ความหมาย เบาจืด
เบาจืด (Diabetes Insipidus) คือโรคที่ร่างกายสูญเสียความสมดุลของน้ำ ซึ่งเกิดขึ้นได้น้อยในคนทั่วไป โดยมีผลมาจากความผิดปกติของฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก (Antidiuretic Hormone) ซึ่งก่อให้เกิดอาการกระหายน้ำอย่างรุนแรงแม้จะดื่มน้ำเข้าไปแล้วก็ตาม ส่งผลให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากผิดปกติ และปัสสาวะออกมามากกว่าที่ควรจะเป็น ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจถึงขั้นปัสสาวะมากถึงวันละ 20 ลิตรได้
โรคเบาจืดแบ่งออกเป็น 4 ชนิด ได้แก่
- โรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง (Cranial Diabetes Insipidus) เป็นชนิดของโรคเบาจืดที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งเกิดจากความเสียหายของต่อมใต้สมอง หรือสมองส่วนไฮโปทาลามัส มีหลายสาเหตุ เช่น ผลพวงจากการติดเชื้อที่สมอง การผ่าตัด เนื้องอกที่สมอง หรือการบาดเจ็บที่ศีรษะ จนทำให้สมองส่วนไฮโปทาลามัสไม่สามารถสร้างฮอร์โมนที่ควบคุมการปัสสาวะได้
- โรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของไต (Nephrogenic Diabetes Insipidus) เป็นโรคที่เกิดจากระบบการทำงานของไตไม่สามารถตอบสนองต่อฮอร์โมนแอนติไดยูเรติกได้ โดยเป็นผลจากความเสียหายของไต หรือการใช้ยาบางชนิด เช่น ลิเทียม ซึ่งเป็นยาที่ใช้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิต เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีโรคเบาจืดอีก 2 ชนิดที่พบได้น้อย ได้แก่ โรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของกลไกควบคุมการกระหายน้ำ (Dipsogenic Diabetes Insipidus) ซึ่งเกิดจากความผิดปกตของกลไกการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการกระหายน้ำภายในสมอง และโรคเบาจืดที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes Insipidus)
เบาจืดรักษาให้หายได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค ซึ่งยิ่งรักษาเร็วก็จะช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนได้เร็วมากขึ้นเท่านั้น
อาการเบาจืด
อาการที่เห็นได้ชัดเจนมากที่สุดของผู้ป่วยโรคเบาจืด มี 2 อาการหลัก ๆ ได้แก่
กระหายน้ำบ่อยผิดปกติ ผู้ป่วยจะกระหายน้ำ และรู้สึกเหมือนกระหายน้ำตลอดเวลาแม้ว่าจะดื่มน้ำเข้าไปในปริมาณที่มากแล้วก็ตาม
ปัสสาวะบ่อยและมากกว่าปกติ โรคเบาจืดจะทำให้ผู้ป่วยปัสสาวะบ่อยขึ้น บางรายอาจปัสสาวะทุก ๆ 15 - 20 นาที และปัสสาวะที่ออกมามีสีอ่อน มีลักษณะเจือจาง นอกจากนี้ ปริมาณของปัสสาวะที่ออกมาจะมากกว่าคนปกติ ซึ่งปกติแล้วคนทั่วไปจะปัสสาวะไม่เกินวันละ 3 ลิตร แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยโรคเบาจืดจะปัสสาวะออกมามากกว่าวันละ 3 ลิตร ในรายที่อาการรุนแรงอาจปัสสาวะได้ถึงวันละ 20 ลิตร นอกจากนี้ ปัญหาปัสสาวะมากยังส่งผลต่อการนอนหลับ อาจทำให้นอนหลับได้ไม่สนิท จนทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย และมีปัญหาเรื่องสมาธิ อีกทั้งยังอาจทำให้ผู้ป่วยเด็กเกิดปัญหาปัสสาวะรดที่นอนได้อีกด้วย
ทั้งนี้ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นเด็กเล็กที่ยังพูดไม่ได้ อาการที่ผู้ปกครองจะสังเกตเห็นได้ ได้แก่
- ร้องไห้ผิดปกติ
- หงุดหงิดง่าย
- มีอัตราการเติบโตช้ากว่าที่ควรจะเป็น
- ร่างกายมีอุณหภูมิสูง
- น้ำหนักลดผิดปกติ
หากเป็นเด็กโต ก็อาจปัสสาวะรดที่นอน ความอยากอาหารลดลง และรู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา ซึ่งผู้ปกครองจะต้องสังเกตอย่างใกล้ชิดเพื่อหาความผิดปกติ เพราะหากเด็กปัสสาวะมากผิดปกติ ควรรีบพาไปพบแพทย์ แต่ถ้าเด็กมีอาการแค่เพียงปัสสาวะรดที่นอน ควรสังเกตอาการร่วมด้วยเพราะอาการปัสสาวะรดที่นอนอาจไม่เกี่ยวข้องกับเบาจืดโดยตรง
สาเหตุของเบาจืด
โรคเบาจืดแต่ละชนิดมีสาเหตุที่แตกต่างกันไป แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก (Antidiuretic Hormone: ADH) ซึ่งมีหน้าที่ช่วยให้ไตจัดการกับสมดุลน้ำในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากฮอร์โมนชนิดนี้ลดต่ำลงจะทำให้ร่างกายขาดน้ำ เนื่องจากไตขับน้ำที่บริโภคเข้าไปออกมาเป็นปัสสาวะมากผิดปกติ ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้ระดับฮอร์โมนนี้ไม่เพียงพอต่อร่างกายได้แก่
โรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง (Central Diabetes Insipidus) เกิดจากความเสียหายของต่อมใต้สมอง หรือสมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) โดยความเสียหายนี้จะส่งผลให้สมองไม่สามารถผลิต สะสม และหลั่งฮอร์โมนแอนติไดยูเรติกได้เป็นปกติ และหากฮอร์โมนชนิดนี้มีไม่เพียงพอต่อความต้องการก็จะทำให้ของเหลวจำนวนมากถูกกำจัดออกมาทางปัสสาวะ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ต่อมใต้สมองและสมองส่วนดังกล่าวเกิดความเสียหาย ได้แก่
- การบาดเจ็บที่ศีรษะ
- โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- โรคบางชนิดที่ส่งผลให้สมองบวม
- การผ่าตัด
- เนื้องอกที่สมองส่วนไฮโปทาลามัส หรือต่อมใต้สมอง
- การสูญเสียเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงต่อมใต้สมอง
- ความผิดปกติทางพันธุกรรมซึ่งเกิดขึ้นได้น้อย
โรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของไต (Nephrogenic Diabetes Insipidus) เกิดจากความผิดปกติของไตที่ส่งผลให้ไตไม่สามารถตอบสนองต่อฮอร์โมนแอนติไดยูเรติกได้ ความเสียหายของไตที่เกิดอาจเกิดขึ้นได้จาก
- การใช้ยา เช่น ลิเทียม (lithium) เตตร้าไซคลิน หรือยาต้านไวรัสบางชนิด
- ระดับแคลเซียมในร่างกายสูงมากเกินไป
- โพแทสเซียมในร่างกายอยู่ในระดับต่ำ
- โรคไตเรื้อรัง
- ทางเดินปัสสาวะอุดตัน
นอกจากนี้ โรคเบาจืดอีก 2 ชนิดที่พบได้น้อย อาจมีสาเหตุที่แตกต่างกัน โรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของกลไกควบคุมการกระหายน้ำ เกิดจากการสูญเสียการทำงานของระบบควบคุมความกระหายน้ำในร่างกายที่อยู่บริเวณสมองส่วนไฮโปทาลามัส และอาจเกิดขึ้นจากปัญหาสุขภาพจิต หรือการใช้ยาได้ ส่วนโรคเบาจืดที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์มีสาเหตุเกิดจากเอ็นไซม์บางตัวที่ถูกสร้างขึ้นจากรกเข้าไปทำให้ไตตอบสนองต่อฮอร์โมนแอนติไดยูเรติกลดลง จนก่อให้เกิดโรคเบาจืดได้
การวินิจฉัยโรคเบาจืด
ผู้ป่วยสามารถสังเกตอาการได้เองในเบื้องต้น หากเริ่มมีอาการกระหายน้ำมากผิดปกติ แม้จะดื่มน้ำไปแล้วก็ตาม ร่วมกับอาการปัสสาวะบ่อยและมากจนผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
แพทย์จะเริ่มต้นจากการซักประวัติของผู้ป่วยถึงการรักษาที่ผ่านมา อาการที่กำลังเป็นอยู่ว่ามีอาการอย่างไรบ้าง และเกิดขึ้นมานานเท่าไรแล้ว และในระหว่างการซักประวัติ หากผู้ป่วยเคยใช้ยาหรือกำลังใช้ยาเพื่อการรักษาอาการบางอย่างควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อนำไปประกอบการวินิจฉัยโรค จากนั้นหากแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยอาจมีอาการของโรคเบาจืด แพทย์จะสั่งตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่าง ๆ ได้แก่
- การตรวจปัสสาวะ แพทย์จะนำเอาตัวอย่างปัสสาวะไปตรวจเพื่อความเข้มข้นของปัสสาวะ ซึ่งหากผู้ป่วยเป็นโรคเบาจืด ปัสสาวะจะประกอบไปด้วยน้ำมากกว่าของเสีย
- การตรวจด้วยการงดน้ำ แพทย์จะตรวจโดยให้ผู้ป่วยงดดื่มน้ำหรือของเหลวอื่นหลายชั่วโมง เพื่อดูระดับของการตอบสนองของร่างกาย โดยระหว่างการตรวจ แพทย์จะวัดปริมาณปัสสาวะของผู้ป่วย และอาจเจาะเลือดเพื่อตรวจวัดระดับฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก (Antidiuretic Hormone: ADH) นอกจากนี้ แพทย์ยังอาจนำตัวอย่างเลือดและปัสสาวะที่ได้ไปตรวจหาปริมาณน้ำตาลและเกลือแร่ต่าง ๆ ซึ่งหากผู้ป่วยเป็นโรคเบาจืด ปริมาณปัสสาวะจะมาก ปัสสาวะจะเจือจาง แต่ถ้าหากภายในเลือดและปัสสาวะมีน้ำตาลสูงผู้ป่วยก็มีความเป็นไปได้สูงว่าจะป่วยด้วยโรคเบาหวานมากกว่าโรคเบาจืด
- การทดสอบด้วยฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก (Vasopressin Test) หลังจากตรวจด้วยการงดน้ำแล้ว แพทย์อาจให้ฮอร์โมนแอนติไดยูเรติกในปริมาณเล็กน้อย โดยมักฉีดเข้าทางหลอดเลือด ซึ่งวิธีนี้ทำให้แพทย์เห็นการตอบสนองที่ร่างกายมีต่อฮอร์โมนชนิดนี้ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ระบุชนิดของโรคเบาจืดได้ดียิ่งขึ้น
- การตรวจด้วยวิธีการสแกนเอ็มอาร์ไอ (MRI Scan) เป็นวิธีการตรวจวินิจฉัยในกรณีที่แพทย์สันนิษฐานว่าผู้ป่วยอาจเป็นโรคเบาจืดชนิดที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง แพทย์จะเห็นความผิดปกติของสมองส่วนไฮโปทาลามัส หรือต่อมใต้สมองได้
การรักษาเบาจืด
วิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเบาจืด โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดปริมาณปัสสาวะที่ผู้ป่วยปัสสาวะในแต่ละวัน ทั้งนี้ผู้ป่วยจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างภาวะขาดน้ำ วิธีฏิบัติคือ พกน้ำดื่มติดตัวอยู่เสมอ และหมั่นจิบน้ำบ่อย ๆ ในปริมาณที่แพทย์กำหนดเพื่อควบคุมปริมาณปัสสาวะ และไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ
นอกจากนี้ผู้ป่วยควรพกหลักฐานที่แสดงว่าผู้ป่วยมีอาการป่วยของโรคเบาจืด เนื่องจากภาวะขาดน้ำอาจจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเป็นอันตรายได้ ขณะที่การรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยให้อาการทุเลาลง หรือยับยั้งไม่ให้อาการยิ่งรุนแรงมากขึ้น และการรักษาที่มักใช้มีดังต่อไปนี้
การรักษาโรคเบาจืดที่เกิดจากจากความผิดปกติของสมอง เนื่องจากโรคเบาจืดชนิดนี้เกิดจากระดับฮอร์โมนแอนติไดยูเรติกไม่เพียงพอ ดังนั้นการรักษาจึงมุ่งเน้นไปที่การทดแทนปริมาณฮอร์โมนที่ขาดไป ด้วยฮอร์โมนสังเคราะห์ที่มีชื่อว่าเดสโมเพรสซิน (Desmopressin) แต่ถ้าหากอาการไม่รุนแรงมากนัก ผู้ป่วยอาจไม่จำเป็นต้องรักษา และเพิ่มปริมาณการดื่มน้ำให้มากขึ้นแทน โดยในการรักษาแพทย์อาจให้ผู้ป่วยใช้ยาชนิดพ่น ยารับประทาน หรือยาฉีดในการรักษาขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้ป่วย ทว่าหากผู้ป่วยมีความผิดปกติของต่อมใต้สมอง หรือสมองส่วนไฮโปทาลามัส เช่น มีเนื้องอก แพทย์จะต้องรักษาความผิดปกติเหล่านั้นให้หายก่อน
ทั้งนี้ในการใช้ยาเดสโมเพรสซินเป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัยและมีผลข้างเคียงน้อย แต่ก็ยังอาจพบอาการบางอย่างจากการใช้ยาได้ เช่น
- ปวดศีรษะ
- ปวดท้อง
- คัดจมูก
- เลือดกำเดาไหล
ทว่าหากผู้ป่วยใช้ยาเกินขนาด หรือดื่มน้ำขณะรับประทานยามากเกินไป ก็อาจทำให้ร่างกายได้รับน้ำมากเกินไปจนเป็นเหตุให้เกิดอาการดังต่อไปนี้
- ปวดศีรษะ
- คลื่นไส้
- มีอาการท้องผูก
และยังอาจทำให้เกิดภาวะโซเดียมในร่างกายต่ำ (Hyponatraemia) ซึ่งมีอาการที่สังเกตได้คือ ปวดศีรษะอย่างรุนแรงติดต่อกันเป็นเวลานาน มีอาการมึนงง คลื่นไส้ อาเจียน ผู้ป่วยจะต้องสังเกตตนเองอย่างใกล้ชิด และหากมีความผิดปกติเกิดขึ้นผู้ป่วยควรหยุดยาและรีบแจ้งแพทย์โดยทันที
การรักษาโรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของไต ในการรักษาผู้ป่วยที่มีโรคเบาจืดชนิดนี้ หากเกิดขึ้นจากการใช้ยา การหยุดใช้ยาที่เป็นสาเหตุอาจทำให้อาการทุเลาลงได้ แต่ก็ไม่ควรหยุดยาเองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ อีกทั้งหากอาการเบาจืดไม่รุนแรง ก็อาจไม่ต้องทำการรักษา แต่แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตแทน เช่น รับประทานอาหารที่มีเกลือต่ำ เพื่อช่วยให้ปริมาณปัสสาวะลดลง และให้ผู้ป่วยดื่มน้ำอย่างเพียงพอเพื่อป้องกันภาวะขนาดน้ำ นอกจากนี้แพทย์อาจสั่งจ่ายยาไฮโดรคลอโรไทเอไซด์ (Hydrochlorothiazide) ซึ่งเป็นยาขับปัสสาวะ แต่มีฤทธิ์ในการลดการกรองเลือดของไตลงด้วย ซึ่งจะทำให้ปัสสาวะลดน้อยลงเมื่อไช้ยาไปสักระยะ หรือ NSAIDs อย่าง ไอบูโพรเฟน เพื่อช่วยลดปริมาณปัสสาวะ และอาจใช้ยาอื่นร่วมด้วย วิธีนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น
การรักษาโรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของกลไกควบคุมการกระหายน้ำ และโรคเบาจืดที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ การรักษาจะมุ่งเน้นไปที่ลดปริมาณของเหลวที่บริโภคเข้าไป และอาจสั่งใช้ฮอร์โมนแอนติไดยูเรติกสังเคราะห์ เพื่อช่วยให้ปริมาณปัสสาวะลดลงด้วย ทั้งนี้หากผู้ป่วยมีอาการทางจิตร่วมด้วย การรักษาอาการทางจิตก็สามารถช่วยให้โรคเบาจืดทุเลาลงได้เช่นกัน และหากการใช้ยาไม่สามารถช่วยได้ก็อาจต้องใช้การรักษาด้วยวิธีอื่นแทน เพื่อปริมาณลดปัสสาวะลง
ภาวะแทรกซ้อนของเบาจืด
โรคเบาจืดหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจนำไปสู่อาการที่ส่งผลอันตรายต่อร่างกายของผู้ป่วยได้ โดยภาวะแทรกซ้อนที่มักพบในผู้ป่วยโรคเบาจืด ได้แก่
ภาวะขาดน้ำ เป็นอาการที่มักพบได้ในผู้ป่วยเบาจืด เนื่องจากความผิดปกติของโรคอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับน้ำไม่เพียงพอแม้จะดื่มน้ำเป็นจำนวนมากแล้วก็ตาม ซึ่งหากรุนแรงมาก ๆ ก็เป็นอันตราย โดยในเบื้องต้นสามารถสังเกตอาการของภาวะขาดน้ำได้จากอาการดังต่อไปนี้
- หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ
- ปวดศีรษะ
- ปากและริมฝีปากแห้ง
- ตาลึกโบ๋
- มีอาการมึนงง และหงุดหงิดง่าย
ภาวะขาดน้ำจากโรคเบาจืดสามารถรักษาได้ด้วยการปรับสมดุลของน้ำในร่างกาย แต่ถ้าหากอาการรุนแรงมากๆ ผู้ป่วยอาจต้องได้รับสารน้ำผ่านทางหลอดเลือดดำ เพื่อช่วยให้อาการดีขึ้นโดยเร็ว
ภาวะเกลือแร่ในร่างกายเสียสมดุล นอกจากภาวะขาดน้ำแล้ว การปัสสาวะบ่อย ๆ ซึ่งเป็นอาการของโรคเบาจืดยังอาจนำมาสู่การสูญเสียเกลือแร่และแร่ธาตุต่าง ๆ ในร่างกายที่ทำให้สมดุลของเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ กระทบต่อระบบการทำงานของร่างกาย เช่น ระบบกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ยังอาจส่งผลให้เกิดอาการดังต่อไปนี้ได้อีกด้วย
- ปวดศีรษะ
- อ่อนเพลีย หรือรู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา
- มึนงง หงุดหงิดง่าย
- ปวดกล้ามเนื้อ
- ความอยากอาหารลดลง
- คลื่นไส้
- กล้ามเนื้อเป็นตะคริว
อาการนี้เป็นอาการที่ต้องได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วที่สุด เนื่องจากหากระดับเกลือแร่ในร่างกายต่ำมาก ๆ อาจทำให้ระบบการทำงานของร่างกายผิดปกติอย่างรุนแรง และทำให้เสียชีวิตได้
การป้องกันโรคเบาจืด
เนื่องจากโรคเบาจืดเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากฮอร์โมนภายในร่างกาย จึงไม่สามารถป้องกันได้ร้อยเปอร์เซนต์ แต่ก็สามารถลดความเสี่ยงโรคเบาจืดได้ ด้วยการป้องกันสาเหตุที่อาจส่งผลให้สมองทำงานผิดปกติและกระทบต่อการผลิตฮอร์โมนที่เกี่ยวข้อง เช่น การหลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือนที่ศีรษะ และหลีกเลี่ยงการใช้ยาโดยไม่จำเป็น หรือรับประทานยาโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ นอกจากนี้หากพบว่ามีอาการผิดปกติต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับศีรษะและสมอง หรือมีอาการอื่น ๆ เช่น ปัสสาวะบ่อยและมากผิดปกติ หรือกระหายน้ำตลอดเวลาก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจอย่างละเอียด หากพบว่ามีอาการที่อาจส่งผลให้เกิดโรคเบาจืดจะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที