ความหมาย อาเจียน
อาเจียน (Vomit) มักเกิดขึ้นควบคู่กับอาการคลื่นไส้ เพื่อกำจัดอาหารจากกระเพาะอาหารผ่านทางปาก ส่วนใหญ่แล้วจะไม่พบอาการที่รุนแรงมากนัก และสามารถรักษาให้ดีขึ้นเองได้ที่บ้าน
โดยทั่วไป อาเจียนอาจเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น การรับประทานอาหารที่ไม่สะอาดหรือปนเปื้อนเชื้อโรค การรับประทานอาหารหรือดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไป การตั้งครรภ์ การเมารถหรือเมาเรือ ผลข้างเคียงจากโรคต่าง ๆ รวมถึงเป็นผลมาจากความเครียด โดยเกิดขึ้นได้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่
อาการของการอาเจียน
การอาเจียน โดยปกติแล้วจะมีอาการที่ไม่รุนแรง สามารถดูแลรักษาให้ดีขึ้นเองได้ที่บ้าน ยกเว้นการอาเจียนที่มีอาการรุนแรงหรือการอาเจียนที่เกิดขึ้นร่วมกับอาการอื่น ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรค หากพบการอาเจียนร่วมกับอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ฉุกเฉินทันที
- เจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง
- ปวดเกร็งท้องเฉียบพลันอย่างรุนแรง
- เห็นภาพซ้อนหรือสายตาเบลอ
- เป็นลมหมดสติ
- มีอาการสับสน
- ตัวเย็นและผิวซีด
- มีไข้สูงและอาการคอแข็ง เจ็บตึงที่บริเวณท้ายทอย ก้มและเงยลำบาก
- อาเจียนคล้ายกับมีลักษณะของอุจจาระออกมาด้วย
และควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วนหากพบอาการดังต่อไปนี้
- อาเจียนร่วมกับอาการปวดศีรษะหรือปวดศีรษะอย่างรุนแรงในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
- อาเจียนถี่หรืออาเจียนอย่างต่อเนื่อง ในผู้ใหญ่ที่มากกว่า 48 ชั่วโมง ในเด็กเล็กที่อายุน้อยว่า 2 ปี มากกว่า 24 ชั่วโมง หรือในเด็กทารกที่มากกว่า 12 ชั่วโมง และไม่ดีขึ้น
- ไม่สามารถรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำลงไปได้ นานถึง 12 ชั่วโมง หรือในเด็กที่ไม่สามารถดื่มน้ำลงไปได้นาน 8 ชั่วโมง
- มีอาการของภาวะขาดน้ำ เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ตาโหล ปากแห้ง ปัสสาวะน้อยลงและมีสีเข้ม
- อาเจียนมีสีเขียวอ่อน หรือมีสีแดงหรือสีดำปนออกมาด้วย
สาเหตุของการอาเจียน
การอาเจียนเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย การใช้ชีวิตประจำวัน การตั้งครรภ์ การใช้ยา อาการข้างเคียงของโรค รวมไปถึงเป็นผลมาจากการรักษาโรคอื่น ๆ เช่น
- กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ ไส้ติ่งอักเสบ ไส้เลื่อน อาหารไม่ย่อย อาหารเป็นพิษ
- การติดเชื้อที่ไต หรือนิ่วในไต
- ปวดศีรษะไมเกรน เนื้องอกในสมอง หูชั้นในอักเสบ
- เยื่อหุ้มสมองและไขสันหลังอักเสบ
- การตั้งครรภ์
- การเมารถเมาเรือ
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยาปฏิชีวนะ
- ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
- การรักษาด้วยรังสีและการทำเคมีบำบัด การสัมผัสสารเคมีบางชนิด
- ความเครียดทางอารมณ์
- อุบัติเหตุจากแรงกระแทกอย่างรุนแรง
การวินิจฉัยการอาเจียน
การอาเจียน แพทย์จะวินิจฉัยอาการโดยซักประวัติเบื้องต้น เช่น อาการ ประวัติการเจ็บป่วย ประวัติการใช้ยา จากนั้นจะสอบถามเกี่ยวกับความรุนแรงของอาการและช่วงเวลาที่เกิดการอาเจียน ประเภทอาหารที่รับประทานในช่วงที่ผ่านมา การใกล้ชิดกับผู้ป่วย รวมถึงตรวจร่างกายและตรวจอาการของภาวะขาดน้ำ หรืออาจตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจช่องท้อง ตรวจสมองและระบบประสาท เพื่อหาสาเหตุของการอาเจียนต่อไป
การรักษาการอาเจียน
การอาเจียน โดยปกติแล้วจะไม่มีอาการรุนแรง ผู้ป่วยรักษาตัวเองให้ดีขึ้นได้ที่บ้าน โดยปฏิบัติตามแนวทางต่อไปนี้ เช่น
