ความหมาย เส้นเลือดขอด (Varicose Veins)
เส้นเลือดขอด (Varicose Veins) เป็นความปกติของหลอดเลือดดำบริเวณใกล้ชั้นผิวหนังที่ขยายตัวจนบวมนูนขึ้นมา และมีเลือดค้างสะสมมากจนอาจเห็นเป็นเส้นเลือดสีฟ้าหรือสีม่วงเข้ม เส้นเลือดขอดมักเกิดบริเวณขาหรือเท้า เนื่องจากการยืนเป็นเวลานานจะส่งทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก และส่งผลให้เลือดที่ร่างกายส่วนล่างไหลย้อนกลับไปที่หัวใจได้ยากขึ้น
แม้ว่าเส้นเลือดขอดโดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่ขา โดยเกิดได้ทั้งบริเวณน่องหรือขาด้านใน แต่ในบางกรณีเส้นเลือดขอดก็สามารถเกิดขึ้นได้บริเวณส่วนอื่นของร่างกายเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นหลอดอาหาร มดลูก ช่องคลอด อุ้งเชิงกราน หรือช่องทวารหนัก
อาการของเส้นเลือดขอด
ผู้ที่มีปัญหาเส้นเลือดขอดอาจเริ่มสังเกตเห็นเส้นเลือดขอดได้ผ่านผิวหนัง โดยเห็นเป็นเส้นเลือดคดเคี้ยวและนูนขึ้นมาจากผิวหนัง หรือปรากฏเป็นเส้นสีม่วงเข้มหรือสีฟ้าบริเวณขา จากนั้นอาจมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นตามมา เช่น
- มีอาการเจ็บหรือรู้สึกหนักบริเวณขา โดยอาจรู้สึกเจ็บมากขึ้นเมื่อนั่งหรือยืนเป็นเวลานาน
- เกิดตะคริวบริเวณกล้ามเนื้อขาส่วนล่าง หรือกล้ามเนื้อขาส่วนล่างสั่นเป็นจังหวะ
- มีอาการคันบริเวณรอบ ๆ เส้นเลือดเส้นใดเส้นหนึ่งหรือหลายเส้น
- มีอาการบวมหรือแสบร้อนเกิดขึ้นบริเวณขาส่วนล่าง
- มีอาการปวดในเส้นเลือดบริเวณที่ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีแดง
- มีเลือดออกมาจากเส้นเลือดที่บิดนูน
- เส้นเลือดแข็งหรือเปลี่ยนสี มีอาการอักเสบของผิวหนังหรือมีแผลพุพองที่ผิวหนังบริเวณใกล้ข้อเท้า
อาการของเส้นเลือดขอดมักจะแย่ลงเมื่ออยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนหรือเมื่อยืนเป็นเวลานาน และจะดีขึ้นเมื่อได้เดินหรือพักขาด้วยการยกขาขึ้น อย่างไรก็ตาม หากมีอาการอักเสบของผิวหนังหรือมีแผลพุพองเกิดขึ้น ถือเป็นอาการรุนแรงที่ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
สาเหตุของเส้นเลือดขอด
ภายในหลอดเลือดของคนเราจะมีลิ้นเล็ก ๆ คอยเปิดเพื่อให้เลือดไหลผ่านและปิดเพื่อป้องกันไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับไปสู่ส่วนล่างของร่างกาย แต่ในบางครั้งผนังหลอดเลือดอาจขยายตัวออกจนสูญเสียความยืดหยุ่น ส่งผลให้ลิ้นหลอดเลือดอ่อนแอจนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เมื่อลิ้นหลอดเลือดไม่สามารถทำงานได้ตามปกติก็จะทำให้เลือดเกิดการสะสม เกิดอาการบวมพอง และเกิดเป็นเส้นเลือดขอดตามมา
สาเหตุที่ทำให้ผนังหลอดเลือดขยายตัวจนส่งผลให้ลิ้นหลอดเลือดไม่สามารถทำงานได้ตามปกตินั้นยังไม่ทราบอย่างแน่ชัด แต่อาจมีปัจจัยบางอย่างที่กระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของผนังหลอดเลือด ดังนี้
- เพศหญิง เพราะมีโอกาสในการเกิดเส้นเลือดขอดมากกว่าเพศชาย โดยนักวิจัยชี้ว่าฮอร์โมนเพศหญิงอาจมีส่วนทำให้ผนังหลอดเลือดคลายตัวลง และส่งผลให้เกิดการรั่วของลิ้นหลอดเลือด
- พันธุกรรม โดยผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวเป็นเส้นเลือดขอดอาจมีโอกาสเกิดเส้นเลือดขอดเพิ่มขึ้น
- ผู้ที่มีอายุมาก เพราะเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นหลอดเลือดจะหลวมและหย่อนตัวลง จึงอาจเป็นสาเหตุให้ลิ้นหลอดเลือดอ่อนแอลงตามไปด้วย
- ผู้ที่มีน้ำหนักมาก เพราะน้ำหนักตัวที่มากจะทำให้เกิดแรงดันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อส่งเลือดกลับไปเลี้ยงหัวใจ ส่งผลให้เกิดแรงดันที่ลิ้นหลอดเลือดสูงขึ้นด้วย
- ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องยืนเป็นเวลานาน เพราะการยืนเป็นเวลานานจะทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่สะดวก
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ เพราะในระหว่างการตั้งครรภ์ปริมาณของเลือดในร่างกายจะเพิ่มสูงขึ้นจนอาจทำให้เกิดการตึงของหลอดเลือด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ ก็อาจทำให้ผนังหลอดเลือดคลายตัวลง จนส่งผลให้ลิ้นหลอดเลือดทำงานบกพร่องได้เช่นกัน
นอกจากสาเหตุและปัจจัยข้างต้น ผู้ที่เป็นเส้นเลือดขอดบางรายอาจมีสาเหตุจากภาวะอื่น ๆ เช่น เคยเกิดลิ่มเลือดอุดตัน มีอาการบวมหรือมีเนื้องอกในอุ้งเชิงกราน รวมถึงมีภาวะหลอดเลือดดำทำงานผิดปกติได้เช่นกัน
การวินิจฉัยเส้นเลือดขอด
แพทย์จะวินิจฉัยเส้นเลือดขอดเบื้องต้นด้วยการตรวจดูขาขณะยืนเพื่อสังเกตอาการบวม และสอบถามว่ามีอาการเจ็บเกิดขึ้นร่วมด้วยหรือไม่ จากนั้นแพทย์อาจตรวจด้วยวิธีการอัลตราซาวด์บริเวณที่เกิดเส้นเลือดขอดเพื่อดูลักษณะการไหลเวียนของเลือด รวมถึงตรวจหาร่องรอยการสะสมของลิ่มเลือดที่อาจเป็นสาเหตุของการบวมและอาการเจ็บด้วย
นอกจากนี้ ในบางกรณีแพทย์อาจใช้การตรวจเอกซเรย์หลอดเลือด (Angiogram) ในการประเมินการเกิดเส้นเลือดขอด โดยจะฉีดสารทึบรังสีชนิดพิเศษเข้าไปในขาและเอกซเรย์ดูบริเวณดังกล่าว ซึ่งภาพเอกซเรย์ที่ปรากฏจะเห็นเป็นสารทึบรังสี เพื่อให้แพทย์สามารถมองเห็นการไหลเวียนของเลือดได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม การตรวจด้วยวิธีการอัลตราซาวด์และการเอกซเรย์หลอดเลือดนั้นเป็นการตรวจเพื่อช่วยยืนยันว่าอาการบวมและอาการเจ็บที่เกิดขึ้นที่ขามีสาเหตุมาจากการเกิดเส้นเลือดขอด ไม่ได้เกิดจากลิ่มเลือดหรือการอุดตันอื่น ๆ
การรักษาเส้นเลือดขอด
ผู้ที่เป็นเส้นเลือดขอดอาจไม่จำเป็นต้องรับการรักษาหากไม่มีอาการเจ็บปวดหรือมีอาการที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงในกรณีของเส้นเลือดขอดที่เกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์ ซึ่งสามารถทุเลาลงได้เองภายใน 3–12 เดือนหลังคลอดด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เป็นเส้นเลือดขอดอาจสามารถป้องกันไม่ให้เกิดเส้นเลือดขอดเพิ่มขึ้นด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังต่อไปนี้
- ออกกำลังกายโดยพยายามเคลื่อนไหวร่างกายหรือเดินให้มาก เพื่อช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดที่ขา
- ควบคุมน้ำหนักโดยการรับประทานอาหารในปริมาณเหมาะสมกับที่ร่างกายต้องการ และควรเลือกรับประทานอาหารที่มีปริมาณเกลือต่ำ เพื่อป้องกันอาการบวมจากการคั่งของน้ำ
- หลีกเลี่ยงการนั่งหรือยืนเป็นเวลานาน รวมถึงการนั่งในท่าไขว่ห้าง เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก
- หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง รวมถึงการใส่เสื้อผ้าที่รัดรอบเอวหรือขา เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก
- พักขาด้วยการยกขาขึ้นเหนือระดับหัวใจบ่อย ๆ หรือนอนแล้ววางขาฟาดบนหมอนที่สูง เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก
ในกรณีของเส้นเลือดขอดที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา แพทย์อาจแนะนำให้ใส่ถุงน่องสำหรับรักษาเส้นเลือดขอดก่อนการรักษาด้วยวิธีอื่น โดยใส่รัดขาไว้ตลอดทั้งวันเพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนกลับสู่หัวใจได้ดียิ่งขึ้น ส่วนผู้ที่มีอาการเส้นเลือดขอดรุนแรงจนไม่สามารถรักษาด้วยตนเองหรือรักษาด้วยการใส่ถุงน่องได้ผล แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
การฉีดสารเข้าหลอดเลือดที่ขอด
การฉีดสารเข้าไปในเส้นเลือดขอดมักใช้รักษาเส้นเลือดขอดที่มีขนาดเล็กถึงปานกลาง เพื่อให้เกิดแผลเป็นและปิดเส้นเลือดเหล่านี้ โดยวิธีรักษานี้สามารถช่วยให้เส้นเลือดขอดทุเลาลงภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ และระหว่างการรักษาอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาระงับความรู้สึกด้วย
การฉีดสารผสมโฟมเข้าหลอดเลือดที่ขอด
การฉีดสารผสมโฟมเข้าไปในเส้นเลือดขอดมักใช้รักษาเส้นเลือดขอดที่มีขนาดใหญ่ เป็นวิธีการรักษาแบบใหม่ที่อาจช่วยปิดและผนึกเส้นเลือดที่รั่วได้เช่นเดียวกับการฉีดสารแบบธรรมดา
การรักษาด้วยเลเซอร์
การรักษาด้วยเลเซอร์เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ถูกนำมาใช้รักษาเส้นเลือดขอดในปัจจุบัน โดยจะใช้การยิงแสงที่มีความจ้าสูงไปยังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดที่ขอดหายไปอย่างช้า ๆ ซึ่งวิธีนี้ไม่ต้องใช้การผ่าตัดหรือใช้เข็มแต่อย่างใด
การใช้สายสวนหลอดเลือดด้วยการใช้คลื่นความถี่วิทยุหรือเลเซอร์
วิธีนี้มักรักษาเส้นเลือดขอดที่มีขนาดใหญ่ โดยแพทย์จะสอดท่อบาง ๆ เข้าไปในหลอดเลือดที่มีอาการบวมและทำให้ปลายของท่อร้อนขึ้นด้วยการใช้คลื่นความถี่วิทยุหรือเลเซอร์ จากนั้นความร้อนที่เกิดขึ้นจะไปปิดผนึกหลอดเลือด และทำให้หลอดเลือดยุบตัวลง
การผูกและดึงหลอดเลือด
การผูกและดึงหลอดเลือดเป็นวิธีการที่แพทย์ใช้เพื่อป้องกันไม่ให้หลอดเลือดดังกล่าวเข้าไปรวมกับหลอดเลือดที่ลึกลงไป จากนั้นจึงนำเอาหลอดเลือดที่ผูกออกโดยการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม การนำเอาหลอดเลือดออกจะไม่ส่งผลเสียต่อการไหลเวียนของเลือดในขา และเป็นวิธีที่ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ทันที
