เชื้อราในปาก (Oral Thrush)

ความหมาย เชื้อราในปาก (Oral Thrush)

เชื้อราในปาก (Oral Thrush) คืออาการติดเชื้อในภายในช่องปาก ซึ่งมักเกิดจากเชื้อราแคนดิดา (Candida) โดยเชื้อราในช่องปากอาจเป็นผลมาจากอาการเจ็บป่วย ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือการใช้ยาบางชนิดที่ไปกระตุ้นให้เชื้อราชนิดนี้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเชื้อราในปากมักไม่ค่อยมีอันตรายและสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการใช้ยาฆ่าเชื้อรา

เชื้อราในปากเป็นโรคที่สามารถแพร่เชื้อได้หลายวิธี เช่น การจูบ การมีเพศสัมพันธ์ทางปาก การดูดนมแม่ของทารกที่เป็นเชื้อราในปาก หรือแม่ที่เป็นเชื้อราที่หัวนมและให้นมลูก ทั้งนี้ การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อหรือการแพร่เชื้อวิธีต่าง ๆ อาจไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อเสมอไป เนื่องจากการติดเชื้อจะเกิดขึ้นได้เมื่อภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และทำให้เชื้อราแคนดิดาเจริญเติบโตมากผิดปกติ จนทำให้เกิดการติดเชื้อตามมา

Oral Thrush

สาเหตุของเชื้อราในปาก

เชื้อราในปากมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อราแคนดิดา ซึ่งโดยปกติแล้ว ระบบภูมิคุ้มกันจะช่วยป้องกันการติดเชื้อราดังกล่าวได้ แต่ถ้าหากสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ ก็จะทำให้เชื้อราแคนดิดาเจริญเติบโตจนเกินการควบคุม และเกิดการติดเชื้อราตามมา โดยกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อเชื้อราในปาก คือ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เด็กผู้สูงอายุ และผู้ที่มีประวัติการปลูกถ่ายอวัยวะ

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเกิดความผิดปกติ และทำให้เกิดการติดเชื้อราในปากอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น

  • การรักษาโรคมะเร็งด้วยเคมีบำบัดหรือฉายรังสี ซึ่งส่งผลกระทบให้เซลล์ที่ดีอ่อนแอลง และเซลล์บางส่วนถูกทำลายไปพร้อมกับเซลล์มะเร็ง
  • โรคร้ายแรงต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อ HIV โรคเอดส์ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน โรคเบาหวาน อาจส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันจนทำให้เชื้อราเจริญเติบโตขึ้น
  • การตั้งครรภ์ ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ และมีภาวะเชื้อราในช่องคลอด จะแพร่เชื้อราแคนดิดาไปยังเด็กทารกขณะที่คลอดบุตรได้ และอาจส่งผลให้เด็กทารกเกิดเชื้อราในช่องปาก
  • การใช้ยาปฏิชีวนะ ผู้ที่ใช้ยาปฏิชีวนะในปริมาณมากติดต่อกันเป็นเวลานานอาจเกิดเชื้อราในปากได้
  • การใช้ยาพ่นสเตียรอยด์ในผู้ป่วยโรคหืด ผู้ป่วยโรคหอบหืดที่ต้องใช้ยาพ่นสเตียรอยด์เป็นประจำอาจมีเชื้อราเกิดขึ้นในช่องปาก
  • การใส่ฟันปลอม หากใส่ไม่ถูกต้องหรือใส่ไม่พอดีก็อาจทำให้เกิดเชื้อราในช่องปากได้
  • การรักษาความสะอาดของช่องปากที่ไม่ดี ผู้ที่ดูแลสุขภาพช่องปากไม่ดี อาจเป็นสาเหตุของเชื้อราในช่องปากได้
  • อาการปากแห้ง ผู้ที่มีอาการปากแห้งจากการใช้ยา หรือปัญหาสุขภาพต่าง ๆ อาจไปกระตุ้นการเกิดเชื้อราได้
  • สูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ สารเคมีในบุหรี่จะกระตุ้นให้เชื้อราภายในช่องปากเจริญเติบโตมากขึ้น

อาการเชื้อราในปาก

ในเบื้องต้น ผู้ป่วยอาจไม่ทราบว่าตัวเองเป็นเชื้อราในปาก ทั้งนี้ การแสดงอาการอาจเกิดขึ้นทันทีหรือต้องใช้เวลาหลายวัน หลายสัปดาห์ หรือหลายเดือนหลังจากติดเชื้อ โดยลักษณะอาการมีดังนี้

  • มีคราบสีขาวที่ลิ้น กระพุ้งแก้ม เพดานปาก เหงือก หรือต่อมทอนซิล โดยลักษณะคราบขาวอาจคล้ายกับฝ้าในปาก
  • ภายในช่องปากแดง แสบ หรือเป็นแผล จนส่งผลกระทบต่อการกลืนอาหารหรือการเคี้ยวอาหาร
  • มีเลือดออกเล็กน้อย หากถูหรือขูดที่คราบขาว 
  • ลิ้นไม่รับรู้รสชาติ
  • มุมปากแห้ง แตก หรือเป็นรอยแดงที่มุมปาก

ในรายที่รุนแรงคราบเชื้อราอาจแพร่กระจายลงไปภายในหลอดอาหาร จนทำให้กลืนอาหารลำบากและมีอาการเหมือนมีอะไรติดคออยู่ตลอดเวลา

