เบาหวานขณะตั้งครรภ์

ความหมาย เบาหวานขณะตั้งครรภ์

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ เป็นภาวะที่หญิงตั้งครรภ์มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง เนื่องจากร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอ สามารถเกิดขึ้นได้ทุกระยะการตั้งครรภ์ แต่โดยทั่วไปมักเกิดขึ้นในช่วงเวลาครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพมารดาและทารกในครรภ์ รวมทั้งอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้

Gestational Diabetes

อย่างไรก็ตาม การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกาย และการใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์จะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และลดภาวะเสี่ยงต่าง ๆ ได้ ซึ่งโดยปกติแล้วระดับน้ำตาลในเลือดจะลดลงจนกลับสู่ภาวะปกติอีกครั้งหลังคลอด แต่หากผู้ป่วยเคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อาจทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ด้วย

อาการของเบาหวานขณะตั้งครรภ์

เบาหวานขณะตั้งครรภ์มักเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ แต่บางรายอาจเผชิญภาวะนี้ในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ โดยภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์มักไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ ส่วนใหญ่แพทย์จะตรวจพบภาวะดังกล่าวได้จากการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด แต่หญิงตั้งครรภ์บางรายอาจมีอาการเบาหวานเริ่มต้น เช่น กระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ ปากแห้ง และรู้สึกเหนื่อยหากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งบางอาการค่อนข้างคล้ายคลึงกับอาการของคนตั้งครรภ์ ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์หากมีข้อสงสัยหรือกังวลเกี่ยวกับอาการที่เผชิญอยู่

สาเหตุของเบาหวานขณะตั้งครรภ์
เบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในระหว่างที่ตั้งครรภ์ ทำให้หญิงตั้งครรภ์บางรายเกิดภาวะร่างกายต่อต้านอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญที่ผลิตขึ้นจากเซลล์ในตับอ่อนและทำให้ร่างกายเผาผลาญกลูโคสเป็นพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากร่างกายมีระดับอินซูลินต่ำหรือร่างกายดื้อต่ออินซูลิน จะส่งผลให้ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ

นอกจากนี้ ปัจจัยอื่น ๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ได้แก่

  • น้ำหนักเกินมาตรฐาน ผู้ที่มีปัญหาน้ำหนักเกิน โดยเฉพาะผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) อยู่ที่ 30 ขึ้นไป
  • เคยคลอดทารกน้ำหนักมาก หญิงที่เคยคลอดบุตรที่มีน้ำหนักแรกคลอดมากกว่า 4 กิโลกรัม เสี่ยงเผชิญภาวะนี้
  • ชาติพันธ์ุ ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์มักพบในชาวเอเชีย ลาตินอเมริกัน แอฟริกัน และอเมริกันอินเดียนมากกว่าชาติพันธ์ุอื่น ๆ
  • ปัญหาสุขภาพ ผู้ที่เคยป่วยหรือมีญาติใกล้ชิดป่วยเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2 รวมทั้งเคยมีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์มาก่อนจะยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น

การวินิจฉัยเบาหวานขณะตั้งครรภ์

แพทย์จะตรวจพบภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้จากการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด โดยในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ แพทย์มักตรวจประเมินความเสี่ยงในการเกิดเบาหวานด้วยวิธีต่อไปนี้  

  • ตรวจคัดกรอง แพทย์จะสอบถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยและของบุคคลในครอบครัว พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน และวัดค่าดัชนีมวลกายว่ามากกว่า 30 หรือไม่ เพื่อคัดกรองความผิดปกติและประเมินความเสี่ยงของการเกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
  • ทดสอบความทนทานต่อน้ำตาล กรณีที่แพทย์ตรวจพบว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์สูง แพทย์อาจให้ผู้ป่วยทดสอบความทนทานต่อน้ำตาล โดยแพทย์จะตรวจเลือดเพื่อดูระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง จากนั้นให้ผู้ป่วยดื่มสารละลายกลูโคสแล้วตรวจเลือดซ้ำอีก 2-3 ครั้งใน 2 ชั่วโมง เพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือดว่าอยู่ในระดับปกติหรือไม่

สำหรับหญิงตั้งครรภ์รายที่มีความเสี่ยงไม่สูงมาก แพทย์จะตรวจวินิจฉัยภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์อีกครั้งในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 โดยเฉพาะช่วงอายุครรภ์ระหว่าง 24-28 สัปดาห์ หากตรวจพบว่าเป็นเบาหวานอาจจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจจากแพทย์บ่อยครั้งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ โดยแพทย์จะตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดและอาจให้ผู้ป่วยเฝ้าระวังควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในแต่ละวันร่วมด้วย  

การรักษาเบาหวานขณะตั้งครรภ์

ผู้ป่วยเบาหวานขณะตั้งครรภ์จำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อสุขภาพของตนและทารกในครรภ์ และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งขณะตั้งครรภ์และขณะคลอด

โดยแนวทางในการรักษาภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ได้แก่

  • ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด แพทย์อาจให้ผู้ป่วยตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด 4-5 ครั้ง/วัน ในช่วงเวลาก่อนรับประทานอาหารเช้าและหลังมื้ออาหารทุกมื้อ เพื่อตรวจดูว่าระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ โดยเจาะเลือดที่ปลายนิ้วแล้วหยดเลือดลงบนแถบทดสอบ จากนั้นอ่านค่าด้วยเครื่องวัดระดับน้ำตาล ซึ่งจะแสดงระดับน้ำตาลในเลือดที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ผู้ป่วยควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารด้วยการบริโภคผัก ผลไม้ และธัญพืช เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เนื่องจากเป็นอาหารที่มีสารอาหารและเส้นใยสูง แต่มีน้ำตาลน้อยและมีแคลอรี่ต่ำ นอกจากนี้ ควรจำกัดปริมาณการบริโภคอาหารจำพวกแป้ง และหลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยมีน้ำตาลในเลือดสูงและมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยอาจปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการเพื่อวางแผนและกำหนดเมนูอาหารในแต่ละมื้อของวัน
  • ออกกำลังกาย การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ เพราะเป็นการกระตุ้นน้ำตาลกลูโคสในเลือดให้เคลื่อนเข้าสู่เซลล์เพื่อผลิตเป็นพลังงาน และยังช่วยลดภาวะดื้อต่ออินซูลินด้วย นอกจากนี้ การออกกำลังกายที่ถูกวิธีอาจช่วยบรรเทาความเจ็บปวดจากการตั้งครรภ์ได้ เช่น อาการปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ ตัวบวม ท้องผูก และนอนไม่หลับ เป็นต้น แต่ผู้ป่วยเบาหวานขณะตั้งครรภ์ควรออกกำลังกายอย่างเหมาะสมหลังจากได้รับอนุญาตจากแพทย์ก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ
  • ใช้ยารักษา หากระดับน้ำตาลในเลือดยังคงสูงอยู่หลังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและออกกำลังกายมาระยะหนึ่งแล้ว แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาฉีดอินซูลิน เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ
  • รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ แพทย์อาจตรวจสุขภาพของทารกในครรภ์มากเป็นพิเศษด้วยการอัลตราซาวด์ และอาจตรวจเพิ่มเติมเพื่อดูพัฒนาการของทารกในครรภ์ว่ามีการเจริญเติบโตตามปกติหรือไม่ กรณีที่ผู้ป่วยเกิดภาวะคลอดช้ากว่ากำหนด แพทย์อาจวางแผนให้ผู้ป่วยเจ็บครรภ์คลอดเร็วขึ้น เนื่องจากการคลอดช้ากว่ากำหนดอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อทั้งมารดาและทารกได้

ภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานขณะตั้งครรภ์

ผู้ที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ส่วนใหญ่จะคลอดบุตรที่มีสุขภาพแข็งแรง อย่างไรก็ตาม หากได้รับการดูแลรักษาที่ไม่เหมาะสมในระหว่างตั้งครรภ์ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพมารดาและทารกในครรภ์ได้ ดังนี้

ผลกระทบต่อทารกในครรภ์

  • มีน้ำหนักตัวมาก ระดับน้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือดที่สูงมากของหญิงตั้งครรภ์อาจขัดขวางการทำงานของตับอ่อน โดยจะกระตุ้นให้ตับอ่อนของทารกผลิตอินซูลินเพิ่มมากขึ้น เป็นสาเหตุให้ทารกมีขนาดตัวใหญ่กว่าปกติ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการคลอด หากเกิดภาวะดังกล่าว แพทย์อาจประเมินให้ทำการผ่าคลอดเพื่อป้องกันการฉีกขาดของช่องคลอด
  • คลอดก่อนกำหนด เด็กอาจคลอดในช่วงก่อนสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์ และอาจเผชิญภาวะหายใจลำบาก ซึ่งอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจจนกว่าปอดของทารกจะสมบูรณ์เต็มที่ แต่ทารกที่เกิดจากแม่ซึ่งป่วยเป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ก็อาจเผชิญภาวะหายใจลำบากได้เช่นเดียวกัน แม้จะไม่ได้คลอดก่อนกำหนดก็ตาม
  • ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ทารกแรกเกิดบางรายอาจเผชิญภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เนื่องจากร่างกายผลิตอินซูลินออกมามากเกินไป และอาจทำให้ทารกมีอาการชักได้ อย่างไรก็ตาม การให้นมบุตรและการฉีดกลูโคสเข้าทางหลอดเลือดดำสามารถปรับระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้
  • ตัวเหลือง ระดับน้ำตาลในเลือดที่ต่ำอาจส่งผลให้ทารกเกิดภาวะตัวเหลืองหลังคลอด ซึ่งอาจทำให้เด็กต้องเข้ารับการรักษาต่อในโรงพยาบาล

ผลกระทบต่อมารดา

  • ภาวะน้ำคร่ำมาก ปริมาณน้ำคร่ำในมดลูกที่มากเกินไปอาจก่อให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด และอาจเกิดปัญหาอื่น ๆ ขึ้นในระหว่างคลอดได้
  • ครรภ์เป็นพิษ ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งอาจเกิดอันตรายร้ายแรงต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์
  • เบาหวานหลังคลอด ผู้ที่เคยเผชิญภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์มีโอกาสเป็นเบาหวานอีกครั้งเมื่อตั้งครรภ์ลูกคนต่อไป และอาจป่วยด้วยโรคเบาหวานประเภทที่ 2 หลังคลอดได้ ซึ่งการดูแลรักษาสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะดังกล่าว

การป้องกันเบาหวานขณะตั้งครรภ์

ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจไม่สามารถป้องกันได้เสมอไป อย่างไรก็ตาม แนวทางต่อไปนี้อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้  

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีเส้นใยสูง แต่มีไขมัน น้ำตาล และแคลอรี่ต่ำ เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืช แต่ควรรับประทานอาหารให้หลากหลายในปริมาณที่เหมาะสมเสมอ เพื่อให้ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทั้งก่อนตั้งครรภ์และขณะตั้งครรภ์ โดยเลือกวิธีออกกำลังกายที่ใช้แรงระดับปานกลาง เช่น เดิน ปั่นจักรยาน และว่ายน้ำอย่างน้อยวันละ 30 นาที เพื่อช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมก่อนเตรียมตัวตั้งครรภ์ และควบคุมน้ำหนักไม่ให้เพิ่มขึ้นมากเกินไปในระหว่างตั้งครรภ์
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาที่อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน เช่น ยาเพรดนิโซน เป็นต้น