ความหมาย เลือดข้น
เลือดข้น (Polycythemia) คือ ภาวะที่ไขกระดูกผลิตเซลล์เม็ดเลือดในจำนวนที่มากผิดปกติ ทำให้เลือดข้นขึ้น ส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย และทำให้ผู้ป่วยหน้าแดง มือและเท้าแดง ความดันโลหิตสูง เลือดกำเดาไหล ฟกช้ำ เป็นต้น ผู้ที่มีภาวะเลือดข้นในระดับที่ไม่รุนแรงหากปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ รับประทานยาตามกำหนด จนสามารถควบคุมอาการได้แล้ว จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนและผู้ป่วยจะสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
อาการของเลือดข้น
ผู้ที่มีภาวะเลือดข้นในระดับที่ไม่รุนแรงจะมีอาการวิงเวียน ปวดศีรษะ ตาพร่า หน้าแดง มือและเท้าแดง อ่อนเพลีย ความดันโลหิตสูง รู้สึกไม่สบายท้อง เลือดกำเดาไหล ฟกช้ำ มีอาการของโรคเกาต์ เช่น มีอาการปวดและบวมตามข้อ หรือคันตามผิวหนังโดยเฉพาะหลังอาบน้ำ เป็นต้น ภาวะเลือดข้นอาจจะส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิต ทำให้เกิดลิ่มเลือด ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต และมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด หรือโรคหลอดเลือดสมองได้
ควรไปพบแพทย์โดยด่วนหากพบอาการวิงเวียนศีรษะ หายใจหอบ ไอเป็นเลือด เป็นลม เจ็บหน้าอกหรือมีอาการปวด บวม แดง หรือกดแล้วเจ็บบริเวณขาข้างที่มีลิ่มเลือด เป็นต้น ซึ่งเป็นอาการของภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำส่วนลึก (Deep Vein Thrombosis: DVT) บริเวณขา ก่อนที่จะเกิดการอุดตันในส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
สาเหตุของเลือดข้น
ภาวะเลือดข้นมีหลายประเภท แต่ละประเภทจะแบ่งตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ เช่น น้ำหนักตัวเกิน การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก ปัญหาจากการผลิตเซลล์เม็ดเลือด หรือเป็นผลมาจากโรคต่าง ๆ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ภาวะเลือดข้นที่มีสาเหตุจากปริมาณน้ำเลือดหรือพลาสมาลดลง (Apparent Polycythemia)
มักมีสาเหตุมาจากการที่มีน้ำหนักตัวเกิน การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก การใช้ยาขับปัสสาวะ หรือเป็นผลมาจากภาวะขาดน้ำในร่างกาย
ภาวะเลือดข้นที่มีสาเหตุจากไขกระดูกผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงออกมาในปริมาณที่มากเกินไป (Absolute Polycythemia)
แบ่งได้ 2 ประเภท ดังต่อไปนี้
- ภาวะเลือดข้นที่ไขกระดูกผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงมากผิดปกติ (Primary Polycythemia หรือ Polycythemia Vera) ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของสารพันธุกรรมเจเอเคทู (JAK2) ทำให้ไขกระดูกผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงในปริมาณที่มากผิดปกติ และผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดในปริมาณที่มากผิดปกติด้วยเช่นกัน มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ
- ภาวะเลือดข้นที่มีสาเหตุมาจากการผลิตฮอร์โมนอีริโทโพอิติน (Erythropoietin) ในปริมาณที่มากเกินไป (Secondary Polycythemia) หรืออาจเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease: COPD) และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnoea) ส่งผลให้ออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ไม่เพียงพอ จึงผลิตฮอร์โมนอีริโทโพอิตินมากขึ้น และปัญหาที่เกี่ยวกับไต เช่น เนื้องอกในไต หรือการตีบของหลอดเลือดแดงในไต เป็นต้น
การวินิจฉัยเลือดข้น
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการของผู้ป่วย เช่น หน้าแดง มือและเท้าแดง ความดันโลหิตสูง เลือดกำเดาไหล หรือฟกช้ำ หากแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยมีภาวะเลือดข้นมักจะตรวจม้ามว่ามีอาการโตหรือไม่ รวมถึงแนวทางในการวินิจฉัยอื่น ๆ ดังต่อไปนี้
การตรวจเลือด
นิยมทำด้วยกัน 3 วิธี คือ การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด การตรวจสเมียร์เลือด หรือการตรวจอีริโทโพอิติน โดยมีรายละเอียดดังนี้
- การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC) เพื่อวัดจำนวนของเซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด ระดับความเข้มข้นของฮีโมโกลบินในเซลล์เม็ดเลือดแดง รวมถึงปริมาณของเซลล์เม็ดเลือดแดง
- การตรวจสเมียร์เลือด (Blood Smear) จะแสดงลักษณะของเซลล์เม็ดเลือดแดงหากมีมากเกินไป รวมถึงตรวจพบเซลล์เม็ดเลือดที่ผิดปกติซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับโรคนี้ได้
- การตรวจอีริโทโพอิติน (Erythropoietin Test) ในผู้ที่มีภาวะเลือดข้นอาจมีจำนวนของฮอร์โมนอีริโทโพอิตินในเลือดผิดปกติได้
การตรวจไขกระดูก
ด้วยวิธีการดูดและเจาะเนื้อเยื่อไขกระดูก (Bone Marrow Aspiration and Biopsy) และวิเคราะห์ผลโดยนักโลหิตวิทยาหรือนักพยาธิวิทยา โดยในผู้ที่มีภาวะเลือดข้นจะมีจำนวนเซลล์เม็ดเลือดที่มากกว่าปกติ
การตรวจหาสารพันธุกรรมเจเอเคทู (JAK2)
