เมธิลโดปา (Methyldopa)
Methyldopa (เมธิลโดปา) เป็นยาที่ใช้เพื่อรักษาความดันโลหิตสูง ออกฤทธิ์โดยการลดระดับสารเคมีบางชนิดในเลือด ซึ่งจะช่วยให้หลอดเลือดคลายตัวและทำให้เลือดสามารถไหลเวียนได้ทั่วร่างกายง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถใช้รักษาโรคอื่น ๆ ได้ตามดุลยพินิจของแพทย์
เกี่ยวกับยา Methyldopa
กลุ่มยา | กลุ่มยาลดความดันโลหิต (Antihypertensives) |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | ลดความดันโลหิตสูง |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ |
รูปแบบของยา | ยารับประทานและยาฉีด |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร | Category B จากการศึกษาในสัตว์ ไม่พบความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์หรืออาจพบผลไม่พึงประสงค์ในสัตว์ และยังไม่พบความเสี่ยงในมนุษย์เมื่อใช้ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ รวมทั้งไม่มีหลักฐานทางการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า มีความเสี่ยงเมื่อใช้ในช่วงหลังเดือนที่สามเป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนการให้นมบุตรในระหว่างใช้ยา |
คำเตือนในการใช้ยา Methyldopa
ข้อควรทราบเพื่อความปลอดภัยก่อนการใช้ยา Methyldopa มีดังนี้
- แจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบหากมีอาการแพ้ยา Methyldopa หรือมีอาการแพ้สารอื่น ๆ ในตัวยา โดยผู้ป่วยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับส่วนประกอบของยา Methyldopa
- แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เช่น ยาเฟอร์รัสกลูโคเนต (Ferrous Gluconate) ยาเฟอร์รัสซัลเฟต (Ferrous Sulfate) ยาลิเทียม (Lithium) ยาที่มีส่วนผสมของธาตุเหล็ก หรือยารักษาโรคความดันโลหิตสูงบางชนิด เป็นต้น
- ห้ามผู้ป่วยที่ใช้ยาต้านเศร้ากลุ่มเอ็มเอโอไอ (Monoamine Oxidase Inhibitors: MAOI) อย่างยาไอโซคาร์บอกซาซิด (Isocarboxazid) ยาฟีเนลซีน (Phenelzine) ยาทรานิลไซโปรมีน (Tranylcypromine) หรือยาเมทิลีน บลู (Methylene Blue) ภายในเวลา 14 วันที่ผ่านมาใช้ยา Methyldopa เนื่องจากอาจเกิดปฏิกิริยาที่รุนแรงได้หากรับประทานร่วมกับยา Methyldopa อีกทั้งยาชนิดนี้อาจทำให้ผลการตรวจบางอย่างคลาดเคลื่อนได้
- แจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติทางการแพทย์ โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยด้วยโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคตับ โรคไต โรคโลหิตจาง เนื้องอกต่อมหมวกไตชนิดฟีโอโครโมไซโตมา (Pheochromocytoma) เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด ตับเคยผิดปกติเนื่องจากการใช้ยา Methyldopa หรือป่วยด้วยความผิดปกติทางพันธุกรรมอย่างภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD Deficiency)
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังวางแผนตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงตั้งครรภ์ เนื่องจากหากมีภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างภาวะครรภ์เป็นพิษร่วมกับมีการชัก (Eclampsia) หรือโรคเบาหวาน ซึ่งแพทย์จะให้ผู้ป่วยใช้ยาหากเห็นว่าจะเกิดผลดีมากกว่าผลเสียต่อทารกในครรภ์
- แจ้งให้แพทย์ทราบว่าอยู่ในช่วงการรับประทานยานี้ หากต้องเข้ารับผ่าตัดร่างกาย ช่องปากหรือเปลี่ยนถ่ายเลือด เนื่องจากผู้ป่วยอาจต้องหยุดรับประทานยาก่อนเข้ารับการผ่าตัด
- การใช้ยา Methyldopa อาจทำให้รู้สึกเวียนหัว เซื่องซึม ผู้ป่วยจึงควรหลีกเลี่ยงการขับรถ การทำกิจกรรมที่ต้องตื่นตัวหรือการใช้เครื่องจักร รวมทั้งควรจำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ปริมาณการใช้ยา Methyldopa
ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยา Methyldopa ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยาดังนี้
รักษาความดันโลหิตสูง
ตัวอย่างการใช้ยา Methyldopa เพื่อรักษาความดันโลหิตสูง
เด็ก
- ยารับประทาน หากเด็กมีอายุน้อยกว่า 12 ปี เริ่มรับประทานยาปริมาณ 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือ 300 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวหนัง 1 ตารางเมตร โดยแบ่งการรับประทาน 2–4 ครั้ง/วัน จากนั้นแพทย์จะปรับตามการตอบสนองของร่างกาย โดยปริมาณสูงสุดไม่เกิน 65 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือ 2,000 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวหนัง 1 ตารางเมตร หรือไม่เกิน 3,000 มิลลิกรัมต่อวัน
- ยาฉีด ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำปริมาณ 20–40 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือ 600–1,200 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวหนัง 1 ตารางเมตร โดยจะแบ่งปริมาณอย่างเท่า ๆ กันในการฉีดทุก 6 ชั่วโมงของทุกวัน ปริมาณสูงสุดในการฉีดเข้าหลอดเลือดดำไม่เกิน 65 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือ 2,000 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวหนัง 1 ตารางเมตร หรือไม่เกิน 3,000 มิลลิกรัมต่อวัน
ผู้ใหญ่
- ยารับประทาน สำหรับผู้ที่รักษาด้วยยา Methyldopa เพียงชนิดเดียว เริ่มรับประทานยาปริมาณ 250 มิลลิกรัม วันละ 2–3 ครั้งเป็นเวลา 2 วัน จากนั้นแพทย์จะปรับตามการตอบสนองของร่างกายในปริมาณที่คงที่ได้แก่ 500–2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 3,000 มิลลิกรัมต่อวัน ส่วนผู้ที่รักษาด้วยยาชนิดนี้ร่วมกับการรักษาอื่น ๆ รับประทานยาปริมาณเริ่มต้นไม่เกิน 500 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน
- ยาฉีด สำหรับการฉีดยา Methyldopate HCl ให้ฉีดยาปริมาณ 250–500 มิลลิกรัม เข้าสู่ร่างกายช้า ๆ เป็นเวลาประมาณ 30–60 นาทีตามความเหมาะสมทุก ๆ 6 ชั่วโมง และปริมาณสูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม/ 6 ชั่วโมง หรือ 3,000 มิลลิกรัม/วัน
ผู้สูงอายุ
- ยารับประทาน เริ่มรับประทานยาปริมาณ 125 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน โดยค่อย ๆ เพิ่มปริมาณยาตามความการตอบสนองของผู้ป่วย สูงสุดไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน
การใช้ยา Methyldopa
เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา Methyldopa ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- ควรรับประทานยาตามคำสั่งแพทย์หรือคำแนะนำบนฉลากยาอย่างเคร่งครัด ผู้ป่วยไม่ควรปรับปริมาณยาเอง หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
- ใช้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดแม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม เพราะหากหยุดการใช้ยาอาจทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นและก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้
- รับประทานยานี้พร้อมอาหารหรือไม่พร้อมอาหารก็ได้
- หากผู้ป่วยใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนดอาจทำให้ความดันโลหิตลดลงอย่างรุนแรง เวียนหัว อ่อนแรง หัวใจเต้นช้าลง หมดสติ อาเจียน ท้องเสียหรือท้องผูก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- หากผู้ป่วยลืมรับประทานยา ควรรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้และรับประทานยาครั้งต่อไปตามช่วงเวลาเดิม ทั้งนี้ ผู้ป่วยห้ามเพิ่มปริมาณการรับประทานยาเป็น 2 เท่าเพื่อทดแทน
- เก็บยาไว้ในบรรจุภัณฑ์เดิม โดยควรเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงความชื้น ความร้อนและแสงแดด
- ห้ามให้ผู้อื่นใช้ยานี้แม้จะมีอาการป่วยเหมือนกันก็ตาม เนื่องจากปริมาณยาจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัว อาการของโรคและการตอบสนองของร่างกายที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Methyldopa
โดยทั่วไป ยา Methyldopa อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ เช่น ปวดหัว เวียนหัว ง่วงซึม คัดจมูกและอ่อนเพลีย เป็นต้น เนื่องจากร่างกายกำลังปรับตัวเข้ากับฤทธิ์ยา หรืออาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง เจ็บลิ้น ไม่สามารถจดจ่อหรือจดจำได้ตามปกติ เหน็บชาบริเวณมือหรือเท้า ขาบวม และอาจมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นร่วมด้วย ซึ่งถ้ามีอาการแย่ลงหรือมีอาการติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อรับการรักษา
หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน เช่น
- มีอาการแพ้ยา อาทิ มีผื่น คัน บวมในบริเวณใบหน้า ลิ้นและคอ เวียนหัวอย่างรุนแรงหรือหายใจลำบาก
- หมดสติ
- หัวใจเต้นช้า อาการเจ็บหน้าอกรุนแรงขึ้น หัวใจวาย
- หายใจไม่อิ่ม
- มีไข้ร่วมกับอาการเจ็บคอ มีแผลในปาก มีรอยช้ำหรือมีเลือดออกผิดปกติ
- กล้ามเนื้อหดเกร็งหรือไม่สามารถควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อได้
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ
- สมรรถภาพหรือความต้องการทางเพศลดลง
- อารมณ์แปรปรวนผิดปกติ อย่างการเกิดภาวะซึมเศร้า
- มีอาการของโรคตับหรือโลหิตจางเกิดขึ้น เช่น ตาหรือผิวเหลือง ปัสสาวะเป็นสีเข้ม คลื่นไส้หรืออาเจียนอย่างต่อเนื่อง ปวดท้องอย่างรุนแรง มีอาการอ่อนเพลียผิดปกติ เป็นต้น