เม็ดเลือดขาวต่ำ

ความหมาย เม็ดเลือดขาวต่ำ

เม็ดเลือดขาวต่ำ (Leukopenia) คือภาวะที่ภายในเลือดมีปริมาณเม็ดเลือดขาวต่ำกว่าปกติ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ

เม็ดเลือดขาวต่ำ

ทั้งนี้เม็ดเลือดขาวแบ่งออกเป็น 5 ชนิด ได้แก่

  • เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิล (Neutrophil) เป็นชนิดของเม็ดเลือดขาวที่มีมากที่สุดในร่างกาย ทำหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา พิษจากสารต่าง ๆ หรือแม้แต่ต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง
  • เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) เป็นเม็ดเลือดขาวที่ผลิตจากไขกระดูก เม็ดเลือดขาวชนิดนี้แบ่งออกเป็น 2 ชนิดย่อย ๆ คือ บีเซลล์ (B-Cell) และทีเซลล์ (T-Cell) เมื่อเม็ดเลือดขาวถูกผลิตออกมาแล้ว 25% ชนิดบีเซลล์จะยังอยู่ในไขกระดูก ส่วนเม็ดเลือดขาว 75% จะเข้าสู่ระบบน้ำเหลืองและเลือด จากนั้นจะพัฒนาเป็นทีเซลล์ต่อไป โดยเม็ดเลือดขาวชนิดนี้ทำหน้าที่ต่อสู้กับการติดเชื้อ และป้องกันการติดเชื้อในครั้งต่อไป
  • เม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิล (Eosinophil) เป็นเม็ดเลือดขาวชนิดที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อต่อสู้และป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย ปรสิต และทำหน้าที่ควบคุมอาการอักเสบที่ทำให้เกิดอาการแพ้และโรคหอบหืด 
  • เม็ดเลือดขาวชนิดโมโนไซต์ (Monocyte) เป็นเม็ดเลือดขาวชนิดที่ทำหน้าที่กำจัดจุลินทรีย์ สิ่งแปลกปลอม และเซลล์ที่ตายแล้ว
  • เม็ดเลือดขาวชนิดบาโซฟิล (Basophil) เป็นเม็ดเลือดขาวชนิดที่ช่วยป้องกันและรักษาการติดเชื้อจากบาดแผล บรรจุสารที่มีคุณสมบัติในบรรเทาอาการแพ้และช่วยควบคุมการแข็งตัวของเลือด

ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำมักสัมพันธ์กับจำนวนเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิลที่ลดลง ซึ่งเป็นเม็ดเลือดขาวชนิดที่มีในร่างกายมากที่สุด ทั้งนี้ หากมีสุขภาพที่แข็งแรง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและหายเองได้

อาการเม็ดเลือดขาวต่ำ

ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำไม่มีอาการที่แสดงให้เห็นชัดเจน ทว่าผู้ป่วยบางคนจะพบอาการข้างเคียงจากการที่ปริมาณเม็ดเลือดขาวลดลง โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำเนื่องจากการติดเชื้อ ซึ่งอาการที่ปรากฏ เช่น

  • มีไข้ หนาวสั่น
  • มีอาการบวมแดง
  • มีแผลที่ปาก มีปื้นสีแดงหรือฝ้าสีขาวอยู่ภายในปาก
  • เจ็บคอ มีอาการไออย่างรุนแรง หรือหายใจถี่
  • มีอาการเจ็บหรือปวดแสบปวดร้อนขณะปัสสาวะ ปัสสาวะที่ออกมามีกลิ่นเหม็นเน่า
  • ท้องเสีย
  • รู้สึกเจ็บบริเวณทวารหนัก ร่วมกับอาการบวมแดง
  • มีอาการบวมแดง และมีหนองออกมาจากบริเวณแผล
  • มีอาการระคายเคืองที่ช่องคลอด หรือคันช่องคลอดผิดปกติ

นอกจากนี้ หากเป็นภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำเนื่องจากโรค อาจพบอาการอื่น ๆ ที่เป็นสัญญาณของโรคร่วมด้วย ซึ่งผู้ป่วยควรสังเกตความผิดปกติของร่างกาย หากอาการเริ่มรุนแรงขึ้น หรือไม่มีทีท่าว่าจะทุเลาลง ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วนเพื่อความปลอดภัย

สาเหตุเม็ดเลือดขาวต่ำ

เม็ดเลือดขาวต่ำเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยอาจเกิดจากความผิดปกติของแหล่งกำเนิดเม็ดเลือดขาว นั่นก็คือไขกระดูก หรือเกิดขึ้นจากการที่เม็ดเลือดขาวถูกทำลายเป็นจำนวนมาก สาเหตุที่มักพบได้แก่

  • การติดเชื้อไวรัส ทำให้การทำงานของไขกระดูกถูกขัดขวางจนไม่สามารถผลิดเม็ดเลือดขาวได้ เช่น การติดเชื้อไข้เลือดออกเป็นต้น
  • ความผิดปกติที่มีมาตั้งแต่กำเนิด ทำให้ระบบการทำงานของไขกระดูกผิดปกติ
  • โรคมะเร็ง โรคมะเร็งบางชนิดส่งผลให้ไขกระดูกถูกทำลายและทำให้ร่างกายผลิตเม็ดเลือดขาวได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
  • การติดเชื้ออย่างรุนแรง เมื่อเกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรงจะทำให้เม็ดเลือดขาวต้องทำหน้าที่ในการต่อสู้กับการติดเชื้อ จึงทำให้จำนวนเม็ดเลือดขาวลดลงอย่างรวดเร็ว
  • การใช้ยาปฏิชีวนะ ยาปฏิชีวนะส่งผลให้เม็ดเลือดขาวถูกทำลายได้
  • โรคซาร์คอยโดซิส (Sarcoidosis) คือโรคที่เกิดภาวะการอักเสบที่ระบบอวัยวะหลาย ๆ ส่วนพร้อมกันโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งอาจส่งผลต่อไขกระดูกด้วย

ทั้งนี้ยังมีสาเหตุที่ทำให้เม็ดเลือดขาวลดจำนวนลงได้อย่างผิดปกติอีกด้วย ซึ่งได้แก่

  • โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ (Aplastic anemia) และความผิดปกติที่ไขกระดูก
  • การรักษาด้วยเคมีบำบัด และฉายรังสี
  • การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือผู้ป่วยโรคเอดส์ 
  • การทำงานของม้ามที่หนักเกินไป จนเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดขาวถูกทำลายก่อนวัย
  • วัณโรคและโรคติดเชื้อร้ายแรงต่าง ๆ
  • โรคคอสแมนน์ (Kostmann’s Syndrome) ความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดที่ทำให้ร่างกายผลิตเม็ดเลือดขาวนิวโตรฟิลได้น้อย
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • โรคภูมิแพ้ตัวเอง 
  • โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
  • โรคไมอีโลดิสพลาสติก ซินโดรม (Myelodysplastic Syndrome) เป็นกลุ่มอาการของโรคที่เกิดจากความผิดปกติในไขกระดูก
  • ภาวะขาดสารอาหาร หรือขาดวิตามิน
  • ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำเรื้อรัง เนื่องจากโรคไมโลคาเธซิส (Myelokathexis)

การวินิจฉัยเม็ดเลือดขาวต่ำ

ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำไม่แสดงอาการที่สามารถสังเกตได้ จะต้องตรวจเลือดเท่านั้นจึงจะสามารถระบุได้ และหากผู้ป่วยพบสัญญาณของการติดเชื้อที่ไม่มีทีท่าว่าจะทุเลาลง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการป่วยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด ซึ่งแพทย์อาจเจาะไขกระดูกเพื่อนำมาตรวจหาสาเหตุของเม็ดเลือดขาวต่ำ

เมื่อผู้ป่วยไปพบแพทย์แล้ว แพทย์จะซักประวัติเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วย หรืออาการที่กำลังเป็นอยู่  จากนั้นจะเก็บตัวอย่างเลือดที่บริเวณแขน หรือหลังมือเพื่อนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการด้วยวิธีการตรวจนับเม็ดเลือดขาว (White Blood Cell Count: WBC Count) ทั้งนี้ เกณฑ์โดยคร่าวของคนปกติทั่วไปจะมีระดับเม็ดเลือดขาวดังนี้

  • แรกเกิด-1 เดือน 5,000-34,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร
  • อายุ 2-5 เดือน 5,000-15,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร
  • อายุ 6 เดือน-1 ปี 6,000-11,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร
  • อายุ 1-12 ปี 6,000-12,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร
  • อายุ 3-5 ปี 4,000-12,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร
  • อายุ 6-11 ปี 3,400-10,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร
  • อายุมากกว่า 12 ปี 3,500-10,500 เซลล์ต่อไมโครลิตร

โดยหากผลการตรวจพบว่าผู้ป่วยมีระดับเม็ดเลือดขาวต่ำกว่า 3,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร หรือมีปริมาณเม็ดเลือดขาวนิวโตรฟิลต่ำกว่า 1,900 เซลล์ต่อไมโครลิตร แพทย์อาจระบุได้ว่าผู้ป่วยมีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ นอกจากนี้ หากต่ำว่า 1,500 เซลล์ต่อไมโครลิตร ถือว่ายิ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อด้วย และเมื่อวินิจฉัยได้แน่ชัดแล้วแพทย์จะวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุที่จำนวนเม็ดเลือดขาวลดลง และหาวิธีรักษาต่อไป

การรักษาเม็ดเลือดขาวต่ำ

หากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำไม่รุนแรงมากนัก อาจหายเองได้โดยไม่ต้องรักษา แต่หากอาการรุนแรงต้องรักษาอย่างเร่งด่วนตามสาเหตุ โดยวิธีการรักษาที่นิยมใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ได้แก่

การใช้ยา เป็นวิธีที่ช่วยเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาว หรือช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อลงได้ ยาที่แพทย์มักใช้คือ

  • โคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์ (Colony Stimulating Factor: CSF) เป็นสารที่ช่วยในการทำงานของไขกระดูกให้สามารถสร้างเม็ดเลือดได้มากขึ้น ทำให้ระดับเม็ดเลือดขาวสูงขึ้น มักใช้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่อยู่ในระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือฉายรังสี
  • ยาปฏิชีวนะ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีระดับเม็ดเลือดขาวที่ต่ำจนเกินไป การใช้ยาปฏิชีวนะอาจมีความจำเป็น เนื่องจากผู้ป่วยจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย นอกจากนี้ ยังอาจใช้ยาต้านไวรัส หรือยาต้านจุลชีพต่าง ๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่อาจตามมาได้

ทั้งนี้หากเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างการรักษาโรคมะเร็ง และมีระดับเม็ดเลือดขาวต่ำ แพทย์อาจสั่งชะลอการรักษาออกไป หรือลดขนาดของยาที่ใช้ในการรักษาเพื่อให้ระดับเม็ดเลือดขาวกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้อาการโรคมะเร็งรุนแรง หรือมีภาวะแทรกซ้อนที่ไม่พึงประสงค์

นอกจากนี้ในระหว่างการรักษา ผู้ป่วยจะต้องดูแลรักษาสุขภาพ และป้องกันตัวเองจากความเสี่ยงในการติดเชื้อ เพราะหากเกิดการติดเชื้อขึ้นในระหว่างที่ระดับเม็ดเลือดขาวต่ำ จะยิ่งทำให้อาการรุนแรงกว่าเดิมโดยควรปฏิบัติตนดังนี้

  • ล้างมือให้สะอาดก่อนหรือหลังอาหาร และหลังจากใช้ห้องน้ำ
  • อาบน้ำอุ่นทุกวัน โดยไม่ให้อุณหภูมิของน้ำสูงเกินไป เพราะอาจทำให้ผิวหนังแห้งได้
  • ใช้แปรงสีฟันชนิดนุ่มหรือใช้ผ้านุ่ม ๆ ทำความสะอาดเหงือกและฟันอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงแปรงที่แข็งเพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้
  • ใช้ผ้าอนามัยแบบแผ่นแทนการใช้ผ้าอนามัยแบบสอดเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ

ภาวะแทรกซ้อนเม็ดเลือดขาวต่ำ

เม็ดเลือดขาวต่ำไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย แต่หากระดับเม็ดเลือดขาวต่ำมากเกินไป โดยเฉพาะเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตฟิล หากมีในเลือดต่ำกว่า 500 เซลล์ต่อไมโครลิตร อาจทำให้ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำอย่างรุนแรง หากไม่รีบรักษา เชื้อแบคทีเรียที่อยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ภายในปาก ผิวหนัง หรือกระเพาะอาหารอาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อที่รุนแรงได้

การป้องกันภาวะเม็ดเลือดขาวสูง

ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำไม่สามารถป้องกันได้เต็มที่ 100% โดยเฉพาะภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำที่เกิดจากโรคมะเร็ง ทว่าก็ยังมีโอกาสลดความเสี่ยงได้ โดยหลีกเลี่ยงโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อ และการอักเสบต่าง ๆ ที่อาจส่งผลต่อกระบวนการผลิตเม็ดเลือดขาว นอกจากนี้ หากมีอาการที่ผิดปกติเกิดขึ้นภายในร่างกายควรรีบไปพบแพทย์เพื่อความปลอดภัย