ประมาณร้อยละ 95 ของผู้ที่มีภาวะเลือดข้นที่มีความเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของสารพันธุกรรมเจเอเคทู (Polycythemia Vera) ซึ่งตรวจพบได้จากการตรวจเลือดและการดูดและเจาะเนื้อเยื่อไขกระดูก
การรักษาเลือดข้น
ในการรักษามีจุดประสงค์เพื่อลดจำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ร่างกายผลิตออกมามากผิดปกติและป้องกันการเกิดลิ่มเลือด รวมถึงบรรเทาอาการต่าง ๆ จากภาวะเลือดข้น เช่น ปวดศีรษะ ตาพร่า เห็นภาพซ้อน เป็นต้น โดยแพทย์จะมีแนวทางในการรักษาดังต่อไปนี้
การถ่ายเลือด (Phlebotomy)
วิธีการจะคล้ายกับการบริจาคเลือด แพทย์หรือพยาบาลจะใช้เข็มเจาะที่เส้นเลือดบริเวณแขนแล้วถ่ายเลือดออกจากร่างกาย เพื่อกำจัดเซลล์เม็ดเลือดที่มีจำนวนมากเกินไป โดยจะรักษาทุกสัปดาห์ หากอาการดีขึ้นจะลดลงเหลือทุก ๆ 6–12 สัปดาห์ หรือน้อยกว่านั้น จนกว่าผู้ป่วยจะมีระดับความเข้มข้นของเลือดลดลงไปจากเดิมประมาณ 45% ผู้ป่วยอาจรู้สึกเหนื่อยหรือเมื่อยล้าหลังการถ่ายเลือด และเส้นเลือดอาจได้รับความเสียหายหากมีการถ่ายเลือดหลายครั้ง
การใช้ยา
เมื่อผู้ป่วยมีระดับความเข้มข้นของเลือดลดลงแล้ว แพทย์อาจจะให้รับประทานยาเพื่อชะลอการทำงานของไขกระดูกในการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง
- ยาไฮดรอกซียูเรีย (Hydroxyurea) เป็นยาที่ใช้ในการรักษาและชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในร่างกาย หรือใช้ในการป้องกันและรักษาผู้ที่มีภาวะม้ามโต ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนของภาวะเลือดข้น อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก ท้องเสีย มีผื่นคัน เป็นต้น
- ยาอินเตอร์เฟอรอนอัลฟ่า (Interferon-Alpha) เป็นยาที่ใช้ชะลอการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้จากการใช้ยา เช่น มีไข้ หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น
- ยาแอสไพริน (Aspirin) เป็นยาต้านเกร็ดเลือด ช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือด รวมถึงอาจช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ เช่น อาการแสบร้อนที่มือและเท้า อาการคัน อาการปวด เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาแอสไพรินเพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้จากการใช้ยาเป็นประจำทุกวัน เช่น เลือดออกมาก โดยเฉพาะในกระเพาะอาหาร หรือส่วนอื่น ๆ ของระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น
ผู้ที่มีภาวะเลือดข้นและอยู่ในระหว่างการรักษาสามารถดูแลตัวเองที่บ้านให้ดีขึ้นได้ ด้วยการปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รวมถึงการยืดร่างกายโดยเฉพาะที่บริเวณขาและข้อเท้า เพื่อให้เลือดไหลเวียนในร่างกายได้ดีขึ้นและช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือดได้
- หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่น เพื่อป้องกันการระคายเคืองของผิวและอาการคันตามผิวหนัง หากเกิดอาการคันสามารถทาครีมบำรุงหรือใช้ยาต้านฮีสตามีนได้ และไม่ควรเกาเพราะอาจทำให้เกิดแผลหรือเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางผิวหนัง
- หลีกเลี่ยงสถานที่ที่ทำให้ร่างกายหนาวหรือร้อนมากเกินไป เพราะจะส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดและดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันอาการเลือดข้นขึ้น
ภาวะแทรกซ้อนของเลือดข้น
ผู้ที่มีภาวะเลือดข้นในระดับไม่รุนแรงอาจไม่มีภาวะแทรกซ้อนในอนาคต หากปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ รับประทานยาตามกำหนด จนสามารถควบคุมอาการได้แล้ว จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนและผู้ป่วยจะสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ในผู้ที่มีภาวะเลือดข้นแบบ Polycythaemia Vera อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น โรคหลอดเลือดในสมอง ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด ภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน ม้ามโต มัยอีโลไฟโบรซิส (Myelofibrosis) ซึ่งเป็นภาวะที่ไขกระดูกทำงานลดลงไม่สามารถผลิตเซลล์เม็ดเลือดได้ตามปกติ หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือลูคีเมีย (Leukemia) ได้ เป็นต้น และภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ อาจทำให้เสียชีวิตได้ก่อนวัยอันควร
การป้องกันเลือดข้น
ภาวะเลือดข้นที่มีสาเหตุจากปริมาณน้ำเลือดหรือพลาสมาลดลง (Apparent Polycythemia) ป้องกันได้ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ออกกำลังกายเพื่อรักษาสุขภาพ เลือกรับประทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์เพื่อป้องกันน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วน หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ และปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาชนิดต่างๆ เช่น ยาขับปัสสาวะ รวมทั้งจัดการและป้องกันการเกิดลิ่มเลือดได้ด้วยการเข้ารับการรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด