ความหมาย เหน็บชา
เหน็บชา (Beriberi) คือ โรคที่มีสาเหตุมาจากการขาดวิตามินบี 1 หรือไธอามีน (Thiamine) ซึ่ง ร่างกายของมนุษย์ไม่สามารถสังเคราะห์เองได้ และต้องได้รับจากการรับประทานอาหารหรืออาหารเสริม โดยวิตามิน บี 1 จะมีหน้าที่ในการเร่งกระบวนการเผาผลาญอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเพื่อให้ได้น้ำตาลกลูโคส ซึ่งร่างกายต้องนำไปใช้ในการทำงาน การเจริญเติบโตและการเหนี่ยวนำของกระแสประสาทในร่างกาย ทำให้ร่างกายทำงานได้เป็นปกติ นอกจากนั้น วิตามิน บี 1 สามารถอยู่ในร่างกายมนุษย์ได้เพียง 30 มิลลิกรัม เท่านั้น พบมากในกล้ามเนื้อและกระจายตัวอยู่ในอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น สมอง หัวใจ ไต และตับ ครึ่งชีวิต (Half-life) ของวิตามิน บี 1 จะมีค่าประมาณ 9-18 วัน และจะถูกขับออกทางไต เมื่อร่างกายขาดวิตามิน บี 1 จะทำให้เป็นเหน็บชา และทำให้เกิดอาการหลัก ๆ ได้แก่ หอบเหนื่อย หัวใจเต้นเร็ว และตับโต เป็นต้น
ส่วนในประเทศไทย พบผู้ป่วยเหน็บชาได้บางส่วนทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะทารกที่เลี้ยงด้วยนมแม่และแม่มีภาวะขาดวิตามิน บี 1 หรือบริโภคอาหารที่ขาดวิตามิน บี 1 และยังพบได้บ่อยในผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง ผู้ที่รับประทานปลาร้าและอาหารดิบ
อาการเหน็บชา
เหน็บชาในกรณีนี้จะมีความแตกต่างจากอาการเหน็บชาที่พบได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ซึ่งอาการชาแบบนี้จะไม่มีอันตรายมากและสามารถแก้ไขได้ด้วยการเลี่ยงหรือเปลี่ยนอิริยาบถที่ทำให้เกิดอาการชา แต่โรคเหน็บชาที่กล่าวถึงนี้เกิดจากการขาดวิตามินบี 1 โดยอาการสามารถเกิดขึ้นได้หลายแบบขึ้นอยู่กับอายุและอวัยวะที่ได้รับผลกระทบ โดยแบ่งได้เป็น เหน็บชาในเด็ก (Infantile Beriberi) และเหน็บชาในผู้ใหญ่ (Adult Beriberi)
เหน็บชาในเด็ก
พบบ่อยในทารกอายุ 2-3 เดือน ที่รับประทานนมแม่และแม่มีภาวะขาดวิตามิน บี 1 หรือรับประทานอาหารที่ขาดวิตามิน บี 1 โดยมักพบว่ามีอาการหน้าเขียว หอบเหนื่อย ตัวบวม ขาบวม หัวใจโต หัวใจเต้นเร็ว ร้องไห้เสียงแหบหรือไม่มีเสียง บางรายอาจมีอาการตากระตุก หนังตาบนตก
และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิตได้ภายใน 2-3 ชั่วโมง
เหน็บชาในผู้ใหญ่
อาการที่เกิดขึ้นกับเด็กโตหรือผู้ใหญ่แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังต่อไปนี้
- เหน็บชาชนิดผอมแห็ง (Dry Beriberi) ผู้ป่วยจะมีอาการชาแบบไม่บวมดังต่อไปนี้
- เหน็บชาชนิดเปียก (Wet Beriberi) ผู้ป่วยจะมีอาการบวมร่วมกับอาการชาปลายมือปลายเท้า โดยมีอาการดังนี้
- ชาที่ปลายมือและปลายเท้า
- มีอาการบวม น้ำคั่งในช่องท้องและช่องปอด
- ขาส่วนล่างบวม
- หอบเหนื่อย
- หายใจตื้นขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ
- ตื่นนอนขึ้นมามีอาการหายใจตื้น
- หัวใจโตและเต้นเร็ว
- อาจทำให้หัวใจวายในกรณีไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที
- เหน็บชา Wernicke-Korsakoff Syndrome มีอาการดังต่อไปนี้
- พบบ่อยในผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง
- เคลื่อนไหวลูกตาได้น้อยหรือทำไม่ได้เลย
- เดินเซ
- มีความผิดปกติทางจิตใจ
- ผู้ที่เป็นมากอาจทำให้เกิดอาการทางจิตที่เรียกว่า Korsakoff's Psychosis
ผู้ป่วยเหน็บชา Wernicke-Korsakoff Syndrome ในกรณีที่เป็นมาก อาจทำให้เกิดภาวะสมองขาดวิตามิน บี 1 Wernicke Encephalopathy หรือ Korsakoff Syndrome ซึ่งเป็นภาวะที่สมองได้รับความเสียหายจากการขาดวิตามิน บี 1
- ภาวะสมองขาดวิตามิน บี 1 Wernicke Encephalopathy ทำให้เกิดอาการ เช่น
- สับสัน
- สูญเสียความทรงจำ
- เดินเซ หรือการประสานของกล้ามเนื้อบกพร่อง
- มีปัญหาในการมองเห็น เช่น ตาขยับเร็วกว่าปกติและเห็นภาพซ้อน
- ภาวะสมองขาดวิตามิน บี 1 Korsakoff Syndrome ทำให้เกิดอาการ เช่น
- สูญเสียความทรงจำ
- สูญเสียความสามารถในการจดจำสิ่งใหม่
- ประสาทหลอน และเป็นโรคจิต (Psychosis)
สาเหตุของเหน็บชา
สาเหตุที่สำคัญของเหน็บชา คือการรับประทานอาหารที่ขาดวิตามินบี 1 หรือภาวะที่ร่างกายขาดวิตามิน บี 1 โดยโรคนี้จะพบได้น้อยมากในพื้นที่ที่มีอาหารซึ่งอุมดมด้วยวิตามินอยู่มาก โดยเฉพาะอาหารจำพวกธัญพืชและขนมปัง และจะพบมากในพื้นที่ที่คนนิยมบริโภคข้าวที่ขัดสีแล้วมากกว่าบริโภคข้าวซ้อมมือ ซึ่งข้าวที่ได้รับการขัดสีจะมีวิตามีน บี 1 อยู่น้อยกว่าข้าวซ้อมมือ เป็นต้น
รวมไปถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดการขาดวิตามินบี 1 ได้แก่
- ติดสุราเรื้อรัง เพราะแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ลดการดูดซึมของวิตามินบี 1 และเพิ่มการขับวิตามินบี 1 ออกจากร่างกาย ทำให้ร่างกายดูดซึมและสะสมวิตามินบี 1 ไม่เพียงพอ
- เหน็บชาจากกรรมพันธุ์ เป็นภาวะที่ทำให้ร่างกายต่อต้านการดูดซึมวิตามิน บี 1
- ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism)
- การผ่าตัดรักษาโรคอ้วน (Bariatric surgery)
- โรคเอดส์ (AIDS)
- ท้องเสียเป็นเวลานาน หรือการใช้ยาขับปัสสาวะ
- ผู้ที่กำลังรับการรักษาด้วยการฟอกไต
- อาหาร โดยเฉพาะผู้ที่ชอบรับประทานอาหารที่มีสารทำลายวิตามินบี 1 เช่น ปลาร้า ใบชา ใบเมี่ยง หมากพลู ปลาส้มดิบ แหนมดิบ หอยลายดิบ และปลาน้ำจืดดิบ
- ผู้ที่เป็นโรคตับเรื้อรัง เช่น ตับแข็ง ซึ่งจะทำให้ตับไม่สามารถนำวิตามินบี 1 ไปใช้ประโยชน์ได้
- คนวัยฉกรรจ์ที่ต้องออกแรงหรือทำงานหนัก ๆ เช่น กรรมกร ชาวนา นักกีฬา รวมถึงผู้ต้องขังในเรือนจำ และชาวประมงที่ออกทะเลเป็นเวลานาน ๆ
- ทารกที่กินนมมารดาเพียงอย่างเดียว โดยที่มารดาขาดวิตามินบี 1 หรือเป็นโรคเหน็บชา (ทำให้น้ำนมไม่มีสารอาหารที่เพียงพอสำหรับทารก) หรือทารกที่กินนมซึ่งไม่มีส่วนผสมของวิตามินบี 1
- หญิงตั้งครรภ์และผู้ที่กำลังให้นมบุตร
- ผู้ที่รับประทานอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลมาก แต่รับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 1 น้อย
การวินิจฉัยเหน็บชา
การวินิจฉัยเหน็บชา แพทย์จะตั้งข้อสงสัยหลักไปยังผู้ป่วยที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ผู้ที่รับประทานอาหารแบบจำเพาะหรือมีภาวะขาดสารอาหาร โดยใช้วิธีการตรวจวินิจฉัยต่อไปนี้
- ตรวจเลือดและตรวจปัสสาวะ ซึ่งวัดระดับของวิตามิน บี 1 ในร่างกายได้ หากร่างกายของผู้ป่วยมีปัญหาในการดูดซึมวิตามิน บี 1 มักมีระดับของวิตามิน บี 1 ในเลือดต่ำ แต่ในปัสสาวะจะมีอยู่มาก
- ตรวจร่างกายทางระบบประสาท (Neurological Examination) จะช่วยทดสอบการประสานงานต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น การเดิน การขยับของตา และการตอบสนองของร่างกาย นอกจากนั้น ผู้ป่วยเหน็บชาในระยะที่รุนแรงขึ้นจะสูญเสียความทรงจำ สับสน หรือมีอาการหลงผิด (Delusion) ซึ่งสามารถตรวจพบได้
- การตรวจร่างกาย อาจช่วยให้แพทย์ทราบหากผู้ป่วยมีความผิดปกติหรือมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ หัวใจเต้นเร็ว ขาส่วนล่างบวม หายใจติดขัด หรืออาจตรวจพบอาการหอบเหนื่อย ตัวเขียว หรือพบอาการหัวใจวาย หัวใจโต เมื่อใช้เครื่องฟังตรวจปอดแล้วมีเสียงกรอบแกรบ และตรวจพบตับโต เป็นต้น
- เครื่องตรวจวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging: MRI) หรือ ซีทีสแกน (CT-Scan) เพื่อตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของสมองที่เกิดจากภาวะทางสมองขาดวิตามิน บี 1 (Wernicke's Encephalopathy)
การรักษาเหน็บชา
การรักษาเหน็บชา สำหรับกรณีทั่วไปที่ไม่รุนแรงแพทย์จะให้วิตามิน บี 1 แบบชนิดเม็ดให้ผู้ป่วยรับประทานเสริมอาหาร #ส่วนกรณีที่รุนแรงอาจจำเป็นต้องให้วิตามิน บี 1 ผ่านทางหลอดเลือดดำหรือฉีดเข้าทางกล้ามเนื้อ โดยปริมาณและระยะเวลาในการให้วิตามิน บี 1 จะขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์ นอกจากนั้น ผู้ป่วยจะต้องได้รับการติดตามอาการหรือตรวจสอบการดูดซึมของวิตามิน บี 1 ของร่างกาย ด้วยการตรวจเลือด
ภาวะแทรกซ้อนของเหน็บชา
การขาดวิตามิน บี 1 อย่างรุนแรงอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบประสาท สมอง กล้ามเนื้อ หัวใจ กระเพาะและลำไส้
- ภาวะหัวใจวายที่เกิดจากโรคเหน็บชา หากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เสียชีวิตได้
- โรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphalaxis) อาจเกิดขึ้นจากการรักษาด้วยการให้อาหารทางหลอดเลือด
- อาการขาดวิตามิน บี 1 เกิดขึ้นได้จากการขาดวิตามิน บี ชนิดอื่น ๆ
- ผู้ป่วยเหน็บชา Wernicke-Korsakoff Syndrome ในรายที่เป็นมากอาจทำให้มีอาการทางจิตที่เรียกว่า Korsakoff's Psychosis
การป้องกันเหน็บชา
การป้องกันเหน็บชา ทำได้โดยการให้ทั้งผู้ใหญ่และคนในครอบครัวศึกษาถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคและวิธีป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของโรคเหน็บชา
นอกจากนั้น ยังสามารถป้องกันการขาดวิตามิน บี 1 ได้ด้วยการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามิน บี 1 รวมไปถึงวิตามินชนิดอื่น ๆ ได้แก่
- ถั่วและธัญพืชที่อุดมด้วยวิตามิน บี 1 เช่น ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วเขียวและงา
- ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ จมูกข้าวสาลี และรำข้าว
- ธัญพืชเต็มเมล็ดหรือโฮลเกรน (Whole Grains)
- เนื้อวัว เนื้อปลา และเนื้อหมูไม่ติดมัน ตับ ไต และไข่แดง
- นมและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น โยเกิร์ต
- ผักบางชนิด เช่น หน่อไม้ฝรั่ง ฟักทอง กะหล่ำดาว (Brussels Sprouts) ผักโขม หน่อไม้ฝรั่ง เห็ด และผลไม้เช่น แตงโม น้ำส้ม
นอกจากนั้น ควรจำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดเหน็บชาให้น้อยลงได้ เพราะแอลกอฮอล์มีผลต่อร่างกายในการดูดซึมวิตามิน บี 1 โดยเฉพาะผู้ที่ติดสุราหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ควรได้รับการตรวจภาวะขาดวิตามิน บี 1 อย่างสม่ำเสมอ และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจมีสารทำลายวิตามินบี 1 เช่น ปลาร้า ใบชา ใบเมี่ยง หมากพลู ปลาส้มดิบ แหนมดิบ หอยลายดิบ ปลาน้ำจืดดิบ เป็นต้น