โฟรวาทริปแทน
Frovatriptan (โฟรวาทริปแทน) เป็นยาในกลุ่มซีเล็คทีฟ เซโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ (Selective Serotonin Receptor Agonists: SSRI) ใช้รักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนและบรรเทาอาการอื่น ๆ ที่เกิดจากไมเกรน เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน ความรู้สึกไวต่อแสงและเสียง เป็นต้น โดยยาชนิดนี้ออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดบริเวณสมองหดตัวตีบลง และช่วยบรรเทาอาการปวดโดยส่งผลต่อเส้นประสาทบางอย่างในสมอง แต่ยาชนิดนี้ไม่สามารถใช้ป้องกันหรือใช้ลดความถี่ของการเกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนได้
เกี่ยวกับยา Frovatriptan
กลุ่มยา | ซีเล็คทีฟ เซโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษาอาการปวดศีรษะจากไมเกรน |
กลุ่มผู้ป่วย | ผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ | Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ |
คำเตือนในการใช้ยา Frovatriptan
- แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากมีประวัติแพ้ยา Frovatriptan รวมถึงการแพ้ส่วนประกอบของยาและสารชนิดอื่น ๆ
- แจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติทางการแพทย์และภาวะเจ็บป่วยที่กำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการของโรคตับ โรคไต โรคที่เกี่ยวกับการเต้นของหัวใจ หรือภาวะความดันโลหิตสูง
- ห้ามใช้ยานี้ภายในเวลา 24 ชั่วโมงก่อนหรือหลังใช้ยาชนิดอื่นรักษาอาการปวดศีรษะจากไมเกรนชนิดอื่น รวมถึงยาเออร์กอตอย่างไดไฮโดรเออร์โกตามีน เออร์โกตามีน เออร์โกโนวีน และเมทิลเออร์โกโนวีน
- ผู้ป่วยหรือผู้ที่เคยป่วยด้วยโรคหัวใจ ภาวะความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคตับที่รุนแรง มีอาการเจ็บหน้าอก กลุ่มอาการวูฟพาร์กินสันไวท์ซินโดรม หรือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิตที่ส่งผลกระทบต่อขา แขน ท้อง ลำไส้ หรือไต รวมถึงผู้ที่มีอาการของภาวะหัวใจขาดเลือด ไม่ควรใช้ยาชนิดนี้
- แจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยา Frovatriptan ก่อนเข้ารับการผ่าตัด
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น เป็นโรคเบาหวาน สูบบุหรี่ มีภาวะอ้วน มีคอเลสเตอรอลสูง มีความดันโลหิตสูง เป็นผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป เป็นผู้หญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน หรือเคยมีบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคหัวใจ เป็นต้น
- เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลวิจัยการใช้ยานี้ชัดเจนในผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี การใช้ยานี้จึงขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ การใช้สารเสพติด การขับรถ การใช้เครื่องจักร หรือการทำกิจกรรมที่ต้องอาศัยความตื่นตัวในระหว่างที่ใช้ยา จนกว่าจะแน่ใจว่ายาไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย เนื่องจากยา Frovatriptan อาจส่งผลให้มีอาการวิงเวียนหรือง่วงซึมได้
- เนื่องจากยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายาชนิดนี้เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือไม่ หากผู้ป่วยกำลังตั้งครรภ์หรือกำลังวางแผนมีบุตร ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา
- ไม่ควรให้นมบุตรในระหว่างที่ใช้ยาชนิดนี้ เนื่องจากอาจทำให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนให้นมบุตร
ปริมาณการใช้ยา Frovatriptan
รักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน
ตัวอย่างการใช้ยา Frovatriptan เพื่อรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน
ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 2.5 มิลลิกรัม หากอาการไม่ดีขึ้นหลังจากใช้ยาครั้งแรก ไม่ควรรับประทานยาซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นหลังจากใช้ยาครั้งแรก แล้วเกิดอาการขึ้นซ้ำอีกครั้ง ผู้ป่วยอาจรับประทานยาอีกครั้งในปริมาณเท่าเดิม โดยรับประทานหลังจากใช้ยาครั้งแรกอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 5 มิลลิกรัม/วัน
การใช้ยา Frovatriptan
- ใช้ยา Frovatriptan ทันทีที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรน โดยปฏิบัติตามคำแนะนำที่อยู่บนฉลากยาอย่างเคร่งครัด
- แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานยานี้ครั้งแรกที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล เพื่อติดตามและเฝ้าระวังผลข้างเคียงจากการใช้ยา
- รับประทานยา Frovatriptan โดยกลืนยาลงไปทั้งเม็ดพร้อมกับน้ำ
- ห้ามใช้ยาในปริมาณมากหรือน้อยกว่าที่แพทย์แนะนำหรือที่ฉลากระบุไว้ และห้ามใช้ยาเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนด เพราะการใช้ยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนดอาจทำให้อาการปวดศีรษะแย่ลงได้
- ห้ามให้ผู้อื่นใช้ยานี้ และห้ามใช้ยาของผู้อื่น
- หากมีอาการปวดศีรษะไมเกรนมากกว่า 4 ครั้งภายใน 1 เดือน หรือใช้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
- ควรเข้ารับการตรวจระดับความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอในระหว่างที่ใช้ยานี้ เพื่อติดตามและเฝ้าระวังผลข้างเคียงจากการใช้ยา
- เก็บยาไว้ในอุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความร้อน ความชื้น และแสงแดด ให้พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง รวมทั้งห้ามเก็บยาไว้ในห้องน้ำ
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Frovatriptan
การใช้ยา Frovatriptan อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป เช่น มีอาการปวดศีรษะที่ไม่รุนแรงซึ่งไม่ใช่อาการปวดศีรษะไมเกรน รู้สึกร้อนหรือหนาวผิดปกติ ปากแห้ง ปวดท้อง เจ็บหน้าอก รู้สึกปวดบริเวณกระดูกหรือข้อต่อ มีอาการชาหรือรู้สึกคล้ายถูกเข็มทิ่มบริเวณนิ้วมือหรือนิ้วเท้า เวียนศีรษะ รู้สึกเหนื่อย หน้าแดง รู้สึกร้อน เป็นต้น
หากมีผลข้างเคียงอื่น ๆ ดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและปรึกษาแพทย์
- อาการของภาวะหัวใจล้มเหลว เช่น รู้สึกเจ็บหรือเหมือนถูกกดที่หน้าอก ความรู้สึกเจ็บแพร่กระจายไปยังบริเวณขากรรไกรหรือไหล่ คลื่นไส้และมีเหงื่อออกมาก เป็นต้น
- มีอาการที่บ่งบอกถึงภาวะความดันโลหิตสูง เช่น ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ตามัว รู้สึกคล้ายชีพจรเต้นตุบ ๆ ที่บริเวณคอหรือหู รู้สึกวิตกกังวล หรือมีเลือดกำเดาไหล เป็นต้น
- มีอาการชัก
- มีอาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง หายใจไม่อิ่ม หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- มีปัญหาเกี่ยวกับการไหลเวียนเลือดไปยังบริเวณแขนหรือขา ซึ่งอาจทำให้มีอาการต่าง ๆ เช่น เป็นตะคริว รู้สึกแน่นหรือหนัก มีอาการชาหรือรู้สึกคล้ายถูกเข็มทิ่ม กล้ามเนื้ออ่อนแรง รู้สึกปวดแสบร้อน รู้สึกหนาว มีการเปลี่ยนแปลงของสีผิว หรือรู้สึกปวดบริเวณสะโพก เป็นต้น
- มีอาการที่เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคหลอดเลือดสมอง เช่น รู้สึกชาและอ่อนแรง ปวดศีรษะอย่างฉับพลันและรุนแรง พูดไม่ชัด มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็นและการทรงตัว เป็นต้น
- ปวดท้องอย่างเฉียบพลันและรุนแรง ท้องเสีย และอุจจาระมีเลือดปน
- มีอาการที่บ่งบอกว่ามีระดับสารเซโรโทนินในร่างกายสูง เช่น กระสับกระส่าย เห็นภาพหลอน มีไข้ หัวใจเต้นเร็ว คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เป็นลม หรือสูญเสียการทำงานประสานกันของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีสัญญาณของอาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ปาก ริมฝีปาก ลิ้น หรือลำคอ เป็นต้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที