เชื้อสแตฟฟิโลคอกคัส (Staphylococcus)

ความหมาย เชื้อสแตฟฟิโลคอกคัส (Staphylococcus)

Staphylococcus หรือเชื้อสแตฟฟิโลคอกคัส เป็นเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ในจมูก ปาก อวัยวะเพศหรือทวารหนัก ในบางครั้งเชื้อจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการผิวหนังติดเชื้อเพียงเล็กน้อย เกิดฝีหรือแผลพุพอง อาหารเป็นพิษ แต่หากเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด หัวใจ ข้อต่อหรือกระดูก อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

เชื้อ Staphylococcus สามารถอยู่บนร่างกายได้โดยไม่แสดงอาการผิดปกติหรืออาจแสดงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น การรักษาอาการติดเชื้อ Staphylococcus จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อ ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้ยาปฏิชีวนะ อย่างไรก็ตาม เชื้อ Staphylococcus บางชนิดไม่สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะเนื่องจากเชื้อชนิดนี้ง่ายต่อการดื้อยา

Staphylococcus

อาการของโรคติดเชื้อ Staphylococcus 

ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อ Staphylococcus จะมีอาการแตกต่างกันไป เนื่องจากเกิดการติดเชื้อได้หลายตำแหน่งและความรุนแรงของอาการมีหลายระดับ ตั้งแต่อาการไม่รุนแรงไปจนถึงเป็นอันตรายถึงชีวิต ตัวอย่างอาการติดเชื้อที่พบได้ เช่น

ผิวหนังติดเชื้อ

เชื้อ Staphylococcus อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังและเกิดอาการต่าง ๆ เช่น 

  • ฝีในต่อมไขมันหรือรูขุมขน มักพบบริเวณรักแร้ ขาหนีบหรือก้น โดยผิวหนังในบริเวณนั้นจะมีอาการบวม แดงและอาจมีหนองไหลออกมาในกรณีที่ฝีแตก 
  • แผลพุพอง โดยจะเป็นแผลขนาดใหญ่ อาจมีของเหลวไหลซึมออกมาและกลายเป็นหนองแห้งสีคล้ายน้ำผึ้ง
  • โรคเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis) เป็นการติดเชื้อที่เนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ส่งผลให้ผิวบวม แดง และอาจมีอาการเจ็บหรือมีของเหลวไหลซึมร่วมด้วย
  • โรค 4S (Staphylococcal Scalded Skin Syndrome) เป็นโรคที่มักพบในทารกและเด็ก ผู้ป่วยจะมีไข้ ผื่นแดง และแผลพุพอง เมื่อแผลแตก ผิวหนังชั้นบนสุดจะหลุดลอกออกและเป็นรอยแดงคล้ายผิวไหม้ 

อาหารเป็นพิษ

การติดเชื้อ Staphylococcus ส่งผลให้เกิดภาวะอาหารเป็นพิษ อาการมักเกิดขึ้นและหายไปอย่างรวดเร็ว โดยอาการอาจเกิดภายในเวลา 1 ชั่วโมงหลังการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ และอาการจะคงอยู่ประมาณครึ่งวัน ผู้ที่ได้รับเชื้อ Staphylococcus จากการรับประทานอาหารจะไม่มีไข้ แต่จะมีอาการท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน เกิดภาวะขาดน้ำ และความดันโลหิตต่ำ

ภาวะเลือดมีแบคทีเรีย (Bacteremia)

ภาวะนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเชื้อ Staphylococcus เข้าสู่กระแสเลือด ส่งผลให้ผู้ป่วยมีไข้ ความดันโลหิตต่ำ และกระทบต่อระบบการทำงานของอวัยวะภายในร่างกาย เช่น สมอง หัวใจ ปอด กระดูก กล้ามเนื้อ รวมถึงอุปกรณ์พิเศษภายในร่างกาย อย่างข้อเทียมหรือเครื่องกระตุ้นหัวใจ เป็นต้น

กลุ่มอาการท็อกซิกช็อก (Toxic Shock Syndrome)

เชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus บางชนิดอาจเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยผ่านทางการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด แผลบริเวณผิวหนังหรือการผ่าตัด ส่งผลให้ผู้ป่วยจะมีไข้สูง คลื่นไส้อาเจียน มีผื่นคล้ายผิวไหม้แดดบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า มึนงง ปวดกล้ามเนื้อ ท้องเสีย ปวดท้อง และอาจส่งผลรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต

โรคข้ออักเสบจากการติดเชื้อ (Septic Arthritis)

เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเข้าไปยังบริเวณเข่า หัวไหล่ สะโพก นิ้วมือและนิ้วเท้า ผู้ป่วยจะมีอาการบวมและเจ็บรุนแรงที่ข้อ และมีไข้

นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีการติดเชื้อที่กระดูก ปอดอักเสบ หรือโรคติดเชื้อของเยื่อบุหัวใจ ลิ้นหัวใจ และหลอดเลือดร่วมด้วย หากพบว่าบุตรหลานมีรอยแดงหรือการระคายที่ส่งผลให้เกิดความเจ็บปวดบริเวณผิวหนัง แผลพุพอง เป็นหนองและมีไข้ ควรไปพบแพทย์ และผู้ปกครองหรือสมาชิกคนอื่นในครอบครัวมีอาการในเวลาไล่เลี่ยกัน ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์เช่นกัน

สาเหตุของโรคติดเชื้อ Staphylococcus 

เชื้อ Staphylococcus จะอยู่ตามร่างกายบริเวณผิวหนังหรือจมูกได้โดยไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติ และติดอยู่ตามสิ่งของต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้า กลอนประตู ปลอกหมอนหรือผ้าขนหนู เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยอาจได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลตามร่างกาย การใช้สารเสพติด หรืออาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้

มีโรคประจำตัว

ร่างกายของผู้ป่วยบางรายอาจอ่อนแอและติดเชื้อ Staphylococcus ได้ง่าย เนื่องจากปัญหาสุขภาพของแต่ละคนหรือการใช้ยาบางชนิด เช่น ผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับอินซูลิน ผู้ติดเชื้อ HIV หรือโรคเอดส์ ผู้ป่วยไตวายที่ต้องฟอกไต ผู้ที่ปลูกถ่ายอวัยวะ ภูมิคุ้มกันบกพร่องจากโรคหรือการใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่รักษาด้วยเคมีบำบัดหรือรังสีบำบัด ผิวหนังเสียหายจากภาวะผิวหนังอักเสบ แมลงกัดต่อย หรือบาดแผลขนาดเล็ก และผู้ที่ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจอย่างโรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) หรือโรคถุงลมโป่งพอง เป็นต้น

เข้ารับการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล

ผู้ที่กำลังรักษาตัวอยู่หรือเพิ่งออกจากโรงพยาบาล ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ที่ได้รับการบาดเจ็บจากไฟไหม้และผู้ที่มีแผลเนื่องจากการผ่าตัด

การใช้เครื่องมือแพทย์

เชื้อ Staphylococcus อาจเข้าสู่ร่างกายผ่านทางการใช้เครื่องมือแพทย์ที่มีท่อเชื่อมต่อกับอวัยวะภายใน เช่น การล้างไต การใส่สายสวนปัสสาวะ การให้อาหารทางสายยาง การใช้ท่อช่วยหายใจและการใส่สายสวนหลอดเลือดดำ เป็นต้น

การเล่นกีฬา

เชื้อ Staphylococcus จะเข้าสู่ร่างกายทางการสัมผัสร่างกาย แผลถลอกและแผลเปิด ซึ่งเชื้อดังกล่าวอาจแพร่กระจายได้จากการใช้มีดโกน ผ้าขนหนู ชุด หรืออุปกรณ์ร่วมกัน

การเตรียมอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ

การติดเชื้อ Staphylococcus อาจเกิดจากการล้างมือไม่สะอาดก่อนการประกอบอาหาร ส่งผลให้เชื้อจากผิวหนังลงไปยังอาหาร ซึ่งอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียจะไม่แสดงสิ่งผิดปกติและยังมีรสชาติคงเดิม

การวินิจฉัยโรคติดเชื้อ Staphylococcus  

แพทย์จะวินิจฉัยการติดเชื้อ Staphylococcus จากการสอบถามอาการที่เกิดขึ้นและการตรวจร่างกาย ในกรณีที่มีบาดแผลบนผิวหนัง แพทย์จะตรวจดูบริเวณนั้นอย่างละเอียดและเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อ อุจจาระหรือน้ำมูกเพื่อตรวจหาเชื้อแบคทีเรียในร่างกาย นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติมตามอาการของแต่ละบุคคล รวมไปถึงการทำเอ็กโคหัวใจ (Echocardiogram) ในกรณีที่สงสัยว่าเกิดการติดเชื้อบริเวณหัวใจ 

