เดสโมเพรสซิน (Desmopressin)

เดสโมเพรสซิน (Desmopressin)

Desmopressin (เดสโมเพรสซิน) เป็นฮอร์โมนสังเคราะห์ที่นำมาใช้รักษาโรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง (Central Diabetes Insipidus) อาการปัสสาวะบ่อยหลังการผ่าตัดที่ศีรษะหรือการบาดเจ็บที่ศีรษะ ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน (Nocturnal Enuresis)

โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ควบคุมหรือลดการขับปัสสาวะ ช่วยให้กระหายน้ำหรือปัสสาวะน้อยลงในแต่ละวัน และป้องกันภาวะขาดน้ำ นอกจากนี้ ยา Desmopressin อาจนำไปใช้รักษาโรคหรือภาวะอื่นตามดุลยพินิจของแพทย์

เดสโมเพรสซิน (Desmopressin)

เกี่ยวกับยา Desmopressin

กลุ่มยา ฮอร์โมนสังเคราะห์
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาอาการกระหายน้ำหรือปัสสาวะบ่อยจากปัญหาสุขภาพต่าง ๆ
กลุ่มผู้ป่วย เด็ก ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน ยาอมใต้ลิ้น ยาพ่นทางจมูก ยาฉีด
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร Category B จากการศึกษาในสัตว์ ไม่พบความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์หรืออาจพบผลไม่พึงประสงค์ในสัตว์ และยังไม่พบความเสี่ยงในมนุษย์เมื่อใช้ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ รวมทั้งไม่มีหลักฐานทางการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า มีความเสี่ยงเมื่อใช้ในช่วงหลังเดือนที่สามเป็นต้นไป ดังนั้น สตรีมีครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์และผู้ที่กำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยา เพื่อเพิ่มความปลอดภัยต่อทารกในครรภ์และทารกแรกเกิด

คำเตือนในการใช้ยา Desmopressin

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยา Desmopressin รวมถึงยาและสารอื่น ๆ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยา Desmopressin จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง โดยเฉพาะยาต้านเศร้า ยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ ยาต้านชัก และยาแก้ปวดลดการอักเสบกลุ่มเอ็นเสด (NSAID)
  • ผู้ป่วยโรคไตรือภาวะโซเดียมในเลือดต่ำไม่ควรใช้ยา Desmopressin 
  • ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ ภาวะหัวใจวาย กลุ่มอาการของการหลั่งฮอร์โมนต้านการขับปัสสาวะไม่เหมาะสม (SIADH) กำลังใช้ยาขับปัสสาวะหรือยาสเตียรอยด์ หรือมีภาวะกระหายน้ำอย่างรุนแรงจากปัญหาสุขภาพ ไม่ควรใช้ยานี้ 
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยาหากผู้ป่วยเคยมีประวัติทางสุขภาพ อาทิ ภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย กระหายน้ำอย่างผิดปกติ อาการบวมน้ำ ภาวะหัวใจวาย โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ปัญหาการมีเลือดออกหรือการแข็งตัวของเลือดช้า ปัญหาในการขับปัสสาวะ โรคไต หรือโรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis)
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากผู้ป่วยเสี่ยงต่อการสูญเสียน้ำและแร่ธาตุในร่างกาย เช่น มีไข้ ท้องเสีย อาเจียน การติดเชื้อต่าง ๆ หรือต้องดื่มน้ำมากกว่าปกติในบางสถานการณ์ อย่างอยู่กลางแจ้งท่ามกลางอากาศร้อน ออกกำลังกายหนัก หรือมีเหงื่อออกอย่างต่อเนื่อง เพราะแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยหยุดหรือปรับการใช้ยา Desmopressin โดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุ   
  • ผู้ป่วยที่ประสบปัญหาขาดน้ำ ควรได้รับการรักษาให้หายดีก่อน แพทย์จึงจะเริ่มการใช้ยา Desmopressin 
  • ก่อนเริ่มรักษาหรือในขณะที่ใช้ยานี้ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด การตรวจปัสสาวะ การตรวจวัดความดันโลหิต และการตรวจวัดระดับโซเดียมในเลือด 
  • ผู้ป่วยเด็กอาจไวต่อผลข้างเคียง โดยเฉพาะภาวะน้ำและแร่ธาตุในร่างกายไม่สมดุลกัน และภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ เช่นเดียวกับผู้ป่วยสูงอายุที่เสี่ยงเกิดผลข้างเคียงดังกล่าวอย่างรุนแรง เนื่องจากไตที่ทำหน้าที่ขับยาออกจากร่างกายทำงานน้อยลงและเสื่อมสภาพไปตามอายุ 
  • ไม่อนุญาตให้ใช้ยา Desmopressin รักษาปัสสาวะรดที่นอนในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี รวมถึงยาชนิดอมใต้ลิ้นในผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยการใช้ยาในเด็กควรอยู่ภายใต้คำแนะนำและการดูแลจากแพทย์เท่านั้น 

ปริมาณการใช้ยา Desmopressin

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยาดังนี้

ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืนแบบปฐมภูมิ (Primary Nocturnal Enuresis)
ตัวอย่างการใช้ยา Desmopressin เพื่อรักษาปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืนแบบปฐมภูมิ

เด็กที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ เริ่มรับประทานยาก่อนนอนปริมาณ 200 ไมโครกรัม โดยอาจปรับปริมาณได้ถึง 600 ไมโครกรัม ตามการตอบสนองต่อยาที่ต้องการ  

ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืนจากโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis)
ตัวอย่างการใช้ยา Desmopressin เพื่อรักษาปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืนจากโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

ผู้ใหญ่ ใช้ยาปริมาณ 10–20 ไมโครกรัม พ่นทางจมูกก่อนนอน 

โรคเบาจืดจากความผิดปกติของสมอง
ตัวอย่างการใช้ยา Desmopressin ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อรักษาโรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง 

 ยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เข้าชั้นผิวหนัง และใต้ชั้นผิวหนัง

  • เด็ก ใช้ยาปริมาณ 0.4 ไมโครกรัม วันละครั้ง
  • ผู้ใหญ่ ใช้ยาปริมาณ 1–4 ไมโครกรัม วันละครั้ง

ยาพ่นทางจมูก

  • เด็ก ใช้ยาปริมาณ 5–20 ไมโครกรัมต่อวัน หากเป็นทารกอาจต้องใช้ยาในปริมาณต่ำกว่า
  • ผู้ใหญ่ ใช้ยาปริมาณ 10–20 ไมโครกรัม วันละ 1 หรือ 2 ครั้ง

ยารับประทาน

  • เด็กและผู้ใหญ่ เริ่มใช้ยาปริมาณ 100 ไมโครกรัม วันละ 3 ครั้ง โดยปรับปริมาณยาตามการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย ปริมาณยาที่ใช้รักษาต่อเนื่องจะอยู่ที่ 100–200 ไมโครกรัม วันละ 3 ครั้ง ไปจนถึง 100–1,200 ไมโครกรัมต่อวัน 

ยาอมใต้ลิ้น 

  • เด็กและผู้ใหญ่ เริ่มใช้ยาปริมาณ 60 ไมโครกรัม วันละ 3 ครั้ง ปริมาณยาที่ใช้รักษาต่อเนื่องจะอยู่ที่ 60–120 ไมโครกรัม วันละ 3 ครั้ง ไปจนถึง 720 ไมโครกรัมต่อวัน 

การใช้ยา Desmopressin

วิธีการใช้ยา Desmopressin เพื่อความปลอดภัยมีดังนี้

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์เคร่งครัด โดยไม่ปรับปริมาณยาด้วยตัวเอง หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาเสมอ
  • ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษาปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ควรจำกัดหรือหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มใด ๆ ก่อนใช้ยาก่อนนอน 1 ชั่วโมง และไม่ควรดื่มอะไรเลยจนถึงตอนเช้าหรืออย่างน้อย 8 ชั่วโมงหลังการใช้ยาก่อนนอน หรือตามคำแนะนำของแพทย์ขณะใช้ยานี้ เพราะการดื่มน้ำตามมาก ๆ อาจทำให้แร่ธาตุในร่างกายเสียสมดุลจนอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
  • ผู้ป่วยเด็กและผู้สูงอายุควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับชนิดของเครื่องดื่มและปริมาณในการดื่มที่เหมาะสม เพราะอาจเสี่ยงต่ออาการบวมน้ำ
  • หากแพทย์แนะนำให้เปลี่ยนรูปแบบยาจากชนิดพ่นจมูกไปเป็นชนิดรับประทาน ผู้ป่วยควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 12 ชั่วโมงหลังใช้ยา Desmopressin ชนิดพ่นจมูก แล้วค่อยเปลี่ยนไปใช้ยาชนิดรับประทาน 
  • หากผู้ป่วยใช้ยาชนิดอมใต้ลิ้น ควรใช้ยานี้ก่อนนอน 1 ชั่วโมงโดยสอดไว้ใต้ลิ้นและรอให้ยาละลาย และควรปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนเข้านอน
  • ผู้ป่วยควรใช้ยาให้ตรงเวลาทุกวัน เพื่อประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุด ในกรณีที่อาการไม่ดีขึ้นหรือตัวยาใช้ไม่ได้ผล ควรแจ้งให้แพทย์ทราบโดยเร็ว
  • หากผู้ป่วยลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้ถึงช่วงเวลาของยารอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยาตามเวลาปกติ โดยห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า 
  • หากผู้ป่วยใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนดอาจก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะ สับสน ง่วงซึม น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือมีปัญหาในการปัสสาวะ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด โดยเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง 

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Desmopressin 

การใช้ยา Desmopressin อาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงบางอย่าง เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ หน้าแดง ปากแห้ง คลื่นไส้ และปวดท้อง หากอาการเหล่านี้ยังคงอยู่เป็นเวลานานหรือมีอาการแย่ลง ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อหาวิธีการรักษาและบรรเทาอาการที่เหมาะสม

ในกรณีที่มีอาการรุนแรงดังต่อไปนี้ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบโดยด่วน

  • มีสัญญาณของการแพ้ยา เช่น ลมพิษ ผื่น คัน หายใจลำบาก อาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และลำคอ เวียนศีรษะอย่างรุนแรง เป็นต้น 
  • มีระดับโซเดียมในเลือดต่ำ ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะผิดปกติ สับสน เห็นภาพหลอน กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง อ่อนแรงอย่างรุนแรง อ่อนเพลียผิดปกติ คลื่นไส้ อาเจียน หรือรู้สึกกระสับกระส่าย แต่มักพบได้น้อย
  • อาการรุนแรงอื่น ๆ เช่น หน้าแดง มีอาการบวม น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ชัก หายใจตื้น หรือเวียนศีรษะคล้ายจะหมดสติ

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยพบผลข้างเคียงหรือความผิดปกติอื่นใดนอกเหนือจากนี้ ควรจดบันทึกและแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาเพิ่มเติม