เกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia)

ความหมาย เกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia)

เกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia)  คือภาวะที่เกล็ดเลือดมีจำนวนน้อยกว่า 150,000 เกล็ดต่อไมโครลิตร ผู้ป่วยอาจพบรอยช้ำเป็นจ้ำ หรือจุดแดงใต้ผิวหนัง รวมถึงมีเลือดออกมากหรือเลือดไหลไม่หยุดแม้จะเป็นแผลขนาดเล็ก หากผู้ป่วยที่มีเกล็ดเลือดต่ำรุนแรงอาจทำให้มีเลือดออกที่อวัยวะภายใน และเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

เกล็ดเลือดต่ำเป็นโรคที่พบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยอาจเกิดจากการผลิตเกล็ดเลือดที่บริเวณไขกระดูกไม่เพียงพอ ภูมิคุ้มกันร่างกายทำลายเกล็ดเลือด หรือม้ามอาจมีการกักเกล็ดเลือดมากเกินความจำเป็น ซึ่งเกิดจากโรค การใช้ยา และสาเหตุอื่น ๆ โดยวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงและสาเหตุของโรค 

Thrombocytopenia

สาเหตุของเกล็ดเลือดต่ำ

ปกติคนเราจะมีจำนวนเกล็ดเลือดอยู่ที่ประมาณ 150,000–450,000 เกล็ดต่อไมโครลิตร แต่ละเกล็ดจะมีชีวิตอยู่ประมาณ 10 วัน ร่างกายจะผลิตเกล็ดเลือดใหม่ออกมาจากบริเวณไขกระดูก รวมถึงผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวและเซลล์เม็ดเลือดแดง หากร่างกายผลิตเกล็ดเลือดออกมาไม่เพียงพอหรือมีการทำลายเกล็ดเลือดมากกว่าที่ผลิตออกมา จะทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ โดยแบ่งสาเหตุได้เป็น 3 ประเภท คือ

1. สาเหตุจากการสร้างเกล็ดเลือดน้อยลง

สาเหตุนี้เป็นผลมาจากไขกระดูกสร้างเกล็ดเลือดได้ไม่เพียงพอ เช่น

  • โรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ (Aplastic Anemia) เป็นโรคเลือดผิดปกติที่พบค่อนข้างน้อยและร้ายแรง ทำให้ไขกระดูกไม่สามารถผลิตเกล็ดเลือดใหม่ออกมาได้เพียงพอ
  • โรคมะเร็ง เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว จะไปทำลายไขกระดูกและเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์ (Stem Cell) และการรักษามะเร็ง เช่น การฉายรังสี หรือการทำเคมีบำบัด
  • การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น อีสุกอีใส คางทูม หัดเยอรมัน ไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein-Barr Virus) หรือ พาร์โวไวรัส (Parvovirus) รวมถึงผู้ที่เป็นโรคเอดส์ (AIDS) หรือโรคไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C)
  • พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก และการสัมผัสสารเคมีบางชนิด เช่น สารกำจัดศัตรูพืช สารหนู หรือเบนซีน (Benzene) ซึ่งจะชะลอการผลิตเกล็ดเลือด ทำให้จำนวนเกล็ดเลือดต่ำลง
  • การขาดแร่ธาตุและวิตามิน เช่น วิตามินบี 12 โฟเลต ธาตุเหล็ก

2. สาเหตุจากการทำลายเกล็ดเลือด

โรคประจำตัว ปัจจัยสุขภาพ และการใช้ยาบางอย่างอาจทำให้ร่างกายใช้หรือทำลายเกล็ดเลือดมากเกินไป จนทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

โรคภูมิต้านทานตนเอง หรือโรคออโตอิมมูน (Autoimmune Diseases) 

โรคกลุ่มนี้เกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันที่ปกติจะต้องกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย แต่เกิดความผิดพลาดไปทำลายเซลล์เนื้อเยื่อในร่างกาย รวมถึงเกล็ดเลือด เช่น

การติดเชื้อ

การติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสเดงกี ซึ่งทำให้เกิดโรคไข้เลือดออก ไวรัสโมโนนิวคลิโอสิส (Mononucleosis) ไซโตเมกาโลไวรัส (Cytomegalovirus) รวมถึงภาวะโลหิตเป็นพิษที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

การตั้งครรภ์

ภาวะเกล็ดเลือดต่ำอาจพบในผู้ที่ตั้งครรภ์ แต่มักจะมีอาการไม่รุนแรงมาก และจะดีขึ้นหลังจากคลอดบุตร

การใช้ยาบางชนิด

การตอบสนองต่อยาอาจสร้างความสับสนให้กับร่างกายและเกิดการทำลายเกล็ดเลือดได้ เช่น

  • ยาควินิน (Quinine) เป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาโรคมาลาเรีย
  • ยาแวนโคมัยซิน (Vancomycin) เป็นยาที่ใช้รักษาภาวะติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินอาหารและอาการลำไส้อักเสบ
  • ยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin) เป็นยาที่ใช้รักษาวัณโรค
  • ยาเฮพาริน (Heparin)เป็นยาที่ใช้รักษาและป้องกันภาวะลื่มเลือดอุดตัน จะไปทำปฏิกิริยากับระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำจากยาเฮปพาริน แต่ค่อนข้างพบได้น้อย
  • ยาโคลพิโดเกรล (Clopidogrel) เป็นยาที่ใช้ป้องกันการอุดตันของหลอดเลือด

โรคอื่น ๆ 

โรคอื่นที่พบได้ยากอาจทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เช่น โรค TTP (Thrombotic Thrombocytopenic Purpura) ที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดในร่างกาย และกลุ่มอาการฮีโมไลติกยูรีมิก (Hemolytic Uremic Syndrome) ซึ่งทำให้เกล็ดเลือดลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว เป็นต้น

3. สาเหตุจากเกล็ดเลือดถูกกักที่ม้าม

ม้ามมีหน้าที่ขจัดเชื้อโรคและเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ตายแล้วออกจากกระแสเลือด แต่บางครั้งเกล็ดเลือดจะถูกกักที่ม้ามมากขึ้น ทำให้ม้ามโต ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ดื่มสุราปริมาณมาก มีโรคตับและตับแข็ง โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด และโรคไขกระดูกเป็นพังผืด (Myelofibrosis) จะทำให้เกล็ดเลือดไหลเวียนไม่เพียงพอในกระแสเลือด และเกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำในที่สุด

อาการของเกล็ดเลือดต่ำ

เลือดออกเป็นอาการสำคัญของผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ อาการจะขึ้นอยู่กับจำนวนของเกล็ดเลือดว่ามีจำนวนต่ำมากหรือน้อยเพียงใด คนที่มีอาการเกล็ดเลือดต่ำไม่รุนแรงอาจไม่พบอาการใด ๆ จนกระทั่งมีการตรวจเลือด หากมีอาการเริ่มรุนแรงขึ้น อาจมีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • มีจุดสีแดงหรือม่วงขนาดเล็กคล้ายผื่น (Petechiae) หรือมีจ้ำเลือด (Purpura) สีแดง ม่วง น้ำตาล มักพบบริเวณขาด้านล่าง
  • เกิดรอยช้ำตามตัวได้ง่าย
  • เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน
  • เลือดออกมากหลังเกิดบาดแผล แม้จะเป็นบาดแผลขนาดเล็ก และอาจมีเลือดไหลไม่หยุด
  • ประจำเดือนมามากผิดปกติ
  • ปัสสาวะเป็นเลือด อุจจาระมีสีเข้มมากหรือมีเลือดปน อาเจียนเป็นเลือด
  • อ่อนเพลียง่าย
  • ม้ามโต

อาการเกล็ดเลือดต่ำที่ควรไปพบแพทย์

หากสังเกตเห็นความผิดปกติของร่างกาย ซึ่งอาจเป็นอาการของภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เช่น มีรอยฟกช้ำ มีจุดหรือจ้ำเลือดตามร่างกาย เลือดออกง่ายผิดปกติ และเลือดไหลไม่หยุดหลังจากปฐมพยาบาลห้ามเลือด ควรรีบไปพบแพทย์ 

การวินิจฉัยเกล็ดเลือดต่ำ

หากแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยมีเกล็ดเลือดต่ำ จะมีแนวทางปฏิบัติในการวินิจฉัยดังต่อไปนี้

การซักประวัติผู้ป่วย 

แพทย์จะสอบถามสาเหตุที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เช่น ประวัติการใช้ยา พฤติกรรมการรับประทานอาหาร ปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเอดส์ การให้เลือด ประวัติการมีเพศสัมพันธ์ การใช้ยาที่ฉีดเข้าร่างกาย การสัมผัสเลือดที่ติดเชื้อ หรือสารคัดหลั่งอื่น ๆ รวมถึงประวัติการเกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำของสมาชิกในครอบครัว เป็นต้น

การตรวจร่างกาย 

แพทย์จะตรวจร่างกายเพื่อหาร่องรอยของอาการเลือดออก เช่น รอยช้ำหรือจุดแดงใต้ผิวหนัง ตรวจที่หน้าท้องว่ามีอาการของม้ามโตหรือไม่ หรือมีไข้ ซึ่งเป็นอาการของการติดเชื้อหรือไม่

การตรวจเลือด

การตรวจเลือดจะทำให้ทราบจำนวนของเซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ซึ่งผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำจะมีจำนวนของเกล็ดเลือดต่ำกว่า 150,000 เกล็ดต่อไมโครลิตร 

การตรวจเลือดทำได้หลายวิธี เช่น การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count) การตรวจสเมียร์เลือด (Blood Smear) ดูรูปร่างลักษณะของเกล็ดเลือด รวมถึงการตรวจหาจำนวนของสารภูมิต้านทาน หรือแอนติบอดี้ (Antibody) เป็นโปรตีนที่ร่างกายผลิตออกมาเพื่อทำลายเกล็ดเลือด

การตรวจไขกระดูก

เนื่องจากไขกระดูกเป็นอวัยวะที่ใช้ในการสร้างเกล็ดเลือด การตรวจไขกระดูกจะช่วยในการหาสาเหตุว่าทำไมไขกระดูกจึงสร้างเกล็ดเลือดได้ไม่เพียงพอ ตรวจได้ 2 วิธีคือ การเจาะไขกระดูก (Aspiration) แล้วนำไปส่องกล้องเพื่อหาความผิดพลาดของเซลล์ หรือการตัดชิ้นเนื้อ (Biopsy) ซึ่งจะทำหลังการเจาะไขกระดูก ส่วนมากมักตรวจที่ไขกระดูกสะโพก เพื่อตรวจสอบจำนวนและชนิดของเซลล์

การตรวจอื่น ๆ 

บางกรณี แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การตรวจ Prothrombin Time: PT หรือการตรวจ Partial Thromboplastin Time: PTT เพื่อตรวจการแข็งตัวของเลือด หรือแพทย์อาจตรวจอัลตราซาวด์์ (Ultrasound) เพื่อดูว่าม้ามมีการขยายตัวใหญ่ขึ้นหรือไม่

การรักษาเกล็ดเลือดต่ำ

วิธีการรักษาภาวะเกล็ดเลือดต่ำขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการในผู้ป่วยแต่ละราย หากผู้ป่วยที่มีเกล็ดเลือดต่ำไม่มาก เช่น เกิดบาดแผลแล้วพบว่ามีเลือดไหลไม่มากไปกว่าปกติ อาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา โดยทั่วไปแนวทางในการรักษาจะเน้นที่การแก้ไขต้นเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ดังนี้

การรักษาด้วยการใช้ยา

ยาที่ใช้รักษาผู้มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ได้แก่

  • ยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ในรูปแบบยารับประทานหรือยาฉีด เพื่อชะลอการทำลายเกล็ดเลือด เช่น เพรดนิโซน (Prednisone)
  • อิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulins) หรือ ริทูซิแมบ (Rituximab) เป็นยาชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด เพื่อยับยั้งระบบภูมิคุ้มกันไม่ให้ทำลายเกล็ดเลือด
  • ยาเอลทรอมโบแพก (Eltrombopag) หรือยาโรมิโพลสติม (Romiplostim) เป็นยาชนิดฉีดเข้าที่ใต้ผิวหนัง เพื่อช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเกล็ดเลือด

ส่วนผู้ป่วยที่มีเกล็ดเลือดต่ำที่มีสาเหตุมาจากการใช้ยาบางชนิด แพทย์อาจเปลี่ยนยาหรือให้หยุดยาที่ทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

การให้เลือดหรือเกล็ดเลือด

การให้เลือดหรือเกล็ดเลือดเป็นวิธีรักษาที่แพทย์อาจใช้ในผู้ป่วยที่มีเลือดออกหรือผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเลือดออกมาก

การผ่าตัดม้าม

แพทย์จะใช้วิธีผ่าตัดหากรักษาด้วยการใช้ยาแล้วไม่เป็นผล มักผ่าตัดให้ผู้ป่วยที่มีภาวะม้ามกักเกล็ดเลือดผิดปกติ ทั้งนี้ การผ่าตัดม้ามจะทำให้ป่วยและติดเชื้อได้ง่าย หากมีไข้ หรือพบอาการอื่น ๆ ของการติดเชื้อ ควรไปพบแพทย์ทันที รวมถึงอาจต้องฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นต่อไป

การเปลี่ยนถ่ายน้ำเหลือง (Plasma Exchange)

การเปลี่ยนถ่ายน้ำเหลืองใช้รักษาภาวะเกล็ดเลือดต่ำจากโรค TTP เพื่อกรองเอาส่วนที่ผิดปกติในเลือดออกไป และช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน

การดูแลตัวเองของผู้ป่วย

ผู้ป่วยที่มีเกล็ดเลือดต่ำควรดูแลตัวเองควบคู่กับการรักษากับแพทย์ เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดออกมากขึ้น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีผลต่อการทำงานของเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน (Aspirin) หรือไอบูโปรเฟน (Ibuprofen)
  • ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป โดยปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความปลอดภัยและปริมาณที่สามารถดื่มได้ และเลิกบุหรี่ ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดลิ่มเลือดได้ง่าย
  • หลีกเลี่ยงกีฬาที่มีการกระแทกและอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บ เช่น ฟุตบอล ศิลปะการต่อสู้ 
  • ใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงอ่อนนุ่ม เพื่อหลีกเลี่ยงเลือดออกที่เหงือกในขณะแปรงฟัน
  • สวมใส่อุปกรณ์เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น คาดเข็มขัดนิรภัยในขณะขับขี่รถยนต์ ใส่ถุงมือหรือแว่นตาในขณะที่ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของเกล็ดเลือดต่ำ

ภาวะเกล็ดเลือดต่ำอย่างรุนแรงอาจทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น

การป้องกันเกล็ดเลือดต่ำ

การป้องกันเกล็ดเลือดต่ำอาจทำได้โดยลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ได้แก่

  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก เพราะแอลกอฮอล์จะไปชะลอการสร้างเกล็ดเลือด
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมี เช่น สารกำจัดศัตรูพืช สารหนู หรือเบนซีน (Benzene) เพราะจะเข้าไปชะลอการผลิตเกล็ดเลือดในร่างกาย
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการสร้างเกล็ดเลือด โดยเฉพาะอาหารที่มีธาตุเหล็ก โฟเลต วิตามินบี 12 วิตามินเค
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ควรไปฝากครรภ์และพบแพทย์ตามนัด เพื่อตรวจความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ และรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพขณะตั้งครรภ์ เช่น อาหารและวิตามินบำรุงครรภ์