อาการปวดหัว ปวดหัว (Headaches)
อาการปวดหัวหรือปวดบริเวณศีรษะมีอยู่หลายลักษณะ เช่น ปวดตลอดเวลา ปวดเป็นพัก ๆ ปวดตุบ ๆ ปวดแปล๊บ ปวดรุนแรง หรือปวดเล็กน้อย แตกต่างกันออกไปตามสาเหตุ ซึ่งความถี่และความรุนแรงของอาการปวดศีรษะแต่ละชนิดก็อาจไม่เหมือนกัน อีกทั้งตำแหน่งที่ปวดก็อาจเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของใบหน้า กะโหลกศีรษะ หรือทั้งศีรษะก็อาจเป็นไปได้
โดยตัวอย่างลักษณะอาการปวดหัวแต่ละประเภท ได้แก่
ปวดหัวจากกล้ามเนื้อเกร็งตัวหรือปวดหัวจากความเครียด (Tension–Type Headaches)
อาการปวดชนิดนี้เกิดขึ้นบ่อยมากที่สุด โดยอาการปวดจะเกิดขึ้นกับศีรษะทั้งสองข้าง ค่อนไปทางด้านหน้าและด้านบนของศีรษะ คล้ายโดนบีบรัดบริเวณศีรษะ ผู้ป่วยมักปวดตลอดวัน เป็น ๆ หาย ๆ ซึ่งความรุนแรงอาจแตกต่างกันไปในแต่ละครั้ง
เมื่อมีอาการปวดจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายตัว อ่อนเพลีย ไม่มีสมาธิ หรืออาการอื่น ๆ ด้วย ซึ่งเป็นผลมาจากกล้ามเนื้อบริเวณด้านหลังคอหรือบริเวณหนังศีรษะเกิดการเกร็งตัว
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดขึ้นอาการปวดได้ง่าย เช่น ความเหนื่อย การร้องไห้ ความเครียด ความวิตกกังวล การนอนผิดท่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน ซึ่งอาการปวดชนิดนี้อาจเกิดร่วมกับอาการปวดไมเกรนด้วยเช่นกัน และเป็นอาการปวดหัวที่มักเกิดขึ้นต่อเนื่องหลายวัน
หากอาการเกิดขึ้นน้อยกว่า 15 วัน/เดือนจะจัดเป็นอาการปวดศีรษะจากความเครียดแบบครั้งคราว แต่ถ้าระยะเวลาในการปวดนานมากกว่า 15 วัน/เดือนขึ้นไป บางรายอาจมีอาการต่อเนื่องมากกว่า 3 เดือน จะกลายเป็นอาการปวดศีรษะจากความเครียดแบบเรื้อรัง ซึ่งมีความรุนแรงมากขึ้นและอาจก่อให้เกิดการเจ็บบริเวณหนังศีรษะหรือแม้กระทั่งในขณะหวีผม และอาการปวดมักคงที่สม่ำเสมอตลอดเวลา
ปวดหัวไมเกรน (Migraines)
ปวดหัวไมเกรนเป็นอาการปวดหัวอีกแบบที่พบได้บ่อย ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดตุบ ๆ เป็นจังหวะในลักษณะปวดข้างเดียวเป็นส่วนใหญ่ อาจเกิดขึ้นข้างใดข้างหนึ่งไม่ซ้ำกัน แต่ก็อาจปวดได้ทั้งสองข้างเช่นเดียวกัน หากอาการปวดอยู่ในระดับปานกลางจนถึงขั้นรุนแรงอาจต้องนอนพักถึงช่วยบรรเทาอาการลงได้
อาการปวดหัวไมเกรนมักมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร รู้สึกหนาวหรือร้อน ปวดท้อง โดยอาการปวดอาจอยู่หลายชั่วโมงจนถึงหลายวัน เฉลี่ยเดือนละ 1–2 ครั้ง ซึ่งอาจจะเกิดได้ง่ายขึ้นหากถูกกระตุ้นจากความเครียด ความหิว ความเหนื่อย อาหารบางชนิด ภาวะขาดน้ำ อาการปวดศีรษะประเภทอื่น แสงจ้าหรือเสียง
