แท้งคุกคาม

ความหมาย แท้งคุกคาม

แท้งคุกคาม (Threatened Abortion/Threatened Miscarriage) คือ การแท้งบุตรประเภทหนึ่ง ซึ่งทำให้มีเลือดไหลออกทางช่องคลอดขณะตั้งครรภ์โดยที่ปากมดลูกยังไม่เปิดออก ส่วนใหญ่มักเกิดในช่วงอายุครรภ์ไม่เกิน 20 สัปดาห์และส่งผลให้หญิงตั้งครรภ์เสี่ยงต่อการสิ้นสุดการตั้งครรภ์หรือนำไปสู่การแท้งบุตร 

แท้งคุกคาม

อาการของแท้งคุกคาม

ในช่วงของการตั้งครรภ์จะสังเกตได้ว่ามีเลือดออกทางช่องคลอด อาจออกกะปริบกะปรอยหรือออกมากแล้วแต่บุคคล ตกขาวมีสีน้ำตาลจากการมีเลือดปน มีอาการปวดเกร็งบริเวณท้องน้อยหรือปวดหลังช่วงล่างควบคู่กับอาการเลือดออกทางช่องคลอดในบางราย ซึ่งจะต่างจากการแท้งที่มักจะปวดในลักษณะเจ็บแปลบ ปวดตื้อ ๆ หรือปวดท้องน้อยแบบบีบ ๆ มีเนื้อเยื่อหรือลิ่มเลือดหลุดออกมาจากช่องคลอด

หญิงตั้งครรภ์ที่พบอาการผิดปกติในลักษณะข้างต้นควรพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจดูความสมบูรณ์ของทารกในครรภ์ ภาวะนี้พบได้ประมาณร้อยละ 20-30 ของหญิงตั้งครรภ์ และมีประมาณร้อยละ 50 ของภาวะนี้สามารถตั้งครรภ์ได้ตามปกติจนกระทั่งคลอดบุตร

สาเหตุของแท้งคุกคาม

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่เชื่อว่ามีหลายปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเลือดออกในขณะตั้งครรภ์และนำไปสู่ภาวะแท้งคุกคาม เช่น

  • มีติ่งเนื้อ เนื้องอกที่มดลูก หรือถุงน้ำในมดลูก
  • การติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสบริเวณช่องคลอด
  • ความผิดปกติของทารกในครรภ์
  • การใช้สารเสพติดหรือยาบางประเภท
  • ตำแหน่งและลักษณะของรกที่เกาะติดอยู่บนผนังมดลูก
  • ท้องนอกมดลูก 
  • การได้รับบาดเจ็บรุนแรงที่ช่องท้อง
  • มารดามีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป
  • มารดาเป็นโรคเรื้อรังที่คุมอาการไม่ได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคเอสแอลอี โรคความดันโลหิตสูง
  • การขาดฮอร์โมนเพศที่ช่วยประคับประคองการตั้งครรภ์ ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่หนาพอสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อนในโพรงมดลูก

ผู้หญิงที่วางแผนจะตั้งครรภ์หรืออยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์เมื่อพบว่าตนเองมีความเสี่ยงบางประการที่ควบคุมได้ เช่น โรคประจำตัว การใช้ยา หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ

การวินิจฉัยแท้งคุกคาม

เมื่อสงสัยว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแท้งคุกคาม แพทย์จะสอบถามอาการและประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยก่อนจะพิจาณาการตรวจด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม ดังนี้

การตรวจอัลตราซาวด์

เป็นการตรวจบริเวณช่องท้องหรือช่องคลอดด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อดูการเต้นของหัวใจและพัฒนาการของตัวอ่อนในครรภ์ ซึ่งเป็นการตรวจที่บอกได้ว่าทารกมีชีวิตหรือไม่ การตั้งครรภ์เป็นปกติ ตั้งครรภ์นอกมดลูก ตั้งท้องลม หรือตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้มีเลือดออกขณะตั้งครรภ์ได้เช่นกัน บางครั้งอาจช่วยให้ทราบปริมาณเลือดที่ไหลออกมาทางช่องคลอด

โดยทั่วไปมักจะตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดเป็นหลัก เพราะได้ผลที่แม่นยำในการตรวจอายุครรภ์อ่อน ๆ โดยแพทย์จะสอดเครื่องมือเข้าไปทางช่องคลอดลึกประมาณ 2-3 นิ้ว ซึ่งอุปกรณ์นี้จะมีการปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูงเข้าไปกระทบกับอวัยวะที่ตรวจ เพื่อสร้างออกมาเป็นภาพของอวัยวะนั้น ทำให้แพทย์มองเห็นรายละเอียดของทารกในครรภ์และอวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานได้

การตรวจเลือด

เป็นการตรวจดูสารเคมีชนิดต่าง ๆ ในเลือด และปริมาณฮอร์โมนจากตัวอย่างเลือดของผู้ป่วย โดยเฉพาะฮอร์โมนฮิวแมน คอริโอนิก โกนาโดโทรฟิน (Human Chorionic Gonadotropin: HCG) หรือเรียกสั้น ๆ ฮอร์โมนเอชซีจี ซึ่งจะถูกสร้างขึ้นในช่วงการตั้งครรภ์ และฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน (Progesterone) ที่จะมีปริมาณสูงขึ้นกว่าช่วงปกติ การตรวจฮอร์โมนการตั้งครรภ์เป็นวิธีที่แม่นยำและจำเป็นต้องตรวจในกรณีที่อายุครรภ์ยังต่ำมาก เนื่องจากไม่สามารถมองเห็นทารกจากการตรวจอัลตราซาวน์ นอกจากนี้ การติดตามการเพิ่มของระดับฮอร์โมนเอชซีจียังบอกได้ว่าการตั้งครรภ์เป็นปกติ แท้ง หรือเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูก

นอกเหนือจากการตรวจปริมาณฮอร์โมน ยังมีการตรวจกรุ๊ปเลือด เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการแท้งในอนาคต เพราะหากมารดามีกรุ๊ปเลือดเป็นอาร์เอช ลบ (Rh Negative) และทารกมีกรุ๊ปเลือดเป็นอาร์เอชบวก (Rh Positive) อาจส่งผลให้ร่างกายของมารดาสร้างภูมิต้านทานทำลายเม็ดโลหิตแดงของทารกในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป บางกรณีอาจมีการตรวจกรุ๊ปเลือดของพ่อเช่นกัน รวมไปถึงมีการตรวจเลือดประเภทอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC) เพื่อดูปริมาณของเลือดที่สูญเสียไป การตรวจนับเม็ดเลือดขาว (White Blood Count: WBC) เพื่อดูการติดเชื้อ

การตรวจภายใน

มักใช้ตรวจในผู้ป่วยที่มีประวัติการบาดเจ็บรุนแรง โดยเป็นการตรวจดูอวัยวะบริเวณอุ้งเชิงกรานและระบบสืบพันธุ์ต่าง ๆ เช่น ช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก รวมถึงตรวจดูว่าถุงน้ำคร่ำเกิดการฉีกขาดหรือไม่ เพื่อค้นหาสาเหตุที่ทำให้เลือดออกทางช่องคลอด

การรักษาแท้งคุกคาม

ภาวะแท้งคุกคามไม่มีการรักษาที่เฉพาะเจาะจง ส่วนใหญ่จะเป็นการดูแลแบบประคับประคองตามตามสถานการณ์ของผู้ป่วยแต่ละคน โดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ลดการทำกิจกรรมที่กระทบกระเทือนต่อครรภ์ให้น้อยที่สุด งดการทำงานหนัก ไม่ควรเดินหรือยืนนาน ๆ หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ชั่วคราว งดดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ ลดความเครียดและความวิตกกังวล

บางรายที่มีโรคเรื้อรังหรือความผิดปกติที่อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ เช่น โรคเบาหวาน ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน แพทย์จำเป็นต้องรักษาที่ต้นเหตุร่วมด้วย เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ แพทย์อาจพิจารณาให้ใช้ยาฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเสริมในบางรายหรือที่รู้จักกันในชื่อ ยากันแท้ง เพื่อเพิ่มระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนของร่างกาย แต่ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอในการสรุปว่าสามารถช่วยป้องกันการแท้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนบางรายที่ตัวมารดาเองมีกรุ๊ปเลือด อาร์เอช ลบ (Rh Negative) อาจได้รับยาประเภทโปรตีนภูมิคุ้มกันอาร์เอช (Rh Immunoglobulin) เพื่อป้องกันการทำลายเม็ดเลือดของทารกในครรภ์    

ภาวะแทรกซ้อนของแท้งคุกคาม

มารดาที่เผชิญกับภาวะแท้งคุกคามมักเกิดความเครียดและวิตกกังวล นอกจากนี้ ในกรณีที่มีเลือดออกระหว่างตั้งครรภ์ระดับปานกลางถึงมากจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโลหิตจาง ทำให้ต้องได้รับเลือดทดแทนเป็นครั้งคราว รวมไปถึงอาจเกิดการติดเชื้อและบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจนำไปสู่การสิ้นสุดการตั้งครรภ์หรือการแท้งบุตรได้

การป้องกันแท้งคุกคาม

การแท้งไม่สามารถป้องกันได้ แต่คุณแม่ตั้งครรภ์อาจลดความเสี่ยงของภาวะแท้งคุกคามที่อาจนำไปสู่การแท้งได้โดยการเข้ารับฝากครรภ์แต่เนิ่น ๆ และไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นและรักษาได้ทันเวลา รวมไปถึงปฏิบัติตามคำแนะนำทั่วไป ดังนี้

  • ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือใช้สารเสพติด
  • จำกัดสารคาเฟอีนที่ร่างกายได้รับให้น้อยที่สุด
  • หลีกเลี่ยงอาหารบางประเภทที่ส่งผลเสียต่อคุณแม่และทารกตามคำแนะนำของแพทย์ผู้ดูแล
  • หลีกเลี่ยงกับการสัมผัสโดนสารเคมีหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนส่วนผสมของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่าง ๆ
  • เมื่อเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสควรรีบรักษาให้หายขาด
  • รับประทานวิตามินที่จำเป็นต่อการตั้งครรภ์อย่างสม่ำเสมอตามแพทย์แนะนำ เช่น กรดโฟลิก (Folic Acid)
  • ออกกำลังกายเบา ๆ เป็นประจำอย่างน้อย 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ควรได้รับการแนะนำหรือปรึกษากับแพทย์ก่อน เพื่อความปลอดภัยของแม่และลูก