เวียนหัว (Dizziness)

ความหมาย เวียนหัว (Dizziness)

เวียนหัว หรือเวียนศีรษะ (Dizziness) เป็นคำกว้าง ๆ ที่ใช้เรียกอาการหมุนใน 2 ลักษณะ คือ รู้สึกวิงเวียนเหมือนสิ่งรอบตัวหมุน และอีกลักษณะคือรู้สึกโคลงเคลง หน้ามืดเหมือนจะวูบ อาการเวียนศีรษะพบได้มากในกลุ่มผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีอายุมากขึ้น  

ระบบการทรงตัวของร่างกายต้องอาศัยการทำงานประสานกันของอวัยวะหลายส่วน โดยสมอง ตา และหูจะเป็นส่วนหลักในการช่วยรักษาสมดุลของร่างกายในท่าทางต่าง ๆ ดวงตาจะช่วยในการรับรู้สภาพแวดล้อมภายนอก กล้ามเนื้อและข้อต่อต่าง ๆ จะช่วยในการรับรู้การเคลื่อนไหวแขน ขา และส่วนอื่นของร่างกาย 

11-4-10

รวมไปถึงการรับรู้การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งร่างกายผ่านทางประสาททรงตัวในหูชั้นในทั้ง 2 ข้าง ก่อนส่งสัญญาณไปที่สมองในการสั่งการร่างกาย เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นกับส่วนใดส่วนหนึ่งจากโรคต่าง ๆ หรือทำงานได้ไม่สอดคล้องกัน จึงทำให้ระบบการทรงตัวเสียไปชั่วขณะ 

อาการเวียนหัว

เวียนหัวเป็นอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง สามารถอธิบายได้ถึงความรู้สึกในหลายลักษณะดังนี้

  • ความรู้สึกเหมือนสภาพแวดล้อมหรือสิ่งรอบตัวมีการหมุน หรือที่เรียกว่า บ้านหมุน (Vertigo)
  • มีอาการเวียนหัวในลักษณะหน้ามืดคล้ายจะเป็นลม (Lightheadedness) 
  • ไม่สามารถควบคุมการทรงตัวได้ หรือทรงตัวไม่อยู่ 
  • มีอาการหนักหัว มึนงง ตื้อ ๆ 
  • คลื่นไส้ อาเจียน

อาการเหล่านี้ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ขณะเดินหรือยืน หรือขณะเคลื่อนไหวร่างกายในท่าทางต่าง ๆ ทั้งนี้อาการอาจเกิดขึ้นชั่วขณะ เป็นพัก ๆ แล้วหายไป หรือนานเป็นวัน ๆ ซึ่งกระทบกระเทือนต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และอาจก่อให้เกิดอันตรายขึ้นได้หากเวียนหัวขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ 

หากพบว่าอาการเวียนหัวรุนแรงขึ้น หรือเกิดความผิดปกติอื่นร่วมกับอาการเวียนหัว เช่น ความสามารถในการได้ยินเสียงลดลงหรือเกิดความผิดปกติ มีปัญหาในการพูด แขนขาอ่อนแรง หัวใจเต้นผิดปกติ เจ็บหน้าอก มีอาการชาตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หรือสาเหตุอื่นที่อธิบายไม่ได้ ควรรีบพบแพทย์อย่างเร่งด่วน เพื่อหาสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด     

สาเหตุของอาการเวียนหัว

อาการเวียนหัวสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เพราะเป็นอาการกว้าง ๆ ที่เกี่ยวโยงไปได้ในหลายโรค แต่สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดอาการเวียนหัวมีดังนี้

ความผิดปกติของหูชั้นใน 

ภายในหูชั้นในประกอบด้วยอวัยวะที่ควบคุมระบบการทรงตัว (Vestibular System) ที่คอยสร้างความสมดุลในการเคลื่อนไหวร่างกายในท่าทางต่าง ๆ เมื่อหูชั้นในเกิดความผิดปกติจากการติดเชื้อ การอักเสบ หรือเป็นผลมาจากโรคที่เกี่ยวข้องกับหูชั้นใน ก็ส่งผลให้ระบบการทรงตัวเกิดความผิดเพี้ยนตามไปด้วย 

