ความหมาย แผลไฟไหม้
แผลไฟไหม้ คือ แผลบริเวณผิวหนังและร่างกายที่เกิดจากความร้อนและเปลวไฟเผาทำลายเซลล์เนื้อเยื่อตามร่างกายบริเวณต่าง ๆ ซึ่งอาจเกิดจากเปลวไฟในครัวเรือนในขณะประกอบอาหาร เกิดไฟไหม้อาคารบ้านเรือน หรือการเกิดอัคคีภัยขนาดใหญ่ โดยทั่วไป ผิวหนังของมนุษย์สามารถทนต่อความร้อนที่อุณหภูมิ 44 องศาเซลเซียสได้เป็นเวลานานกว่า 6 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น หรือระยะเวลายาวนานที่สัมผัสความร้อน ย่อมมีโอกาสสร้างความเสียหายแก่ร่างกายและผิวหนังได้มากขึ้นไปด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจเกิดแผลในลักษณะเดียวกันได้ จากการสัมผัสกับแสงแดดจ้าเป็นเวลานาน สัมผัสไอร้อน ของเหลวหรือวัตถุที่มีความร้อนสูง และสารเคมีที่เป็นอันตรายบางชนิด และเมื่อเกิดแผลไฟไหม้ ผู้ป่วยควรได้รับการปฐมพยาบาลตามระดับความรุนแรงของอาการ หรือควรนำตัวผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาทันที
อาการของแผลไฟไหม้
ผิวหนังของมนุษย์มี 2 ชั้น คือ ชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) หรือผิวหนังชั้นนอก เป็นส่วนที่สัมผัสและดูดซับรังสียูวีจากแสงแดด เป็นที่อยู่ของเยื่อบุเซลล์ผิวและเซลล์เม็ดสี และชั้นหนังแท้ (Dermis) หรือผิวหนังชั้นใน เป็นส่วนที่อยู่ลึกลงไป เป็นที่อยู่ของเส้นเลือด เส้นประสาทต่าง ๆ ต่อมไขมัน และต่อมเหงื่อ
แผลไฟไหม้จะปรากฏอาการตามระดับความรุนแรงและความลึกที่เซลล์ผิวหนังถูกทำลายไป ดังนี้
- แผลไฟไหม้ระดับที่ 1 เกิดความเสียหายที่ผิวหนังชั้นนอก อาจทำให้เกิดรอยแดง รู้สึกแสบร้อน ผิวบริเวณนั้นอาจลอกออกเป็นเนื้อสีชมพูที่ปกคลุมด้วยสารเหลวชื้น หรือกลายเป็นสีขาวเมื่อถูกสัมผัส อาจเกิดความเจ็บปวด แต่ไม่เกิดเป็นแผลพุพอง
-
แผลไฟไหม้ระดับที่ 2
- แบบแรก เกิดความเสียหายที่ผิวหนังชั้นนอกและผิวหนังชั้นในบางส่วน หากเป็นผิวหนังชั้นนอก มักทำให้เกิดอาการเจ็บปวด ผิวหนังบริเวณนั้นอาจเป็นสีแดง หรืออาจลอกออกเป็นแผลแฉะชื้น มีตุ่มน้ำพอง แต่ยังมีขนติดอยู่ที่ชั้นผิวหนังตามปกติ
- แบบที่สอง เป็นความเสียหายบริเวณผิวหนังชั้นในส่วนที่อยู่ถัดลงไป แผลไฟไหม้่อาจทำให้เกิดความเจ็บปวดได้ หรือไม่เกิดความเจ็บปวดหากปลายประสาทในชั้นผิวถูกทำลาย โดยอาจเป็นแผลแฉะชื้น หรือเป็นแผลแห้ง ๆ หากต่อมเหงื่อถูกทำลาย ในขณะที่แผลไฟไหม้ในระดับนี้ มักทำให้เส้นขนบนผิวหนังถูกทำลายไปด้วย
