ความหมาย เส้นเลือดในสมองแตก
เส้นเลือดในสมองแตก หรือตีบตัน หรือโรคหลอดเลือดสมอง (Cerebrovascular Accident หรือ Stroke) เป็นภาวะที่สมองขาดเลือดและออกซิเจน เนื่องจากหลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือแตก เลือดจึงไม่สามารถไหลเวียนไปยังสมองได้ เมื่อเซลล์สมองถูกทำลายจนเซลล์ตาย จึงไม่สามารถควบคุมอวัยวะและระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายให้ทำงานได้ตามปกติ หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที อาจลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้มากขึ้น
อาการของเส้นเลือดในสมองแตก หรือตีบตัน
ลักษณะและความรุนแรงของอาการในผู้ป่วยแต่ละรายแตกต่างกันออกไปตามสภาพร่างกาย และขึ้นอยู่กับบริเวณที่เซลล์สมองได้รับความเสียหายด้วย อาการต่าง ๆ อาจเกิดขึ้นทันทีทันใด หรืออาจใช้เวลาหลายนาทีหรือหลายชั่วโมง ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ หรือนำตัวส่งแพทย์เมื่อมีอาการที่เป็นสัญญาณของเส้นเลือดในสมองแตก ดังนี้
- รู้สึกชาตามตัว หรืออวัยวะ แขนขาอ่อนแรง ขยับตัวไม่ได้ หรือเป็นอัมพาตครึ่งซีก
- ใบหน้าบิดเบี้ยว มุมปากตก น้ำลายไหล กลืนลำบาก พูดลำบาก พูดติดขัด สื่อสารไม่ได้ สับสนมึนงง และไม่เข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นพูด
- เสียสมดุลการทรงตัวและการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น เดินลำบาก เดินเซ ขยับแขนขาลำบาก
- มีปัญหาในการมองเห็น สายตาพร่ามัว มองไม่เห็น เห็นภาพซ้อน ตาบอดข้างเดียวในทันทีทันใด
- ในบางรายอาจพบอาการปวดหัวรุนแรงเฉียบพลัน เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย
สาเหตุของเส้นเลือดในสมองแตก หรือตีบตัน
เส้นเลือดอุดตัน (Ischemic Stroke)
ภาวะเส้นเลือดในสมองแตก หรือตีบตัน เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของโรคหลอดเลือดสมอง พบได้ประมาณ 80% เกิดจากลิ่มเลือดอุดตันในระบบไหลเวียนโลหิต หรืออาจเกิดจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบ ไม่ยืดหยุ่น และประสิทธิภาพในการลำเลียงเลือดลดลง ออกซิเจนในเลือดจึงไม่สามารถไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ในสมองได้ แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- Embolic Stroke เกิดลิ่มเลือดในเส้นเลือดตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย แล้วลิ่มเลือดไหลไปตามกระแสเลือดจนไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง
- Thrombotic Stroke เกิดจากลิ่มเลือดก่อตัวในหลอดเลือดสมองและขยายใหญ่ขึ้นจนอุดตันหลอดเลือดสมอง
เส้นเลือดแตก (Hemorrhagic Stroke)
เส้นเลือดในสมองแตก หรือฉีกขาด พบได้ประมาณ 20% ของโรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากหลอดเลือดมีความเปราะบางร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้บริเวณที่เปราะบางนั้นโป่งพองและแตกออก หรืออาจเกิดจากหลอดเลือดเสียความยืดหยุ่นจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด หลอดเลือดจึงปริแตกได้ง่าย ซึ่งเป็นอันตรายมาก เนื่องจากทำให้ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองลดลงอย่างเฉียบพลัน เกิดภาวะเลือดออกในสมอง ส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดเส้นเลือดในสมองแตก หรือตีบตัน ได้แก่
- ความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของโรคหลอดเลือดสมอง
- มีไขมันในเลือดสูง เพราะมีไขมันสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือด กีดขวางการลำเลียงเลือด ทำให้เกิดหลอดเลือดแข็งทั่วร่างกาย
- ป่วยด้วยโรคเบาหวาน มีน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้เกิดหลอดเลือดแข็งทั่วร่างกาย
- การสูบบุหรี่ ใช้ยาเสพติด หรือดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก เพราะนิโคตินและคาร์บอนมอนนอกไซด์ทำให้ปริมาณออกซิเจนลดลง และเป็นตัวทำลายผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็ง
- ผู้ป่วยหรือบุคคลในครอบครัวเคยมีประวัติเส้นเลือดในสมองแตก หรือป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง
- ป่วยด้วยภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง หรือมีไขมันอุดตันในผนังหลอดเลือดแดง
- ป่วยด้วยโรคหัวใจ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary Artery Disease) โรคหัวใจผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นสาเหตุของการเกิดลิ่มเลือดที่จะไปอุดตันหลอดเลือดสมองได้
- การใช้ยาคุมกำเนิด
- การขาดการออกกำลังกาย
- อายุมากขึ้น หลอดเลือดจะเสื่อมตามไปด้วย
- โรคหรือภาวะที่ทำให้เลือดแข็งตัวเร็วกว่าปกติ ส่งผลให้มีลิ่มเลือดเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าปกติ
การวินิจฉัยเส้นเลือดในสมองแตก หรือตีบตัน
เมื่อผู้ป่วยถูกนำส่งแพทย์ และแพทย์มีข้อสงสัยว่าผู้ป่วยอาจมีอาการของเส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบตัน จะตรวจวินิจฉัยเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
- ตรวจร่างกายและทดสอบสมรรถภาพด้านต่าง ๆ เช่น การมองเห็น การพูด การรับความรู้สึก ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ กำลังของกล้ามเนื้อ อาการชาบริเวณต่าง ๆ และปฏิกิริยาการตอบสนองต่อสิ่งเร้า
- ตรวจความดันโลหิต ผู้ป่วยมักมีความดันสูงหากเส้นเลือดในสมองแตก
หลังจากนั้น แพทย์จะส่งตรวจเพิ่มเติม เพื่อบ่งชี้หาตำแหน่งของสมองและหลอดเลือดที่ผิดปกติ รวมถึงภาวะและสาเหตุที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง หรือภาวะเส้นเลือดในสมองแตก หรือตีบตัน ด้วยวิธีการดังนี้
- ตรวจเลือด แพทย์จะเจาะเลือดผู้ป่วยเพื่อตรวจหากลไกการแข็งตัวของเลือด ระดับน้ำตาลในเลือด หรือการติดเชื้อในกระแสเลือดที่อาจส่งผลให้เกิดเส้นเลือดในสมองแตก
- ตรวจเอกซเรย์หลอดเลือดสมอง (Angiogram) แพทย์จะฉีดสารย้อมสีเข้าสู่เส้นเลือด จากนั้นจึงฉายภาพเอกซเรย์ส่วนศีรษะเพื่อหาจุดที่เส้นเลือดในสมองแตกหรืออุดตัน
- ตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ใช้รังสีจากเครื่อง CT Scan ฉายไปยังบริเวณศีรษะ แล้วสร้างภาพออกมาด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยลักษณะและตำแหน่งที่เส้นเลือดในสมองแตกหรืออุดตัน
- ตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan) การตรวจคล้ายกับ CT Scan แต่เครื่องจะสร้างภาพจากสนามแม่เหล็กที่ส่งคลื่นไปรอบ ๆ ตัวผู้ป่วยในขณะตรวจ และภาพที่ออกมาจะมีรายละเอียดที่ชัดเจนกว่า CT Scan
- ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: EKG) ด้วยการติดขั้วไฟฟ้าบริเวณหน้าอก แพทย์จะตรวจหาความผิดปกติผ่านทางจอภาพที่แสดงจังหวะการเต้นของหัวใจ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดเส้นเลือดอุดตันหรือเส้นเลือดในสมองแตก
- ตรวจหลอดเลือดใหญ่ที่คอ (Carotid Ultrasound) เป็นการตรวจการไหลเวียนของเลือดในเส้นเลือดบริเวณลำคอที่ทำหน้าที่ส่งเลือดไปเลี้ยงสมอง ด้วยการใช้คลื่นเสียงความถี่สูง
- ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) เป็นเทคนิคการใช้คลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงสร้างเป็นภาพหัวใจ แพทย์จะศึกษาและวินิจฉัยการทำงานของหัวใจจากภาพนั้น ซึ่งอาจพบความผิดปกติที่เป็นสาเหตุสำคัญของเส้นเลือดอุดตันหรือเส้นเลือดในสมองแตก
การรักษาเส้นเลือดในสมองแตก หรือตีบตัน
การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง ว่าเป็นเส้นเลือดในสมองตีบตัน หรือเส้นเลือดในสมองแตก โดยมีแนวทางการรักษาที่แตกต่างกัน ดังนี้
Ischemic Stroke: เส้นเลือดถูกลิ่มเลือดอุดตันในระบบไหลเวียนโลหิต ทำให้ออกซิเจนในเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ในสมองได้ เป้าหมายของการรักษาคือทำให้เลือดไหลเวียนได้อย่างปกติ โดยทางเลือกในการรักษามีหลายวิธี ดังนี้
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulant) เป็นยาที่ช่วยต้านการแข็งตัวของเลือด ป้องกันการแข็งตัวของเลือดจนเกิดลิ่มเลือดอุดตันในกระแสเลือด
- ยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelet) ขัดขวางการจับตัวกันของเกล็ดเลือด และการเกาะตัวของเกล็ดเลือดกับผนังหลอดเลือด ซึ่งจะทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน เช่น แพทย์อาจจ่ายยาแอสไพรินเพื่อป้องกันการเกิดเส้นเลือดในสมองอุดตันซ้ำอีก
- ยาสลายลิ่มเลือด (Thrombolytic) ช่วยสลายลิ่มเลือดที่ก่อตัวขึ้น และฟื้นฟูให้ระบบเลือดไหลเวียนได้ตามปกติ ซึ่งพบว่ายานี้จะรักษาได้ผลดีกับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่รีบมาพบแพทย์ภายในระยะเวลาไม่เกิน 4.5 ชั่วโมงนับจากมีอาการ
อย่างไรก็ตาม หากเป็นกรณีฉุกเฉินที่ผู้ป่วยเกิดเส้นเลือดอุดตันในสมอง แพทย์อาจฉีดยาเข้าสู่สมอง หรืออาจผ่าตัดรักษาในบริเวณที่เกิดเส้นเลือดอุดตันในสมองแทน
Hemorrhagic Stroke: เส้นเลือดในสมองแตก ฉีกขาด หรือได้รับความเสียหาย ทำให้ออกซิเจนในเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ในสมองได้ เป้าหมายของการรักษาคือ ควบคุมปริมาณเลือดที่ออกด้วยการรักษาระดับความดันโลหิต ในกรณีที่เลือดออกมาก แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดเพื่อป้องกันความเสียหายต่อสมองด้วย
ภาวะแทรกซ้อนของเส้นเลือดในสมองแตก หรือตีบตัน
อาการที่อาจเกิดขึ้นหลังเส้นเลือดในสมองแตก หรือตีบตัน ซึ่งสามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ภายในเวลาหลายสัปดาห์ หลายเดือน หรืออาจหลายปีให้หลัง ได้แก่
- มีความยากลำบากในการพูด พูดติดขัด สื่อสารไม่ได้ และกลืนอาหารลำบาก
- มีความยากลำบากในกระบวนการคิด สับสนมึนงง และไม่เข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นพูด
- มีปัญหาในการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น เดินลำบาก ขยับแขนขาลำบาก แขนขาชา หรือเป็นอัมพาต
แต่หากผู้ป่วยได้รับการรักษาล่าช้า หรือมีอาการรุนแรงและเกิดเส้นเลือดในสมองแตกบริเวณที่สำคัญ ผู้ป่วยอาจเสี่ยงเผชิญกับภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ เช่น
- ระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างกะทันหัน อาจทำให้เซลล์สมองเกิดความเสียหาย
- ความดันโลหิตสูง ซึ่งกระตุ้นการไหลเวียนเลือดไปสู่สมอง ส่งผลกระทบต่อสมองบริเวณที่มีเส้นเลือดแตกให้ยิ่งเกิดความเสียหาย
- มีไข้สูง ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของภาวะติดเชื้อ เช่น ปอดอักเสบ ทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ เป็นต้น
- เกิดลิ่มเลือดอุดตันบริเวณขา และลิ่มเลือดอาจเคลื่อนตัวไปอุดตันที่ปอดจนเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด (Pulmonary Embolism)
- เกิดอาการชัก
- ความดันในสมองเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้สมองบวม
- ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (Hydrocephalus) จากของเหลวหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังที่ถูกผลิตออกมามากเกินไป
- เส้นเลือดสมองบริเวณใกล้เคียงกับจุดที่มีเส้นเลือดในสมองแตกเกิดการหดเกร็ง (Vasospasm) อาจทำให้สมองตายจากการขาดเลือด
- ภาวะโคม่า (Coma) ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัว ไม่รับรู้ และไม่มีสติ เนื่องจากสมองขาดเลือดและออกซิเจนเป็นเวลานาน
- อาจเกิดเส้นเลือดในสมองแตกในบริเวณอื่น ๆ เพิ่มอีก
การป้องกันเส้นเลือดในสมองแตก หรือตีบตัน
เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่ทำให้เกิดเส้นเลือดในสมองแตก การป้องกันอาการเหล่านี้จึงเกี่ยวเนื่องไปถึงการดูแลระบบไหลเวียนโลหิตและการทำงานของหัวใจให้เป็นไปตามปกติ เช่น
- ตรวจความดันโลหิตและควบคุมความดันให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมสม่ำเสมอ สำหรับผู้ป่วยที่ต้องใช้ยารักษาควบคุมความดันโลหิต ต้องรับประทานยาอย่างถูกต้องเป็นประจำตามคำสั่งแพทย์
- หมั่นตรวจและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- หากป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ควรเข้ารับการรักษา รับประทานยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- ตรวจหาระดับไขมันในเลือด และควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารที่เต็มไปด้วยไขมัน หรือจำกัดปริมาณ
- ควบคุมน้ำหนักและรูปร่างให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารจำพวกผักและผลไม้
- รักษาสุขภาพ หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ
- ไม่สูบบุหรี่และงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอดี ไม่ดื่มมากหรือบ่อยจนเกินไป
- ในบางกรณี แพทย์อาจจ่ายยาแก่ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นยาที่ช่วยต้านการแข็งตัวของเลือด ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในกระแสเลือด