหลออกมาจากหูควรรีบพบแพทย์ทันที