เหงือกอักเสบ (Gingivitis)

ความหมาย เหงือกอักเสบ (Gingivitis)

เหงือกอักเสบ (Gingivitis) เป็นภาวะอักเสบของเหงือกที่เกิดขึ้นจากการที่บริเวณรอยต่อของเหงือกและฟันมีคราบพลัค คราบหินปูน และแบคทีเรียไปสะสมอยู่ จนส่งผลให้เหงือกเกิดการระคายเคือง บวม และแดง

เหงือกอักเสบเป็นภาวะแรกเริ่มของโรคเหงือกที่พบได้ค่อนข้างบ่อยแต่อาการอาจยังไม่ค่อยรุนแรง อย่างไรก็ตาม หากถูกปล่อยทิ้งไว้และไม่ได้รับการรักษา ภาวะเหงือกอักเสบอาจนำไปสู่ปัญหาทางช่องปากและฟันได้ ตั้งแต่โรคปริทันต์อักเสบ ไปจนถึงการสูญเสียฟันบางซี่

Gingivitis

อาการของเหงือกอักเสบ

โดยปกติ เหงือกที่มีสุขภาพดีจะมีสีชมพูอ่อนและมีความแข็งแรง แต่สำหรับผู้ที่มีภาวะเหงือกอักเสบจะพบว่าเหงือกมีลักษณะดังต่อไปนี้ 

  • เหงือกบวม 
  • เหงือกมีสีแดงเข้ม 
  • เหงือกมีหนอง
  • มีเลือดออกได้ง่าย 
  • เหงือกนิ่มผิดปกติ หรือเหงือกร่น
  • เหงือกไวต่อความร้อนหรือเย็นจัด
  • รู้สึกเจ็บขณะเคี้ยวอาาร
  • เลือดออกได้ง่ายเมื่อแปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟัน บางครั้งจะเห็นสีแดงหรือชมพูติดอยู่ที่แปรงสีฟันหรือไหมขัดฟัน
  • มีกลิ่นปาก หรือรู้สึกมีรสชาติที่ไม่ดีภายในปาก
  • เหงือกมีหนอง
  • ฟันโยก

ทั้งนี้ เหงือกอักเสบอาจไม่ส่งผลให้ผู้ที่ป่วยรู้สึกถึงอาการเจ็บปวดใด ๆ ผู้ป่วยหลายคนจึงอาจไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะนี้อยู่ แต่ภาวะนี้อาจนำไปสู่ปัญหาทางช่องปากและฟันอื่น ๆ ได้ ดังนั้น ผู้ที่เริ่มสังเกตพบอาการในลักษณะข้างต้น ควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ

สาเหตุของเหงือกอักเสบ

สาเหตุที่พบได้บ่อยของภาวะเหงือกอักเสบคือ การดูแลสุขอนามัยในช่องปากที่ไม่ดี จนทำให้เกิดคราบพลัคขึ้น ซึ่งคราบพลัคก็คือคราบจุลินทรีย์บนผิวฟัน มีลักษณะเหมือนฟิล์มที่เคลือบฟันเอาไว้ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยเชื้อแบคทีเรีย

เมื่อคราบพลัคอยู่ที่ฟันยาวนานมากกว่า 2–3 วัน อาจส่งผลให้เกิดคราบหินปูนอยู่ตามร่องเหงือก และยิ่งมีคราบพลัคและหินปูนอยู่ที่ฟันยาวนานมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งส่งผลให้เหงือกเกิดความระคายเคืองมากเท่านั้น จนเมื่อถึงเวลาหนึ่ง เหงือกก็จะเกิดอาการบวมและมีเลือดออก จนกลายเป็นเหงือกอักเสบในที่สุด อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดฟันผุได้อีกด้วย

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเหงือกอักเสบ มีดังต่อไปนี้

  • พฤติกรรมการดูแลสุขภาพในช่องปากที่ไม่ดี
  • ปากแห้ง
  • สูบบุหรี่ หรือใช้สารเสพติด
  • อายุที่เพิ่มขึ้น
  • เป็นโรคเบาหวาน
  • มีภูมิคุ้มกันที่ต่ำลง อันเป็นผลมากจากลูคีเมียหรือโรคเอชไอวี
  • การใช้ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยารักษาอาการชัก (Anticonvulsant) และยาไดแลนติน (Dilantin)
  • มีการติดเชื้อไวรัสและเชื้อราบางชนิด
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ มีประจำเดือน หรือมีการใช้ยาคุมกำเนิด
  • การรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการไม่ครบถ้วน