- แผลไฟไหม้ระดับที่ 3 เกิดความเสียหายทั้งผิวหนังชั้นนอกและผิวหนังชั้นใน เป็นแผลไฟไหม้ระดับรุนแรง ที่ทำให้ปลายประสาท เส้นเลือดขนาดเล็ก รูขุมขน และต่อมเหงื่อถูกทำลาย หรืออาจเกิดความเสียหายลึกลงไปถึงเนื้อเยื่อไขมัน กล้ามเนื้อ และกระดูกได้ แผลจะไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด ไม่รับรู้สัมผัส ผิวหนังกลายเป็นสีขาว หรือไหม้เกรียมดำ และอาจมีลักษณะเป็นเหมือนหนังแห้ง ๆ
แผลไฟไหม้เกิดจากการสัมผัสความร้อนและเปลวไฟจากประกอบอาหาร การเกิดไฟไหม้อาคารบ้านเรือน หรือการเกิดอัคคีภัย
การวินิจฉัยแผลไฟไหม้
หากผู้ป่วยต้องเผชิญเหตุไม่คาดคิดจนเกิดแผลไฟไหม้ ผู้ป่วยจะได้รับการพิจารณาตามปัจจัยสำคัญและระดับความรุนแรงของแผลที่เกิดขึ้น เพื่อประเมินการรักษาหรือการปฐมพยาบาลได้อย่างเหมาะสมต่อไป คือ
ประเมินสภาพผู้ป่วย
ให้สังเกตว่ามีแผลไฟไหม้เป็นบริเวณกว้างหรือไม่ ผู้ป่วยสามารถหายใจได้ตามปกติหรือไม่ เนื่องจากในขณะเกิดเหตุไฟไหม้ ผู้ป่วยอาจเกิดปัญหาการหายใจติดขัดจากการสูดดมควันไฟ และเกิดอาการบวมภายในระบบทางเดินหายใจส่วนบน ภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน หรือภาวะเป็นพิษจากคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าว ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษเพื่อป้องกันการขาดออกซิเจนและเสียชีวิตได้
ประเมินสภาพแผลไฟไหม้
ขนาดของแผล
- ดูจากบริเวณที่เกิดแผล ความกว้าง ขอบเขตของแผลไฟไหม้
-
วัดด้วยกฎ 9 (Rules of Nines) ซึ่งแบ่งพื้นที่ร่างกายออกเป็นบริเวณต่าง ๆ ที่มักมีแต่ละส่วนคิดเป็น 9% ของพื้นที่ผิวกายทั้งหมด คือ
- ช่วงศีรษะนับเป็น 9%
- ช่วงหน้าอกด้านหน้านับเป็น 9% หรือช่วงหน้าอกด้านหลังนับเป็น 9%
- ช่วงท้องด้านหน้านับเป็น 9% หรือช่วงท้องด้านหลังนับเป็น 9%
- ขาแต่ละข้างด้านหน้านับเป็น 9% หรือขาแต่ละข้างด้านหลังนับเป็น 9%
- แขนข้างเดียวด้านหน้านับเป็น 4.5% หรือแขนข้างเดียวด้านหลังนับเป็น 4.5%
- อวัยวะเพศนับเป็น 1%
เป็นการตรวจประเมินว่าแผลไฟไหม้สร้างความเสียหายแก่ชั้นผิวหนังชนิดใด ในเบื้องต้นอาจไม่สามารถระบุได้แน่ชัดถึงความเสียหายในชั้นผิว แต่สามารถตรวจวินิจฉัยได้เมื่อผู้ป่วยไปถึงมือแพทย์
การรักษาแผลไฟไหม้
แนวทางปฏิบัติเบื้องต้นเมื่อเกิดไฟไหม้
- ให้รีบดับไฟหรือปิดต้นตอที่มาของเชื้อไฟ
- หากไฟลุกไหม้ตามร่างกาย ให้กลิ้งตัวลงกับพื้นเพื่อดับไฟ แล้วรีบถอดเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ติดไฟหรือไหม้ติดผิวหนังออก
- ถอดเครื่องประดับต่าง ๆ ออก เพราะแผลไฟไหม้อาจบวมขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
- ให้แผลไฟไหม้ที่เกิดขึ้นได้รับความเย็น เช่น ให้น้ำไหลผ่าน หรือใช้ผ้าเย็นวางบนแผล
