อะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen)
Acetaminophen (อะเซตามีโนเฟน) หรือที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในชื่อยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เป็นยาที่ช่วยบรรเทาอาการปวดและช่วยลดไข้ ถือเป็นยาสามัญประจำบ้านที่มักใช้รักษาอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดฟัน รวมถึงไข้หวัด เพราะสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แต่ยา Acetaminophen บางประเภทก็จำเป็นต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น
ยา Acetaminophen มีหลายรูปแบบ ทั้งรูปแบบยาเม็ด ยาน้ำเชื่อม หรือยาน้ำแขวนตะกอนสำหรับรับประทาน ยาเหน็บทวารหนัก และยาฉีด โดยทั่วไปยาชนิดนี้จะใช้รักษาอาการปวดในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่หากเป็นอาการปวดที่รุนแรง แพทย์อาจพิจารณาใช้รักษาร่วมกับยาแก้ปวดในกลุ่มโอปิออยด์ (Opioids) ด้วย
เกี่ยวกับยา Acetaminophen
กลุ่มยา | ยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่โอปิออยด์และยาลดไข้ |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่หาซื้อได้เอง |
สรรพคุณ | บรรเทาอาการปวด ลดไข้ |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็กและผู้ใหญ่ |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร | Category B สำหรับยาชนิดรับประทานและยาชนิดเหน็บ เนื่องจากจากการศึกษาในสัตว์ไม่พบความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์หรืออาจพบผลไม่พึงประสงค์ในสัตว์ และยังไม่พบความเสี่ยงในมนุษย์เมื่อใช้ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ รวมทั้งไม่มีหลักฐานทางการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า มีความเสี่ยงเมื่อใช้ในช่วงหลังเดือนที่สามเป็นต้นไป Category C สำหรับยาชนิดฉีด เนื่องจากการศึกษาในสัตว์พบว่าทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ดังนั้น ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่ามีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ วางแผนตั้งครรภ์ และผู้ที่กำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน ยาเหน็บ ยาฉีด |
คำเตือนการใช้ยา Acetaminophen
เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา Acetaminophen ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติการแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยา Acetaminophen รวมถึงยาชนิดอื่น ๆ เพราะอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกาย
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากวางแผนที่จะตั้งครรภ์ กำลังตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยังไม่มีข้อสรุปทางการแพทย์ที่แน่ชัดว่าตัวยามีความปลอดภัยต่อผู้ที่ตั้งครรภ์และกำลังให้นมบุตร
- เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี ไม่ควรใช้ยา Acetaminophen โดยไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
- ผู้ที่มีภาวะสุขภาพบางอย่าง เช่น โรคไต โรคตับ โรคฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria) หรือผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หนัก ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา เพราะตัวยาอาจทำให้อาการของโรคที่เป็นอยู่แย่ลงได้
- ในระหว่างการใช้ยา Acetaminophen ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการส่งผลกระทบต่อสุขภาพตับ
ปริมาณการใช้ยา Acetaminophen
ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยา Acetaminophen อาจขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุและน้ำหนักตัวของผู้ป่วย ความรุนแรงของยา รวมถึงอาการของโรค โดยตัวอย่างการใช้ยามีดังนี้
อาการปวดระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง และไข้หวัดทั่วไป
ตัวอย่างการใช้ยา Acetaminophen เพื่อบรรเทาอาการปวดระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง และไข้หวัดทั่วไป
เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ รับประทานยาชนิดออกฤทธิ์ทันทีขนาด 325–1,000 มิลลิกรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง แต่ไม่ควรรับประทานเกิน 1,000 มิลลิกรัม/ครั้ง และ 4,000 มิลลิกรัม/วัน
เด็กแรกเกิด จนถึงอายุ 12 ปี รับประทานยาปริมาณ 10–15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง แต่ไม่ควรรับประทานยาเกิน 5 ครั้ง/วัน
อย่างไรก็ตาม การใช้ยา Acetaminophen ในเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะการได้รับยาในปริมาณที่มากเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรงได้
การใช้ยา Acetaminophen
การใช้ยาควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์หรือคำแนะนำบนฉลากเท่านั้น ไม่ควรใช้ยาในปริมาณมากกว่าหรือน้อยกว่าที่กำหนด รวมถึงไม่ควรใช้ยาในระยะเวลานานกว่าที่กำหนดด้วย ในกรณีที่ลืมใช้ยาควรรีบใช้ยาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ แต่หากใกล้เวลาใช้ยาในรอบถัดไปควรข้ามไปใช้ยาของรอบถัดไปแทน ไม่ควรเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า
ตัวอย่างการใช้ยา ได้แก่ ยาเม็ดชนิดรับประทานควรกลืนยาทั้งเม็ดพร้อมกับน้ำเปล่า 1 แก้วในคราวเดียว ไม่ควรกัดหรือเคี้ยวตัวยาก่อนกลืน ส่วนยาเม็ดชนิดเคี้ยวได้ควรเคี้ยวตัวยาให้ละเอียดก่อนกลืน และยาชนิดน้ำควรเขย่าขวดยาให้ส่วนผสมรวมเป็นเนื้อเดียวกันก่อน จากนั้นใช้หลอดหยดยาหรือช้อนสำหรับตวงยาโดยเฉพาะเพื่อให้ได้ปริมาณยาที่ถูกต้อง สามารถรับประทานยาพร้อมกับมื้ออาหารหรือไม่ก็ได้
การเก็บรักษายาควรเก็บให้พ้นมือเด็ก โดยเก็บในภาชนะปิดที่อุณหภูมิห้อง และควรเก็บให้ห่างจากความร้อน ความชื้น และแสงแดด ส่วนยาชนิดเหน็บควรเก็บไว้ในตู้เย็นแต่ไม่ควรเก็บไว้ในช่องแช่แข็ง และไม่ควรเก็บยาที่ไม่ได้ใช้แล้วนานจนเกินไป
ปฏิกิริยาระหว่างยา Acetaminophen กับยาอื่น
ยา Acetaminophen อาจทำปฏิกิริยากับยา วิตามิน หรือสมุนไพรบางชนิด ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง โดยเฉพาะยาต่อไปนี้
- ยาชนิดอื่นที่มี Acetaminophen เป็นส่วนประกอบ เพราะอาจทำให้ได้รับปริมาณยาเกินขนาด
- ยาบรรเทาอาการปวดฟลูคลอกซาซิลลิน (Flucloxacillin) เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเลือดเป็นกรด
- ยาต้านอาการชักลาโมไตรจีน (Lamotrigine) เพราะอาจลดอัตราการดูดซึมและประสิทธิภาพของยา
- กลุ่มยาแก้อาเจียน เช่น ยาเมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide) ยาดอมเพอริโดน (Domperidone) เพราะอาจเพิ่มอัตราการดูดซึมของยา
- กลุ่มยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาฟาวาริน (Warfarin) เพราะการใช้ยา Acetaminophen เป็นเวลานานอาจเพิ่มฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด และเพิ่มความเสี่ยงการตกเลือดได้
ตัวอย่างยาและสมุนไพรดังข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่อาจทำปฏิกิริยากับยา Acetaminophen เท่านั้น หากผู้ป่วยกำลังใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ อยู่ ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Acetaminophen
แม้ว่าการใช้ยา Acetaminophen จะค่อนข้างปลอดภัยในคนทั่วไปและไม่ส่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อสุขภาพ แต่ก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรงบางประการได้ เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ เกิดปัญหาการนอนหลับ หรือท้องไส้ปั่นป่วน ซึ่งอาการเหล่านี้อาจสามารถหายได้เองโดยไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์
แต่หากอาการข้างต้นไม่ยอมหายไปและมีอาการรุนแรงมากขึ้น รวมถึงมีความผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้นควรรีบไปพบแพทย์ทันที ดังนี้
- เกิดปฏิกิริยาทางผิวหนัง เช่น ผิวหนังมีอาการแดง ลอก พุพอง รวมถึงเนื้อเยื่อภายในช่องปากด้วย
- สัญญาณของการเกิดปัญหาเกี่ยวกับตับ เช่น คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ปวดท้องด้านขวาบน ปัสสาวะมีสีเข้ม อุจจาระมีสีอ่อน อ่อนแรงผิดปกติ เกิดภาวะดีซ่าน
- สัญญาณของการแพ้ยา เช่น เกิดผื่นคัน ลมพิษ อาการบวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และลำคอ