โดยทั่วไป อาการปวดหัวไมเกรนมักจะปวดขึ้นมาทันทีโดยไม่มีสัญญาณเตือน แต่ในบางรายอาจมีอาการนำมาก่อนเกือบชั่วโมง เช่น เห็นแสงวูบวาบ สายตาพร่ามัว พูดไม่ชัด
ปวดหัวคลัสเตอร์หรือปวดหัวเป็นชุด ๆ (Cluster Headaches)
เป็นอาการปวดอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นรอบ ๆ บริเวณเบ้าตา หรือขมับด้านใดด้านหนึง โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดแบบตุบ ๆ เป็นชุด ๆ อยู่ประมาณ 30–90 นาทีไปจนถึง 3 ชั่วโมงในแต่ละครั้ง และจะเกิดอาการปวดขึ้นใหม่ในวันและเวลาเดิมติดต่อกันนานหลายวันจนเป็นสัปดาห์อย่างสม่ำเสมอ จากนั้นอาการจะค่อย ๆ หายไปเองและทิ้งระยะไปเป็นปีจึงกลับมาปวดแบบเดิมใหม่อีกครั้ง
อาการปวดแบบนี้มักส่งผลให้ผู้ป่วยตื่นกลางดึกบ่อยครั้ง อีกทั้งผู้ป่วยยังมักมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น น้ำตาไหล ตาแดง น้ำมูกไหล ลืมตาได้ไม่เต็มที่ อาการปวดประเภทนี้พบบ่อยในวัยรุ่นไปถึงวัยกลางคน โดยเฉพาะเพศชายที่สูบบุหรี่
ปวดหัวจากไซนัสอักเสบ (Sinus Headaches)
เป็นอาการปวดอย่างต่อเนื่องตามบริเวณโหนกแก้ม หน้าผาก สันจมูก หรือบริเวณที่เกิดไซนัสขึ้น พร้อมกับมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น น้ำมูกไหล คัดจมูก มีไข้ หรือใบหน้าบวม โดยอาการปวดมักจะทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อมีการก้มตัวไปข้างหน้าหรือนอนราบ
ปวดหัวจากเนื้องอกในสมอง
เป็นอาการปวดหัวค่อนข้างรุนแรงตลอดวัน เป็น ๆ หาย ๆ โดยเฉพาะอาการปวดตอนกลางคืนที่จะส่งผลให้ผู้ป่วยตื่นขึ้นมากลางดึก และมักจะปวดมากขึ้นเมื่อเดิน เกร็ง ไอ หรือเคลื่อนไหวร่างกาย รวมไปถึงมีอาการอื่นแสดงออกมาให้เห็น เช่น มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น มีปัญหาในการเดิน ทรงตัวไม่อยู่ ชาบริเวณแขนและขา ไม่มีสมาธิ
ทั้งนี้ แม้อาการปวดหัวเป็นอาการที่พบได้บ่อยในทุกคน แต่อาจมีโรคอื่นซ่อนอยู่ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการดังต่อไปนี้
- มีอาการปวดหัวอย่างรุนแรง
- ปวดในลักษณะที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
- มีอาการปวดหัวฉับพลัน
- ปวดมากขึ้นเมื่อมีการออกแรง ไอ ก้มตัว หรือขณะมีเพศสัมพันธ์
- มีอาการคลื่นไส้และอาเจียนเรื้อรัง
- ไข้ขึ้นหรือมีอาการคอแข็ง ซึ่งอาการคอแข็งนี้อาจเกี่ยวข้องกับสาเหตุอื่น เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือโรคหลอดเลือดสมองโป่ง แต่ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหรืออักเสบ
- อาการปวดหัวเกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บที่หัวอย่างรุนแรง ลื่นล้ม เกิดอาการชัก
- มีปัญหาทางด้านสายตา การพูด หรือบุคลิกภาพ
- กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือการทำงาน