ความหมาย อัณฑะอักเสบ (Orchitis)
อัณฑะอักเสบ (Orchitis) เป็นการอักเสบบริเวณอัณฑะ โดยสาเหตุที่พบได้บ่อยมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการติดเชื้อบริเวณอื่นอย่างท่อเก็บตัวอสุจิ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการบวมเจ็บบริเวณอัณฑะข้างใดข้างหนึ่ง มีไข้ รู้สึกไม่สบายหรืออ่อนเพลีย ปวดบริเวณขาหนีบ และอื่น ๆ
นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการลูกอัณฑะฝ่อหรือไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายในระยะยาวหากไม่ได้รับการรักษา เช่น ลูกอัณฑะข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างไม่สามารถทำงานได้ มีบุตรยาก เกิดความเจ็บป่วยอย่างรุนแรงหรือเสียชีวิต เป็นต้น
อาการของอัณฑะอักเสบ
ผู้ป่วยอัณฑะอักเสบมักจะมีอาการดังนี้
- บวมบริเวณอัณฑะข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง
- รู้สึกเจ็บบริเวณอัณฑะมากขึ้นเรื่อย ๆ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- รู้สึกไม่สบายหรืออ่อนเพลีย
- มีไข้
- น้ำอสุจิมีเลือดปะปน
- มีของเหลวไหลออกมาจากองคชาต
- ปวดบริเวณขาหนีบ
- รู้สึกเจ็บเมื่อมีเพศสัมพันธ์หรือหลั่งน้ำอสุจิ
- กดแล้วมีอาการปวด หรือรู้สึกหนักบริเวณอัณฑะและขาหนีบ
สาเหตุของอัณฑะอักเสบ
แพทย์อาจไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดอัณฑะอักเสบได้อย่างแน่ชัด ในบางกรณีพบว่าเกิดจากเชื้อชนิดต่าง ๆ เช่น
เชื้อแบคทีเรีย
โรคอัณฑะอักเสบที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียอาจเป็นผลมาจากภาวะต่าง ๆ เช่น การอักเสบบริเวณท่อเก็บตัวอสุจิเนื่องจากการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ อย่างโรคหนองในแท้หรือโรคหนองในเทียม การติดเชื้อหรือความผิดปกติแต่กำเนิดของระบบทางเดินปัสสาวะ การใช้เครื่องมือแพทย์สอดเข้าไปภายในองคชาตเพื่อการรักษา เป็นต้น
เชื้อไวรัส
โรคอัณฑะอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัสมักเกิดขึ้นจากเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคคางทูม ซึ่งจะแสดงอาการภายใน 4-10 วัน หลังจากที่ผู้ป่วยมีอาการต่อมน้ำลายบวมหรืออาการอื่น ๆ จากโรคคางทูม
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดอัณฑะอักเสบ ได้แก่ อายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคางทูม มีอาการติดเชื้อซ้ำในระบบทางเดินปัสสาวะ เข้ารับการผ่าตัดบริเวณอวัยวะเพศหรือท่อปัสสาวะ เป็นผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโต รวมไปถึงผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น การมีคู่นอนหลายคน การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใส่ถุงยางอนามัย หรือเคยมีประวัติการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น
การวินิจฉัยอัณฑะอักเสบ
แพทย์จะวินิจฉัยอัณฑะอักเสบจากประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย พร้อมกับตรวจร่างกายเพื่อดูอาการบวมของต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ อาการบวมของอัณฑะข้างที่มีการอักเสบ ร่วมกับการตรวจทางทวารหนักเพื่อดูขนาดและความยืดหยุ่นของต่อมลูกหมาก
นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เช่น
- การตรวจและคัดกรองโรคทางเพศสัมพันธ์ ในกรณีที่มีสารคัดหลั่งออกมาจากท่อปัสสาวะ แพทย์จะนำไม้ป้ายชนิดพิเศษสอดเข้าไปในองคชาตจนสุด และนำตัวอย่างของสารคัดหลั่งไปตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อหาเชื้อโรคหนองในแท้และโรคหนองในเทียม
- การตรวจปัสสาวะด้วยการนำตัวอย่างปัสสาวะของผู้ป่วยมาวิเคราะห์ เพื่อหาการติดเชื้อหรือนำไปเพาะเชื้อ
- การตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ ทำให้แพทย์เห็นการไหลเวียนของเลือดภายในอัณฑะที่น้อยหรือมากกว่าปกติ และอาการผิดปกติร้ายแรงอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น
