ความหมาย เห็นภาพซ้อน
เห็นภาพซ้อน (Diplopia) คือ ความผิดปกติของดวงตาที่ทำให้เห็นวัตถุที่มีชิ้นเดียวเป็นสองชิ้น ซึ่งอาจเป็นปัญหาที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน การเห็นภาพซ้อนสามารถเกิดขึ้นได้กับดวงตาเพียงข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ สาเหตุของภาวะนี้อาจเป็นอาการหรือผลข้างเคียงจากโรค ความผิดปกติโดยกำเนิด รวมทั้งผลกระทบจากการได้รับบาดเจ็บ ส่วนการรักษาอาการนี้จะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่พบ
อาการเห็นภาพซ้อน
การเห็นภาพซ้อนจะส่งผลให้ผู้ที่มีอาการมองเห็นวัตถุที่มีชิ้นเดียวกลายเป็นสองชิ้น ภาพซ้อนสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในแนวนอน แนวตั้ง และแนวทแยง โดยการเห็นภาพซ้อนอาจเกิดขึ้นกับดวงตาข้างใดข้างหนึ่งหรือเกิดขึ้นกับทั้งสองข้างก็ได้ นอกจากนี้ การเห็นภาพซ้อนอาจเป็นสัญญาณอันตรายของโรคบางโรค ดังนั้น หากมีอาการควรไปพบแพทย์โดยเร็ว
สาเหตุของการเห็นภาพซ้อน
การเห็นภาพซ้อนเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยแบ่งตามชนิดที่เกิดขึ้นได้ ดังนี้
- เห็นภาพซ้อนเมื่อมองด้วยตาข้างเดียว (Monocular)
สำหรับ Monocular การเห็นภาพซ้อนจะหายไปเมื่อปิดตาข้างที่มีอาการ แต่การปิดตาข้างที่ปกติหรือการเปลี่ยนทิศทางการมองนั้นไม่สามารถทำให้การเห็นภาพซ้อนหายไปได้ โดยการเห็นภาพซ้อนรูปแบบนี้อาจเกิดขึ้นได้ด้วยสาเหตุดังต่อไปนี้
- สายตาเอียงหรือภาวะผิดปกติของส่วนโค้งบนพื้นผิวกระจกตาส่วนหน้า
- กระจกตาโป่ง (Keratoconus) เกิดขึ้นจากกระจกตาที่ค่อย ๆ บางลงและเปลี่ยนรูปทรงไปคล้ายกับทรงกรวย
- ดวงตาแห้ง
- เปลือกตาบวม
- จอประสาทตาเกิดความผิดปกติ อย่างพังผืดบนจอตา จอประสาทตาบวม หรือมีแผลเป็นบนจอประสาทตา
- กระจกตาเคลื่อน ซึ่งอาจเกิดจากการบาดเจ็บหรือผลกระทบจากกลุ่มอาการมาร์แฟน (Marfan's syndrome)
- โรคต้อเนื้อ เกิดจากเยื่อตาที่หนาขึ้นและยืนออกไปยังกระจกตาซึ่งส่งผลให้การมองเห็นเปลี่ยนไป
- โรคต้อกระจก เกิดจากกระจกตาเกิดความขุ่นมัว พบมากให้ผู้สูงอายุ และอาจเกิดขึ้นได้กับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์ และผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยรังสี
- เห็นภาพซ้อนเมื่อมองด้วยตาสองข้าง (Binocular)
การเห็นภาพซ้อนจากดวงตาทั้งสองข้างมักมีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อตาเกิดความผิดปกติและภาวะดวงตาสองข้างไม่มองไปในทิศทางเดียวกันซึ่งการเห็นภาพซ้อนอาจหายเมื่อปิดตาข้างใดข้างหนึ่ง โดยการเห็นภาพซ้อนด้วยดวงตาสองข้างอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้- ตาเขหรือตาเหล่
- กล้ามเนื้อตาได้รับบาดเจ็บ
- เส้นประสาทกล้ามเนื้อควบคุมดวงตาได้รับความเสียหาย อาจมีสาเหตุจากการติดเชื้อ เนื้องอกในสมอง และโรคหลอดเลือดสมอง
- โรคเกรฟส์ (Graves' Disease) เป็นความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ ซึ่งอาจส่งผลให้กล้ามเนื้อตาหนาตัวขึ้น
- โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี (Myasthenia Gravis) ความผิดปกติของกล้ามเนื้อและระบบประสาทส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งอาจรวมถึงกล้ามเนื้อตาด้วย
- โรคเบาหวานอาจส่งผลกระทบต่อเส้นประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อดวงตาทำให้เกิดภาพซ้อน
การวินิจฉัยการเห็นภาพซ้อน
ในเบื้องต้นหากเห็นภาพซ้อน ควรสังเกตว่าอาการดังกล่าวเกิดขึ้นกับดวงตาข้างไหน หรือเกิดเมื่อมองด้วยตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์อาจเริ่มด้วยการตรวจร่างกาย รวมถึงซักประวัติ แพทย์อาจทำการตรวจสอบการเคลื่อนไหวของลูกตาด้วยให้ผู้ป่วยมองตามนิ้วหรืออุปกรณ์อื่น ๆ เนื่องจาก Binocular มักมีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อควบคุมดวงตาที่ผิดปกติ นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้วิธีอื่น ๆ ในการตรวจ เช่น วัดค่าสายตา วัดองศาของภาพซ้อน ตรวจเลือดเพื่อหาความผิดปกติ อย่างโรคเบาหวาน การตรวจวินิจฉัยด้วยภาพโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) และการแสดงภาพด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ซึ่งจะช่วยตรวจสอบว่าภายในศีรษะมีเนื้องอก เกิดการบาดเจ็บ หรือมีเลือดออกหรือไม่ เป็นต้น
การรักษาการเห็นภาพซ้อน
การรักษาอาการเห็นภาพซ้อนมีวิธีที่แตกต่างกันไปตามสาเหตุที่พบ เช่น ใช้น้ำตาเทียมหากมีอาการตาแห้ง ผู้ที่มีค่าสายตาควรเปลี่ยนเลนส์แว่นตาให้สอดคล้องกับค่าสายตาที่เปลี่ยนไป ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรได้รับยา หรือฉีดอินซูลินเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือด การผ่าตัดต้อกระจกและต้อเนื้อ ผ่าตัดเพื่อรักษากล้ามเนื้อควบคุมดวงตาตามสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเนื้องอก การบาดเจ็บ ความดันภายในศีรษะสูง หรือแพทย์อาจฉีดโบท็อกซ์ (ฺBotox) เพื่อลดความผิดปกติของกล้ามเนื้อตา เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนจากการเห็นภาพซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนจากการเห็นภาพซ้อนนั้นอาจแตกต่างการไปตามโรคที่ทำให้เกิดภาพซ้อน ซึ่งอาจมีได้ตั้งแต่โรคทั่วไปหรือโรคร้ายแรง โดยภาพซ้อนอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ บ้านหมุน สายตาล้า หรือดวงตาไวต่อเสียงและแสงได้ในผู้ป่วยบางราย นอกจากนี้ อาการเห็นภาพซ้อนอาจเป็นสัญญาณอันตรายจากการติดเชื้อ ซึ่งหากเกิดอาการปวดตาหรือปวดศีรษะอย่างรุนแรงควบคู่ไปกับการเห็นภาพซ้อนหรือปัญหาทางการมองเห็นอื่น ๆ บ่อยครั้ง ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเนื่องจากอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวพบได้น้อยมาก
การป้องกันการเห็นภาพซ้อน
การเห็นภาพซ้อนอาจสามารถป้องกันได้ในบางกรณี เช่น เมื่อขับขี่ยานพาหนะควรคาดเข็มขัดหรือสวมหมวกนิรภัยตรงตามรูปแบบของยานพาหนะทุกครั้ง สวมหมวกนิรภัยและแว่นตาป้องกันเมื่อต้องเข้าไปในพื้นที่อันตรายเพื่อป้องกันการได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะและดวงตาที่อาจทำให้เกิดบาดแผล มีเลือดออก หรือกระทบต่อระบบประสาทและสมองภายในศีรษะ ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรดูแลระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน เป็นต้น