ความหมาย อ้วนลงพุง
อ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome) เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติของกระบวนการเผาผลาญอาหารในร่างกาย ส่งผลให้ผู้ป่วยมีไขมันสะสมที่หน้าท้องและมีรอบเอวขนาดใหญ่ ทั้งยังมีระดับความดันโลหิต ไขมัน และน้ำตาลในเลือดสูง มักเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคเบาหวาน และโรคหัวใจได้มากขึ้น
อาการของอ้วนลงพุง
ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยอ้วนลงพุงจะไม่แสดงอาการใด ๆ นอกจากมีรอบเอวหรือพุงขนาดใหญ่จนเห็นได้ชัด แต่จากการสะสมของไขมันในช่องท้องจำนวนมากจะส่งผลให้การเผาผลาญน้ำตาลในร่างกายผิดปกติ จนน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นและเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน อีกทั้งยังทำให้ระดับไขมันในเลือดและความดันโลหิตสูงขึ้นด้วย เมื่อเกิดภาวะนี้เป็นระยะเวลานาน ผนังหลอดเลือดแดงจะหนาขึ้นจนอาจทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้น้อยลง ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
สาเหตุของอ้วนลงพุง
ภาวะอ้วนลงพุงนั้นอาจเกิดจากการมีน้ำหนักตัวเกิน โรคอ้วน การเคลื่อนไหวร่างกายน้อย ขาดการออกกำลังกาย และการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงจากภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2
นอกจากนี้ บุคคลบางกลุ่มอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะอ้วนลงพุงได้ เช่น
- ผู้สูงอายุ
- ชาวเอเชีย หรือผู้ที่มีเชื้อสายแอฟริกาแคริบเบียน
- ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวมีภาวะอ้วนลงพุงหรือเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2
- ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
- ผู้ป่วยโรคไขมันพอกตับ
- ผู้ที่มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS)
- ผู้ที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
การวินิจฉัยอ้วนลงพุง
แพทย์จะวินิจฉัยจากการตรวจร่างกายและการตรวจเลือด ซึ่งผู้ป่วยอ้วนลงพุงจะต้องมีความผิดปกติอย่างน้อย 3 ข้อจาก 5 ข้อ ดังต่อไปนี้
- เส้นรอบเอว ตั้งแต่ 80 เซนติเมตรขึ้นไปสำหรับเพศหญิง และ 90 เซนติเมตรขึ้นไปสำหรับเพศชาย
- ระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ดี (HDL) ต่ำกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตรสำหรับเพศหญิง และต่ำกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตรสำหรับเพศชาย
- ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ ตั้งแต่ 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป
- ระดับความดันโลหิต ตั้งแต่ 130/85 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป
- ระดับน้ำตาลในเลือด ตั้งแต่ 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป
การรักษาอ้วนลงพุง
เป้าหมายของการรักษาภาวะอ้วนลงพุง คือ ลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างโรคเบาหวานหรือโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ด้วยการลดระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิต ซึ่งอาจปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช ถั่ว อาหารที่ปราศจากไขมันชนิดที่ไม่ดี นมไขมันต่ำ เนื้อปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื้อสัตว์ปีก และไข่ รวมถึงจำกัดปริมาณการบริโภคอาหารที่มีรสเค็มจัดหรือหวานจัด และอาหารที่มีไขมันทรานส์หรือไขมันอิ่มตัว
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ควรมีดัชนีมวลร่างกายอยู่ที่ระหว่าง 18.5-24.9 ซึ่งแสดงถึงรูปร่างที่ไม่อ้วนหรือผอมจนเกินไป
- จัดการกับความเครียด เพื่อผ่อนคลายความเครียดที่เป็นตัวการทำให้ความดันโลหิตสูงและเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด อาจปฏิบัติตัวได้หลายวิธี เช่น เล่นกีฬา ฝึกโยคะ นั่งสมาธิ ทำงานอดิเรกหรือกิจกรรมที่ชื่นชอบ เป็นต้น
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะนอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ได้ เพราะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี รักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และช่วยลดน้ำหนักตัวได้
- เลิกสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่เป็นหนึ่งในตัวการที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือภาวะหัวใจขาดเลือด
อย่างไรก็ตาม หากปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตามข้างต้นแล้วไม่เป็นผล แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานยารักษาควบคู่ไปด้วยตามความเหมาะสม
ภาวะแทรกซ้อนของอ้วนลงพุง
ผู้ป่วยอ้วนลงพุงมีไขมันสะสมที่หน้าท้องปริมาณมาก หากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือควบคุมน้ำหนักอาจทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลินมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นโรคเบาหวานได้ และหากมีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดและความดันโลหิตสูง อาจทำให้ไขมันอุดตันในเส้นเลือดและเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดหรือโรคหลอดเลือดสมองตามมาได้
นอกจากนี้ ผู้ป่วยอ้วนลงพุงยังเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน โรคไต หรือโรคไขมันพอกตับ เป็นต้น
การป้องกันอ้วนลงพุง
อ้วนลงพุงสามารถป้องกันได้ด้วยการปฏิบัติตามแนวทาง ดังต่อไปนี้
- ควบคุมอาหาร รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง เพื่อควบคุมน้ำหนักและลดการสะสมของไขมันที่หน้าท้อง ทั้งยังช่วยลดความดันโลหิต ลดระดับไขมันและน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมด้วย
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 150-300 นาที ทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกเพื่อผ่อนคลายความเครียด และเลิกสูบบุหรี่