เหงือกบวม (Swollen gum)

ความหมาย เหงือกบวม (Swollen gum)

เหงือกบวม (Swollen gum) เป็นอาการที่เหงือกมีลักษณะบวมโต มีสีแดงเข้มกว่าปกติ และมักเกิดขึ้นบริเวณรากฟัน เมื่อเหงือกบวมมักทำให้มีอาการปวด ระคายเคือง หรือเสียวฟัน รวมทั้งอาจมีเลือดออกได้ง่ายในขณะแปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟัน ในบางครั้งอาจมีอาการเหงือกบวมจนบังหรือปกคลุมฟันในบริเวณนั้น

เหงือก คือ อวัยวะสำคัญที่อยู่บริเวณรากฟัน เป็นเนื้อเยื่อหนาสีชมพูและเต็มไปด้วยเส้นเลือดภายในที่ครอบกระดูกขากรรไกรไว้ เมื่อเหงือกบวมโตผิดปกติ อาจเกิดผลกระทบต่อเนื้อเยื่อและอวัยวะอื่น ๆ ด้วย ผู้ป่วยจึงควรสังเกตอาการเหงือกบวม แล้วหาทางรักษาบรรเทาอาการหรือไปพบทันตแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา โดยไม่ควรปล่อยให้อาการนั้นลุกลามหรือเรื้อรัง เพราะอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงต่อไปได้

Swollen Gum

สาเหตุของเหงือกบวม

เหงือกบวมอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • เหงือกอักเสบ (Gingivitis) มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เนื่องจากไม่รักษาความสะอาดภายในช่องปาก ทำให้มีคราบพลัคจากแบคทีเรียและเศษอาหารก่อตัวขึ้นปกคลุมเนื้อฟัน เมื่อคราบก่อตัวเป็นเวลานานอาจกลายเป็นหินปูน ซึ่งอาจทำให้เหงือกบวมและอักเสบได้ 
  • การติดเชื้อราหรือเชื้อไวรัส อาจเป็นเหตุทำให้เหงือกบวมได้ เช่น การเจริญเติบโตของเชื้อราในช่องปากมากเกินไป หรือการเป็นโรคเริมในช่องปากชนิดเฉียบพลัน ซึ่งเป็นการติดเชื้อไวรัส ทำให้มีแผลในช่องปาก ริมฝีปาก และเหงือกบวมได้
  • ภาวะทุพโภชนาการ หากร่างกายขาดสารอาหารต่าง ๆ เช่น ขาดวิตามิน B และวิตามิน C ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และบำรุงสุขภาพเหงือกและฟันให้แข็งแรง หากขาดวิตามินเหล่านี้ อาจทำให้เกิดเหงือกบวมได้
  • การตั้งครรภ์ การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนระหว่างการตั้งครรภ์อาจเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในเหงือกด้วย ซึ่งอาจทำให้เหงือกระคายเคืองและบวมโตได้ นอกจากนั้น ฮอร์โมนในขณะตั้งครรภ์อาจลดสมรรถภาพร่างกายในการต้านทานเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดเหงือกอักเสบได้เช่นกัน

นอกจากนี้ อาจมีสาเหตุอื่น ๆ ที่เป็นปัจจัยทำให้เหงือกบวม เช่น

  • การใส่ฟันปลอมที่ไม่ได้คุณภาพ หรือการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในช่องปาก
  • เศษอาหารติดเหงือก
  • โรคฟันผุที่ลุกลามถึงชั้นโพรงประสาทฟัน
  • โรคมะเร็งเหงือกหรือมะเร็งในช่องปาก
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น เฟนิโทอิน (Phenytoin) ไซโคลสปอริน (Cyclosporine) กลุ่มยารักษาควบคุมความดันโลหิตที่ปิดกั้นแคลเซียม อย่างแอมโลดิปีน (Amlodipine) ไนเฟดิปีน (Nifedipine) เวอราปามิล (Verapamil) และดิลไทอะเซม (Diltiazem) 

อาการเหงือกบวม

อาการเหงือกบวมอาจสังเกตได้จากลักษณะต่าง ๆ ดังนี้

  • เหงือกขยายใหญ่ บวมโตขึ้น อาจนูนออกมาเป็นบางส่วน หรืออาจบวมโตจนบังฟันในบริเวณนั้น
  • เหงือกที่บวมเปลี่ยนเป็นสีแดงก่ำเข้มกว่าปกติ

นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการเหงือกบวมอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดเหงือก เหงือกระคายเคือง เสียวฟัน มีเลือดออกตามไรฟันในขณะแปรงฟันหรือขัดฟัน

อาการเหงือกบวมที่ควรไปพบแพทย์

หากมีอาการเหงือกบวมเกิดขึ้นแล้วทำให้เกิดความเจ็บปวด สร้างความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน หรือมีอาการอย่างต่อเนื่องเรื้อรังเกินกว่า 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยควรรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาต่อไป

การวินิจฉัยเหงือกบวม

เมื่อไปพบทันตแพทย์ แพทย์จะทำการตรวจภายในช่องปาก เหงือก และฟัน อีกทั้งยังอาจสอบถามอาการที่เกิดขึ้น เช่น มีอาการมานานเพียงใด อาการเป็นอย่างไร มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่ กำลังตั้งครรภ์หรือไม่ กำลังใช้ยารักษาตัวใดอยู่

หากทันตแพทย์มีข้อสงสัยถึงอาการป่วยอื่น ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของอาการเหงือกบวม แพทย์อาจทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีการอื่น ๆ เช่น การตรวจเลือด การเอกซเรย์ช่องปาก เพื่อให้ทราบสาเหตุของอาการป่วยและเป็นประโยชน์ในการวางแผนรักษาต่อไป

การรักษาเหงือกบวม

การรักษาเหงือกบวมสามารถทำได้ด้วยตัวเอง และเข้ารับการรักษาจากทันตแพทย์

การรักษาบรรเทาอาการเหงือกบวมด้วยตนเอง

หากเป็นเหงือกบวมที่เกิดจากสาเหตุปัจจัยที่ไม่เป็นอันตราย ผู้ป่วยสามารถดูแลบรรเทาอาการและความเจ็บปวดที่อาจเกิดขึ้นจากเหงือกบวมได้ด้วยตนเองที่บ้าน เช่น

  • แปรงฟันให้สะอาดสม่ำเสมออย่างถูกวิธี ใช้ไหมขัดฟันเพื่อกำจัดสิ่งสกปรกที่ตกค้างอยู่ตามร่องฟันด้วย และนวดตามแนวเหงือกเบา ๆ ด้วยยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ เพื่อช่วยขจัดคราบพลัคและเศษอาหารที่เกาะตามฟัน
  • บ้วนปากด้วยน้ำเกลือเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียภายในช่องปาก
  • ดื่มน้ำสะอาดในปริมาณมาก น้ำเปล่าจะช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำลาย ซึ่งจะช่วยฆ่าแบคทีเรียในช่องปากที่เป็นสาเหตุของเหงือกบวม
  • ประคบอุ่นบนใบหน้าบริเวณที่เหงือกบวมและมีอาการปวด เพื่อบรรเทาอาการปวดและลดอาการบวม

การรักษาอาการเหงือกบวมโดยแพทย์

หากมีอาการเหงือกบวมรุนแรง ผู้ป่วยควรไปพบทันตแพทย์ ซึ่งทันตแพทย์จะวางแผนให้การรักษาตามความเหมาะสมกับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ เช่น

  • การขูดหินปูนและเกลารากฟัน เพื่อกำจัดคราบพลัค หินปูนที่เกาะอยู่ตรงรากฟัน หรือหนองอักเสบในบริเวณนั้นให้หมดไป
  • การใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาภาวะติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจเป็นยาปฏิชีวนะในรูปแบบยาบ้วนปาก ยารับประทาน หรือยารักษาที่ใช้ในบริเวณที่เหงือกบวมโดยตรง
  • การผ่าตัด หากรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล ทันตแพทย์อาจผ่าตัดรักษาเหงือกในบริเวณที่มีปัญหา แล้วนำเอาเนื้อเยื่อที่เสียหายออกมา เพื่อป้องกันการเกิดความเสียหายแก่เนื้อเยื่อและกระดูกบริเวณใกล้เคียง และทำให้ง่ายต่อการดูแลรักษาความสะอาดในอนาคต

ภาวะแทรกซ้อนของเหงือกบวม

ในบางครั้ง เหงือกบวมอาจพัฒนาไปสู่ภาวะอาการป่วยที่รุนแรงขึ้นได้ หากไม่ได้รับการรักษาดูแลอาการอย่างถูกต้องเหมาะสม เช่น

  • โรคปริทันต์อักเสบ ซึ่งเป็นโรคเหงือกอักเสบที่รุนแรง และทำให้มีอาการต่าง ๆ เช่น ลมหายใจมีกลิ่น เหงือกมีเลือดออก เจ็บขณะเคี้ยวอาหาร ฟันหลุด
  • ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง

การป้องกันเหงือกบวม

การป้องกันเหงือกบวมสามารถทำได้หลายวิธี เช่น

  • ดูแลรักษาความสะอาดสุขภาพปากและฟัน โดยการแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หรือหลังการรับประทานอาหาร ใช้น้ำยาบ้วนปาก หรือไหมขัดฟัน เพื่อช่วยทำความสะอาดเหงือกและฟัน ป้องกันการเกิดคราบสกปรกสะสม
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ตามโภชนาการที่ร่างกายควรได้รับ โดยเฉพาะอาหารที่ให้สารอาหารจำพวกวิตามินซี แคลเซียม กรดโฟลิก
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวาน มีน้ำตาลสูง
  • ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ น้ำหวาน น้ำอัดลม และไม่สูบบุหรี่

ทั้งนี้ ควรไปพบทันตแพทย์เป็นประจำทุก ๆ 6 เดือน เพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก และรับการขูดหินปูนเพื่อกำจัดคราบฟัน นอกจากนี้ การไปพบทันตแพทย์เป็นประจำอาจช่วยให้ตรวจเจอปัญหาสุขภาพภายในช่องปากได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งจะช่วยให้ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วและป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงขึ้นได้