ความหมาย เหนื่อยง่าย
เหนื่อยง่าย คือ ภาวะที่ร่างกายมีพลังงานน้อยกว่าปกติจนส่งผลให้รู้สึกเหนื่อย โดยอาจเกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ ปัญหาทางสุขสภาพจิต การรับประทานยาบางชนิด หรือภาวะความเจ็บป่วย ซึ่งแม้อาการเหนื่อยจะเป็นภาวะปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย และสามารถกลับมารู้สึกสดชื่นได้อีกครั้งหลังจากนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ แต่อาการเหนื่อยที่เกิดขึ้นติดต่อกันนานหลายสัปดาห์นั้นอาจเป็นสัญญาณปัญหาสุขภาพได้
อาการเหนื่อยง่าย
อาการเหนื่อยที่ไม่ดีขึ้นแม้จะนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ หรืออาการเหนื่อยต่อเนื่องนาน 3-4 สัปดาห์ อาจบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ โดยเฉพาะเมื่อมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนี้
- มีเหงื่อออกในตอนกลางคืน ทั้ง ๆ ที่อุณหภูมิห้องปกติและไม่มีไข้
- หายใจลำบาก
- ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลดลง
- มีเมือกใสในโพรงจมูกหรือปาก
- กระหายน้ำ
- ต่อมน้ำเหลืองบวมโต
ทั้งนี้ หากมีอาการที่เป็นภาวะเร่งด่วนต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
- หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
- เจ็บหน้าอก
- หายใจไม่อิ่ม
- รู้สึกคล้ายจะเป็นลม
- ปวดท้อง ปวดหลัง หรือปวดบริเวณกระดูกเชิงกรานอย่างรุนแรง
- อาเจียนเป็นเลือด หรือมีเลือดออกทางทวารหนัก
- มีอาการบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพจิต เช่น มีความคิดอยากฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตนเอง รวมทั้งคิดทำร้ายผู้อื่น
สาเหตุของอาการเหนื่อยง่าย
โรคหรือภาวะความเจ็บป่วยหลายชนิดอาจเป็นสาเหตุให้มีอาการเหนื่อยง่ายได้ ดังนี้
- ภาวะตั้งครรภ์ เหนื่อยง่ายเป็นหนึ่งในอาการระยะแรกเริ่มของหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากในช่วง 3 เดือนแรก ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนขึ้นมามาก โดยมีอาการปรากฏร่วมกับสัญญาณบ่งบอกถึงการตั้งครรภ์ เช่น ประจำเดือนขาด เจ็บหน้าอก คลื่นไส้ ปัสสาวะบ่อย เป็นต้น
- เบาหวาน ผู้ป่วยโรคนี้มีอาการหลักคืออ่อนเพลียและเหนื่อยล้า นอกจากนี้ อาจกระหายน้ำ ปวดปัสสาวะบ่อย และน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว ผู้ที่เหนื่อยง่ายและสงสัยว่าตนเองอาจเป็นโรคเบาหวานควรรับการตรวจและรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้อาการแย่ลง
- การขาดธาตุเหล็ก หรือภาวะโลหิตจาง เป็นภาวะที่ทำให้รู้สึกเหน็ดเหนื่อยและไร้เรี่ยวแรง เนื่องจากธาตุเหล็กเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง หากมีเซลล์เม็ดเลือดแดงไม่เพียงพอจะทำให้เลือดไม่สามารถส่งออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ นอกจากนี้ อาจทำให้มีอาการหายใจไม่อิ่ม ใจสั่น และตัวซีดร่วมด้วย