- เพื่อป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำและแร่ธาตุ ควรเติมน้ำกลับเข้าสู่ร่างกายให้มากขึ้นหรือทดแทนด้วยเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแร่ธาตุ อาทิ โซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม และแมกนีเซียม ในบางยี่ห้ออาจเรียกเครื่องดื่มชนิดนี้ว่า ION Drink ซึ่งสามารถดูดซึมและนำไปใช้ในร่างกายได้ สามารถดื่มได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็กอายุ 1 ปี ขึ้นไป โดยผู้ป่วยควรเลือกแบบน้ำตาลน้อย ปราศจากวัตถุกันเสีย วัตถุเจือปนอาหาร และคาเฟอีน
- นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
- รับประทานอาหารเหลวหรืออาหารอ่อน เพื่อลดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร
- รับประทานขิงหรือเครื่องดื่มอื่น ๆ เช่น สารละลายน้ำตาลและเกลือ น้ำขิง เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีความเป็นกรด เช่น น้ำส้ม น้ำมะนาว เป็นต้น เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร เช่น ยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) หรือยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)
การอาเจียนที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาโปรเมทาซีน (Promethazine) หรือยาเมโตโคลพราไมด์ (Metoclopramide) เพื่อระงับการอาเจียน ในหญิงตั้งครรภ์ใช้ยาไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate) ช่วยลดอาการอาเจียนจากการแพ้ท้องได้
ภาวะแทรกซ้อนของการอาเจียน
การอาเจียนเป็นการขับอาหารและน้ำออกจากร่างกาย หากมีการอาเจียนเกิดขึ้นบ่อยครั้ง หรือมีอาการรุนแรงซึ่งทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
- ภาวะขาดน้ำ (Dehydration) หรืออาจพบภาวะขาดสารอาหาร (Malnutrition) ร่วมด้วย โดยเฉพาะการอาเจียนที่มีสาเหตุมาจากปัญหาของกระเพาะอาหาร หรืออาหารเป็นพิษ ผู้ที่มีภาวะขาดน้ำสังเกตอาการได้จากการวิงเวียน ปวดศีรษะ ตาโหล ปากแห้ง กระหายน้ำ ปัสสาวะมีสีเข้ม ปัสสาวะน้อยลง อ่อนเพลีย พบมากในเด็กและทารกเนื่องจากร่างกายมีขนาดเล็กและมีส่วนประกอบของน้ำในร่างกายน้อยกว่าในผู้ใหญ่ หากพบอาการเหล่านี้ควรไปพบแพทย์
- อาเจียนมีสีเปลี่ยนไป หากพบว่าอาเจียนมีสีดำหรือสีแดง เนื่องจากมีเลือดปนออกมาอาจเป็นสัญญาณเตือนเกี่ยวกับโรคกระเพาะอาหารหรือการระคายเคืองในลำไส้ หรืออาเจียนมีสีเหลืองหรือสีเขียวอ่อนเนื่องจากมีน้ำดีปนออกมาด้วย อาจเป็นสัญญาณเตือนเกี่ยวกับปัญหาของระบบย่อยอาหาร
- ปวดท้องรุนแรง หรือมีไข้และอาเจียนร่วมด้วย อาจเป็นอาการที่บ่งถึงโรคไส้ติ่งอักเสบ
- การอาเจียนที่รุนแรงในทารกแรกคลอด อาจเป็นอาการที่บ่งถึงการตีบตันของทางเดินอาหาร
- การอาเจียนหลังได้รับบาดเจ็บ เช่น การกระทบกระเทือนที่ช่องท้อง บ่งชี้ถึงการบาดเจ็บที่อวัยวะซึ่งทำหน้าที่ในการย่อยอาหาร
- การอาเจียนหรือปวดศีรษะร่วมด้วยหลังตื่นนอน อาจมีสาเหตุมาจากความดันสมองที่เพิ่มในระหว่างการนอนหลับ พบได้ในผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับสมอง อย่างเช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
การป้องกันการอาเจียน
การอาเจียนเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ การป้องกันอาจทำได้บ้างในบางสาเหตุ เช่น การอาเจียนที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ป้องกันได้โดยเริ่มจากการมีสุขอนามัยที่ดี ล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ ส่วนการอาเจียนในผู้ที่มีอาการเมารถหรือเมาเรือ รวมถึงในขณะเดินทางพยายามมองตรงไปที่ด้านหน้าเพื่อลดอาการเมารถ เป็นต้น
นอกจากนี้ เพื่อลดความเสี่ยงการอาเจียนและมีสุขภาพที่ดี ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารในชีวิตประจำวัน รับประทานอาหารในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่มากจนเกินไป รับประทานให้อิ่มท้องพอดี เคี้ยวให้ละเอียด และไม่รีบรับประทานอาหาร