- ใช้ผ้าสะอาดปลอดเชื้อปิดแผลไว้ โดยไม่ทาครีมขี้ผึ้งใด ๆ ที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้
- รับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวดที่เกิดขึ้น เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน นาพรอกเซน
- แผลไฟไหม้เป็นบริเวณกว้าง หรือเป็นแผลลึก
- แผลไฟไหม้เป็นพื้นที่ผิวสีแดงและสร้างความเจ็บปวดมากกว่า 2-3 ชั่วโมง
- อาการปวดที่เกิดขึ้นไม่ทุเลาลง หรือทรุดหนักขึ้น
- ผู้ป่วยพบสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น เจ็บปวดมากขึ้น ผิวบวมแดง มีไข้ มีหนองไหลซึมออกมาจากแผล
- ผู้ป่วยอยู่ในช่วงที่ต้องเข้ารับวัคซีนป้องกันบาดทะยัก ซึ่งโดยทั่วไปควรเข้ารับการฉีดวัคซีนกระตุ้นบาดทะยักเป็นระยะทุก ๆ 10 ปี
- ในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาการหายใจหลังสำลักควันไฟหรือจากเหตุไฟไหม้ แพทย์จะใส่ท่อช่วยหายใจ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยที่หายใจลำบากสามารถหายใจได้ดีขึ้น
- ในส่วนของแผลไฟไหม้ เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะทำการล้างแผล ตกแต่งบาดแผล ใช้ยาฆ่าเชื้อบริเวณบาดแผล จากนั้นจึงใช้ผ้าปิดแผลที่ปลอดเชื้อ
- แพทย์อาจใช้ยาต้านแบคทีเรียบริเวณที่เกิดแผล เพื่อป้องกันการติดเชื้อ เช่น ซิลเวอร์ ซัลฟาไดอะซีน แบคซิทราซิน และ โพลีมิกซิน บี รวมทั้งอาจให้ยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาอาการปวดที่เกิดขึ้นด้วย
- แพทย์อาจให้ผู้ป่วยใช้ยาพอกปิดบาดแผลแบบชีวสังเคราะห์ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวบริเวณที่ถูกไฟไหม้ และกระตุ้นให้ผิวบริเวณนั้นฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
- โดยส่วนใหญ่ ผู้ป่วยต้องล้างแผลวันละครั้ง ด้วยเจลหล่อลื่นสูตรน้ำ หรือยาฆ่าเชื้ออื่น ๆ เพื่อล้างยาและกำจัดสิ่งสกปรกที่ปกคลุมแผลออกไป และป้องกันการติดเชื้อ
- แพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดรักษาผิวหนังที่เสียหาย ในผู้ป่วยบางรายที่มีแผลไฟไหม้ในระดับรุนแรงที่มีแผลลึก ซึ่งจะเกิดการรัดตึงบริเวณดังกล่าวจนทำให้เกิดแรงดัน แพทย์อาจต้องกรีดผิวหนังบางจุดเพื่อทำให้เลือดสามารถไหลเวียนได้ตามปกติ
- เสี่ยงต่อการติดเชื้อบริเวณที่เกิดแผล เช่น บาดทะยัก ที่ทำลายระบบประสาทและกล้ามเนื้อ หรือการเกิดภาวะเหตุติดเชื้อ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อการติดเชื้อ หรือต่อพิษของเชื้อ ที่ทำให้เกิดอาการอักเสบขึ้นทั่วร่างกาย
- อาจเกิดรอยแผลเป็นหลังจากแผลไฟไหม้หายไปแล้ว เช่น แผลเป็นโตนูนที่มีลักษณะบวมแดงขึ้นมา อาจรู้สึกร้อนหรือคันหากสัมผัสโดน แผลเป็นหดรั้ง ทำให้เกิดความตึงยึดบริเวณผิว กล้ามเนื้อ และเอ็นข้อต่อ ทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวร่างกายส่วนนั้นได้ยากลำบาก และแผลเป็นนูนหรือคีลอยด์ เป็นก้อนตุ่มเนื้อนูนมันวาวขึ้นมาบนผิวหนัง
- หากแผลไฟไหม้มีความรุนแรง ผู้ป่วยอาจเสี่ยงต่อการมีภาวะตัวเย็นเกินหรือสภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิต่ำกว่าปกติ และภาวะของเหลวในร่างกายพร่องหรือมีเลือดน้อย จากการเสียเลือด ซึ่งผู้ป่วยอาจเจ็บป่วยจนถึงแก่ชีวิตได้ ทั้งจากการติดเชื้อ การเสียเลือด หรือการเกิดภาวะช็อก
แผลไฟไหม้สามารถป้องกันได้ด้วยการระมัดระวังและลดความเสี่ยงในการเกิดเพลิงไหม้ขึ้นด้วยวิธีการต่าง ๆ โดยเฉพาะการป้องกันความปลอดภัยตั้งแต่ภายในบ้าน ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นได้ง่ายและบ่อยที่สุด เช่น
- ป้องกันไม่ให้เด็กเข้าใกล้ครัว โดยเฉพาะในขณะที่กำลังทำอาหาร
- ไม่ประมาทเลินเล่อ หรือละเลยในขณะที่ใช้แก๊สหุงต้มทำอาหาร หรือใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าใด ๆ ที่ใช้ความร้อนสูง โดยอาจจำกัดระดับความร้อนที่ใช้งานให้อยู่ในระดับที่พอดี
- สำรวจความเรียบร้อยของเตาแก๊สหรือเตาอบ ปิดการใช้งานหลังเลิกใช้งานเสมอ
- สำรวจเครื่องใช้ไฟฟ้า ถอดปลั๊ก หรือปิดการใช้งานเมื่อไม่จำเป็นต้องใช้งาน หรือก่อนออกจากบ้านเสมอ
- หากมีเครื่องดูดควัน ควรตรวจเช็คการทำงานของเครื่องเป็นระยะ
- ติดตั้งเครื่องดูดจับควัน เพื่อแจ้งเตือนสัญญาณไฟไหม้ หรือติดตั้งหัวฉีดดับไฟอัตโนมัติ
- หาถังดับเพลิงสำรองไว้ในที่พักอาศัย และควรวางไว้ตำแหน่งที่ใกล้กับห้องครัว
- เก็บไฟแช็ค ไม้ขีดไฟ เทียน หรืออุปกรณ์ที่จุดไฟได้ให้พ้นมือเด็ก
- หากสูบบุหรี่ ควรตรวจเช็คให้มั่นใจว่าได้ดับบุหรี่สนิทดีแล้ว
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ใกล้ที่นอน หรือใกล้บริเวณที่มีวัสดุที่อาจติดไฟได้ง่าย เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงต่าง ๆ ไม้ กระดาษ
- ใช้วัสดุสร้างบ้านที่ไม่เสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้หรือติดไฟได้ง่าย
- สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น ภาวะชัก ควรเข้ารับการรักษาอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุอันนำไปสู่การเกิดอัคคีภัยได้
- ศึกษาวิธีและฝึกซ้อมการหนีไฟ เพื่อให้สามารถเอาตัวรอดได้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น มีสติ งดใช้ลิฟต์ คลานต่ำอยู่ใต้ควันเพื่อป้องกันการสำลักควันไฟ เป็นต้น