ความหมาย เท้าเย็น (Cold Feet)
เท้าเย็น (Cold Feet) เป็นอาการที่พบได้ทั่วไป โดยอาการมักไม่ส่งผลอันตรายใด ๆ ต่อร่างกายและจะอยู่เพียงชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งสาเหตุหลักที่พบมักเป็นผลมาจากความเครียดหรือการปรับตัวของร่างกายเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่หนาวเย็น แต่ในบางกรณี อาการเท้าเย็นอาจเป็นสัญญาณจากโรคบางชนิดได้เช่นกัน
แม้ว่าอาการเท้าเย็นจะไม่ส่งผลอันตรายใด ๆ ต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แต่หากเกิดอาการเท้าเย็นบ่อย ๆ หรือมีโรคประจำตัวร่วมด้วย โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดและระบบประสาท ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง
อาการเท้าเย็น
โดยทั่วไปเท้าเย็นมักเป็นผลจากความเครียดหรือการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่หนาวเย็น แต่หากพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของโรคต่าง ๆ เช่น มือหรือเท้าเย็นแม้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิปกติ มือและเท้าอ่อนแรง เท้าชาหรือเจ็บ ไวต่อความเย็น รู้สึกเหมือนมีเข็มทิ่ม รู้สึกชาเมื่ออุณหภูมิร่างกายเริ่มกลับเป็นปกติหรือหายจากความเครียด ผิวหนังบริเวณเท้าเปลี่ยนสีเมื่อเกิดความเครียดหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่หนาวเย็น เจ็บนิ้วมือหรือนิ้วเท้าเป็นระยะเวลานาน รู้สึกเย็นเท้าแต่สัมผัสแล้วอุณหภูมิปกติ หายใจลำบาก ร่างกายอ่อนเพลีย มีไข้ น้ำหนักตัวเปลี่ยนผิดปกติ ปวดตามข้อต่าง ๆ หรือเกิดความผิดปกติบนผิวหนัง อย่างผื่นคันและผิวหนังเกาะตัวกันหนา
สาเหตุของเท้าเย็น
โดยส่วนใหญ่แล้วอาการเท้าเย็นมักเกิดจากกลไกการตอบสนองของร่างกายเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่หนาวเย็น โดยร่างกายจะส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะที่สำคัญ เช่น สมอง หัวใจ มากขึ้นเพื่อรักษาระดับอุณหภูมิให้อุ่นจึงส่งผลให้บริเวณอื่นๆ อย่างมือหรือเท้ามีเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ
นอกจากนี้ สาเหตุของเท้าเย็นอาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระบบไหลเวียนโลหิต อาการทางเส้นประสาท โรคหรือภาวะอื่น ๆ เช่น
- โรคโลหิตจาง (Anemia) เกิดจากการที่เซลล์เม็ดเลือดแดงในร่างกายมีจำนวนต่ำกว่าปกติ หรือทำงานได้น้อยกว่าปกติ ส่งผลให้ออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายไม่เพียงพอ รวมไปถึงบริเวณเท้าด้วยเช่นกัน
- โรคเบาหวาน (Diabetes) ผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอาจเกิดภาวะปลายประสาทอักเสบ (Peripheral Neuropathy) ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดเท้าเย็นได้ นอกจากนี้ ภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูงยังส่งผลให้เลือดไหลเวียนลำบากจากการอุดตันในหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดฝอย โดยเฉพาะบริเวณแขนและขา
- โรคเบอร์เกอร์ (Buerger’s Disease) เป็นโรคที่ส่งผลให้หลอดเลือดบริเวณมือและเท้าอักเสบและบวม จึงทำให้เลือดไหลเวียนลำบากหรืออาจเกิดลิ่มเลือดและติดเชื้อได้
- โรคเรเนาด์ (Raynaud Disease) เป็นโรคที่ทำให้หลอดเลือดหดตัวมากกว่าปกติเมื่อร่างกายอยู่ในสภาพแวดล้อมที่หนาวเย็นหรือเกิดความเครียด จึงส่งผลให้เลือดไหลเวียนลำบาก
- คอเลสเตอรอลสูง ส่งผลให้ระบบไหลเวียนเลือดมีปัญหาจากการอุดตันของไขมันและการอักเสบในหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) และหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ (Peripheral Arterial Disease)
- ภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism) เมื่อร่างกายมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์ลดลงจะส่งผลให้กระบวนการเมตาบอลิซึมหรือกระบวนการควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจและอุณหภูมิของร่างกายทำงานผิดปกติ
- ขาดวิตามินบี 12 อาจทำให้ร่างกายเกิดอาการทางระบบประสาท เช่น มือและเท้าเย็น ชา หรือรู้สึกเหมือนโดนเข็มทิ่มบริเวณมือและเท้า เป็นต้น
- พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การนั่งท่าเดิมนานเกินไปหรือการสูบบุหรี่
- ความเครียด โดยระบบไหลเวียนโลหิตจะไหลเวียนเลือดไปยังอวัยวะที่สำคัญของร่างกายมากขึ้นเมื่อร่างกายเกิดความเครียด ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงมือและเท้าไม่เพียงพอ
- โรคที่เกี่ยวข้องกับรูมาตอยด์ เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Lupus) โรคหนังแข็ง (Scleroderma) เป็นต้น
- ภาวะผิวหนังถูกทำลายจากความเย็นจัด (Frostbite)
- ภาวะเหงื่อออกมาก (Hyperhidrosis) การระเหยตัวของเหงื่อจะทำให้เกิดอาการเท้าเย็น โดยภาวะดังกล่าวมักเกิดจากความเครียด
การวินิจฉัยอาการเท้าเย็น
แพทย์จะถามอาการและประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยเพื่อหาสาเหตุการเกิดอาการเท้าเย็น พร้อมทั้งตรวจการตอบสนองและความเสียหายของเส้นประสาทเบื้องต้น โดยการกดไปที่บริเวณต่าง ๆ บนฝ่าเท้า จากนั้นแพทย์อาจตรวจตามความเป็นไปได้ของสาเหตุด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้
- การตรวจเลือด เพื่อวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีอาการของโรคโลหิตจางหรือเบาหวานหรือไม่ โดยการดูปริมาณและลักษณะเม็ดเลือดแดงในกรณีที่มีความเป็นไปได้ว่าผู้ป่วยมีภาวะโลหิตจาง และการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดในกรณีที่ผู้ป่วยอาจเป็นโรคเบาหวาน
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Elektrokardiogram หรือ Electrocardiogram) เพื่อตรวจหาความผิดปกติในการทำงานของหัวใจซึ่งอาจมีผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตในร่างกาย
- การตรวจสมรรถภาพหลอดเลือดแดง (Ankle–Brachial Index) โดยการวัดค่าความดันโลหิตบริเวณแขนและข้อเท้า จากนั้นนำค่าที่ได้มาคำนวนเพื่อหาความผิดปกติในหลอดเลือด
- การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อเพื่อตรวจหาความผิดปกติของเส้นประสาทบริเวณแขนและขา
- การใช้ภาพวินิจฉัย (Imaging Tests) เช่น เอ็มอาร์ไอ (MRI) หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computerized Tomography Scan: CT Scan) ที่บริเวณขาหรืออวัยวะที่สงสัยว่ามีความผิดปกติ เพื่อหาสาเหตุที่ส่งผลต่อความเสียหายที่เส้นประสาท หรือการอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เพื่อดูการไหลเวียนเลือดในหลอดเลือดแดง หากสงสัยว่าผู้ป่วยมีภาวะหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน
- การตัดตัวอย่างเส้นประสาท (Nerve Biopsy) ในบางกรณีแพทย์อาจเลือกตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อเส้นประสาทบริเวณข้อเท้าของร่างกายเพื่อตรวจหาความผิดปกติ
การรักษาอาการเท้าเย็น
โดยส่วนใหญ่แล้ว อาการเท้าเย็นที่ไม่ได้เกิดจากโรคหรือภาวะต่าง ๆ มักไม่ส่งผลอันตรายใด ๆ ต่อร่างกาย โดยอาจรักษาได้ด้วยการออกกำลังกายเพื่อกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต หรือรักษาร่างกายให้อุ่นเสมอ แต่หากอาการเท้าเย็นมีสาเหตุมาจากโรคหรือภาวะต่าง ๆ ที่ต้องได้รับการรักษา แพทย์จะเลือกวิธีการรักษาตามสาเหตุนั้น ๆ เช่น
- โรคเบาหวาน แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด หลีกเลี่ยงอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลสูง และหมั่นออกกำลังกาย
- โลหิตจาง แพทย์จะเลือกวิธีรักษาโลหิตจางในผู้ป่วยแต่ละคนต่างกัน เนื่องจากโลหิตจางสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ขาดธาตุเหล็ก ขาดกรดโฟลิค ขาดวิตามินบี 12 พันธุกรรมธาลัสซีเมีย และการตั้งครรภ์
- ภาวะขาดไทรอยด์ แพทย์อาจให้ยาเลโวไทรอกซิน (Levothyroxine) ชนิดรับประทานเพื่อรักษาระดับฮอร์โมนไทรอยด์ของผู้ป่วย
- ภาวะหลอดเลือดอุดตัน แพทย์อาจให้ยาไนเฟดิปีน (Nifedipine) ชนิดรับประทานเพื่อขยายหลอดเลือด หรืออาจทำการผ่าตัดหลอดเลือดหากรักษาด้วยยาไม่ได้ผล
- คอเลสเตอรอลสูง แพทย์จะแนะนำให้ลดระดับคอเลสเตอรอล เพื่อป้องกันการอุดตันและการอักเสบในหลอดเลือด
ภาวะแทรกซ้อนของอาการเท้าเย็น
โดยทั่วไป อาการเท้าเย็นที่เกิดจากความหนาวเย็นของสภาพแวดล้อมมักไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนใด ๆ แต่หากอาการเท้าเย็นเป็นสัญญาณของความผิดปกติทางระบบเส้นประสาทและไม่ได้รับการรักษา อาการจะเริ่มขยายไปที่บริเวณอื่นและมีความรุนแรงมากขึ้น เช่น บริเวณแขนและขาของผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดแสบปวดร้อน ไวต่อการสัมผัสบางอย่าง กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือสูญเสียความรู้สึก เป็นต้น
การป้องกันอาการเท้าเย็น
อาการเท้าเย็นสามารถป้องกันได้โดยวิธีดังต่อไปนี้
- รักษาอุณหภูมิของร่างกายให้อุ่นเสมอ โดยการสวมเสื้อผ้า ถุงมือ และถุงเท้าเมื่อต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่หนาวเย็น
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น เปลี่ยนอิริยาบถระหว่างวันอยู่บ่อย ๆ หลีกเลี่ยงความเครียด หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดื่มเครื่องดื่มอุ่น ๆ หลีกเลี่ยงนิโคตินและคาเฟอีนเพราะเป็นสารที่ทำให้เกิดภาวะเท้าเย็นได้ง่ายขึ้น
- เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุของอาการเท้าเย็น เช่น รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็ก และวิตามินบี 12 เพื่อป้องกันโรคโลหิตจาง และช่วยเรื่องการไหลเวียนของเลือด หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวานจัดเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดและป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน และเลือกรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลต่ำเพื่อป้องกันการเกิดภาวะอุดตันในหลอดเลือด