ความหมาย เจ็บลิ้น
เจ็บลิ้น เป็นอาการเจ็บปวดบริเวณลิ้นซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ มักไม่เป็นอันตรายนอกจากสร้างความรำคาญให้ผู้ป่วย และอาจรบกวนการพูดหรือการรับประทานอาหาร แต่ในบางกรณีอาจเป็นสัญญาณของอาการเจ็บป่วยที่ควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน
อาการเจ็บลิ้น
อาการเจ็บลิ้นอาจเกิดขึ้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั่วบริเวณลิ้น ในบางรายอาจมีก้อนผิดปกติรู้สึกแสบร้อน ลิ้นบวม มีแผลเป็นปื้นสีแดงหรือสีขาวบริเวณลิ้น หรืออาจมีอาการพุพองตามลิ้นและภายในช่องปากซึ่งเกิดจากแผลร้อนใน
ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น ลิ้นเปลี่ยนสี มีก้อนผิดปกติที่ลิ้น หรืออาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์ เพราะอาการดังกล่าวอาจมีสาเหตุมาจากโรคร้ายแรงได้
สาเหตุของอาการเจ็บลิ้น
อาการเจ็บลิ้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่เป็นสาเหตุที่เห็นได้ชัด มีดังนี้
- การบาดเจ็บที่ลิ้น
การเผลอกัดหรือโดนลวกด้วยของร้อนอาจเป็นสาเหตุให้เกิดตุ่มพองและมีอาการแสบหรือเจ็บลิ้นได้ อาจเจ็บมากขณะใช้ฟันบดเคี้ยวอาหารใกล้ ๆ บริเวณดังกล่าว - แผลร้อนใน
แผลร้อนในเกิดขึ้นได้ทั่วช่องปาก ส่วนใหญ่พบบริเวณใต้ลิ้น โดยก่อให้เกิดอาการเจ็บหรือแสบร้อนบริเวณแผล สาเหตุอาจเกิดจากการเผลอกัดลิ้น การรับประทานอาหารบางชนิดที่บาดลิ้น ความเครียด ความวิตกกังวล การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เป็นต้น - ลิ้นลายแผนที่
ลิ้นลายแผนที่เป็นความผิดปกติที่ส่งผลให้พื้นผิวลิ้นไม่เรียบ และเกิดปื้นแดงที่มีขอบสีขาวหรือสีอ่อนทั่วบริเวณลิ้น มีลักษณะคล้ายกับแผนที่ ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บเวลารับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มบางชนิด - เชื้อราในปาก
การติดเชื้อราแคนดิดาในช่องปากจะส่งผลให้เกิดปื้นหรือฝ้าขาวบนลิ้น ผู้ป่วยบางรายมีอาการเจ็บลิ้นจนรับประทานอาหารลำบาก รวมทั้งอาจสูญเสียการรับรสหรือลิ้นรับรสชาติผิดเพี้ยนไปได้ - การสูบบุหรี่
สารเคมีในบุหรี่อาจส่งผลให้ลิ้นเกิดการระคายเคืองจนนำไปสู่อาการเจ็บลิ้น นอกจากนี้ การเลิกสูบบุหรี่อย่างกะทันหันอาจทำให้รู้สึกเจ็บลิ้นได้เช่นกัน
นอกจากนี้ อาการเจ็บลิ้นยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ แต่พบได้น้อยกว่า เช่น
- การติดเชื้อไวรัส เช่น โรคมือเท้าปากซึ่งเป็นโรคที่ทำให้มีตุ่ม ผื่น หรือแผลอักเสบมีหนองขึ้นที่ผิวหนังบริเวณมือ ฝ่ามือ เท้า ฝ่าเท้า และภายในปาก หรือโรคเริมซึ่งจะก่อให้เกิดตุ่มน้ำใส ๆ บริเวณผิวหนังที่ติดเชื้อ เช่น ปาก อวัยวะเพศ เป็นต้น
- โรคโลหิตจางจากการขาดแร่ธาตุและวิตามิน ในบางกรณีอาการเจ็บลิ้น หรือลิ้นมีลักษณะเรียบลื่นผิดปกติอาจเกิดจากการขาดธาตุเหล็ก โฟเลต สังกะสี หรือวิตามินบี 12 ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคโลหิตจาง
- โรคไลเคน พลานัส (Lichen Planus) เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่ก่อให้เกิดผื่นคัน และอาจมีปื้นสีขาวหรือสีแดงบนลิ้น รวมทั้งรู้สึกแสบหรือเจ็บลิ้นขณะรับประทานอาหารได้
- อาการปวดจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 9 เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเส้นประสาทและอาจส่งผลให้มีอาการเจ็บลิ้นอย่างรุนแรงได้
- กลุ่มอาการแสบร้อนในช่องปาก เป็นภาวะที่ทำให้รู้สึกเจ็บปลายลิ้น มักพบในผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า
- โรคเบเซ็ท (Behcet's Disease) เป็นสาเหตุของอาการเจ็บลิ้นที่พบได้น้อยมาก โดยเป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของหลอดเลือดในร่างกายโดยไม่ทราบสาเหตุ
- โรคเพมฟิกัส (Pemphigus Vulgaris) เป็นโรคที่พบไม่บ่อยและมีความรุนแรงสูง อาการที่เห็นได้ชัดคือตุ่มน้ำพุพองที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวดตามบริเวณผิวหนัง ภายในช่องปาก จมูก ลำคอ ทวารหนัก และอวัยวะเพศ
- ภาวะลิ้นอักเสบชนิดโมลเลอร์ (Moeller's Glossitis) เป็นภาวะอักเสบของลิ้นที่ทำให้ลิ้นมีลักษณะเรียบผิดปกติ และอาจมีอาการเจ็บ แสบร้อน หรือระคายเคืองลิ้น ส่วนใหญ่เกิดจากการขาดสารอาหาร เช่น วิตามินบี 12 ธาตุเหล็ก เป็นต้น
- การใช้ยา ยาบางชนิดอาจทำให้มีอาการเจ็บลิ้น เช่น ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ได้แก่ ไอบูโพรเฟน แอสไพริน นาโปรเซน อินโดเมธาซิน อีโตริคอกซิบ อาร์โคเซีย เซเลโคซิบ เซเลเบรก เป็นต้น ยากลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์ ได้แก่ คาร์เวดิลอล อะทีโนลอล ทิโมลอล โพรพรานอล เป็นต้น นอกจากนี้ การใช้น้ำยาบ้วนปากที่แรงเกินไปก็อาจทำให้เจ็บหรือระคายเคืองในช่องปากได้เช่นกัน
- โรคมะเร็งลิ้น เป็นสาเหตุที่พบได้น้อย โดยอาจทำให้เกิดอาการเจ็บลิ้นเรื้อรัง อีกทั้งอาจรู้สึกเจ็บเมื่อกลืนหรือเคี้ยวอาหาร มีแผลในปากที่หายช้าหรือมีเลือดไหลออกมาจากแผล บางรายอาจมีอาการฟันโยกหรือผิวหนังบริเวณปากหนาขึ้น มะเร็งลิ้นในระยะเริ่มแรกอาจไม่แสดงอาการใด ๆ ให้เห็น ทั้งนี้ หากมีตุ่มหรือก้อนเนื้อขึ้นที่ลิ้นโดยไม่ทราบสาเหตุติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป ควรรีบพบแพทย์
การวินิจฉัยอาการเจ็บลิ้น
ในเบื้องต้นผู้ป่วยควรประเมินความรุนแรงของอาการเจ็บและสังเกตลักษณะของลิ้นที่ผิดไปจากเดิม หากอาการไม่ทุเลาลงภายในเวลา 2 สัปดาห์หรือส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่ม ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา
แพทย์จะซักประวัติและอาการของผู้ป่วย รวมทั้งตรวจร่างกายและตรวจดูความผิดปกติของลิ้น นอกจากนี้ แพทย์อาจสั่งตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อระบุสาเหตุที่ชัดเจนและรักษาได้อย่างตรงจุด ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเข้ารับการตรวจเลือด
การรักษาอาการเจ็บลิ้น
การรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการเจ็บลิ้น โดยปกติแล้ว หากเป็นสาเหตุที่ไม่รุนแรง เช่น ร้อนใน แผลที่ลิ้น อาการเจ็บจะดีขึ้นเองภายในประมาณ 2 สัปดาห์ ในระหว่างที่มีอาการ ผู้ป่วยควรดูแลตัวเองด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงอาหารร้อนและอาหารรสเผ็ด
- เลือกรับประทานแต่อาหารรสชาติอ่อน ๆ และไม่แข็งจนเกินไป จนกว่าอาการจะดีขึ้น
- รับประทานของเย็น เช่น น้ำแข็ง หรือน้ำเย็น เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บ
- บ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่น ๆ หรือน้ำอุ่นผสมเบกกิ้งโซดา
ส่วนอาการเจ็บลิ้นจากสาเหตุอื่น ๆ แพทย์อาจเริ่มต้นรักษาจากโรคที่เป็นต้นเหตุ ซึ่งจะช่วยให้อาการเจ็บลิ้นทุเลาลงไปด้วย เช่น การติดเชื้อราในช่องปากจะรักษาด้วยยาต้านเชื้อรา หากเกิดจากการติดเชื้อไวรัสก็อาจใช้ยาต้านไวรัส เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรดูแลสุขภาพช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอ เพราะสุขภาพช่องปากที่ดีเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่อาจช่วยให้ปัญหาเจ็บลิ้นค่อย ๆ ทุเลาลงได้
ภาวะแทรกซ้อนของอาการเจ็บลิ้น
อาการเจ็บลิ้นมักส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยอาจพูดคุยหรือรับประทานอาหารได้ไม่สะดวก และอาจไม่อยากรับประทานอาหาร เพราะคิดว่าจะทำให้รู้สึกเจ็บมากกว่าเดิม
การป้องกันอาการเจ็บลิ้น
อาการเจ็บลิ้นที่มีสาเหตุไม่รุนแรง เช่น ร้อนใน หรือลิ้นบาดเจ็บ ป้องกันได้ด้วยการเลี่ยงอาหารที่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองในช่องปาก เช่น อาหารเผ็ด อาหารรสเค็ม หรือผลไม้ที่มีกรดสูง และควรรับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน เพราะโรคขาดสารอาหารบางชนิดอาจเป็นสาเหตุของอาการเจ็บลิ้น รวมทั้งควรหมั่นทำกิจกรรมเพื่อผ่อนคลายจากความเครียด
สำหรับผู้ที่ใส่อุปกรณ์จัดฟัน ควรสังเกตว่าอุปกรณ์พอดีกับช่องปากหรือไม่ หากมีส่วนใดส่วนหนึ่งที่อาจทำให้เกิดแผลบริเวณลิ้นหรือช่องปาก ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อแก้ปัญหา นอกจากนี้ ควรรักษาความสะอาดของช่องปากอย่างสม่ำเสมอ และไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำทุกปี หมั่นสังเกตความผิดปกติภายในช่องปาก หากพบอาการที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหรือมีความรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์หรือทันตแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและรักษาได้อย่างทันท่วงที