ความหมาย แผลริมแข็ง (Chancre)
แผลริมแข็ง (Chancre) คือแผลที่มีลักษณะเป็นวงกลม ขอบแข็ง และไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกเจ็บ มักเกิดขึ้นบนบริเวณต่าง ๆ ที่เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย เช่น ปาก อวัยวะเพศ หรือรูทวาร โดยแผลริมแข็งมักเกิดขึ้นในระยะแรกของการติดโรคซิฟิลิส ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
แผลริมแข็งมักเป็นอาการที่พบได้ในระยะแรกของการเป็นโรคซิฟิลิส หากไม่ได้รับการรักษา แผลริมแข็งจะหายไปเองเมื่อซิฟิลิสเข้าสู่ระยะถัดไป ทั้งนี้ หากพบแผลริมแข็งบนร่างกาย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที ซึ่งการได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจช่วยให้โรคซิฟิลิส รวมไปถึงแผลริมแข็งมีอาการดีขึ้น และป้องกันไม่ให้โรคซิฟิลิสเข้าสู่ระยะถัดไปหรือมีอาการรุนแรงขึ้น
อาการของแผลริมแข็ง
แผลริมแข็งมักเกิดขึ้นหลังจากได้รับเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคซิฟิลิสประมาณ 3 สัปดาห์ โดยแผลริมแข็งมักเกิดบริเวณที่มีเชื้อเข้าสู่ร่างกาย เช่น องคชาต ช่องคลอด รูทวาร ภายในช่องปาก หรือริมฝีปาก ซึ่งลักษณะของแผลริมแข็งอาจมีดังนี้
- แผลกลมขนาดเล็ก
- แผลมีขอบแข็ง
- แผลมักไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บ
สาเหตุของแผลริมแข็ง
แผลริมแข็งเป็นรอยแผลที่เกิดจากโรคซิฟิลิส ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา พาลลิดัม (Treponema pallidum) โดยโรคซิฟิลิสมักติดต่อกันได้ผ่านวิธีการต่าง ๆ เช่น การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อผ่านทางปาก ช่องคลอด รูทวาร หรือ การจูบ หรือการสัมผัสแผลริมแข็งของผู้ติดเชื้อ
เมื่อเชื้อแบคทีเรียอาจเข้าสู่ร่างกายผ่านรอยแตกหรือรอยแผลบนผิวหนัง อาจทำให้เกิดการติดเชื้อซิฟิลิส และเกิดแผลริมแข็งตามมาได้
การวินิจฉัยแผลริมแข็ง
การวินิจฉัยแผลริมแข็งอาจทำได้หลายวิธี ซึ่งแพทย์อาจใช้การทดสอบต่าง ๆ เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นแผลริมแข็งจากโรคซิฟิลิสหรือไม่ โดยวิธีวินิจฉัยแผลริมแข็งหรือโรคซิฟิลิส อาจทำได้โดยวิธีต่าง ๆ เช่น
- การตรวจร่างกาย แพทย์อาจตรวจดูบริเวณอวัยวะเพศหรือบริเวณอื่นของร่างกาย เพื่อหาแผลริมแข็งหรืออาการอื่น ๆ ที่อาจเป็นสัญญาณของโรคซิฟิลิส
- การตรวจเลือด เป็นวิธีการตรวจหาเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคซิฟิลิสภายในเลือด โดยแพทย์อาจใช้วิธีนี้เพื่อตรวจหาว่ากำลังติดโรคซิฟิลิสหรือเคยติดโรคซิฟิลิสมาก่อนหรือไม่
- การตรวจ VDRL (The venereal disease research laboratory) แพทย์อาจเจาะเลือดเพื่อตรวจหาระดับแอนติบอดีที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคซิฟิลิส โดยการตรวจนี้อาจช่วยวินิจฉัยได้ว่ามีการติดโรคซิฟิลิลิสอยู่หรือไม่
- การเก็บตัวอย่างของเหลวจากแผลริมแข็งไปตรวจ (Swab test) วิธีนี้อาจช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้ว่าแผลริมแข็งที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากโรคซิฟิลิสหรือไม่
การรักษาแผลริมแข็ง