สำหรับทารกที่เกิดเชื้อราภายในช่องปากจะมีปัญหาเรื่องการดูดนมและมีอาการหงุดหงิดง่าย นอกจากนี้ เชื้อรายังอาจแพร่ไปยังมารดาได้ผ่านทางการดูดนมแม่ ทำให้มารดามีอาการติดเชื้อราที่บริเวณหัวนมร่วมด้วย

อาการเชื้อราในปากที่ควรไปพบแพทย์

หากมีอาการของเชื้อราในปาก เช่น บริเวณที่ติดเชื้อเจ็บ เลือดออก หรือมีคราบขาว ๆ เกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ควรไปพบแพทย์เช่นกัน หากใช้ยาต้านเชื้อราแล้วแต่อาการยังไม่ดีขึ้นหรือกลับมาเป็นซ้ำ 

การวินิจฉัยเชื้อราในช่องปาก

แพทย์อาจวินิจฉัยด้วยการตรวจบริเวณลิ้น เนื่องจากเชื้อราในปากอาจสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยแพทย์จะนำตัวอย่างจากบริเวณแผลไปตรวจกับห้องปฏิบัติการอีกครั้งเพื่อยืนยันผล แต่หากอาการเชื้อรานั้นแพร่กระจายลงไปในหลอดอาหาร อาจต้องตรวจเพิ่มเติม เช่น

  • การเพาะเชื้อ โดยการนำสำลีก้านยาวป้ายเก็บตัวอย่างที่บริเวณคอด้านหลังแล้วนำไปเพาะเชื้อหาเชื้อราแคนดิดา
  • การส่องกล้อง โดยการสอดกล้องเข้าในหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กเพื่อดูร่องรอยของเชื้อรา

ทั้งนี้ หากแพทย์พบว่าผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อราในหลอดอาหาร แพทย์จะวางแผนการรักษาโดยเร็วที่สุด เพราะหากปล่อยไว้เชื้อราอาจลุกลามลึกลงไปในร่างกายมากขึ้น

การรักษาเชื้อราในปาก

เชื้อราในปากรักษาให้หายได้ด้วยยาต้านเชื้อราต่าง ๆ เช่น ยาฟลูโคนาโซล (Fluconazole) ยาไอทราโคนาโซล (Itraconazole) ยาไนสแตติน (Nystatin) โดยอาจใช้ติดต่อกันอย่างน้อยประมาณ 7–14 วัน จนกว่าอาการจะหายและครบตามที่แพทย์สั่ง

ทั้งนี้ หากเชื้อราในปากเกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะ หรือยาสเตียรอยด์ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางแก้ไข โดยแพทย์อาจเปลี่ยนยา หรือปรับขนาดยาให้เหมาะสมมากขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนของเชื้อราในปาก

เชื้อราในปากมีภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนัก ซึ่งมักพบได้บ่อยในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โดยภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ มีดังนี้

  • เชื้อราแพร่เข้าสู่กระแสเลือด และเป็นสาเหตุทำให้เกิดการติดเชื้อราที่อวัยวะอื่น ๆ
  • มีปัญหาในการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำ เชื้อราในปากที่กระจายไปยังหลอดอาหารจะทำให้กลืนลำบาก และอาจมีอาการเจ็บขณะรับประทานอาหาร
  • มีปัญหาในการดูดซึมสารอาหาร หากปล่อยให้มีอาการเชื้อราในปากโดยไม่รักษาอย่างจริงจัง จะทำให้เชื้อราแพร่กระจายลงไปถึงลำไส้ และอาจส่งผลให้ลำไส้ไม่สามารถดูดซึมสารอาหารได้อย่างเต็มที่

การป้องกันเชื้อราในปาก

ความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดเชื้อราในปากได้ โดยวิธีที่จะช่วยให้ช่องปากสะอาดอยู่เสมอมีดังนี้

  • บ้วนปากทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร
  • แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ด้วยยาสีฟันที่ผสมสารฟลูออไรด์ และใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ
  • พบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะคนที่ใส่ฟันปลอม
  • ถอดฟันปลอมออกมาทำความสะอาดทุกคืน โดยควรทำความสะอาดด้วยยาสีฟัน หรือสบู่ และล้างน้ำให้สะอาด จากนั้นแช่ในน้ำยาสำหรับทำความสะอาดโดยเฉพาะ
  • แปรงเหงือก ลิ้น และภายในช่องปากด้วยแปรงสีฟันขนอ่อนนุ่มเป็นประจำเพื่อทำความสะอาด
  • ควรไปพบทันตแพทย์โดยทันทีหากฟันปลอมที่ใช้อยู่สวมใส่ได้ไม่พอดี
  • เลิกสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่กระตุ้นการเกิดเชื้อราได้
  • สำหรับผู้ป่วยโรคหอบหืดที่ต้องพ่นยาสเตียรอยด์ ควรบ้วนปากทุกครั้งหลังจากใช้ยา
  • ควบคุมอาการของโรคที่เป็นสาเหตุของเชื้อราในปาก เช่น โรคเบาหวาน ควรรักษาระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับที่ดี จะช่วยลดการเกิดเชื้อราในช่องปากได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้สเปรย์พ่นปาก หรือน้ำยาบ้วนปากมากเกินจำเป็น เพราะหากใช้มากเกินไปอาจทำให้เกิดการเสียสมดุลของแบคทีเรียในช่องปากได้