เซ

ความหมาย เซ

เซ (Ataxia) หรือภาวะกล้ามเนื้อเสียสหการ เป็นภาวะของกล้ามเนื้อที่ทำงานไม่ประสานงานกัน ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามต้องการ คนส่วนใหญ่มักนึกถึงอาการเซในขณะลุก เดิน หรือนั่งเพียงอย่างเดียว แต่อาการนี้ยังรวมไปถึงกลุ่มโรคที่เกิดขึ้นกับระบบประสาท ซึ่งอาจส่งผลให้การทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันยากลำบากขึ้น เช่น เขียนหรืออ่านหนังสือไม่ได้ พูดไม่ชัด กลืนอาหารไม่ได้ โดยทั่วไปไม่ได้เป็นอาการเฉพาะเจาะจงของโรคใดโรคหนึ่ง อาจเป็นได้ทั้งภาวะชั่วคราวหรือถาวร

เซ

อาการเซมีอยู่หลายประเภท หากแบ่งตามลักษณะกว้าง ๆ แยกออกเป็น

  • อาการเซที่เกิดจากการบาดเจ็บรุนแรงหรือโรคต่าง ๆ ที่ทำให้สมองและเส้นประสาทเกิดความเสียหาย (Acquired Ataxia) เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งหรือโรคเอ็มเอส เนื้องอกในสมอง การขาดสารอาหาร
  • อาการเซจากการถ่ายทอดยีนผ่านทางพันธุกรรมจากพ่อแม่ผิดปกติ (Hereditary Ataxia) ซึ่งจะพัฒนาอาการขึ้นอย่างช้า ๆ ในเวลานานหลายปี โดยอาการเซที่พบได้บ่อยในกลุ่มนี้ คือ โรคกล้ามเนื้อเสียการประสานงานแบบเฟรดริก (Friedreich Ataxia)
  • อาการเซที่เกิดจากสมองถูกทำลายเป็นเวลานานโดยไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic Late-Onset Cerebellar Ataxia: ILOCA)

อาการเซ

อาการเซอาจเกิดขึ้นได้ทันทีทันใดหรือค่อย ๆ เกิดขึ้น และอาการแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าสมองหรือร่างกายส่วนใดได้รับความเสียหาย โดยสัญญาณบ่งบอกความผิดปกติของระบบทางเส้นประสาทที่พบบ่อยสังเกตได้จาก

  • การเคลื่อนไหวหรือการทรงตัวได้ไม่ดี เช่น ขณะเดิน นั่ง หรือนอนแล้วลุกขึ้นยืนมีอาการเซ
  • เดินไม่ค่อยมั่นคง สะดุดบ่อย ๆ หรือต้องเดินกางขา เพื่อช่วยในการทรงตัว
  • ควบคุมการใช้กล้ามเนื้อในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ลำบาก เช่น รับประทานอาหาร เขียนหนังสือ ถอดกระดุมเสื้อ หรือหยิบจับสิ่งของ
  • พูดไม่ชัด ลักษณะการพูดเปลี่ยนแปลงไป
  • ตากระตุก ดวงตามีการเคลื่อนไหวกลับไปกลับมา มองเห็นภาพไม่ชัด ตามัว สายตาแย่ลงจนมองหรืออ่านหนังสือได้ไม่ดี
  • มีปัญหาในการกลืน
  • เหนื่อยง่ายกว่าปกติ

ผู้ที่มีอาการในลักษณะข้างต้นหรือมีโรคประจำตัวที่คาดว่าอาจเป็นสาเหตุของอาการเซ ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจดูอาการและค้นหาสาเหตุ แต่ควรรีบพบแพทย์ทันทีหากมีปัญหาในการทรงตัว ไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อมือ แขน และขาได้ ไม่สามารถเดินได้ตามปกติ พูดไม่ชัด หรือกลืนอาหารไม่ได้

สาเหตุของอาการเซ

สมองส่วนที่เรียกว่า เซรีเบลลัม (Cerebellum) หรือสมองน้อย ประกอบด้วย 2 ซีก ซีกซ้ายควบคุมกล้ามเนื้อด้านซ้ายและซีกขวาควบคุมกล้ามเนื้อด้านขวาของร่างกาย โดยสมองน้อยทำหน้าที่เป็นตัวกลางรวบรวมข้อมูลจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเชื่อมโยงไปยังสมองใหญ่และส่งสัญญาณจากสมองใหญ่ไปยังกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เมื่อมีความผิดปกติของสมองน้อย เช่น ได้รับความเสียหาย ฝ่อลง หรือสูญเสียเซลล์ประสาท จึงส่งผลต่อการควบคุมกล้ามเนื้อในการเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกายหรืออาการเซตามมา รวมถึงโรคที่ทำลายกระดูกไขสันหลังซึ่งติดกับเซรีเบลลัมหรือระบบประสาทส่วนปลายที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวและการขยับของข้อต่อก็อาจเป็นสาเหตุของอาการเซได้เช่นกัน เพราะเป็นส่วนที่เชื่อมโยงกับเซรีเบลลัม อีกทั้งอาการที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันออกไปตามตำแหน่งของระบบประสาทในร่างกายที่ได้รับความเสียหาย   

ตัวอย่างโรคที่มักพบว่าเป็นสาเหตุของอาการเซ เช่น

  • อาการบาดเจ็บทางศีรษะ เช่น ศีรษะกระแทกจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ อาจทำให้สมองและกระดูกสันหลังได้รับความเสียหายจนเกิดอาการเซในทันทีทันใด  
  • โรคหลอดเลือดในสมอง เมื่อเลือดไปเลี้ยงสมองได้ไม่พอหรือน้อยเกินไป จะทำให้ออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ และทำให้เซลล์สมองตาย
  • สมองพิการ (Cerebral Palsy) เป็นกลุ่มโรคความผิดปกติในการพัฒนาสมองตั้งแต่เด็ก อาจเกิดได้ตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์ไปถึงหลังคลอดไม่นาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการควบคุมกล้ามเนื้อของร่างกาย
  • กลุ่มโรคภูมิต้านทานตนเอง (Autoimmune Disease) เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งหรือโรคเอ็มเอส โรคซาคอยโดซิส (Sarcoidosis) โรคเซลิแอค (Celiac Disease) หรือแพ้กลูเตน
  • เนื้องอกในสมอง ทั้งชนิดที่เป็นเซลล์มะเร็งและไม่เป็นมะเร็งล้วนแต่สร้างความเสียหายให้กับสมองส่วนเซรีเบลลัมได้เช่นกัน
  • ยาและสารพิษบางชนิด เช่น ยาในกลุ่มบาร์บิทูเรต (Barbiturate) หรือยาเคมีบำบัดบางตัว แอลกอฮอล์ พิษของสารเคมีและโลหะหนัก
  • การขาดวิตามินอี วิตามินบี 12 และวิตามินบี 1 เนื่องจากร่างกายไม่สามารถดูดซึมวิตามินเหล่านี้ได้จากสภาวะทางร่างกายบางอย่าง เช่น ผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง จึงส่งผลให้เกิดอาการเซตามมา
  • ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณเล็กน้อยอาจทำให้เกิดอาการเดินเซได้ชั่วคราว แต่ในคนที่ดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักอาจทำให้เดินเซได้ถาวร และส่งผลให้เส้นประสาทในส่วนของเซรีเบลลัมเสื่อม

