เลโวไทรอกซิน (Levothyroxine)

เลโวไทรอกซิน (Levothyroxine)

Levothyroxine (เลโวไทรอกซิน) เป็นยาฮอร์โมนที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาเพื่อใช้ทดแทนฮอร์โมนไทรอยด์ที่ร่างกายสร้างขึ้น มักใช้รักษาภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism) หรือภาวะที่ต่อมไทรอยด์ในร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ได้ หรือผลิตออกมาได้น้อยกว่าปกติ ซึ่งฮอร์โมนไทรอยด์มีความสำคัญต่อร่างกายในกระบวนการเผาผลาญและสร้างพลังงาน

ยา Levothyroxine มีหลายรูปแบบ ทั้งรูปแบบยาเม็ด ยาแคปซูล หรือยาน้ำสำหรับรับประทาน และรูปแบบยาฉีด การใช้ยาชนิดนี้จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น นอกจากนี้ ในบางกรณีอาจใช้ยา Levothyroxine ในการรักษาโรคคอพอก หรือโรคมะเร็งไทรอยด์ด้วยเช่นกัน

เลโวไทรอกซิน (Levothyroxine)

เกี่ยวกับยา Levothyroxine

 

กลุ่มยา ยาฮอร์โมนไทรอยด์
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism)
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร Category A จากการศึกษาในมนุษย์ ไม่พบความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์เมื่อใช้ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ รวมทั้งไม่มีหลักฐานทางการศึกษาที่แสดงว่ามีความเสี่ยงเมื่อใช้ในช่วงหลังเดือนที่สามเป็นต้นไป และโอกาสในการเกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์มีน้อย ผู้ที่ตั้งครรภ์จึงสามารถใช้ยาชนิดนี้ได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา
รูปแบบของยา โลชั่นและแชมพู

คำเตือนในการใช้ยา Levothyroxine

เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา Levothyroxine ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติการแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยา Levothyroxine รวมถึงยาชนิดอื่น ๆ เพราะอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกาย
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากวางแผนที่จะตั้งครรภ์ กำลังตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพื่อให้สามารถใช้ยาได้อย่างปลอดภัย และไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกในครรภ์หรือเด็กแรกเกิด
  • เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี ไม่ควรใช้ยา Levothyroxine และการใช้ยาชนิดนี้ในเด็กควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
  • ผู้ที่มีภาวะสุขภาพบางอย่าง เช่น ปัญหาเกี่ยวกับต่อมหมวกไต ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ภาวะความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา
  • ไม่ควรใช้ยา Levothyroxine ในการรักษาภาวะอ้วนหรือปัญหาน้ำหนักเกิน เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง หรือส่งผลกระทบที่อันตรายถึงแก่ชีวิตได้
  • ในระหว่างการใช้ยา Levothyroxine ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง แป้งถั่วเหลือง รวมถึงน้ำเกรปฟรุต (Grapefruit) เพราะอาจทำให้ร่างกายดูดซึมตัวยาได้น้อยลง
  • ในระหว่างการใช้ยา Levothyroxine ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ ประมาณ 30 นาทีก่อนและหลังการใช้ยา เพราะอาจทำให้ร่างกายไม่ได้รับตัวยาในปริมาณที่เหมาะสม

ปริมาณการใช้ยา Levothyroxine

แพทย์จะพิจารณาปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยา Levothyroxine จากเงื่อนไขสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละคน เช่น อายุ อาการของโรค และโรคประจำตัวอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยเป็น โดยตัวอย่างการใช้ยามีดังนี้

ภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism)

ตัวอย่างการใช้ยา Levothyroxine เพื่อรักษาภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism)

เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ รับประทานยาเริ่มต้น 1.6 ไมโครกรัม/ น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 1 ครั้ง จากนั้นปรับขนาดยาเพิ่มทีละ 12.5–25 ไมโครกรัมทุก 4–6 สัปดาห์จนกว่าระดับฮอร์โมนไทรอยด์จะกลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ

ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป หรือผู้ป่วยโรคหัวใจ รับประทานยาเริ่มต้น 12.5–25 ไมโครกรัม วันละ 1 ครั้ง จากนั้นปรับขนาดยาทุก 6–8 สัปดาห์จนกว่าระดับฮอร์โมน ไทรอยด์จะกลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ

อย่างไรก็ตาม การใช้ยา Levothyroxine ในเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 6 ปี จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะการได้รับยาในปริมาณที่มากเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรงได้

การใช้ยา Levothyroxine

การใช้ยาควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์หรือคำแนะนำบนฉลากเท่านั้น ไม่ควรใช้ยาในปริมาณมากกว่าหรือน้อยกว่าที่กำหนด รวมถึงไม่ควรใช้ยาในระยะเวลานานกว่าที่กำหนดด้วย ในกรณีที่ลืมใช้ยาควรรีบใช้ยาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ แต่หากใกล้เวลาใช้ยาในรอบถัดไปควรข้ามไปใช้ยาของรอบถัดไปแทน ไม่ควรเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า

ตัวอย่างการใช้ยา ได้แก่ ยาเม็ดชนิดรับประทานควรกลืนยาทั้งเม็ดพร้อมกับน้ำเปล่า 1 แก้วในคราวเดียว ไม่ควรกัดหรือเคี้ยวตัวยาก่อนกลืน ส่วนยาชนิดน้ำควรเขย่าขวดยาให้ส่วนผสมรวมเป็นเนื้อเดียวกันก่อน จากนั้นใช้ช้อนสำหรับตวงยาโดยเฉพาะเพื่อให้ได้ปริมาณยาที่ถูกต้อง โดยควรรับประทานยาในตอนท้องว่าง เช่น ก่อนมื้ออาหารหรือก่อนดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง

การเก็บรักษายาควรเก็บให้พ้นมือเด็ก โดยเก็บในภาชนะปิดที่อุณหภูมิประมาณ 1530 องศาเซลเซียส และควรเก็บให้ห่างจากความร้อน ความชื้น และแสงแดด เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเสื่อมสภาพด้วย

ปฏิกิริยาระหว่างยา Levothyroxine กับยาอื่น

ยา Levothyroxine อาจทำปฏิกิริยากับยา วิตามิน หรือสมุนไพรบางชนิด ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง โดยเฉพาะยาต่อไปนี้

  • ยาลดกรดในกระเพาะอาหารบางชนิด เช่น ยาอีโซเมปราโซล (Esomeprazole) ยาแลนโซพราโซล (Lansoprazole) เพราะอาจลดประสิทธิภาพการดูดซึมของยา
  • ยาลดคอเลสเตอรอลในเลือด เช่น ยาคอเลสไทรามีน (Cholestyramine) ยาคอเลสเซเวแลม (Colesevelam) หรือยาคอเลสติพอล (Colestipol) เพราะอาจลดประสิทธิภาพการดูดซึมของยา
  • ยาต้านเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก (TCAs) เช่น ยาอะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง
  • ยาเคตามีน (Ketamine) เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงและภาวะหัวใจเต้นเร็ว
  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาฟาวาริน (Warfarin) เพราะอาจเพิ่มฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดของยาได้
  • อาหารเสริมธาตุเหล็กเฟอร์รัสซัลเฟต (Ferrous Sulfate) 

ตัวอย่างยาและสมุนไพรดังข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่อาจทำปฏิกิริยากับยา Levothyroxine เท่านั้น หากผู้ป่วยกำลังใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ อยู่ ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Levothyroxine

การใช้ยา Levothyroxine มักไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรง โดยเฉพาะหากใช้ในปริมาณที่เหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์ แต่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรงบางประการได้ เช่น ผมร่วง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อยากอาหารมากขึ้นหรือน้อยลง ซึ่งอาการเหล่านี้อาจสามารถหายได้เองโดยไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์

แต่หากอาการข้างต้นไม่ยอมหายไปและมีอาการรุนแรงมากขึ้น รวมถึงมีความผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้นควรรีบไปพบแพทย์ทันที เช่น

  • มีเหงื่อออกมากผิดปกติหรือไวต่อความร้อน
  • รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า มีอาการนอนไม่หลับ
  • อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด วิตกกังวล หรือหดหู่
  • เจ็บหน้าอก หายใจถี่ หัวใจเต้นเร็วหรือแรงผิดปกติ
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ

นอกจากนี้ หากมีสัญญาณของการแพ้ยาเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเกิดผื่นคัน ลมพิษ หรือมีอาการบวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น รวมถึงลำคอ ควรรีบไปพบแพทย์โดยทันทีเช่นกัน