เต้านมอักเสบ (Mastitis)

ความหมาย เต้านมอักเสบ (Mastitis)

เต้านมอักเสบ (Mastitis) เป็นภาวะที่เนื้อเยื่อบริเวณเต้านมเกิดการบวมอักเสบ ส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ อย่างรู้สึกเจ็บหรือร้อนบริเวณเต้านม หรือเต้านมบวมแดง โดยภาวะนี้อาจเกิดขึ้นได้กับทั้งเพศชายและหญิง แต่ส่วนใหญ่จะพบได้ในผู้หญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร โดยเฉพาะในช่วง 6–12 สัปดาห์แรกของการให้นม

เต้านมอักเสบเป็นภาวะที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือการอุดทันในท่อน้ำนม การรักษาส่วนใหญ่มักเป็นการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรีย ในบางกรณีแพทย์อาจส่งตรวจเพิ่มเติมเนื่องจากอาการของภาวะเต้านมอักเสบอาจคล้ายคลึงกับสัญญาณเริ่มต้นของโรคมะเร็งเต้านมบางชนิด

 Mastitis

อาการของเต้านมอักเสบ

ผู้ที่มีภาวะเต้านมอักเสบมักพบอาการต่าง ๆ บริเวณเต้านมข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียว และอาการมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น

  • เต้านมบวม แดง แต่ผู้ที่มีสีผิวคล้ำอาจสังเกตได้ยาก
  • มีอาการคันเต้านมและรู้สึกอุ่นเมื่อจับ 
  • คลำพบลักษณะคล้ายก้อนเนื้อในเต้านม
  • รู้สึกเจ็บหรือร้อนบริเวณเต้านมตลอดเวลา และอาจรู้สึกเจ็บบริเวณรักแร้หรือใต้วงแขนเมื่อสัมผัส
  • เกิดรอยแผลขนาดเล็กบริเวณหัวนม
  • มีของเหลวหรือเลือดไหลออกจากหัวนม
  • มีไข้ อุณหภูมิร่างกายสูงเกิน 38.3 องศาเซลเซียส หนาวสั่น อ่อนเพลีย 
  • คลื่นไส้ อาเจียน 
  • ปวดเมื่อยตามร่ายกาย

ผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรมีอาการในข้างต้นและอาการไม่ดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง หรือหากไม่ได้ให้นมบุตรแต่มีอาการผิดปกติบริเวณเต้านม อย่างมีของเหลวไหลออกจากหัวนม ปวดหน้าอกเป็นระยะเวลานานจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน หรือพบก้อนเนื้อในเต้านม ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย

สาเหตุของเต้านมอักเสบ

เต้านมอักเสบอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • การติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นกรณีที่มักพบได้ในช่วง 1–3 เดือนแรกของการให้นมบุตร โดยเกิดจากแบคทีเรียที่อยู่บริเวณหัวนม ผิวหนังบริเวณใกล้เคียงหัวนม หรือจากปากของทารกเข้าสู่ทางท่อน้ำนมผ่านรอยแผลแตกเล็ก ๆ บริเวณหัวนม ส่งผลให้เต้านมเกิดการอักเสบ บวม และมีเลือดไหลเวียนบริเวณเต้านมมากขึ้น
  • ท่อน้ำนมอุดตัน เป็นภาวะที่อาจเกิดจากทารกดื่มนมไม่หมดเต้า หรืออาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้เซลล์เนื้อเยื่อที่ตายแล้วหลุดลอกไปอุดตันในท่อน้ำนม น้ำนมจึงคั่งในท่อน้ำนม ส่งผลให้เกิดการอักเสบของเต้านมตามมา นอกจากนี้ การอุดตันของท่อน้ำนมอาจส่งผลให้บริเวณที่น้ำนมคั่งเป็นแหล่งเจริญเติบโตของแบคทีเรียจนเสี่ยงต่อการติดเชื้อตามมาได้

โดยปกติแล้ว ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงมักพบการเกิดภาวะเต้านมอักเสบได้น้อย แต่อาจมีโอกาสเกิดเต้านมอักเสบมากขึ้นหากเป็นผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือมีปัจจัยต่อไปนี้ 

  • มีแผลบริเวณหัวนม อย่างผู้ที่เจาะหัวนม หรือมีโรคผิวหนังบางชนิด อย่างโรคผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema) 
  • มีประวัติการผ่าตัดเสริมหน้าอก
  • ชอบโกนหรือถอนขนบริเวณรอบ ๆ หัวนม
  • สวมใส่ชุดชั้นในหรืออุปกรณ์ที่รัดแน่นหน้าอกจนเกินไป
  • ผู้ที่ให้นมบุตรด้วยท่าที่ไม่เหมาะสม หรือให้นมทารกด้วยท่าให้นมแบบเดิมเป็นเวลานาน
  • ผู้ที่ร่างกายอ่อนเพลีย ขาดสารอาหาร หรือมีภาวะเครียด
  • ผู้ที่มีประวัติการเกิดโรคเต้านมอักเสบ
  • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอหรือป่วยเป็นโรคเรื้องรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคเอดส์ เป็นต้น 
  • สูบบุหรี่ โดยสารบางอย่างในบุหรี่อาจไปทำลายเนื้อเยื่อบริเวณหน้าอก

การวินิจฉัยเต้านมอักเสบ

ในการวินิจฉัยเต้านมอักเสบ แพทย์จะสอบถามอาการผิดปกติและประวัติของผู้ป่วย อย่างประวัติการใช้ยา หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรหรือไม่ รวมถึงการตรวจร่างกายเบื้องต้นก็สามารถให้การวินิจฉัยได้แล้ว แต่หากผู้ป่วยมีอาการไม่แน่ชัด แพทย์อาจตรวจด้วยวิธีอื่นตามความเหมาะสม เช่น

  • การเพาะเชื้อเพื่อหาชนิดของเชื้อแบคทีเรีย โดยแพทย์จะนำตัวอย่างน้ำนมไปตรวจในห้องปฏิบัติ จากนั้นจะนำผลที่ได้ไปพิจารณาเลือกยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งวิธีนี้จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อขั้นรุนแรงหรืออาการติดเชื้อของผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษา 
  • การตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรม (Mammogram) และการอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เพื่อดูความผิดปกติในบริเวณเต้านม บางกรณีอาจใช้เครื่องแมมโมแกรมร่วมกับการทำอัลตราซาวด์ เนื่องจากอาการของภาวะเต้านมอักเสบบางอาการอาจเป็นอาการแรกเริ่มของมะเร็งเต้านมบางชนิด 
  • การตัดตัวอย่างเนื้อเยื่อเต้านมไปตรวจ จะใช้ในกรณีที่สงสัยว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งเต้านม เนื่องจากมีอาการบางอย่างที่คล้ายคลึงกับเต้านมอักเสบ โดยอาจจะใช้ร่วมกับการตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรมและการอัลตราซาวด์

การรักษาเต้านมอักเสบ

โดยทั่วไป แพทย์มักรักษาผู้ป่วยเต้านมอักเสบด้วยการให้รับประทานยาปฏิชีวนะติดต่อกันประมาณ 10 วัน อาทิ ยาเซฟาเลกซิน (Cephalexin) ยาไดคลอกซาซิลลิน (Dicloxacillin) หรือยาชนิดอื่น ๆ ตามความเหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน โดยมักจะทำร่วมกับการระบายน้ำนม นอกจากนี้ แพทย์อาจให้ยาชนิดอื่นเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาอาการปวด มีไข้ หรือบวม เช่น ยาพาราเซตามอล หรือยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรให้นมต่อไป เนื่องจากการติดเชื้อเกิดที่เนื้อเยื่อบริเวณเต้านมจะไม่เป็นอันตรายต่อทารก อีกทั้งการให้นมบุตรจะช่วยระบายน้ำนมออกจากเต้าและทำให้อาการต่าง ๆ ดีขึ้น แต่หากพบฝีบริเวณเต้านมของผู้ป่วย แพทย์จะผ่าตัดหรือเจาะเพื่อระบายของเหลวออก และแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการให้นมบุตรก่อนชั่วคราว

นอกจากนี้ แพทย์จะแนะนำวิธีดูแลตนเองเพิ่มเติมเพื่อช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ของผู้ป่วย เช่น

  • หมั่นให้นมบุตรหรือปั๊มนมเสมอ ไม่ทิ้งช่วงให้น้ำนมค้างในเต้านมนานเกินไป
  • ให้ลูกดื่มนมให้หมดเต้า โดยผู้ป่วยอาจประคบอุ่นบริเวณเต้านมก่อนให้นมหรือปั๊มนมเพื่อช่วยให้น้ำนมระบายออกได้ง่ายขึ้น แต่ไม่ควรประคบเย็นก่อนให้นมเนื่องจากการประคบเย็นอาจทำให้น้ำนมไหลยากขึ้น
  • คลึงหรือนวดนมขณะให้นมบุตร โดยนวดจากบริเวณฐานเต้านมที่อักเสบไปยังบริเวณหัวนมเพื่อช่วยระบายน้ำนมในเต้า
  • ให้ลูกดื่มนมข้างที่เต้านมอักเสบก่อนเพื่อป้องกันน้ำนมค้างในเต้า
  • หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าหรือชุดชั้นในที่แน่นจนเกินไป
  • เปลี่ยนท่าให้นมหลาย ๆ ท่า
  • ดื่มน้ำบ่อย ๆ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เนื่องจากภาวะขาดน้ำหรือการขาดสารอาหารอาจส่งผลให้ปริมาณน้ำนมลดลงและอาการต่าง ๆ แย่ลง

ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางคนอาจมีโอกาสติดเชื้อซ้ำหลังการรักษา แพทย์จึงอาจต้องนัดตรวจเพิ่มเติมเพื่อติดตามอาการ

ภาวะแทรกซ้อนของเต้านมอักเสบ

ผู้ป่วยเต้านมอักเสบที่ไม่ได้รับการรักษาหรือมีสาเหตุมาจากการอุดตันในท่อน้ำนมอาจเสี่ยงต่อการเกิดฝี (Abscess) บริเวณเต้านม ซึ่งแพทย์อาจต้องรักษาด้วยการอัลตราซาวด์เพื่อดูตำแหน่งและความรุนแรงของอาการ จากนั้นจะเจาะหรือผ่าตัดเพื่อนำของเหลวออก

การป้องกันเต้านมอักเสบ

ภาวะเต้านมอักเสบป้องกันได้ยาก แต่อาจลดความเสี่ยงได้โดยการปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีการให้นมบุตรที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ รวมถึงอาจปฏิบัติตามวิธีต่อไปนี้ร่วมด้วย เช่น

  • ให้ลูกดื่มนมจนหมดเต้าเสมอ ไม่ปล่อยให้น้ำนมค้างเต้านาน ๆ โดยให้ลูกดื่มให้หมดทีละข้างหรืออาจใช้เครื่องปั๊มนมเพื่อช่วยระบายน้ำนม
  • เลือกท่าให้นมที่เหมาะสมเพื่อให้ลูกเข้าเต้าได้ดีขึ้น และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดแผลบริเวณหัวนม
  • หากเกิดแผลบริเวณหัวนม ควรป้องกันความชื้นและดูแลให้แผลแห้งเสมอ
  • ล้างมือบ่อย ๆ รักษาความสะอาดและสุขอนามัย โดยเฉพาะบริเวณหัวนมและสุขอนามัยของทารก
  • ดื่มน้ำบ่อย ๆ 
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่