- การตรวจเลือดเพื่อตรวจหาเชื้อเอชไอวี (HIV) และซิฟิลิสในกรณีที่แพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
การรักษาอัณฑะอักเสบ
ผู้ที่มีการอักเสบบริเวณถุงอัณฑะเพียงข้างเดียวหรืออาการไม่รุนแรงสามารถรักษาให้หายได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อภาวะการเจริญพันธุ์ในระยะยาว โดยทั่วไป การรักษาโรคอัณฑะอักเสบจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการ ดังนี้
- การรักษาโรคฑะอักเสบที่มีสาเหตุมาจากแบคทีเรีย แพทย์จะรักษาโดยการใช้ยาปฏิชีวนะและยาแก้อักเสบ ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องรับประทานยาจนหมดตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดแม้ว่าอาการจะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายของผู้ป่วยหายจากการติดเชื้อ และอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการรักษาอาการกดเจ็บให้หายไป หากอัณฑะอักเสบเกิดจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ แพทย์จะแนะนำให้คู่นอนของผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเช่นกัน
- การรักษาโรคอัณฑะอักเสบที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส แพทย์จะเน้นไปที่การบรรเทาอาการของผู้ป่วย โดยอาจใช้ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ อย่างยาไอบูโพรเฟนหรือยานาพรอกเซน เพื่อบรรเทาอาการ ซึ่งโรคอัณฑะอักเสบที่เกี่ยวข้องกับโรคคางทูมจะมีอาการดีขึ้นภายใน 1–3 สัปดาห์
- การประคบเย็นด้วยการใช้ผ้าห่อน้ำแข็งมาประคบบริเวณที่มีอาการเป็นเวลา 15–20 นาทีต่อครั้ง แต่ต้องระวังไม่ให้น้ำแข็งสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง และในช่วง 1–2 วันแรกควรประคบหลาย ๆ ครั้งต่อวัน เพื่อช่วยลดอาการปวดและบวม
นอกจากนี้ ควรพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการยกของหนักหรือยกอัณฑะให้สูงขึ้น ควบคู่กับการใช้ยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการให้ดียิ่งขึ้น หากมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการป่วยอย่างรุนแรง แพทย์จะพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะด้วยการฉีดเข้าหลอดเลือดดำ
ภาวะแทรกซ้อนของอัณฑะอักเสบ
ผู้ป่วยอัณฑะอักเสบอาจมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นเป็นภาวะแทรกซ้อน เช่น การอักเสบเรื้อรังบริเวณท่อเก็บตัวอสุจิ เนื้อเยื่อบริเวณอัณฑะเสื่อมสลายหรือฝ่อ ฝีบริเวณถุงอัณฑะ มีรูทะลุบนผิวหนังถุงอัณฑะ และภาวะมีบุตรยาก เป็นต้น ดังนั้น หากมีอาการบวมเพียงเล็กน้อยหรือเป็นอาการบวมที่ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด ควรเข้าพบแพทย์ เนื่องจากอาจเป็นอาการของโรคมะเร็งอัณฑะได้
การป้องกันอัณฑะอักเสบ
วิธีลดความเสี่ยงในการเกิดอัณฑะอักเสบสามารถทำได้โดย
- เข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคคางทูม
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมทางเพศที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ และสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเพื่อป้องกันเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธุและอัณฑะอักเสบ
- ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไปควรเข้ารับการตรวจต่อมลูกหมากควบคู่ไปกับการตรวจสุขภาพประจำปี
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการปวดหรือบวมบริเวณถุงอัณฑะอย่างกะทันหัน ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจทันที เนื่องจากสาเหตุของอาการอักเสบบางประการจำเป็นต้องได้รับการรักษาเร่งด่วน อย่างภาวะอัณฑะบิดขั้ว (Testicular Torsion)