การรักษาโรคติดเชื้อ Staphylococcus 

แพทย์จะรักษาโรคติดเชื้อ Staphylococcus ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะตามชนิดของแบคทีเรียในร่างกายของผู้ป่วย รูปแบบของยาปฏิชีวนะมีทั้งแบบรับประทานหรือแบบฉีดเข้าหลอดเลือด เช่น ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียขั้นรุนแรงเนื่องจากเชื้อดื้อยา แพทย์จะใช้ยาแวนโคมัยซิน (Vancomycin) และยาปฏิชีวนะบางชนิดเข้าทางหลอดเลือดดำของผู้ป่วย เป็นต้น ผู้ป่วยที่รับประทานยาปฏิชีวนะควรรับประทานยาอย่างเคร่งครัดตามคำสั่งแพทย์และควรสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายเพื่อเฝ้าระวังไม่ให้มีอาการแย่ลง

นอกจากนี้ ยังมีการรักษาในรูปแบบอื่นตามอาการของผู้ป่วย เช่น การระบายของเหลวออกจากแผล การนำเครื่องมือแพทย์หรืออวัยวะเทียมในร่างกายของผู้ป่วยออก และการผ่าตัดเพื่อทำการรักษา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยบางรายอาจพบเชื้อ Staphylococcus ที่มีการดื้อยา แพทย์อาจพิจารณาส่งตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือดเพื่อยืนยันการดื้อยาของเชื้อดังกล่าวและเลือกให้ยาปฏิชีวนะตัวอื่นทดแทน

ภาวะแทรกซ้อนของโรคติดเชื้อ Staphylococcus 

หากเชื้อ Staphylococcus เข้าสู่กระแสเลือดอาจส่งผลให้เกิดภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Sepsis) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกายส่วนต่าง ๆ และความดันโลหิตของผู้ป่วยอาจต่ำลงจนถึงขั้นเสียชีวิต

การป้องกันโรคติดเชื้อสแตฟฟิโลคอกคัส 

การป้องกันการติดเชื้อ Staphylococcus ทำได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น

  • ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำเปล่าเป็นเวลาอย่างน้อย 20 วินาที เช็ดให้แห้งด้วยกระดาษทิชชู่และใช้กระดาษอีกแผ่นปิดก็อกน้ำ หรือล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์หากไม่สะดวกในการล้างมือ โดยควรทำความสะอาดมือเป็นประจำ ทั้งก่อน หลัง หรือระหว่างการประกอบอาหาร การถือเนื้อดิบ การรับประทานอาหาร การเข้าห้องน้ำ และการสัมผัสกับสัตว์หรือมูลของสัตว์
  • รับประทานอาหารอย่างระมัดระวัง รักษาอุณหภูมิทั้งร้อนและเย็นของอาหารให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เก็บอาหารเหลือเข้าตู้เย็นทันที ล้างเขียงด้วยสบู่และน้ำเปล่าหลังประกอบอาหาร
  • ควรทำความสะอาดบาดแผลด้วยสบู่และน้ำเปล่า เป่าให้แห้งก่อนจะปิดบาดแผลให้มิดชิดและดูแลให้เกิดความสะอาดจนกว่าแผลจะหาย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
  • เปลี่ยนผ้าอนามัยแบบสอดทุก ๆ 4–8 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำและสลับใช้กับผ้าอนามัยแบบแผ่น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าขนหนู ผ้าปูที่นอน มีดโกน เสื้อผ้า หรืออุปกรณ์เล่นกีฬา เป็นต้น
  • ทำความสะอาดเสื้อผ้าและผ้าปูที่นอนด้วยน้ำร้อนร่วมกับสารฟอกขาว และทำให้ผ้าแห้งสนิทด้วยเครื่องอบผ้าหรือตากแดด
  • ในกรณีที่มีแผลแล้วมีอาการเจ็บและผิวหนังแดงอย่างผิดปกติ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ หากรอยแดงเกิดการแพร่กระจายควรไปโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษาโดยเร็ว