สาเหตุอื่น ๆ ที่พบได้น้อย เช่น

  • การติดเชื้อ อาการเซอาจเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคอีสุกอีใสหรือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอื่น  มักเกิดได้บ่อยในช่วงร่างกายฟื้นตัวหรือช่วงท้ายของโรค และหายไปได้เอง
  • กลุ่มอาการที่เป็นผลจากโรคมะเร็ง (Paraneoplastic Syndrome) เป็นอาการผิดปกติที่เกิดจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อเซลล์มะเร็ง โดยเฉพาะเนื้องอกบริเวณปอด รังไข่ หน้าอก หรือตามต่อมน้ำเหลือง บางรายอาจเกิดอาการเซก่อนการวินิจฉัยพบเซลล์มะเร็งเป็นเดือนหรือปี
  • ไม่ทราบสาเหตุ  บางรายอาจเกิดขึ้นโดยไม่สามารถระบุสาเหตุได้

การวินิจฉัยอาการเซ

แพทย์วินิจฉัยอาการเซได้จากการสอบถามอาการผิดปกติ ประวัติทางการแพทย์ของตัวผู้ป่วยเองและบุคคลในครอบครัว เช่น เคยสัมผัสกับสารเคมีหรือสารพิษใด ๆ คนใกล้ชิดในครอบครัวเคยมีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทหรือไม่ จากนั้นจึงตรวจร่างกายทั่วไป โดยดูการทรงตัว การใช้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ทดสอบการมองเห็นและการได้ยิน การโต้ตอบของผู้ป่วย และความสามารถในการจดจำ จากนั้นจึงอาจด้านอื่น ๆ เพิ่มตามความเสี่ยงในแต่ละบุคคล เช่น

  • ตรวจร่างกายทางระบบประสาท เพื่อดูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและการรับความรู้สึก  
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือด การตรวจปัสสาวะ การเจาะน้ำไขสันหลัง เพื่อดูเกลือแร่ สารเคมี สารพิษอื่น ๆ
  • การตรวจเกี่ยวกับระบบเส้นประสาท ในรายที่คาดว่ามีความเสี่ยงของในการเป็นโรคปลายประสาทอักเสบ (Peripheral Neuropathy)
  • การตรวจซีที สแกน หรือเอ็มอาร์ไอ บริเวณสมองและกระดูกไขสันหลัง ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ทราบสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการเซ โดยการตรวจเอ็มอาร์ไออาจบอกได้ว่าสมองส่วนเซรีเบลลัมหรือโครงสร้างใดในสมองเกิดการหดตัว รวมไปถึงความผิดปกติอื่น เช่น เส้นเลือดอุดตันในสมอง เนื้องอก ซึ่งอาจไปกดทับเซรีเบลลัมจนเป็นสาเหตุของอาการเซ
  • การตรวจยีนในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงจากพันธุกรรมสำหรับอาการเซบางประเภท

การรักษาอาการเซ

แนวทางในการรักษาจะขึ้นอยู่กับประเภทและสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการเซเป็นหลัก จึงไม่มีวิธีเฉพาะเจาะจง การรักษามักมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติหรือใกล้เคียงสภาพปกติมากที่สุด ซึ่งแบ่งออกได้หลายวิธี

การรักษาตามสาเหตุ หากพบว่าอาการเซเกิดจากโรคหรือความผิดปกติของร่างกาย แพทย์จะรักษาต้นตอที่ทำให้เกิดอาการ แต่ถ้าเกิดจากสภาพแวดล้อมหรือปัจจัยกระตุ้นอื่น ๆ แพทย์จะแนะนำให้หลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านั้นให้มากที่สุด และแนะนำวิธีรักษา เช่น รับประทานวิตามินและแร่ธาตุเสริมในรายที่มีอาการขาดวิตามิน ควรเลี่ยงการสัมผัสหรือหยิบจับสารพิษที่เป็นต้นเหตุ การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินปริมาณควรงดการดื่มและถอนพิษจากแอลกอฮอล์ ซึ่งบางรายแพทย์อาจให้รับประทานไทอะมีน (Thiamine) หรือวิตามินบี 1 เพิ่มเติม รวมถึงการรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งในการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น เนื้องอกสมอง ฝีในสมอง หรือโพรงน้ำในสมองโต ซึ่งผลการรักษาจะแตกต่างกันในแต่ละราย