โรคที่เกี่ยวข้องกับหูชั้นในที่เป็นสาเหตุของการเวียนหัว เช่น 

  • โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน (Benign Paroxysmal Positional Vertigo: BPPV) เกิดจากตะกอนหินปูน (Otoconia) ที่อยู่ในอวัยวะควบคุมการทรงตัวภายในหูชั้นในหลุดออกมาจากตำแหน่งเดิม ส่งผลให้เกิดอาการเวียนหัวในขณะเปลี่ยนท่าทางของศีรษะ ซึ่งสาเหตุอาจการเกิดได้หลายประการ เช่น การเสื่อมตามวัย อุบัติเหตุที่กระทบต่อศีรษะอย่างรุนแรง ทำงานในสภาพที่ต้องก้ม ๆ เงย ๆ ขยับศีรษะซ้ำไปมาบ่อย ๆ 
  • โรคประสาทหูชั้นในอักเสบ (Labyrinthitis) เป็นภาวะของประสาทหูชั้นในอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งการอักเสบของหูชั้นรอบ ๆ เส้นประสาทนี้จะส่งผลต่อระบบการทรงตัวของร่างกาย 
  • โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere’s Disease) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของน้ำและแรงดันที่อยู่ภายในหูชั้นใน ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ หูอื้อหรือแน่นหู และการได้ยินลดลงหรือได้ยินเสียงผิดปกติ
  • ประสาทการทรงตัวอักเสบ (Vestibular Neuronitis) เกิดจากเส้นประสาทการทรงตัวจากท่อครึ่งวงกลมภายในหูชั้นในส่งสัญญาณการทรงตัวของร่างกายไปยังสมอง 2 ข้างไม่เท่ากัน เนื่องจากภาวะอักเสบ
  • โรคไมเกรน (Migraine) อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการเวียนหัวร่วมด้วย หรืออาการเวียนหัวอาจพัฒนาขึ้นได้ภายหลัง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดในสมองที่ผิดปกติ ผู้ป่วยอาจมีอาการเวียนหัวหลายชั่วโมงไปจนถึงหลายวัน

ระบบหมุนเวียนโลหิตที่ผิดปกติ 

อาจเกิดได้จากภาวะโลหิตต่ำหรือภาวะโลหิตตกจากการเปลี่ยนท่าทางที่รวดเร็ว (Orthostatic Hypotension) รวมไปถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม (Cardiomyopathy) กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Heart Attack) ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Heart Arrhythmia) หรือ ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient Ischemic Attack) 

ล้วนส่งผลให้เกิดการเวียนหัว หน้ามืด เป็นลม หรือควบคุมการทรงตัวได้ยาก เนื่องจากหัวใจไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงสมองหรือหูชั้นในได้เพียงพอ 

ความผิดปกติทางระบบประสาท 

อาการเวียนหัวอาจเกิดได้จากโรคเกี่ยวกับระบบประสาทและสมอง เช่น การบาดเจ็บที่ศีรษะ  โรคลมบ้าหมู เส้นเลือดตีบตัว โรคพาร์กินสัน เนื้องอกในสมอง สมองเสื่อม ภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูงโดยไม่ทราบสาเหตุ แพทย์จำเป็นต้องแยกสาเหตุของอาการเวียนศีรษะออกจากความผิดปกติทางระบบประสาทออกไป เพราะหากสาเหตุเกิดจากระบบประสาท ก็จำเป็นต้องได้รับการสืบค้นหาโรคเพื่อรักษาได้ตรงประเด็น 

สาเหตุอื่น ๆ 

สาเหตุอื่นของอาการเวียนหัวอาจเกิดได้จากโรคทางระบบกล้ามเนื้อและประสาทสัมผัสส่วนปลาย (Somatosensation and Proprioception) ภาวะโลหิตจาง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ยาบางชนิดที่มีผลต่อระบบประสาททรงตัวในหูชั้นใน ภาวะการเสียน้ำและเกลือแร่ ความเครียด การดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ เป็นต้น

การวินิจฉัยอาการเวียนหัว

เวียนหัวเป็นอาการที่ไม่มีลักษณะเฉพาะเจาะจง แพทย์จำเป็นต้องวินิจฉัยแยกโรคให้ชัดเจนก่อนทำการรักษา เบื้องต้นแพทย์จะซักประวัติผู้ป่วย เช่น ประวัติการเจ็บป่วย การใช้ยา หรืออุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนต่อศีรษะและสมอง เป็นต้น จากนั้นจะมีการตรวจร่างกาย และการตรวจพิเศษอื่น ๆ ประกอบด้วยดังนี้

การทดสอบการทรงตัว (Vestibular function test)

การทดสอบการทรงตัวสามารถดำเนินการได้ด้วยวิธีดังนี้

การตรวจการเคลื่อนไหวของดวงตา
แพทย์จะทดสอบการเคลื่อนไหวของดวงตาผู้ป่วย โดยให้ผู้ป่วยมองตามวัตถุที่เคลื่อนไหว หรือการตรวจการทำงานระหว่างหู ตา และสมอง โดยใช้น้ำอุ่น น้ำเย็น หรือลมเข้าไปกระตุ้นการทำงานของอวัยวะการทรงตัวภายในหู

การเคลื่อนไหวของศีรษะ
เป็นการทดสอบเฉพาะด้วยวิธีการที่เรียกว่า Dix-Hallpike Maneuver ในกรณีที่แพทย์คาดการณ์ว่าผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะที่เกิดจากโรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน โดยให้ผู้ป่วยล้มตัวลงนอนอย่างรวดเร็วในท่าตะแคงศีรษะและห้อยศีรษะเล็กน้อย แพทย์จะทำการสังเกตการกระตุกของลูกตา ซึ่งจะพบอาการกระตุกของดวงตาหากผู้ป่วยเป็นโรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนร่วมกับอาการเวียนศีรษะ

