แอสไพริน

แอสไพริน

แอสไพริน (Aspirin) เป็นยาที่ใช้บรรเทาอาการปวด ลดไข้ ลดการอักเสบ เช่น ปวดศีรษะ ปวดฟัน ปวดประจำเดือน เป็นไข้ หากใช้ในปริมาณต่ำจะช่วยต้านเกล็ดเลือด ลดการเกิดลิ่มเลือด อาการเจ็บหน้าอก ภาวะหัวใจล้มเหลว หรือโรคหลอดเลือดในสมอง เป็นต้น การใช้แอสไพรินอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนการใช้ยา

Aspirin

เกี่ยวกับยาแอสไพริน

กลุ่มยา ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs), ยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelet Drug)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ บรรเทาอาการปวด ลดไข้ ลดการอักเสบ
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทานชนิดเม็ด


คำเตือนในการใช้
ยาแอสไพริน

  • ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ในขณะใช้ยา เพราะอาจทำให้เกิดเลือดออกในกระเพาะอาหาร
  • ไม่ควรใช้ยาไอบูโพรเฟน ในผู้ที่ใช้ยาแอสไพรินเพื่อป้องกันภาวะหัวใจล้มเหลวหรือโรคหลอดเลือดในสมอง เพราะประสิทธิภาพในการทำงานของยาจะลดลง หากมีความจำเป็นในการใช้ยา ควรรับประทานยาไอบูโพรเฟนก่อนอย่างน้อย 8 ชั่วโมงหรือ 30 นาทีหลังรับประทานยาแอสไพริน
  • ไม่ควรใช้ยาในการรักษาอาการหวัด มีไข้ หรืออีสุกอีใส กับผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี เพราะอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงได้ เช่น กลุ่มอาการไรย์ซินโดรม (Reye's Syndrome) ซึ่งจะทำให้เกิดอาการบวมที่ตับและสมอง อาเจียน อ่อนเพลีย ชัก และหมดสติ
  • ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบก่อนการใช้ยา โดยเฉพาะบุคคลที่อยู่ในกลุ่มต่อไปนี้
    • ผู้ที่มีประวัติการแพ้ยาแอสไพริน หรือแพ้ยาในกลุ่มเอ็นเสดชนิดอื่น ๆ
    • ผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ เช่น โรคฮีโมฟีเลีย (Hemophilia)
    • ผู้ที่มีประวัติเป็นแผลในกระเพาะอาหารหรือมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร
    • ผู้ที่เป็นโรคหอบหืด หรือภูมิแพ้ที่เป็นเฉพาะฤดู
    • ผู้ที่เป็นโรคตับ หรือโรคไต
    • ผู้ที่เป็นโรคเกาต์
    • ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ความดันในเลือดสูง หรือภาวะหัวใจวาย (Congestive Heart Failure: CHF)
    • ผู้ที่ตั้งครรภ์โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนสุดท้ายก่อนการคลอด เพราะอาจทำให้มีอาการเลือดออกในมารดาและเป็นอันตรายต่อทารกในระหว่างการคลอด รวมถึงผู้ที่วางแผนจะตั้งครรภ์
    • ผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร เพราะยาสามารถขับออกผ่านทางนมแม่ไปสู่ทารกได้
    • ผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัด เพราะแพทย์อาจสั่งให้หยุดใช้ยาสักระยะก่อนเข้ารับการผ่าตัด
    • ผู้ที่กำลังใช้ยาชนิดอื่น ๆ สมุนไพร หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพราะการใช้ยาร่วมกันอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียงหรือลดประสิทธิภาพการทำงานของยา รวมถึงยาที่มีรายชื่อดังต่อไปนี้
      • ยารักษาอาการซึมเศร้า เช่น ไซตาโลแพรม (Citalopram) เอสซิตาโลแพรม (Escitalopram) ฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) ฟลูวอกซามีน (Fluvoxamine) พาร็อกซิทีน (Paroxetine) เซอร์ทราลีน (Sertraline) ทราโซโดน (Trazodone) ไวลาโซโดน (Vilazodone) เป็นต้น
      • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน (Warfarin) เฮพาริน (Heparin) เป็นต้น
      • ยาสเตียรอยด์ เช่น เพรดนิโซโลน (Prednisolone) เป็นต้น
      • ยาลดความดันโลหิต (ACE Inhibitors) เช่น เบนาซีพริล (Benazepril) แคปโตพริล (Captopril) อีนาลาพริล (Enalapril) โฟซิโนพริล (Fosinopril) ลิซิโนพริล (Lisinopril) เป็นต้น
      • ยารักษาโรคลมชัก เช่น โฟนิโทอิน (Phenytoin) เป็นต้น
      • ยาที่มีส่วนผสมของแอสไพริน รวมถึงยารักษาอาการหวัด เป็นต้น

ปริมาณการใช้ยาแอสไพริน

แอสไพรินในประเทศไทยมีขนาด 81 มิลลิกรัมและ 325 มิลลิกรัม แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาปรับให้เหมาะสมตามอายุ หรืออาการของผู้ป่วยแต่ละราย โดยมีตัวอย่างปริมาณการใช้ยาและรายละเอียดดังนี้

  • การผ่าตัดขยายหลอดเลือดหัวใจ
    • ผู้ใหญ่ รับประทานยาขนาด 325 มิลลิกรัม ก่อนการผ่าตัดเป็นเวลา 2 ชั่วโมง และหลังการผ่าตัดรับประทานยาขนาด 160-325 มิลลิกรัมต่อวัน
  • การบรรเทาอาการปวดและลดไข้
    • ผู้ใหญ่ รับประทานยาขนาด 325-650 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง สูงสุดไม่เกิน 4 กรัมต่อวัน
  • การป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย
    • ผู้ใหญ่ รับประทานยาขนาด 75-325 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง และควรใช้แอสไพรินในปริมาณต่ำสำหรับผู้ป่วยที่กำลังใช้ยาลดความดันโลหิต (ACE Inhibitors)
  • ข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก (Juvenile Rheumatoid Arthritis)
    • เด็กที่มีอายุ 12 ปีและน้ำหนักมากกว่า 25 กิโลกรัม ในครั้งแรกรับประทานยาขนาด 2.4-3.6 กรัมต่อวัน และต่อมารับประทานยาขนาด 3.6-5.4 มิลลิกรัมต่อวัน
    • เด็กที่มีอายุ 2-11 ปี มีน้ำหนักน้อยกว่าหรือเท่ากับ 25 กิโลกรัม ในครั้งแรกรับประทานยาขนาด 60-90 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน และต่อมารับประทานยาขนาด 80-100 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หากมีอาการกำเริบรุนแรงสามารถใช้ยาได้สูงสุด 130 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน และไม่เกิน 5.4 มิลลิกรัมต่อวัน
  • โรคคาวาซากิ 
    • ในครั้งแรกรับประทานยาหรือใช้ยาชนิดเหน็บทวารขนาด 80-100 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน ทุก 4-6 ชั่วโมง เป็นเวลา 14 วัน จากนั้นรับประทานขนาด 3-5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน วันละครั้ง ต่อเนื่องนาน 6- 8 สัปดาห์ ขึ้นกับความผิดปกติของเลือด
  • โรคข้อสันหลังอักเสบชนิดแอนไคโลสซิ่ง โรคข้อเสื่อม โรคข้อรูมาตอยด์ โรคเอสแอลอีหรือโรคแพ้ภูมิตัวเองที่เกี่ยวข้องกับข้ออักเสบและเยื่อหุ้มปอดอักเสบ
    • ผู้ใหญ่ รับประทานยาขนาด 3 กรัมต่อวัน
  • ภาวะสมองขาดเลือด
    • ผู้ใหญ่ รับประทานยาขนาด 50-325 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง
  • ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
    • ผู้ใหญ่ รับประทานยาขนาด 75-325 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง

การใช้ยาแอสไพริน

  • ควรอ่านฉลากยาและทำตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้ยาในปริมาณที่มากหรือน้อยเกินไป และไม่ควรใช้ยานี้เกินกว่าระยะเวลาที่แพทย์สั่ง
  • ควรกลืนยาทั้งเม็ด ไม่เคี้ยว ไม่ทำให้แตก และไม่ควรรับประทานยา 2 ชั่วโมงก่อนหรือ 1 ชั่วโมงหลังการดื่มแอลกอฮอล์
  • แอสไพรินเป็นยาที่รับประทานหลังอาหาร หากลืมรับประทานยาตามเวลาที่แพทย์สั่ง เมื่อนึกขึ้นได้สามารถรับประทานได้ทันที หากลืมรับประทานยาใกล้กับมื้ออาหารถัดไป ให้รับประทานยาในเวลาและขนาดตามปกติ ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเพื่อทดแทนในมื้อที่ขาดหายไป
  • ควรเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ไม่ควรเก็บในที่ที่มีความร้อน ความชื้น ไม่ควรสัมผัสแสงโดยตรง รวมถึงปิดฝาให้สนิททุกครั้งหลังใช้ยา และควรเก็บให้ไกลจากมือเด็ก
  • ไม่ควรรับประทานยาที่หมดอายุ หรือเมื่อได้กลิ่นคล้ายน้ำส้มสายชูเมื่อเปิดกระปุกยา เพราะยาอาจเสื่อมประสิทธิภาพ

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาแอสไพริน

ยาแอสไพรินอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไปในขณะใช้ยา เช่น ปวดศีรษะ ง่วงซึม ระคายเคืองกระเพาะอาหาร เป็นต้น ควรหยุดใช้ยา และรีบไปพบแพทย์โดยด่วน และอาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยได้ดังนี้

  • อาการแพ้ยา เช่น หายใจลำบาก ผื่นคัน มีอาการบวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือลำคอ
  • หูอื้อ รู้สึกสับสน หายใจเร็วผิดปกติ ชัก
  • คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง
  • อุจจาระเป็นเลือดหรือมีสีดำ ไอหรืออาเจียนเป็นเลือด
  • มีไข้สูงนานติดต่อกันเกิน 3 วัน
  • อาการปวดหรือบวมนานติดต่อกันเกิน 10 วัน