ความหมาย เชื้อราในหู
เชื้อราในหู (Fungal Ear Infection/Otomycosis) เป็นการติดเชื้อราบางชนิดในรูหูข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง ทำให้เกิดอาการปวด คัน หรืออักเสบ โดยพบมากในผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศร้อนหรืออบอุ่น เล่นกีฬาทางน้ำเป็นประจำ ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือมีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคเรื้อรัง โรคผิวหนัง และโรคเบาหวาน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แม้เชื้อราในหูจะไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการรักษาติดต่อกันเป็นเวลานาน และยังมีโอกาสสูงในการกลับมาเป็นซ้ำ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
อาการเชื้อราในหู
ผู้ป่วยที่ติดเชื้อราในหูมักมีอาการปวด คัน ระคายเคืองในหู หูบวมแดง หูอื้อ มีของเหลวสีขาว สีเหลือง สีดำ สีเทา หรือสีเขียวไหลออกมาจากรูหู หรือมีปัญหาในการได้ยิน หากมีอาการเข่าข่ายการติดเชื้อราในหูหรือมีความผิดปกติอื่นใดในช่องหูควรไปพบแพทย์
สาเหตุของการติดเชื้อราในหู
เชื้อราในหูส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อราในกลุ่มแอสเปอร์จิลลัส (Aspergillus) และกลุ่มแคนดิดา (Candida) แต่ผู้ป่วยบางรายอาจติดเชื้อราร่วมกับเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นการติดเชื้อที่ซับซ้อนมากขึ้นและควรได้รับการดูแลจากแพทย์
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงบางประการที่ทำให้เกิดการติดเชื้อราในหูได้ง่าย เช่น
- อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีอากาศร้อนและอบอุ่น เนื่องจากเชื้อราในช่องหูจะเจริญเติบโตได้ดีเมื่ออยู่ท่ามกลางอุณหภูมิอุ่นและชื้น
- เล่นกีฬาทางน้ำ เช่น ว่ายน้ำหรือโต้คลื่น โดยเฉพาะในน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรค
- เกิดการบาดเจ็บหรือได้รับอุบัติเหตุบริเวณหู
- มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เป็นโรคผิวหนังอักเสบ มีปัญหาผิวหนังเรื้อรังอื่น ๆ หรือโรคเบาหวาน
- ใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาสเตียรอยด์เพิ่มมากขึ้น
การวินิจฉัยการติดเชื้อราในหู
ในเบื้องต้น แพทย์จะถามประวัติสุขภาพของผู้ป่วย จากนั้นจะตรวจแก้วหูและช่องหูด้วยเครื่องตรวจหู (Otoscope) และอาจเก็บตัวอย่างของเหลวที่อยู่ภายในหูไปตรวจในห้องปฏิบัติการ หรือสั่งตรวจเลือดเพื่อยืนยันผลการวินิจฉัยและตรวจดูความผิดปกติของระบบภูมิต้านทานร่างกายเพิ่มเติม
การรักษาการติดเชื้อราในหู
ผู้ป่วยอาจใช้ระยะเวลาในการรักษาตั้งแต่ไม่กี่วันหรืออาจนานต่อเนื่องหลายปี โดยเริ่มแรกแพทย์จะทำความสะอาดหูของผู้ป่วยอย่างละเอียดและดูดของเหลวภายในหูออก จากนั้นจะจ่ายยาที่เหมาะกับอาการของผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งอาจมีรูปแบบยาและปริมาณการใช้ยาต่างกันไปตามดุลยพินิจของแพทย์ เช่น
-
ยาหยอดหู
แพทย์อาจให้ใช้ยาหยอดหูที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา อย่างยาโคลไตรมาโซล (Clotrimazole) และยาฟลูโคนาโซล (Fluconazole) ประมาณ 3–4 สัปดาห์ กลุ่มยาปรับสภาวะกรดที่มีส่วนประกอบ อย่างกรดอะซิติก (Acetic Acid) ความเข้มข้น 2 เปอร์เซ็นต์ หรือยาอะลูมิเนียม อะซิเตท (Aluminium Acetate) ความเข้มข้น 5 เปอร์เซ็นต์ เพื่อปรับสภาพหูให้แห้งและต้านเชื้อแบคทีเรีย
-
ยาชนิดรับประทาน
เนื่องจากยาหยอดหูอาจใช้ไม่ได้ผลกับเชื้อราในกลุ่มแอสเปอร์จิลลัส ผู้ป่วยจึงอาจได้รับยาต้านเชื้อราชนิดรับประทาน อย่างยาไอทราโคนาโซล (Itraconazole) ร่วมด้วย และผู้ป่วยที่มีอาการปวดอาจรับประทานยาแก้ปวดในกลุ่มเอ็นเสด (์NSAIDs) หรือยาพาราเซตามอล
-
ยาชนิดทา
ในกรณีที่พบการติดเชื้อภายนอกช่องหู แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้เป็นยาครีมหรือขี้ผึ้งทาบริเวณที่ติดเชื้อแทนการรับประทานยาและใช้ยาหยอดหู
ทั้งนี้ วิธีรักษาด้วยยาต้านเชื้อราอาจใช้ไม่ได้ผลในผู้ป่วยบางราย หากมีอาการเรื้อรังหรือกลับมาเป็นซ้ำ ควรไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านหู คอ จมูก เพื่อรับการรักษาและคำแนะนำที่ตรงจุด ส่วนผู้ป่วยเชื้อราในหูที่เป็นผลมาจากโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรัง อย่างโรคเบาหวานหรือมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โรคผิวหนังอักเสบ ควรดูแลรักษาโรคประจำตัวร่วมด้วยจึงจะได้ผลดี
ภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อราในหู
ผู้ป่วยเชื้อราในหูอาจมีภาวะแทรกซ้อนร่วมด้วยได้ เช่น แก้วหูทะลุ สูญเสียการได้ยิน การติดเชื้อที่กระดูกขมับ การติดเชื้อราในหูชั้นนอก ชั้นกลาง หรือโพรงกระดูกมาสตอยด์ (Mastoidectomy) รวมถึงเยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบ เป็นต้น
การป้องกันการติดเชื้อราในหู
เชื้อราในหูสามารถป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองดังนี้
- ป้องกันน้ำเข้าหูขณะเล่นกีฬาทางน้ำด้วยการสวมหมวกว่ายน้ำหรือใช้ที่อุดหู
- หากน้ำเข้าหูควรเช็ดหูให้แห้งทุกครั้ง
- ระมัดระวังการใช้สำลีก้านในการแคะหู ไม่ควรแคะหูแรงจนเกินไป
- หลีกเลี่ยงการแกะ เกาทั้งภายในและภายนอกรูหู
- ควรระมัดระวังตัวในการใช้ชีวิต การทำงาน การเล่นกีฬา และขณะขับขี่ยานพาหนะอยู่เสมอ เพราะความประมาทอาจนำไปสู่อุบัติเหตุและการบาดเจ็บบริเวณหูที่ไม่คาดคิดได้
อย่างไรก็ตาม หากพบอาการผิดปกติที่ช่องหูโดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือผู้ที่ใช้ยาบางชนิดควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาให้หายขาด ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในระยะยาว