แซลเมเทอรอล (Salmeterol)

แซลเมเทอรอล (Salmeterol)

Salmeterol (แซลเมเทอรอล) เป็นยาขยายหลอดลมที่ใช้ร่วมกับยาสเตียรอยด์ชนิดอื่น ๆ เพื่อรักษาหรือควบคุมอาการจากโรคหืดเรื้อรัง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และป้องกันโรคหืดจากการออกกำลัง โดยยาจะออกฤทธิ์ขยายหลอดลม ทำให้ผู้ป่วยหายใจสะดวกยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น แพทย์ยังอาจนำยา Salmeterol ไปใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามสมควรด้วย

แซลเมเทอรอล (Salmeterol)

เกี่ยวกับยา Salmeterol

กลุ่มยา ยาขยายหลอดลม
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาโรคหืดเรื้อรังและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ป้องกันโรคหืดจากการออกกำลังกาย
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่ เด็ก
รูปแบบของยา ยาสูดพ่น
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ สตรีมีครรภ์จึงควรใช้ยาเมื่อแพทย์พิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ เช่นเดียวกันกับสตรีให้นมบุตร เนื่องจากตัวยาอาจซึมผ่านน้ำนมมารดาไปสู่ทารกได้

คำเตือนในการใช้ยา Salmeterol

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยา Salmeterol รวมถึงยาและสารอื่น ๆ เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงตามมาได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง เช่น ยาที่มีส่วนประกอบของยา Salmeterol หรือยาขยายหลอดลมที่คล้ายกันอย่างยาฟอร์โมเทอรอล (Formeterol) หรือยาอินดาคาเทอรอล (Indacaterol) ยาปฏิชีวนะ ยาต้านเชื้อรา ยาต้านไวรัสที่ใช้รักษาโรคเอดส์หรือการติดเชื้อเอชไอวี ยารักษาโรคหัวใจหรือความดันโลหิต ยาต้านเศร้ากลุ่ม MAOI หรือยาเนฟาโซโดน (Nefazodone) เป็นต้น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยา หากผู้ป่วยมีประวัติทางสุขภาพ อาทิ แพ้อาหาร โรคหัวใจ โรคความดันโลหิต โรคเบาหวาน โรคชัก โรคเกี่ยวกับไทรอยด์ หรือโรคตับ 
  • ยานี้อาจส่งผลต่อการเต้นของหัวใจ ส่งผลให้ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแล้วพบค่า QT ที่ผิดปกติ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการหัวใจเต้นผิดปกติหรือเต้นเร็วมาก เวียนศีรษะอย่างรุนแรง หรือหมดสติ จึงควรได้รับการรักษาโดยด่วน แต่ปัญหานี้มักพบได้น้อยมาก
  • ผู้ป่วยที่มีปริมาณแมงกานีสและโพแทสเซียมในเลือดต่ำอาจเพิ่มความเสี่ยงของการมีค่า QT ที่ผิดปกติ ซึ่งยาบางชนิดอย่างยาขับปัสสาวะ หรือผู้ที่มีภาวะเหงื่อออกรุนแรง ท้องเสีย และอาเจียนอาจเพิ่มความเสี่ยงให้สูงขึ้น จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา
  • ผู้ป่วยสูงอายุอาจเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงมากกว่าช่วงวัยอื่น โดยเฉพาะผู้มีค่า QT ที่ผิดปกติ 
  • ผู้ป่วยเด็กหรือวัยรุ่นควรปรึกษาและใช้ยา Salmeterol หรือยาชนิดอื่นตามที่แพทย์แนะนำ เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ตามมาได้ 
  • หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้หรือสารก่อการระคายเคืองอย่างควันบุหรี่ เกสรดอกไม้ สะเก็ดผิวหนังของสัตว์ ฝุ่น หรือเชื้อรา เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยโรคหืดหรือผู้ที่มีปัญหาการหายใจอื่น ๆ มีอาการแย่ลง
  • ห้ามใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี 
  • ห้ามใช้ยานี้เพื่อรักษาโรคหืดที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน แต่หากมีอาการฉับพลันหรือกำเริบควรใช้ยาบรรเทาอาการโรคหืดที่ออกฤทธิ์เร็วเท่านั้น

ปริมาณการใช้ยา Salmeterol

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยาดังนี้

โรคหืดเรื้อรัง
ตัวอย่างการใช้ยา Salmeterol เพื่อรักษาโรคหืดเรื้อรัง 

ผู้ใหญ่ ให้สูดพ่นยาปริมาณ 50 ไมโครกรัมด้วยเครื่องพ่นยาแบบ MDI (Metered Dose Inhaler) หรือ DPI (Dry Powder Inhaler) วันละ 2 ครั้ง หากผู้ป่วยที่มีปัญหาทางเดินหายใจอุดตันรุนแรงมีความจำเป็น อาจเพิ่มปริมาณยาได้ถึง 100 ไมโครกรัม วันละ 2 ครั้ง

เด็กอายุ 4–12 ปี ให้สูดพ่นยาปริมาณ 50 ไมโครกรัม วันละ 2 ครั้ง  

โรคหืดจากการออกกำลังกาย
ตัวอย่างการใช้ยา Salmeterol เพื่อป้องกันโรคหืดจากการออกกำลังกาย

ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 4 ปีขึ้นไป ให้สูดพ่นยาปริมาณ 50 ไมโครกรัมด้วยเครื่องพ่นยาแบบ MDI หรือ DPI อย่างน้อย 30 นาทีก่อนการออกกำลังกาย 

โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
ตัวอย่างการใช้ยา Salmeterol เพื่อรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

ผู้ใหญ่ ให้สูดพ่นยาปริมาณ 50 ไมโครกรัมด้วยเครื่องพ่นยาแบบ MDI หรือ DPI วันละ 2 ครั้ง 

การใช้ยา Salmeterol

วิธีการใช้ยาเพื่อความปลอดภัยมีดังนี้

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยไม่ปรับปริมาณยาและระยะเวลาการใช้ยา หรือหยุดใช้ยาหากปราศจากคำแนะนำของแพทย์ หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา เนื่องจากตัวยาอาจส่งผลให้ผู้ป่วยโรคหืดมีอาการแย่ลงหรือเพิ่มความเสี่ยงของการเสียชีวิต 
  • ศึกษาวิธีการใช้เครื่องพ่นยาอย่างละเอียดก่อนการใช้ยา เนื่องจากเครื่องพ่นยาบางประเภทอาจพ่นยาได้หลายครั้งโดยไม่ต้องเปลี่ยนแคปซูลยาในทุก ๆ ครั้งที่ใช้ และไม่ควรถอดเครื่องพ่นยาออกมาล้างทำความสะอาด 
  • ผู้ป่วยไม่ควรเป่าลมหรือหายใจเข้าไปในตัวเครื่องพ่นยา
  • ปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา Salmeterol หากผู้ป่วยบางรายใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการโรคหืดหรือหายใจลำบากฉับพลันเป็นประจำ เพราะอาจต้องปรับชนิดยาหรือปริมาณยาที่ใช้ให้เหมาะสมกับความรุนแรงของอาการ 
  • ปรึกษาแพทย์หากผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด มีอาการป่วย รู้สึกเครียด หรือมีโรคหืดเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เนื่องจากผู้ป่วยอาจต้องปรับปริมาณยาตามที่แพทย์แนะนำ
  • หากผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้นภายใน 7 วัน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
  • หากผู้ป่วยลืมใช้ยา ควรใช้ยาทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้ถึงช่วงเวลาของยารอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยาตามเวลาปกติ โดยห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า 
  • หากสงสัยว่าตนเองอาจใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนดควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจส่งผลให้ผู้ป่วยหมดสติหรือมีปัญหาในการหายใจ
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด โดยเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง 

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Salmeterol

โดยทั่วไป ยาแซลเมเทอรอลอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น เสียงแหบ ปวดศีรษะ อาการคล้ายไข้หวัด ประหม่า หัวใจเต้นเร็ว ปวดกล้ามเนื้อหรือข้อต่อ ท้องไส้ปั่นป่วน ระคายเคืองคอ ไอ ปากหรือคอแห้ง คัดจมูก หรือน้ำมูกไหล ซึ่งหากอาการที่กล่าวมาไม่หายไปหรือรุนแรงขึ้นควรไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาแล้วไปพบแพทย์ทันที หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงดังต่อไปนี้ 

  • มีสัญญาณของการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือลำคอ 
  • อาการของโรคหืดแย่ลงหรือมีปัญหาในการหายใจอื่น ๆ หลังจากใช้ยา Salmeterol แต่มักพบได้น้อยมาก
  • ปวดศีรษะอย่างรุนแรง มองเห็นเป็นภาพเบลอ 
  • เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ เวียนศีรษะรุนแรง ชัก หรือหมดสติ แต่มักพบได้น้อยมาก
  • สั่น หรือประหม่า
  • มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง อาจทำให้เกิดอาการ เช่น กระหายน้ำมาก ปัสสาวะบ่อย ปากแห้ง ลมหายใจมีกลิ่นผลไม้ 
  • มีระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ อาจทำให้เกิดอาการ เช่น ตะคริวที่ขา ท้องผูก หัวใจเต้นผิดปกติ กระหายน้ำมาก ปัสสาวะบ่อย ชาหรือรู้สึกเหมือนโดนของแหลมทิ่มแทง กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือปวกเปียก 

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยพบผลข้างเคียงอื่นนอกเหนือจากนี้ ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาจากแพทย์เพิ่มเติม