การวินิจฉัยเหงือกอักเสบ

ในการวินิจฉัยภาวะเหงือกอักเสบ ทันตแพทย์จะตรวจสุขภาพฟัน เหงือก ปาก และลิ้นของผู้ป่วย เพื่อดูว่ามีอาการเลือดออก ฟันโยก เหงือกบวมแดง เหงือกร่น หรือมีคราบพลัคและหินปูอยู่หรือไม่ 

หากว่ายังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของเหงือกอักเสบ ทันตแทย์อาจแนะนำให้มีการประเมินผลทางการแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

  • การเอกซเรย์บริเวณขากรรไกร เพื่อตรวจดูความผิดปกติต่าง ๆ
  • ตรวจดูความแข็งแรงของเหงือก และช่องว่างระหว่างเหงือกและฟันมีขนาดใหญ่หรือลึกหรือไม่
  • ประเมินการเคลื่อนที่ของฟันและการตอบสนองต่อการเสียวฟัน หรือตำแหน่งของฟัน

การรักษาเหงือกอักเสบ

ในการรักษาภาวะเหงือกอักเสบ ทันตแพทย์จะเน้นไปที่การควบคุมการติดเชื้อ และช่วยรักษาสภาพเหงือกให้กลับไปมีสุขภาพดีเหมือนเดิมด้วยการทำความสะอาดช่องปากเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรีย คราบพลัค และหินปูน โดยภายหลังการรักษา ผู้ป่วยก็ยังคงต้องดูแลสุขภาพความสะอาดของช่องปากด้วยตัวเองที่บ้านต่อไปเพื่อผลการรักษาที่เห็นผล

นอกจากนี้ ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องรับการรักษาด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับอาการ ความรุนแรง และดุลยพินิจของทันตแพทย์ โดยตัวอย่างการรักษาที่ทันตแพทย์อาจใช้ เช่น การครอบฟันหรืออุดฟัน การใช้ยาแก้ปวดยาพาราเซตามอล (Paracetamol) และยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ช่วยลดอาการปวดหรือรู้สึกไม่สบาย หรือการใช้น้ำยาบ้วนปากในระหว่างวัน

ภาวะแทรกซ้อนของเหงือกอักเสบ

เหงือกอักเสบที่ไม่ได้รับการรักษา อาจนำไปสู่ภาวะเยื่อหุ้มฟันอักเสบที่ลามไปยังเนื้อเยื่อและกระดูก ซึ่งสามารถทำให้สูญเสียฟันได้ในที่สุด

นอกจากนี้ เยื่อหุ้มฟันอักเสบและพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากที่ไม่ดียังอาจมีผลกับสุขภาพร่างกายโดยรวม ซึ่งแม้ยังไม่เป็นที่เข้าใจหรือยืนยันกันอย่างแน่ชัด แต่สำหรับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ การเป็นโรคเหงือกอักเสบอาจมีความเกี่ยวข้องกับโรคเหล่านี้ได้

การป้องกันเหงือกอักเสบ

การป้องกันภาวะเหงือกอักเสบที่ดีที่สุด คือการให้ผู้ป่วยมีความเข้าใจในการรักษาสุขอนามัยของช่องปากอย่างถูกต้องด้วยการทำความสะอาดช่องปากทั้งการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันทุกวัน ครั้งละประมาณ 3–5 นาที โดยอาจจะใช้ไหมขัดฟันก่อนการแปรงฟันเพื่อช่วยกำจัดเศษอาหารที่ตกค้างและแบคทีเรียได้มีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้น ควรพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อทำความสะอาดช่องปากจากแพทย์ ทุก ๆ 6–12 เดือน แต่หากมีความเสี่ยงที่จะมีโอกาสเป็นเหงือกอักเสบ อาจต้องพบและทำการทำความสะอาดช่องปากจากทันตแพทย์บ่อยครั้งขึ้น