เพอร์เมทริน (Permethrin)
Permethrin (เพอร์เมทริน) เป็นยากำจัดปรสิตชนิดหนึ่งที่ใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคหิด (Scabies) โรคเหา (Head Lice) โรคโลน (Pubic Lice) หรือโรคอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
เกี่ยวกับยา Permethrin
กลุ่มยา | ยาต้านปรสิตชนิดใช้ภายนอก (Topical Antiparasites) |
ประเภทยา | ยาที่หาซื้อได้เอง ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษาโรคหิด โรคเหา และโรคโลน |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็กอายุ 2 เดือนขึ้นไป ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ |
รูปแบบของยา | ยาทาภายนอกชนิดครีมและโลชั่น |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร | Category B จากการศึกษาในสัตว์ ไม่พบความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรืออาจพบผลไม่พึงประสงค์ในสัตว์ แต่ยังไม่พบความเสี่ยงในมนุษย์เมื่อใช้ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ รวมทั้งไม่มีหลักฐานทางการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า มีความเสี่ยงเมื่อใช้ในช่วงหลังเดือนที่สามเป็นต้นไป ดังนั้น ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา และผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการให้นม เนื่องจากยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสารจากตัวยาสามารถปนไปกับน้ำนมได้หรือไม่ |
คำเตือนในการใช้ยา Permethrin
เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ใช้ยาควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทุกครั้งหากมีประวัติแพ้ยา และอาการแพ้ต่าง ๆ โดยเฉพาะประวัติแพ้ยา Permethrin และพืชในตระกูลเบญจมาศ รวมถึงหากกำลังใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร วิตามิน หรือยาทาผิวหนังอื่น ๆ ร่วมด้วย
- แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนใช้ยา Permethrin หากมีประวัติป่วยเป็นโรคหืด (Asthma) ผิวหนังติดเชื้อ หรือโรคประจำตัวอื่น ๆ
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนใช้ยา Permethrin และผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรควรงดให้นมระหว่างใช้ยานี้ เนื่องจากทางการแพทย์ยังไม่ทราบว่าสารจากตัวยาสามารถปนไปกับน้ำนมได้หรือไม่
- ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ เนื่องจากเด็กและผู้สูงอายุอาจตอบสนองต่อยาได้ไวและเกิดอาการข้างเคียงได้ง่าย
- ไม่ควรเกาศีรษะและผิวหนังอย่างรุนแรงหรือบ่อย ๆ ในระหว่างการใช้ยา เพราะอาจเกิดบาดแผลจนเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรียได้
- ห้ามใช้ยานี้บนผิวหนังบริเวณที่แตกหรือติดเชื้อ
- ห้ามใช้ยานี้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 เดือน
- หากใช้ยานี้แล้วผิวหนังเกิดอาการแดงหรือเป็นหนอง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- ควรใช้ยานี้อย่างระมัดระวัง หากยาเข้าตาหรือปากให้รีบล้างด้วยน้ำสะอาดทันที และแจ้งให้แพทย์ทราบหากพบอาการผิดปกติ
ปริมาณการใช้ยา Permethrin
ปริมาณการใช้ยา Permethrin จะขึ้นอยู่กับโรค ช่วงอายุของผู้ป่วย และดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้
โรคเหา
ตัวอย่างการใช้ยา Permethrin เพื่อรักษาโรคเหา
ผู้ใหญ่
ใช้ยา Permethrin ชนิดครีมที่ล้างออกได้หรือโลชั่นแชมพู ความเข้มข้น 1% โดยก่อนใช้ยาให้สระผมด้วยแชมพูสูตรอ่อนโยนและเช็ดผมให้หมาด จากนั้นชโลมยาให้ทั่วเส้นผม หนังศีรษะ โดยเฉพาะบริเวณหลังใบหูและต้นคอ ทิ้งไว้ 10 นาที จากนั้นล้างออกด้วยน้ำสะอาด โดยอาจใช้หวีเสนียดหรือหวีซี่ถี่สางผมเพื่อขจัดไข่เหาร่วมด้วย ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรใช้ยาซ้ำอีกครั้งหลังจากใช้ยาครั้งแรกประมาณ 7–10 วัน หากยังพบเหาหรือไข่เหาอยู่
โรคหิด
ตัวอย่างการใช้ยา Permethrin เพื่อรักษาโรคหิด
ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ
ทายา Permethrin ชนิดครีม ความเข้มข้น 5% ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 30 กรัม หรือยา Permethrin ชนิดโลชั่น ความเข้มข้น 5% ปริมาณ ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 50 มิลลิลิตร ทาบาง ๆ ให้ทั่วร่างกายตั้งแต่คอถึงปลายเท้าและฝ่าเท้า ยกเว้นบริเวณใบหน้า (หากแพทย์ไม่ได้ให้ทาใบหน้าด้วย) จากนั้นทิ้งไว้ 8–14 ชั่วโมงก่อนล้างออก
ผู้ป่วยควรทายาซ้ำหากบริเวณที่ทายาโดนน้ำภายใน 8 ชั่วโมงหลังจากทายา และหลังจากใช้ยาครั้งแรกผ่านไป 7–14 วันแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นหรือเกิดอาการซ้ำ ควรใช้ยาอีกครั้ง
เด็ก
ทายา Permethrin ชนิดครีม ความเข้มข้น 5% หรือชนิดโลชั่น ความเข้มข้น 5% ให้ทั่วร่างกายและทิ้งเอาไว้ 8–14 ชั่วโมงก่อนล้างออกเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ แต่ปริมาณการใช้ยาสูงสุดขึ้นอยู่กับอายุของเด็ก
โดยการใช้ยาชนิดครีมในเด็กอายุ 2 เดือน–1 ปี ให้ใช้ยาในปริมาณสูงสุดที่ประมาณ 3.75 กรัม เด็กอายุ 1–5 ปี ให้ใช้ยาในปริมาณสูงสุดที่ประมาณ 7.5 กรัม เด็กอายุ 6–12 ปี ให้ใช้ยาในปริมาณสูงสุดที่ประมาณ 15 กรัม และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ให้ใช้ยาในปริมาณเดียวกับผู้ใหญ่
ส่วนการใช้ยาชนิดโลชัน เด็กอายุตั้งแต่ 2 เดือน–1 ปี ให้ใช้ยาในปริมาณสูงสุดที่ประมาณ 6.25 มิลลิลิตร เด็กอายุ 1–5 ปี ให้ใช้ยาในปริมาณสูงสุดที่ประมาณ 12.5 มิลลิลิตร เด็กอายุ 6–12 ปี ให้ใช้ยาในปริมาณสูงสุดที่ประมาณ 25 มิลลิลิตร และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ให้ใช้ยาปริมาณเดียวกับผู้ใหญ่
หลังจากใช้ยาครั้งแรกผ่านไป 7–14 วันแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นหรือเกิดอาการซ้ำ ควรใช้ยาอีกครั้ง
โรคโลน
ตัวอย่างการใช้ยา Permethrin เพื่อรักษาโรคโลน
ผู้ใหญ่ ก่อนทายาควรทำความสะอาดบริเวณหัวหน่าว รอบทวารหนัก ต้นขาด้านในจนถึงหัวเข่า และขนบริเวณหัวหน่าวไปจนถึงท้องหรือหน้าอก จากนั้นทายา Permethrin ชนิดครีม ความเข้มข้น 5% ให้ทั่วบริเวณดังกล่าว โดยปริมาณยาสูงสุดไม่ควรเกิน 30 กรัม จากนั้นให้ทิ้งเอาไว้ 12 ชั่วโมงหรือทิ้งไว้ข้ามคืน ก่อนล้างออกด้วยน้ำสะอาด
การใช้ยา Permethrin
ผู้ที่ใช้ยา Permethrin ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เภสัชกร หรือฉลากยาอย่างเคร่งครัด โดยหากทายาให้ผู้อื่น ควรสวมถุงมือก่อนใช้ยานี้เพื่อป้องกันการติดเชื้อปรสิต หากเป็นยาชนิดครีมที่ล้างออกได้หรือโลชั่นแชมพู ควรเขย่าขวดก่อนใช้ยา
การใช้ยา Permethrin เพื่อรักษาโรคหิด ผู้ป่วยควรอาบน้ำก่อน โดยหากผู้ป่วยอาบน้ำอุ่นหรือน้ำร้อน ควรทิ้งให้ผิวหนังเย็นก่อนใช้ยา ในกรณีที่ผู้ป่วยใช้ยานี้เพื่อรักษาโรคโลน ควรให้คู่นอนของผู้ป่วยรักษาด้วย
สำหรับการป้องกันการเกิดโรคซ้ำ ควรทำความสะอาดเครื่องแต่งกายและเครื่องนอนทั้งหมดด้วยน้ำร้อน และตากแดดหรืออบร้อนให้แห้ง ทั้งเสื้อผ้า หมวก ผ้าปูที่นอน ผ้าเช็ดตัว รวมไปถึงการทำความสะอาดอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น หวี โดยการแช่น้ำร้อนอย่างน้อย 10 นาทีก่อนนำมาใช้ใหม่ แต่หากอุปกรณ์หรือของใช้บางชนิดไม่สามารถโดนน้ำได้ ให้ใช้วิธีซักแห้งหรือนำไปใส่ถุงสุญญากาศแทน โดยหากใช้วิธีทิ้งไว้ในถุงสุญญากาศ ให้ทิ้งไว้อย่างน้อย 4 สัปดาห์ และเขย่าอีกครั้งข้างนอกที่พักอาศัยก่อนนำกลับมาใช้ใหม่
นอกจากนี้ อาจพ่นยา Permethrin ชนิดสเปรย์บนของแต่งบ้าน หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในในชีวิตประจำวันร่วมด้วย เช่น เสื่อ หมวก เบาะนั่งในรถ
สำหรับการเก็บรักษายา ควรเก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงความชื้น และเก็บยาให้พ้นแสงหากใช้ยาชนิดโลชัน และเก็บให้พ้นมือเด็ก ที่สำคัญควรตรวจดูวันหมดอายุบนฉลากยาก่อนใช้ยาทุกครั้ง
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Permethrin
การใช้ยา Permethrin อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดผลข้างเคียงบางอย่าง โดยอาการที่มักพบ เช่น แสบร้อน เจ็บ คัน ผื่นขึ้นเล็กน้อย ชา รู้สึกเหมือนโดนเข็มทิ่ม ผิวหนังแดง ผิวแห้ง ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ไข้ขึ้น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสีย ซึ่งผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการดังกล่าวไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง
นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาและรีบไปพบแพทย์ทันที หากพบอาการผิดปกติที่รุนแรง เช่น
- แสบร้อนรุนแรง
- เจ็บ ปวดรุนแรง
- ผิวหนังแดงผิดปกติ
- ผิวหนังบวม
- อาการแพ้ยา เช่น ผื่นขึ้น หายใจลำบาก หรือมีอาการบวมบริเวณใบหน้า ปาก ลิ้น และคอ