ความหมาย เล็บขบ
เล็บขบ (Ingrown Toenail) คือ ภาวะที่เล็บงอกหรือทิ่มเข้าไปที่บริเวณผิวหนังปลายเล็บ ซึ่งเกิดได้บ่อยกับนิ้วเท้า โดยเฉพาะนิ้วหัวแม่เท้า มักเกิดจากการสวมถุงเท้าหรือรองเท้าที่คับเกินไป หรือการบาดเจ็บที่นิ้วเท้า ทำให้เกิดความเจ็บปวด บวม แดงที่นิ้วเท้า และบางครั้งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้
การรักษาเล็บขบขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ โดยทั่วไปผู้ที่มีเล็บขบสามารถดูแลตัวเองได้เบื้องต้นที่บ้าน แต่หากอาการไม่ดีขึ้นหรือเกิดการติดเชื้อ ซึ่งพบได้ในผู้ป่วยเบาหวานและผู้มีปัญหาเกี่ยวกับระบบไหลเวียนเลือด อาจต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์
อาการของเล็บขบ
เมื่อเป็นเล็บขบอาจทำให้เกิดอาการเจ็บปวดต่าง ๆ ได้แก่
- เกิดความเจ็บปวดและอาการกดเจ็บที่นิ้ว
- มีรอยแดงบริเวณรอบ ๆ นิ้ว
- มีอาการบวมของนิ้วเท้ารอบ ๆ เล็บ
- มีการก่อตัวของของเหลวบริเวณรอบ ๆ นิ้ว
- มีเลือดออกหรือเป็นหนอง
- มีการติดเชื้อของเนื้อเยื่อที่นิ้ว
หากมีความรู้สึกไม่สบายอย่างรุนแรงที่นิ้ว เป็นหนองหรือเป็นรอยแดง และอาจดูเหมือนว่าจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา รวมไปถึงผู้ที่เป็นเบาหวานหรือมีภาวะสุขภาพอื่น ๆ ที่มีปัญหาการหมุนเวียนเลือดไปที่เท้า มีอาการชาที่เท้า มีภาวะแผลหายช้า และการเจ็บเท้าหรือการติดเชื้ออื่น ๆ ร่วมด้วย ควรรีบไปปรึกษาแพทย์
สาเหตุของเล็บขบ
สาเหตุของเล็บขบที่พบได้บ่อยมักมาจากสาเหตุดังต่อไปนี้
- การตัดเล็บที่สั้นเกินไป
- ใส่ถุงเท้าที่แน่นจนเกินไป หรือการสวมใส่รองเท้าที่คับเกินไปจนไปกดเล็บเท้า
- การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับนิ้วเท้า เช่น มีสิ่งของที่มีน้ำหนักมากตกใส่เท้า
- มีเล็บเท้าที่มีรูปร่างโค้งผิดปกติ
- ความบกพร่องทางพันธุกรรม
- การไม่ดูแลสุขอนามัยของเท้า
การวินิจฉัยเล็บขบ
แพทย์สามารถวินัจฉัยเล็บขบได้จากการตรวจดูเล็บและผิวรอบ ๆ เล็บที่มีอาการ ซึ่งจะวินิจฉัยจากอาการที่เกิดขึ้นและการตรวจร่างกายบริเวณที่เกิดเล็บขบ
หากลักษณะเหมือนมีการติดเชื้อ อาจต้องทำการเอกซเรย์เพื่อดูว่าเล็บทิ่มลงไปในเนื้อลึกเพียงใด นอกจากนั้นการเอกซเรย์ยังช่วยในการวินิจฉัยเพิ่มเติมหากเล็บขบมีสาเหตุมาจากการบาดเจ็บ ผู้ป่วยมีประวัติของการติดเชื้อเรื้อรัง หรืออาการเจ็บมีความรุนแรงขึ้น
การรักษาเล็บขบ
เล็บขบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อสามารถรักษาได้เองตามปกติ อย่างไรก็ตาม หากเล็บทิ่มลงไปที่ผิวหนังลึก หรือมีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น มีอาการบวมแดงหรือมีหนอง ก็ควรทำการรักษาทางการแพทย์ ซึ่งการรักษาเล็บขบด้วยตัวเองเบื้องต้น ทำได้โดย
- แช่มือหรือเท้าที่เกิดเล็บขบลงในน้ำอุ่นประมาน 15–20 นาที 3–4 ครั้งต่อวัน
- ทำให้ผิวแยกออกจากขอบของเล็บโดยใช้สำลีชุบน้ำมันมะกอก
- ใช้ยาบรรเทาอาการปวดในกรณีที่มีอาการเจ็บปวด
- การใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาโพลิมิกซิน (Polymyxins) เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรือครีมสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบ
หากการรักษาด้วยตัวเองเบื้องต้นไม่ทำให้อาการดีขึ้นหรือเกิดการติดเชื้อขึ้น อาจจำเป็นต้องทำการรักษาทางการแพทย์หรือผ่าตัด ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ โดยวิธีหลัก ๆ ได้แก่
- การนำเล็บออกบางส่วน (Partial Nail Avulsion) โดยเอาชิ้นเล็บที่แทงลงไปในผิวหนังออก ในขั้นตอนนี้แพทย์จะต้องใช้ยาชาที่นิ้วเท้าก่อนการตัดแต่งหรือเอาเล็บออก
- การนำเล็บออกทั้งหมด (Total Nail Avulsion) จะใช้ในกรณีของเล็บขบที่มีเล็บหนาและกดลงไปในผิวหนัง โดยขั้นตอนการเอาเล็บออกทั้งเล็บนี้เรียกว่า Matrixectomy
- การยกเล็บขึ้น (Lifting the Nail) จะใช้ในรายที่เป็นน้อยแค่เพียงบวมแดง ไม่มีหนอง และไม่มีความจำเป็นต้องผ่าตัด ในวิธีนี้แพทย์จะใช้ไหมหรือสำลียกขอบเล็บให้พ้นขอบของผิวหนัง ไม่ให้เล็บงอกเข้าไปในเนื้อ
หลังจากการผ่าตัดหรือการนำเล็บออก แพทย์จะพันผ้าพันแผลเอาไว้เพื่อซับเลือดที่ยังคงไหลซึมและป้องกันการติดเชื้อ นอกจากนั้น ไม่ควรขยับหรือเคลื่อนไหวบริเวณที่เกิดเล็บขบมากเกินไป และควรยกขาให้สูงไว้ใน 1-2 วันแรกหลังผ่าตัด และควรสวมใส่รองเท้าที่มีความนิ่มและเผยส่วนนิ้วเท้าในช่วงวันแรก ๆ หลังผ่าตัด
หากมีอาการปวด ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอลหรือไอบูโพรเฟนได้ นอกจากนั้น แพทย์อาจให้ทาหรือรับประทานยาปฏิชีวนะและยาลดการอักเสบติดเชื้ออื่น ๆ
ภาวะแทรกซ้อนของเล็บขบ
หากปล่อยให้เป็นเล็บขบที่มีการติดเชื้อโดยที่ไม่ทำการรักษา อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระดูกนิ้วเท้าได้ การติดเชื้อที่เล็บเท้าสามารถทำให้เป็นแผลอักเสบพุพองที่เท้าและขาดเลือดหมุนเวียนบริเวณที่ติดเชื้อ รวมไปถึงอาจเกิดการตายของเนื้อเยื่อบริเวณที่มีการติดเชื้อ
การติดเชื้อที่เท้าเป็นเรื่องที่มีความรุนแรงหากเป็นเบาหวาน ซึ่งการเป็นเล็บขบอาจกลายไปเป็นการติดเชื้อได้อย่างรวดเร็วเนื่องจากผู้ที่เป็นเบาหวานจะขาดการไหลเวียนโลหิตมายังบริเวณนิ้วเท้า และมีปัญหาชาบริเวณเท้า จึงควรพบแพทย์โดยเร็วหากเป็นเล็บขบที่มีการติดเชื้อ
หากมีความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เกี่ยวกับเล็บขบ อาจทำให้สามารถเกิดเล็บขบขึ้นได้บ่อย ๆ หรือสามารถเกิดขึ้นหลาย ๆ นิ้วพร้อมกันในหนึ่งครั้งได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต เช่น มีความเจ็บปวด การติดเชื้อ และอาการเจ็บปวดอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นกับเท้าที่ต้องรับการรักษาหรือการผ่าตัดหลายประการ
การป้องกันเล็บขบ
เล็บขบสามารถป้องกันได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการใช้ชีวิต เช่น
- ตัดเล็บเท้าให้ตรงและไม่ให้ขอบของเล็บเท้าโค้ง
- หลีกเลี่ยงการตัดเล็บเท้าให้สั้นเกินไป
- เลือกใส่รองเท้าให้พอดีไม่คับเกินไป รวมไปถึงถุงเท้าและถุงน่อง โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน
- สวมรองเท้านิรภัยหรือรองเท้าที่ช่วยปกป้องเท้า หากต้องทำงานที่มีอันตรายต่อเท้า
- หากเล็บเท้ามีความหนาหรือโค้งผิดปกติ อาจป้องกันการเกิดเล็บขบได้ด้วยการผ่าตัดตกแต่ง
- ล้างเท้าให้สะอาดเป็นประจำทุกวัน หมั่นทำให้เท้าแห้งและใช้ครีมบำรุงเท้า
- หมั่นตรวจดูเท้าและนิ้วเท้าเป็นประจำ