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ พบบ่อยในชายวัยกลางคนและผู้มีน้ำหนักตัวมาก สาเหตุเกิดจากช่องคอที่แคบกว่าปกติหรือปิดลงขณะหลับ ทำให้หายใจลำบากและรบกวนการนอน เนื่องจากร่างกายจะมีปฏิกิริยาตอบสนองด้วยการกระตุ้นให้ตื่นเพื่อพยายามหายใจ ซึ่งการตื่นขึ้นมาบ่อย ๆ ในตอนกลางคืนจะส่งผลให้รู้สึกเหนื่อยและอ่อนเพลียในช่วงเวลากลางวัน นอกจากนี้ ภาวะนี้ยังอาจส่งผลให้ระดับออกซิเจนในเลือดลดลงและเกิดเสียงกรนรบกวนผู้อื่นขณะนอนหลับ
- ภาวะขาดไทรอยด์ อาการอ่อนเพลียและเหนื่อยง่ายเป็นอีกอาการโดยทั่วไปของผู้ป่วยภาวะขาดไทรอยด์หรือไฮโปไทรอยด์ โดยจะแสดงอาการอย่างช้า ๆ ทำให้ไม่อาจสังเกตได้ในทันที ผู้ป่วยอาจมีน้ำหนักตัวเพิ่ม มีภาวะซึมเศร้า รู้สึกเจ็บหรือปวดกล้ามเนื้อร่วมด้วย
- ภาวะซึมเศร้า ผู้ที่มีภาวะนี้มักรู้สึกเหนื่อยและอ่อนล้ามาก อาจมีอาการนอนไม่หลับ หลับยาก และตื่นเช้ากว่าปกติ รวมทั้งรู้สึกสิ้นหวัง วิตกกังวล มีแรงขับทางเพศต่ำ หรือมีอาการเจ็บปวดตามร่างกาย
- ภาวะเหนื่อยเรื้อรัง อาการเหนื่อยอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 6 เดือนโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจแสดงถึงภาวะเหนื่อยเรื้อรังได้ โดยจะรู้สึกเหนื่อยแม้นอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ อาจมีอาการบ่งชี้อื่น ๆ เช่น เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้อและข้อต่อ มักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุ 20 ปีต้น ๆ ถึง 40 ปีกลาง ๆ และพบในเด็กอายุระหว่าง 13-15 ปี ได้เช่นกัน
- โรคลมหลับ หรือภาวะง่วงเกิน (Narcolepsy) เป็นภาวะที่ทำให้ผู้ป่วยหลับอย่างกะทันหัน มีอาการง่วงนอนมากเกิดขึ้นหลายครั้งในแต่ละวัน และอาจหลับไปทั้ง ๆ ที่กำลังทำกิจกรรมต่าง ๆ อยู่ โรคนี้มักพบในช่วงอายุ 10-25 ปี
- หนี้การนอน (Sleep Debt) ภาวะที่ร่างกายได้รับการพักผ่อนไม่เพียงพอเป็นเวลาติดต่อกันนาน ทำให้รู้สึกเหนื่อย อ่อนล้า และอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลสูงขึ้น ส่งผลให้ต่อมหมวกไตทำงานหนักเกินไป หรือมีภาวะดื้ออินซูลิน อันเป็นสาเหตุของระดับน้ำตาลในเลือดสูงและนำไปสู่โรคเบาหวาน
- การติดเชื้อ เช่น โรคหวัด ผู้ป่วยมักรู้สึกเหนื่อยติดต่อกันนาน 1-2 สัปดาห์หลังจากไข้ลดลงแล้ว รวมถึงโรคติดเชื้ออื่น ๆ เช่น ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ ไวรัสตับอักเสบ โรคเอดส์ เป็นต้น
- มีปัญหาเกี่ยวกับระบบการเผาผลาญพลังงาน กระบวนการเผาผลาญพลังงานหรือเมตาบอลิซึมที่ต่ำกว่าปกติอาจทำให้รู้สึกเหนื่อย อ่อนล้า และต้องการนอนพักผ่อน อีกทั้งอาจแสดงถึงภาวะขาดไทรอยด์ ส่วนกระบวนการเมตาบอลิซึมที่สูงกว่าปกตินั้นอาจส่งผลให้รู้สึกเหนื่อย และเป็นอาการจากโรคไทรอยด์เป็นพิษได้
นอกจากนี้ พฤติกรรมการใช้ชีวิตหรือปัจจัยอื่น ๆ อาจส่งผลให้มีอาการเหนื่อยง่ายได้เช่นกัน ดังนี้
- การนอนดึก อาจทำให้ร่างกายอ่อนล้า รู้สึกเหนื่อยง่าย การเข้านอนและตื่นนอนเวลาเดียวกันเป็นประจำจะช่วยให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นและกระฉับกระเฉงยิ่งขึ้น
- การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินไป เช่น กาแฟ ชา หรือน้ำอัดลม อาจเป็นสาเหตุให้มีอาการนอนไม่หลับในตอนกลางคืนและรู้สึกเหนื่อย จึงควรจำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในระหว่างวัน และไม่ควรดื่มในตอนเย็น
- การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาทและพฤติกรรม ทั้งยังอาจมีผลกระทบต่อการรักษาทางแพทย์หรือทำปฏิกิริยากับยารักษาโรคบางชนิด
- การรับประทานยา ยาบางชนิดมีผลข้างเคียงเป็นอาการเหนื่อยง่าย เช่น ยาต้านซึมเศร้า ยาแก้แพ้ ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน และยาระงับอาการปวด
- การรักษาโรค เช่น การรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือรังสีรักษา อาจส่งผลข้างเคียงให้ผู้ป่วยรู้สึกอ่อนเพลียและเหนื่อยล้า
- การรับประทานอาหารขยะ อาหารจำพวกของทอดและของหวานนั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพ เนื่องจากไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ อีกทั้งยังประกอบด้วยไขมันและน้ำตาลสูง ทางที่ดีควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานและทำกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวันได้อย่างกระฉับกระเฉง
การวินิจฉัยอาการเหนื่อยง่าย
ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยอาการเหนื่อยติดต่อกันหลายสัปดาห์และไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นด้วยการซักถามประวัติ อาการ พฤติกรรมการนอน กิจกรรมในแต่ละวัน รวมถึงการออกกำลังกาย นอกจากนี้ ยังอาจมีการตรวจเพิ่มเติมตามดุลยพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจร่างกาย หรือการตรวจเลือด ดังนี้
- การตรวจร่างกาย แพทย์จะตรวจความสมส่วนของร่างกายด้วยการวัดน้ำหนักและส่วนสูงว่าสัมพันธ์กันหรือไม่ และอาจมีการตรวจอื่น ๆ ตามข้อสันนิษฐานจากอาการของผู้ป่วย เช่น
- ตรวจต่อมไทรอยด์ที่คอว่ามีขนาดใหญ่ขึ้นหรือไม่
- ตรวจต่อมน้ำเหลืองว่ามีอาการบวมขึ้นหรือไม่
- ตรวจดวงตาว่ามีภาวะซีดจากโรคโลหิตจางหรือไม่
- ตรวจข้อต่อว่ามีอาการบวมอักเสบหรือไม่
- ตรวจความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแขนและขา
- ฟังเสียงหน้าอก คลำและฟังเสียงช่องท้อง รวมถึงอวัยวะต่าง ๆ ในช่องท้อง
- การตรวจเลือด แพทย์ยังอาจพิจารณาให้ผู้ป่วยตรวจเลือด หากสงสัยว่าอาการเหนื่อยง่ายของผู้ป่วยเกิดจากโรคหรือภาวะบางอย่างต่อไปนี้
- เบาหวาน
- ภาวะขาดธาตุเหล็กหรือโลหิตจาง
- ภาวะขาดวิตามิน เช่น วิตามินบี 12 หรือวิตามินดี
- ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ
- อาการอักเสบในร่างกาย
- โรคแพ้กลูเตน ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อโปรตีนกลูเตนที่มีอยู่ในพืช
- การทำงานของตับหรือไตผิดปกติ
- ภาวะติดเชื้อบางชนิด เช่น ไข้ตาเหลืองตัวเหลือง (Glandular Fever)
- การตรวจอื่น ๆ กรณีที่ผู้ป่วยอาจมีปัญหาสุขภาพที่นอกเหนือจากข้างต้น แพทย์อาจต้องใช้การตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การเอกซเรย์อก การเก็บตัวอย่างปัสสาวะตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อวินิจฉัยโรคเบาหวานหรือการติดเชื้อ เป็นต้น
การรักษาอาการเหนื่อยง่าย
การรักษาภาวะเหนื่อยง่ายมุ่งเน้นที่สาเหตุอันก่อให้เกิดอาการนี้เป็นหลัก โดยหากมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพ แพทย์จะรักษาโรคหรือภาวะนั้น ๆ ต่อไป เช่น
- เหนื่อยง่ายจากภาวะโลหิตจาง แพทย์จะสั่งจ่ายธาตุเหล็กชนิดรับประทาน เพื่อให้เม็ดเลือดแดงกลับมาสมบูรณ์และอาการเหนื่อยบรรเทาลง
- เหนื่อยง่ายจากภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน การรับประทานยาไทรอยด์ฮอร์โมนเพื่อชดเชย จะช่วยให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นและกลับมามีเรี่ยวแรงอีกครั้ง
- เหนื่อยง่ายจากการรับประทานยารักษาโรคบางชนิด แพทย์อาจปรับเปลี่ยนยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วย
- เหนื่อยง่ายจากภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวล อาจต้องเข้ารับการบำบัดอาการด้วยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม การพูดคุย การให้คำปรึกษา หรือการรักษาด้วยยา
- หากแพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีภาวะเหนื่อยเรื้อรัง แพทย์อาจส่งตัวผู้ป่วยให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อหาแนวทางในการรักษา โดยอาจใช้การทำจิตบำบัด การออกกำลังกายอย่างเป็นลำดับขั้น หรือการรักษาด้วยยา
นอกจากนี้ การดูแลตนเองก็เป็นสิ่งสำคัญ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดังนี้
- ออกกำลังกาย เช่น เดิน ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เพื่อช่วยบรรเทาอาการเหนื่อยให้น้อยลง นอกจากนี้ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอยังส่งผลให้มีสุขภาพแข็งแรงขึ้น
- นอนหลับตอนกลางคืนให้เพียงพอ การนอนอย่างเต็มอิ่มในช่วงกลางคืนนับเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการงีบหลับระหว่างวันเพื่อชดเชยการอดนอนนั้นไม่ได้ช่วยบรรเทาอาการเหนื่อยและอ่อนเพลีย แต่อาจส่งผลให้นอนไม่หลับในตอนกลางคืนและนาฬิกาชีวิตรวน
- จัดการความเครียด ผู้ป่วยที่มีภาวะเครียดควรใช้เวลาคิดทบทวนเพื่อจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำ และควรหากิจกรรมคลายเครียด เช่น ไปเที่ยว นวดผ่อนคลาย เล่นเกม ฟังเพลง หรือออกกำลังกาย ควรหลีกเลี่ยงการเก็บความรู้สึกและความวิตกกังวลไว้คนเดียว อาจพูดคุยปรึกษาและขอคำแนะนำจากเพื่อน บุคคลในครอบครัว หรือนักจิตวิทยา เพื่อลดความเครียด
การป้องกันอาการเหนื่อยง่าย
อาการเหนื่อยง่ายป้องกันได้ด้วยการดูแลตนเองและปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตให้มีสุขภาพดี โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้
- บันทึกอาการเหนื่อยล้าระหว่างวันเพื่อสังเกตตนเองว่าช่วงไหนมีอาการเหนื่อยมากหรือน้อย
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายที่ทำให้รู้สึกเหนื่อยในระดับปานกลาง หรือการออกกำลังกายที่ใช้การทรงตัวผสมผสานกับการฝึกหายใจ เช่น รำไทเก็กหรือโยคะ อาจช่วยเพิ่มความอยากอาหารและทำให้รู้สึกมีเรี่ยวแรงยิ่งขึ้น
- หยุดสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคหลายชนิด เช่น มะเร็ง โรคหัวใจ ปัญหาการหายใจ ซึ่งล้วนส่งผลให้มีอาการเหนื่อยง่ายได้
- หลีกเลี่ยงการงีบหลับนานกว่า 30 นาทีในช่วงบ่ายของวัน เพราะอาจทำให้รู้สึกมึนงงและมีอาการนอนไม่หลับในตอนกลางคืน
- ขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานหรือคนรอบข้าง หากมีงานต้องทำมากเกินไป เนื่องจากตารางงานที่รัดแน่นอาจทำให้เครียดและเกิดความรู้สึกเหนื่อยล้าตามมา