เซมากลูไทด์ (Semaglutide)
Semaglutide (เซมากลูไทด์) เป็นยารักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 สำหรับผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ ตัวยาจะออกฤทธิ์ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ โดยแพทย์อาจให้ผู้ป่วยใช้ยา Semeglutide ร่วมกับการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย หรือยารักษาชนิดอื่น ๆ ตามที่เห็นสมควร
เกี่ยวกับยา Semaglutide
กลุ่มยา | ยาเบาหวาน (Antidiabetic Agents) |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 |
กลุ่มผู้ป่วย | ผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน ยาฉีด |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร | ยังไม่มีการจัดหมวดหมู่ของยาชนิดนี้จากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ FDA ซึ่งยาอาจส่งผลกระทบต่อมารดาหรือทารกในครรภ์ได้ หากผู้ป่วยกำลังตั้งครรภ์ วางแผนจะมีบุตร หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยต่อทั้งตนเองและทารก |
คำเตือนในการใช้ยา Semaglutide
เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยา Semaglutide เพราะอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายตามมาได้
- แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เพราะยานี้อาจส่งผลให้ร่างกายดูดซึมยาชนิดอื่นช้าลง ทำปฏิกิริยากับยาชนิดอื่นจนก่อให้เกิดผลข้างเคียง หรือทำให้ยาชนิดอื่นมีประสิทธิภาพลดลง โดยเฉพาะยาเบาหวานชนิดอื่น เช่น อินซูลิน ยาดูลากลูไทด์ (Dulaglutide) ยาเอซีนาไทด์ (Exenatide) หรือยาลิรากลูไทด์ (Liraglutide) ยาวาร์ฟาริน (Warfarin) และยาพาราเซตามอล
- ผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพบางประการไม่ควรใช้ยานี้ เช่น ภาวะเลือดเป็นกรด โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เนื้องอกต่อมไร้ท่อชนิดที่ 2 ผู้ที่ตนเองหรือคนในครอบครัวมีประวัติโรคมะเร็งไทรอยด์ชนิดเมดัลลารี (Medullary Thyroid Cancer)
- ผู้ป่วยที่มีประวัติทางสุขภาพควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยา เช่น โรคกระเพาะอาหารหรือลำไส้ โรคไต โรคตับ ตับอ่อนอักเสบ ปัญหาสายตาจากโรคเบาหวาน ภาวะหัวใจล้มเหลวรุนแรง รวมถึงมีสัญญาณของเนื้องอกที่ต่อมไทรอยด์อย่างมีก้อนหรือบวมบริเวณคอ มีปัญหาในการกลืน เสียงแหบ และหายใจไม่อิ่ม
- ห้ามสตรีมีครรภ์ ผู้วางแผนจะตั้งครรภ์ และผู้ให้นมบุตรใช้ยานี้ เนื่องจากตัวยาอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์และทารกหลังคลอดได้
- ผู้ป่วยอาจต้องคุมกำเนิดด้วยวิธีต่าง ๆ ในระหว่างที่ใช้ยานี้ กรณีตั้งครรภ์ในระหว่างการใช้ยาควรแจ้งให้แพทย์ทราบโดยเร็ว
- หลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือการทำกิจกรรมที่ต้องรู้สึกตื่นตัวอยู่เสมอ หากตัวยาส่งผลให้ผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำหรือเวียนศีรษะ
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างที่ใช้ยานี้ เพราะส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด
- ไม่อนุญาตให้ใช้ยา Semaglutide ในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี
ปริมาณการใช้ยา Semaglutide
ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาอาจแตกต่างกันไปตามยี่ห้อ รูปแบบของยา และดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยตัวอย่างการใช้ยาเซมากลูไทด์ เพื่อรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในผู้ป่วยผู้ใหญ่มีดังนี้
ยา Semaglutide ชนิดรับประทาน
ผู้ป่วยเริ่มรับประทานยาในปริมาณ 3 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันนาน 1 เดือน จากนั้นเพิ่มปริมาณยาจนถึง 7 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันนานอย่างน้อย 1 เดือน
หากระดับน้ำตาลในเลือดยังไม่อยู่ในเกณฑ์ปกติอาจเพิ่มปริมาณยาสูงสุดได้ถึง 14 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง โดยควรเลือกใช้ยาขนาด 14 มิลลิกรัม 1 เม็ด แทนยาขนาด 7 มิลลิกรัม 2 เม็ด
ยา Semaglutide ชนิดฉีด
ผู้ป่วยใช้ยาปริมาณ 0.25 มิลลิกรัมฉีดเข้าใต้ผิวหนัง สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 4 สัปดาห์ จากนั้นเพิ่มปริมาณยาจนถึง 0.5 มิลลิกรัม สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ติดต่อกันนานอย่างน้อย 4 สัปดาห์
หากระดับน้ำตาลในเลือดยังไม่อยู่ในเกณฑ์ปกติหลังเริ่มการรักษาไปแล้วอย่างน้อย 8 สัปดาห์ อาจเพิ่มปริมาณยาสูงสุดได้ถึง 1 มิลลิกรัม สัปดาห์ละ 1 ครั้ง หากจำเป็นต้องเปลี่ยนวันฉีดยาควรเว้นระยะห่างจากวันที่ฉีดยาล่าสุดอย่างน้อย 2–3 วัน
การใช้ยา Semaglutide
วิธีการใช้ยา Semaglutide เพื่อความปลอดภัยมีดังนี้
- การใช้ยา Semaglutide ควรทำควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่เหมาะสม หรือยาเบาหวานชนิดอื่นตามคำสั่งแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ โดยไม่ควรปรับเพิ่มหรือลดปริมาณยาและระยะเวลาในการใช้ยาด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาเซมากลูไทด์หลายยี่ห้อในเวลาเดียวกัน
- ยา Semaglutide ชนิดรับประทานควรรับประทานขณะท้องว่าง หรืออย่างน้อย 30 นาทีก่อนมื้ออาหาร หรือก่อนรับประทานยาชนิดอื่น ๆ ห้ามบด เคี้ยว หรือหักยา แต่ให้กลืนยาลงไปทั้งเม็ดพร้อมดื่มน้ำตามประมาณครึ่งแก้วหรือ 120 มิลลิลิตร
- ควรดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ เนื่องจากยา Semaglutide อาจส่งผลให้ผู้ป่วยคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสียในระหว่างใช้ยา
- การรับประทานยา Semaglutide ร่วมกับยาเบาหวานชนิดอื่น อาจเพิ่มความเสี่ยงของระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ทำให้มีอาการเวียนศีรษะ มือสั่น อยากอาหาร อ่อนเพลีย หรือสับสนได้ หากพบสัญญาณอาการดังกล่าว ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหรือดูแลตัวเองเบื้องต้นตามคำแนะนำของแพทย์
- ยา Semaglutide ชนิดฉีดเข้าใต้ผิวหนังจะใช้ในเวลาใดก็ได้ พร้อมหรือไม่พร้อมอาหารก็ได้ โดยให้ฉีดบริเวณต้นขา หน้าท้อง ต้นแขน หรือบริเวณที่แพทย์แนะนำ และไม่ควรนำยาไปใช้หากพบว่ายามีตะกอน มีลักษณะขุ่น มีสีที่เปลี่ยนไป หรือเป็นน้ำแข็ง
- ห้ามใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น และควรเปลี่ยนเข็มทุกครั้งที่ฉีดยา เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายเชื้อโรค
- ผู้ป่วยควรรับประทานยาหรือฉีดยาในเวลาเดียวกันของแต่ละวันหรือแต่ละสัปดาห์ และใช้ยาให้ครบตามที่แพทย์สั่งแม้อาการจะดีขึ้นแล้ว เพื่อประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุด
- ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามอาการและดูการตอบสนองต่อยา โดยแพทย์อาจตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด ระดับคอเลสเตอรอล ค่าการทำงานของตับ และอื่น ๆ
- หากลืมใช้ยาชนิดรับประทาน ให้ข้ามไปใช้ยาตามเวลาปกติ สำหรับยาชนิดฉีด หากผู้ป่วยลืมใช้ยาไม่เกิน 5 วัน ให้ฉีดยาทันทีที่นึกขึ้นได ้และให้ฉีดยารอบถัดไปตามเวลาปกติ หากลืมมากกว่า 5 วันให้ข้ามไปฉีดยาตามเวลาปกติในสัปดาห์ถัดไป โดยห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า
- หากผู้ป่วยใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนดแล้วพบอาการผิดปกติใด ๆ ที่รุนแรง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- เก็บยาชนิดรับประทานไว้ที่อุณหภูมิห้อง ส่วนยาชนิดฉีดควรเก็บยาในตู้เย็น ห้ามแช่ช่องแข็ง โดยเก็บให้ห่างจากความร้อน แสงแดด รวมถึงห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Semaglutide
ยา Semaglutide อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น น้ำตาลในเลือดต่ำ ท้องไส้ปั่นป่วน อาหารไม่ย่อย แสบร้อนกลางอก มีแก๊สในกระเพาะอาหาร ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ไม่อยากอาหาร ท้องเสีย ท้องผูก ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ หรือเหนื่อยล้า ในกรณีที่อาการเหล่านี้ไม่หายไปหรือทวีความรุนแรงขึ้นควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์โดยเร็ว
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหากพบอาการต่อไปนี้
- การมองเห็นเปลี่ยนแปลงไป มองเห็นเป็นภาพเบลอ
- อารมณ์เปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติ มีความคิดทำร้ายตนเอง
- เวียนศีรษะคล้ายจะหมดสติ
- มีสัญญาณของเนื้องอกต่อมไทรอยด์ เช่น เสียงแหบ มีก้อนหรือบวมบริเวณคอ มีปัญหาในการกลืน หรือหายใจไม่อิ่ม
- มีอาการของตับอ่อนอักเสบ เช่น ปวดท้องส่วนบนอย่างรุนแรง และอาจปวดร้าวไปยังแผ่นหลัง มีอาการคลื่นไส้โดยอาจมีการอาเจียนร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ และหัวใจเต้นเร็ว
- มีปัญหาเกี่ยวกับถุงน้ำดี ทำให้มีอาการ เช่น ปวดท้องส่วนบน มีไข้ อุจจาระสีเหมือนโคลน และตัวเหลือง ตาเหลือง
- มีปัญหาเกี่ยวกับไต ทำให้มีอาการ เช่น อาการบวม ปัสสาวะน้อยลง รู้สึกเหนื่อย หรือหายใจไม่อิ่ม
- มีสัญญาณของไวรัสลงกระเพาะ เช่น ปวดเกร็งท้อง อาเจียน ไม่อยากอาหาร ท้องเสียเป็นน้ำหรืออาจปนเลือด
- มีสัญญาณของการแพ้ยา เช่น ลมพิษ คัน เวียนศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว หายใจลำบาก อาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือลำคอ