ความหมาย เยื่อบุตาอักเสบ
เยื่อบุตาอักเสบ (Conjunctivitis) คือ ภาวะที่เยื่อบุตาเกิดการอักเสบหรือติดเชื้อ ซึ่งเยื่อบุตาเป็นเยื่อเมือกใสที่คลุมตาขาวและบุด้านในของเปลือกตา สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากไวรัส แบคทีเรีย หรือสารก่อภูมิแพ้ ทำให้เกิดอาการ เช่น ตาแดง แสบตา คันตา หรือระคายเคือง และการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ ในบางกรณีอาจไม่จำเป็นต้องรับการรักษาโดยแพทย์ เพราะหายได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ หรือบรรเทาอาการด้วยวิธีประคบเย็นหรือใช้น้ำตาเทียม
อาการเยื่อบุตาอักเสบ
อาการเยื่อบุตาอักเสบแตกต่างกันออกไปตามสาเหตุที่ทำให้เกิดการอักเสบ อาการที่เกิดขึ้นมีดังต่อไปนี้
- ตาแดงที่ตาขาวหรือเปลือกตาด้านใน
- คันตา แสบตา
- ตามัว
- เยื่อบุตาบวม
- มีการผลิตน้ำตามากขึ้นกว่าปกติ
- ตาแฉะ หรือน้ำตาไหล
- รู้สึกมีเม็ดเล็ก ๆ อยู่ในตา
- ตาไวต่อแสง
- มีขี้ตาสีเหลืองที่เปลือกตาหรือขนตา ซึ่งอาจทำให้ลืมตาได้ลำบากในเวลาตื่นนอนตอนเช้า
- เยื่อบุตาอักเสบที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ไข้ อาการหวัด หรือการติดเชื้อเกี่ยวกับการหายใจ
- เยื่อบุตาอักเสบที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย มักจะมีอาการที่ตาข้างใดข้างหนึ่งและแพร่เชื้อไปยังตาอีกข้าง ทำให้ขี้ตามีสีเหลืองหรือเขียว และบางรายอาจพบว่าเกิดขึ้นพร้อมกับการติดเชื้อในหู
- เยื่อบุตาอักเสบที่มีสาเหตุจากการแพ้ มักมีอาการ เช่น คันตา น้ำตาไหล หรือตาบวม
- ผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์แล้วใส่ไม่เข้าที่หรือรู้สึกไม่สบายตา
หากพบว่าเกิดอาการใดอาการหนึ่งในข้างต้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างทันท่วงที และป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น
สาเหตุของเยื่อบุตาอักเสบ
เยื่อบุตาอักเสบเกิดจากการอักเสบหรือติดเชื้อของเยื่อบุตา ซึ่งมีสาเหตุสำคัญ ได้แก่ เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และสารก่อภูมิแพ้ นอกจากนั้น มีสาเหตุจากสารเคมี คอนแทคเลนส์ สิ่งแปลกปลอมที่เข้าตา เชื้อรา หรือมลพิษในอากาศ
เยื่อบุตาอักเสบที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส
- เกิดได้จากการติดเชื้อไวรัสหลากหลายสายพันธ์ุ เช่น เชื้อไวรัสอะดีโน (Adenovirus) ซึ่งทำให้เกิดอาการเจ็บคอและมีไข้สูง
- ติดต่อหรือได้รับเชื้อได้ง่ายมากจากการใกล้ชิดกับผู้ที่มีเชื้อ
- เชื้อไวรัสบางชนิดอาจทำให้เกิดการระบาดที่รุนแรงของโรคได้
เยื่อบุตาอักเสบที่มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย
- เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น สแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) สเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus Pneumoniae)เชื้อแบคทีเรียชนิดฮีโมฟิลุส (Haemophilus) หรือเชื้อคลาไมเดีย (Chlamydia Trachomatis)
- ติดต่อหรือได้รับเชื้อง่ายมากจากการใกล้ชิดกับผู้ที่มีเชื้อ
- มักจะเกิดกับเด็กมากกว่าผู้ใหญ่
ปัจจัยที่เพิ่มโอกาสให้เกิดเยื่อบุตาอักเสบจากการติดเชื้อ
- เด็กและผู้สูงอายุ เพราะเด็กจะรับเชื้อได้ง่ายจากที่โรงเรียนซึ่งมีคนจำนวนมาก ส่วนผู้สูงอายุจะติดเชื้อได้ง่ายเพราะระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ
- มีการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบน เช่น ไข้หวัด
- เป็นโรคเบาหวาน ซึ่งทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอและเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย
- ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์ ซึ่งทำให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอได้
- ผู้ที่เปลือกตาอักเสบ อาจมีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งทำให้เกิดเยื่อบุตาอักเสบได้
- อยู่ในที่ที่มีคนหนาแน่น เช่น บนรถไฟฟ้า ค่ายทหาร และโรงเรียนประจำ
เยื่อบุตาอักเสบที่มีสาเหตุจากการแพ้
- มีสาเหตุจากการที่ตาได้สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เช่น ละอองเกสรดอกไม้ พืชบางชนิด ไรฝุ่น สะเก็ดผิวหนังของสัตว์ ยาหรือเครื่องสำอาง โดยสารนั้น ๆ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองผิดปกติหรือที่เรียกว่า อาการภูมิแพ้
- เป็นสาเหตุที่ไม่ทำให้ติดต่อกันหรือไม่แพร่จากคนสู่คนได้
- มักพบบ่อยกับผู้ที่มีอาการภูมิแพ้ เช่น ไข้ละอองฟาง (Hay Fever) โรคหืด และโรคเรื้อนกวาง
- เกิดขึ้นได้ตามฤดูกาล เมื่อสารก่อภูมิแพ้ เช่น ละอองเกสรดอกไม้มีจำนวนมาก
- เกิดขึ้นได้ตลอดปีจากสารก่อภูมิแพ้ในร่มหรือในอาคาร เช่น ไรฝุ่นและสะเก็ดผิวหนังของสัตว์
- บางรายอาจเกิดจากการสัมผัสหรือการใช้ยาและเครื่องสำอางบางชนิด
- ภูมิแพ้ที่เกิดจากการใช้คอนแทคเลนส์ (Giant Papillary Conjunctivitis) เกิดจากการใส่คอนแทคเลนส์ การแพ้อุปกรณ์ที่ใช้เย็บแผลในขั้นตอนศัลยกรรมดวงตา หรือการใส่อวัยวะเทียมในการศัลยกรรมดวงตา
เยื่อบุตาอักเสบที่มีสาเหตุจากสารระคายเคือง
- เกิดจากการระคายเคืองโดยสิ่งแปลกปลอมที่เข้าตาหรือตาสัมผัสกับสารเคมี ควันพิษ ฝุ่น แชมพู คลอรีนในสระว่ายน้ำ หรือขนตาปลอมเสียดสีกับเยื่อบุตา นอกจากนั้น ยังเกิดขึ้นได้จากคอนแทคเลนส์ที่หมดอายุหรือการทำความสะอาดที่ไม่ดีพอ
- เป็นสาเหตุที่ไม่สามารถติดต่อกันหรือแพร่จากคนสู่คนได้
นอกจากนั้น เยื่อบุตาอักเสบที่เกิดกับเด็กแรกเกิด ซึ่งมีสาเหตุจากการติดเชื้อ การระคายเคือง หรือท่อน้ำตาอุดตัน ควรไปพบแพทย์ทันที
การวินิจฉัยเยื่อบุตาอักเสบ
การวินิจฉัยด้วยตนเองในเบื้องต้นสามารถทำได้ด้วยการสังเกตอาการ ได้แก่ ตาแดง คันตา แสบตา มีสะเก็ดของหนองที่ขนตาหรือเปลือกตา หรือตาแฉะ
แพทย์อาจวินิจฉัยเยื่อบุตาอักเสบว่าเกิดจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือสารก่อภูมิแพ้ โดยการสอบถามประวัติและอาการของผู้ป่วย รวมไปถึงการตรวจตา อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยหาสาเหตุอาจทำได้ยาก เพราะอาการมักจะคล้ายกัน ซึ่งแพทย์จำเป็นต้องนำตัวอย่างสารคัดหลั่งของตาไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยแพทย์จะพิจารณาให้มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการในกรณีต่อไปนี้
- ผู้ป่วยเป็นเยื่อบุตาอักเสบที่รุนแรงแรงมาก
- ผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบที่กระจกตา
- ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อซ้ำโดยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา
นอกจากนั้น แพทย์อาจให้มีการทดสอบภูมิแพ้สำหรับผู้ป่วยที่มีสาเหตุจากอาการแพ้ เพื่อช่วยให้ทราบว่าควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ชนิดใด
การรักษาเยื่อบุตาอักเสบ
การรักษาเยื่อบุตาอักเสบเบื้องต้นด้วยตนเอง ทำได้ดังนี้
- ป้องกันดวงตาไม่ให้สัมผัสกับสิ่งสกปรกและสารก่อการระคายเคือง
- ผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ให้ถอดออกและหยุดใช้ชั่วคราว
- หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอาง
- ใช้น้ำตาเทียมหรือยาหยอดตาที่มีส่วนประกอบของยาแก้แพ้ อาจช่วยบรรเทาอาการคันและแสบตาจากสารระคายเคืองได้ อย่างไรก็ตาม การใช้ยาหยอดตาบางชนิดอาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้ ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ และที่สำคัญควรระวังอย่าใช้ยาหยอดตาขวดเดิมที่ใช้กับข้างที่มีการติดเชื้อนำไปใช้กับข้างที่ไม่มีการติดเชื้อ
การรักษาเยื่อบุตาอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัส
โดยส่วนใหญ่เยื่อบุตาอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัสจะไม่มีความรุนแรงมากและหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ หรือบางรายอาจใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ขึ้นไป โดยไม่ต้องรักษา ส่วนรายที่มีความรุนแรงหรือมีสาเหตุจากโรคเริม (Herpes Simplex Virus) หรือเชื้อไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ (Varicella-Zoster Virus) แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสในการรักษา
การรักษาเยื่อบุตาอักเสบที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
เยื่อบุตาอักเสบที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงจะหายไปได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยที่ไม่ต้องรักษา แต่การให้ยาปฎิชีวนะจะช่วยให้หายได้เร็วยิ่งขึ้น โดยแพทย์อาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะประเภทยาหยอดตาหรือขี้ผึ้งป้ายตาให้กับผู้ป่วย และเมื่อเริ่มต้นใช้ยาแต่ละประเภทอาการควรจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายในไม่กี่วัน โดยผู้ป่วยควรปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัดและใช้ยาจนครบจำนวนตามที่กำหนด เพื่อป้องกันการกลับมาติดเชื้อซ้ำ
การรักษาเยื่อบุตาอักเสบที่เกิดจากการแพ้
เยื่อบุตาอักเสบที่เกิดจากการแพ้ หายได้เองเมื่อสารก่อภูมิแพ้ถูกกำจัดออกไปจากสภาพแวดล้อมที่ผู้ป่วยอาศัยอยู่ เช่น ละอองเกสรดอกไม้ หรือสะเก็ดผิวหนังของสัตว์
ยาแก้แพ้และยาหยอดตาบางชนิด เช่น ยาแก้แพ้แบบใช้เฉพาะที่ (Topical Antihistamine) และสารบีบหลอดเลือด (Vasoconstrictors) รวมไปถึงยาหยอดตาที่สั่งโดยแพทย์ สามารถใช้บรรเทาเยื่อบุตาอักเสบที่เกิดจากการแพ้ได้ โดยแพทย์อาจมีการใช้ยาร่วมกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา เช่น
- ยาที่ใช้ควบคุมอาการแพ้ เช่น การใช้ยาระงับการหลั่งสารจาก Mast Cell (Mast Cell Stabilizer) ร่วมกับยาแก้แพ้
- ยาที่ใช้ควบคุมการอักเสบ เช่น ยาลดน้ำมูก ยาสเตียรอยด์ และยาหยอดตาต้านการอักเสบ
เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์?
ผู้ป่วยที่พบว่าเป็นเยื่อบุตาอักเสบพร้อมทั้งมีอาการต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์
- เจ็บตา
- ตาไวต่อแสบ หรือตามัว
- ตาแดงมาก
- มีอาการที่แย่ลงหรือรักษาแล้วไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะกับผู้ป่วยเยื่อบุตาอักเสบที่มีสาเหตุจากแบคทีเรีย ที่ใช้ยาปฏิชีวนะแล้วอาการไม่ดีขึ้นหลังผ่านไป 1 วัน
- ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ที่รักษาโรคมะเร็ง
- เด็กแรกเกิด
ภาวะแทรกซ้อนเยื่อบุตาอักเสบ
โดยส่วนใหญ่เหยื่อบุตาอักเสบเป็นโรคที่สามารถหายได้เองหรือหายได้ด้วยการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ อย่างไรก็ตามเยื่อบุตาอักเสบอาจทำให้เกิดแผลที่กระจกตา และรวมไปถึงเยื่อบุตาอักเสบที่มีสาเหตุจากโรคหนองใน คลามัยเดีย หรือการติดเชื้ออดีโนไวรัส (Adenovirus) บางสายพันธ์ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและเป็นอันตรายต่อการมองเห็นได้ หากได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาจากแพทย์อย่างทันท่วงทีจะช่วยลดความเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้
การป้องกันเยื่อบุตาอักเสบ
เยื่อบุตาอักเสบที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรียอาจแพร่เชื้อหรือติดจากคนสู่คนได้ง่าย แต่อย่างไรก็ตาม มีวิธีที่จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นเยื่อบุตาอักเสบหรือลดโอกาสไม่ให้เชื้อแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้ ด้วยวิธีต่อไปนี้
- หมั่นล้างมือด้วยน้ำอุ่นและสบู่เป็นประจำ โดยเฉพาะก่อนและหลังหยอดตาหรือใช้ขี้ผึ้งป้ายตาที่มีการติดเชื้อ หากไม่สามารถล้างมือด้วยน้ำและสบู่ได้ ก็ใช้เจลล้างมือฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์แทน
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือขยี้ตา เพราะอาจทำให้อาการแย่ลงหรือทำให้ตาอีกข้างติดเชื้อได้
- หมั่นทำความสะอาดขี้ตาบริเวณดวงตาด้วยผ้าเปียกหรือสำลีที่สะอาดด้วยมือที่สะอาด หลังจากนั้นควรทิ้งสำลีหรือซักผ้าที่ใช้แล้วด้วยน้ำร้อนและผงซักฟอกให้เรียบร้อย แล้วล้างมือให้สะอาดอีกครั้ง
- ไม่ควรใช้ยาหยอดตาขวดเดียวกับตาทั้งสองข้าง
- หมั่นซักปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน และผ้าเช็ดตัว ด้วยน้ำร้อนและผงซักฟอกเป็นประจำ
- หยุดใช้คอนแทคเลนส์จนกว่าแพทย์จะแนะนำให้กลับมาใช้ได้
- ควรใช้คอนแทคเลนส์ตามคำแนะของแพทย์อย่างเคร่งครัด ทั้งการเก็บรักษา การใส่ หรือการทำความสะอาด
- ทำความสะอาดแว่นตาอย่างระมัดระวัง อย่าใช้ผ้าที่อาจมีการปนเปื้อนหรือผ้าที่ผู้อื่นใช้ร่วมด้วย
- ไม่ควรใช้ปลอกหมอน ผ้าเช็ดตัว ยาหยอดตา เครื่องสำอาง คอนแทคเลนส์ หรือแว่นตา ร่วมกับผู้อื่น
- ควรหลีกเลี่ยงว่ายน้ำในสระว่ายน้ำในช่วงที่มีเยื่อบุตาอักเสบ
สามารถป้องกันตนเองและลดโอกาสในการติดเชื้อได้ ดังนี้
- หมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำอุ่นเป็นประจำ หรืออาจใช้เจลล้างมือฆ่าเชื้อแทนการล้างมือ
- ล้างมือหลังจากต้องใกล้ชิดกับผู้ที่มีการติดเชื้อหรือมีการสัมผัสสิ่งของของผู้ที่มีเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการใช้มือที่ยังไม่ได้ล้างสัมผัสดวงตา
- หลีกเลี่ยงใช้สิ่งของร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ เช่น ปลอกหมอน ผ้าเช็ดตัว ยาหยอดตา เครื่องสำอาง คอนแทคเลนส์ หรือแว่นตา
นอกจากนั้น สำหรับผู้ที่เป็นเยื่อบุตาอักเสบ ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการติดเชื้อซ้ำได้ เช่น
- ควรนำเครื่องสำอางที่ใช้ในช่วงเวลาที่กำลังติดเชื้อทิ้งและเปลี่ยนใหม่
- ควรนำคอนแทคเลนส์หรือที่เก็บคอนแทคเลนส์ รวมไปถึงสารละลายที่ใช้กับคอนแทคเลนส์ที่ใช้ในช่วงระยะเวลาที่กำลังติดเชื้อทิ้ง
- ควรทำความสะอาดแว่นตาหรือที่เก็บแว่นตาที่ใช้ช่วงเวลาที่มีการติดเชื้อทิ้ง