ถึงแม้ว่าแผลริมแข็งอาจหายได้เองภายใน 3–6 สัปดาห์ แต่แผลริมแข็งควรได้รับการรักษาจากแพทย์ เพราะภายในร่างกายยังมีเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคซิฟิลิสอยู่ และอาจส่งผลให้อาการเข้าสู่ระยะถัดไป โดยแผลริมแข็งอาจรักษาได้ด้วยการรักษาโรคซิฟิลิส ซึ่งเป็นการใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น การฉีดยาเบนซาทีน เพนิซิลลิน จี (Benzathine penicillin G) เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรค
นอกจากนี้ คู่นอนหรือผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ ควรเข้ารับการรักษาโรคซิฟิลิสด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ โดยในระหว่างการรักษา ผู้ติดเชื้อควรงดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าแผลริมแข็งจะหมดไป และรักษาซิฟิลิสจนหายดี เพื่อลดโอกาสการส่งต่อเชื้อให้แก่ผู้อื่น
ทั้งนี้ ระยะเวลาในการรักษาอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและสุขภาพของผู้ติดเชื้อ หากเข้ารับการรักษาและดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมอาจช่วยรักษาโรคซิฟิลิส รวมไปถึงแผลริมแข็งให้หายขาดได้
ภาวะแทรกซ้อนของแผลริมแข็ง
ภาวะแทรกซ้อนของแผลริมแข็งหรือโรคซิฟิลิสอาจเกิดขึ้นเมื่อไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี โดยอาจทำให้โรคซิฟิลิสเข้าสู่ระยะที่ 2 และมีอาการรุนแรงต่าง ๆ เกิดขึ้น เช่น
- มีไข้สูง
- ผื่นแดงตามร่างกาย
- อ่อนเพลีย ปวดเมื่อกล้ามเนื้อ
- ต่อมน้ำเหลืองโต
- ผมร่วง
- น้ำหนักลดลง
นอกจากนี้ หากปล่อยโรคซิฟิลิสทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา จนกระทั่งเข้าสู่ระยะสุดท้าย อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจเป็นอันตรายได้ เช่น เพิ่มโอกาสการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) อัมพาต สูญเสียการมองเห็น สูญเสียการได้ยิน และซิฟิลิสระบบประสาท (Neurosyphillis) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อซิฟิลิสแพร่กระจายเข้าสู่สมอง
การป้องกันแผลริมแข็ง
การป้องกันแผลริมแข็งอาจเริ่มจากการป้องกันการเกิดโรคซิฟิลิส ซึ่งอาจทำได้โดยวิธีการต่าง ๆ เช่น
- ใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ และควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หากทราบว่าตนเองกำลังติดเชื้อที่ทำให้เกิดซิฟิลิสหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
- หากเปลี่ยนคู่นอนบ่อยครั้ง ควรตรวจเลือดเป็นประจำเพื่อตรวจหาการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาจช่วยให้ได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ หากตรวจพบเชื้อ
- งดการใช้เซ็กซ์ทอยร่วมกับผู้อื่น เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดโรคซิฟิลิสหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
- หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด เพราะอาจกำจัดแบคทีเรียตามธรรมชาติที่อาศัยอยู่ในช่องคลอดออกไป และเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดโรคซิฟิลิสได้
- งดการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดโรคซิฟิลิส รวมไปถึงความเสี่ยงในการเกิดอาการอื่น ๆ ของโรคซิฟิลิสอย่างแผลริมแข็งอีกด้วย
นอกจากวิธีเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดแผลริมแข็งแล้ว ยังช่วยป้องกันไม่ให้แผลริมแข็งหรือโรคซิฟิลิสกลับมาเป็นซ้ำได้อีกในอนาคต