การทดสอบการทรงตัว (Posturography)
เป็นการทดสอบการเคลื่อนไหวของร่างกายว่าส่วนใดเกิดปัญหา เพื่อแยกหาสาเหตุการเสียการทรงตัว โดยใช้เครื่องตรวจประเมินความสามารถในการทรงตัวขณะยืนหรือการกลับสู่ท่ายืนตรงภายใต้สภาวะต่าง ๆ เช่น การยืนทรงตัวบนพื้นกระดกขึ้น-ลง ยืนทรงตัวบนพื้นที่เลื่อนไปด้านหน้า-ถอยหลังด้วยแรงที่แตกต่างกัน และยืนทรงตัวขณะขยับฉากหรือพื้น 

นอกจากนี้ยังมีการตรวจเลือด เพื่อตรวจหาความเข้มข้นของเลือด การติดเชื้อ เช่น ซิฟิลิส หรือการตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติมสำหรับหัวใจ และหลอดเลือด สำหรับการตรวจด้วยเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอ็มอาร์ไอ จะช่วยการสืบค้นในบางรายที่มีข้อบ่งชี้

การรักษาอาการเวียนหัว

ผู้ป่วยที่มีอาการเวียนหัวสามารถดูแลตนเองเบื้องต้นได้เองที่บ้าน หากเริ่มมีอาการเวียนหัว ควรหยุดพักชั่วครู่ โดยการนั่งพักหรือนอนบนพื้นราบในลักษณะที่ศีรษะยกขึ้นสูงเล็กน้อย หยุดการทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งเคลื่อนไหวร่างกายให้ช้าลง เพื่อบรรเทาให้อาการดีขึ้น อาจเลือกกินอาหารที่ช่วยบรรเทาอาการเวียนหัว หากอาการเกิดบ่อยมากขึ้น ซ้ำ ๆ ต่อกัน ควรไปพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและแนวทางรักษาที่เหมาะสม

แพทย์จะรักษาผู้ป่วยตามสาเหตุการเกิดและอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก รวมไปถึงแนะนำการออกกำลังกายและการบริหารระบบการทรงตัว แต่หากไม่พบสาเหตุของอาการเวียนหัว แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาหรือการรักษาพิเศษอื่น ๆ 

การทำกายภาพบำบัดและฝึกบริหารระบบการทรงตัว
เป็นการเคลื่อนไหวศีรษะ คอ และร่างกายอย่างช้า ๆ ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญด้วยหลากหลายวิธี เพื่อช่วยแก้อาการเวียนศีรษะจากโรคที่เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นในและระบบประสาททรงตัวอักเสบ 

การรักษาด้วยยา
แพทย์อาจให้การรักษาด้วยยาในหลายรูปแบบแก่ผู้ป่วย ซึ่งขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการเวียนศีรษะเพื่อบรรเทาอาการที่เกิดร่วมกับอาการเวียนหัว เช่น ยาในกลุ่มยาต้านการอาเจียน ยาแก้ปวดไมเกรน ยาคลายกล้ามเนื้อ 

การรักษาด้วยวิธีอื่น
ในกรณีที่การรักษาด้วยยาไม่ได้ผลและผู้ป่วยยังมีอาการเวียนศีรษะมาก แพทย์อาจทำการฉีดยาปฏิชีวนะเข้าสู่หูชั้นกลาง เพื่อช่วยควบคุมอาการเวียนหัว หรือการผ่าตัดเส้นประสาทที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัวในหูชั้นใน แต่การรักษาด้วยวิธีนี้อาจส่งผลกระทบต่อการได้ยินร่วมด้วย

ภาวะแทรกซ้อนของอาการเวียนหัว

หากไม่ได้มีสาเหตุจากระบบประสาท อาการเวียนหัวมักไม่พบอาการแทรกซ้อนที่ร้ายแรง แต่จะเสี่ยงต่อการลื่นหกล้มหรือเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่ออาการเวียนหัวเกิดขณะขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักรต่าง ๆ เนื่องจากผู้ป่วยจะไม่สามารถควบคุมการทรงตัวของร่างกายได้ และอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตในระยะยาวหากไม่รักษาให้หายขาด

การป้องกันอาการเวียนหัว

เวียนหัวเป็นอาการที่เกิดจากหลายสาเหตุ จึงจำเป็นต้องดูตามภาวะที่แต่ละบุคคลอาจต้องเผชิญ เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะนั้นให้มากที่สุด รวมไปถึงการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และการปรับพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวันก็สามารถช่วยลดโอกาสการเกิดอาการเวียนหัวได้ 

ตัวอย่างการปรับพฤติกรรม เช่น หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ การสูบบุหรี่ ที่ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงในหูชั้นในน้อยลง เปลี่ยนท่าทางหรือเคลื่อนไหวร่างกายอย่างช้า ๆ ไม่รวดเร็วจนเกินไป อันจะส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ลดภาวะที่ก่อให้เกิดความเครียดทำอารมณ์และสภาพจิตใจให้เบิกบานแจ่มใส นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หรือระวังอุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนบริเวณศีรษะและสมอง  

อย่างไรก็ตาม บางปัจจัยที่เป็นสาเหตุของเวียนหัวก็ไม่สามารถป้องกันได้ เช่น โรคที่ก่อให้เกิดเนื้องอกในสมอง เป็นต้น