การใช้อุปกรณ์ช่วยในการปรับตัว (Adaptive Equipment) เนื่องจากโรคบางโรครักษาไม่หายขาด เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งหรือภาวะสมองพิการ จึงต้องใช้อุปกรณ์ช่วยในการปรับตัว เพื่อสามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ ในรายที่เดินไม่ได้จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน หรืออุปกรณ์ช่วยรับประทานอาหารให้สะดวกมากขึ้น รวมไปถึงอุปกรณ์ช่วยในการสื่อสาร

การบำบัดรักษา มีอยู่หลายรูปแบบแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ในการรักษาผู้ป่วยแต่ละคน เช่น กายภาพบำบัด จะช่วยให้การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อได้ง่ายขึ้น กิจกรรมบำบัด (Occupational Therapy) จะช่วยให้หยิบจับสิ่งของและทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันอย่างการรับประทานอาหารด้วยตนเอง หรือการแก้ไขการพูด (Speech Therapy) จะช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางการพูดและมีปัญหาในการกลืน

การรักษาด้วยยา อาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่มีอาการเซในบางประเภทเท่านั้น และยังต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมมากขึ้น ยกเว้นในรายที่มีอาการจากการขาดวิตามินหรือแร่ธาตุที่สามารถรักษาด้วยการรับประทานวิตามินหรือสารอาหารเสริม

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องและพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากที่สุด

ภาวะแทรกซ้อนของอาการเซ

อาการเซโดยทั่วไปส่งผลร้ายต่อคุณภาพชีวิตเนื่องจากจากภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น เวียนศีรษะ กล้ามเนื้อหดเกร็ง ร่างกายมีสภาพแข็งเกร็ง เกิดอาการสั่น ปวด เหนื่อยง่าย มีปัญหาในการหายใจ ความดันโลหิตลงต่ำลงขณะนั่งหรือยืน การทำงานของกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ผิดปกติ หย่อนสมรรถภาพทางเพศ สมองเสื่อม อาการช็อกและอันตรายถึงชีวิต ซึ่งอาจจะแตกต่างกันไปตามแต่ละประเภทและยังต้องอาศัยอุปกรณ์ช่วยในระหว่างที่พักรักษาตัว

นอกจากนี้ ยังเสี่ยงต่อการลื่นล้ม ทำให้เกิดบาดแผล บาดเจ็บตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย กระดูกหัก จนอาจต้องนอนรักษาตัวบนเตียงเป็นเวลานาน ซึ่งผู้ป่วยมักเคลื่อนไหวร่างกายได้เพียงเล็กน้อย สุขภาพร่างกายทรุดโทรมลง หากมีอาการรุนแรงอย่างอาการติดเชื้อ แผลกดทับ เลือดจับตัวเป็นลิ่มเลือด อาจทำให้เสียชีวิตได้

การป้องกันอาการเซ

อาการนี้เกิดได้หลายสาเหตุและมีโรคที่เกี่ยวข้องมากมาย การป้องกันจึงทำได้ไม่เต็มที่ แต่อาจลดความเสี่ยงบางประการที่เกิดจากจากปัจจัยภายนอก เช่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมีหรือสารพิษที่เป็นอันตราย ระมัดระวังไม่ให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรงบริเวณศีรษะ รับประทานอาหารถูกหลักโภชนาการ เพื่อป้องกันการขาดวิตามินและแร่ธาตุ ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ และเมื่อพบอาการผิดปกติหรือเป็นโรคประจำตัวใด ๆ ควรรักษาให้หายขาด

ส่วนอาการเซที่เป็นผลมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมนั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือป้องกันได้ ผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวมีอาการเดินเซหรือกล้ามเนื้อทำงานผิดปกติควรเข้ารับการตรวจคัดกรองความผิดปกติของพันธุกรรมและวางแผนครอบครัวอย่างเหมาะสม