การผ่าตัดด้วยการเจาะรูเล็ก
เป็นวิธีที่ใช้รักษาเส้นเลือดขอดที่มีขนาดเล็ก โดยแพทย์จะเจาะรูขนาดเล็กผ่านผิวหนังเพื่อนำเอาเส้นเลือดขอดออก วิธีนี้จำเป็นต้องใช้ยาชาเพื่อให้ส่วนที่ถูกเจาะไร้ความรู้สึก และหลังจากผ่าตัดเรียบร้อยแล้วผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล
การผ่าตัดส่องกล้อง
เป็นวิธีที่ใช้เฉพาะในกรณีที่เส้นเลือดขอดมีอาการรุนแรง มีการอักเสบที่ขา หรือหลังจากรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล ซึ่งแพทย์จะผ่าตัดโดยนำกล้องขนาดเล็กใส่เข้าไปผ่านรอยผ่าขนาดเล็กที่ขา เพื่อช่วยให้สามารถมองเห็นเส้นเลือดขอด จากนั้นจึงปิดเส้นเลือดขอดที่รั่วและตัดออกมา
ภาวะแทรกซ้อนของเส้นเลือดขอด
เส้นเลือดขอดโดยส่วนใหญ่มักไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน หรือต้องใช้เวลานานหลายปีถึงจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ อย่างไรก็ตาม การเกิดเส้นเลือดขอดจะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการไหลเวียนของเลือดลดลง จนอาจนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ เช่น
- เกิดเลือดออก โดยอาจเกิดจากการกระแทกอย่างรุนแรงในบริเวณเส้นเลือดขอดที่อยู่ใกล้ผิวหนัง
- เกิดลิ่มเลือด หรือในกรณีที่ลิ่มเลือดเกิดในหลอดเลือดที่อยู่ใกล้กับผิวหนังมากก็อาจทำให้เกิดการอักเสบของผนังหลอดเลือดดำ หรืออาจนำไปสู่การเกิดภาวะหลอดเลือดที่ขาอุดตันได้ด้วย
- ภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง โดยอาจเกิดจากการที่ประสิทธิภาพการไหลเวียนของเลือดลดลงเป็นเวลานาน จนส่งผลให้เกิดภาวะอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่ขาส่วนล่าง หรือเกิดแผลอักเสบที่ขา
การป้องกันเส้นเลือดขอด
การเกิดเส้นเลือดขอดอาจไม่สามารถป้องกันได้ แต่สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดเส้นเลือดขอดได้ด้วยการเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและลดการตึงของกล้ามเนื้อ โดยสามารถทำตามวิธีการดังนี้
- หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูงหรือถุงน่องที่รัดแน่น เพื่อให้เลือดสามารถไหลเวียนได้สะดวก
- หลีกเลี่ยงการนั่งหรือการยืนในท่าเดิมเป็นเวลานาน เพื่อช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด
- หากต้องนั่งหรือยืนในท่าเดิมเป็นเวลานาน ควรยืดกล้ามเนื้อด้วยการลุกเดินไปรอบ ๆ หรือยกเท้าขึ้นสูงกว่าเอวเพื่อให้เลือดสามารถไหลเวียนได้สะดวก
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่อาจส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดลดลง
- หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- เลือกรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูงและมีเกลือในปริมาณที่ต่ำ