ความหมาย โรคกลัวความรัก
โรคกลัวความรัก (Philophobia) จัดเป็นโรคกลัวชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยจะรู้สึกกลัวการมีความรักหรือความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับผู้อื่นจนไม่กล้าเริ่มต้น หรืออาจรุนแรงถึงขั้นส่งผลต่อการใช้ชีวิต ซึ่งความกลัวที่เกิดขึ้นอาจส่งผลให้บางคนมีอาการทางร่างกาย เช่น ตื่นกลัว มีเหงื่อออก หัวใจเต้นเร็ว หายใจลำบาก คลื่นไส้ เป็นต้น หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจส่งผลต่อสุขภาพจิตและเสี่ยงทำให้ผู้ป่วยแยกตัวออกจากสังคมได้
อาการของโรคกลัวความรัก
ผู้ป่วยโรคกลัวความรักจะรู้สึกกลัวการตกหลุมรักหรือไม่กล้ามีความสัมพันธ์ทางอารมณ์กับผู้อื่นโดยไม่ทราบสาเหตุ และอาการอาจมีความรุนแรงถึงขั้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ซึ่งความกลัวที่เกิดขึ้นสามารถส่งผลต่อทั้งร่างกายและอารมณ์ แม้ตัวผู้ป่วยเองก็ตระหนักได้ว่าความกลัวที่เกิดขึ้นนั้นไม่มีเหตุผล แต่ก็ไม่สามารถควบคุมความกลัวดังกล่าวได้อยู่ดี โดยเมื่อนึกถึงการตกหลุมรักก็อาจรู้สึกกลัวขึ้นมาอย่างรุนแรงจนมีภาวะตื่นกลัว และอาจมีอาการที่สังเกตได้ เช่น หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า มีเหงื่อออก หัวใจเต้นเร็ว หายใจลำบาก ไม่สามารถทำกิจวัตรต่าง ๆ ได้ตามปกติ คลื่นไส้ เป็นต้น
สาเหตุของโรคกลัวความรัก
สาเหตุของโรคกลัวความรักนั้นค่อนข้างคลุมเครือเช่นเดียวกับโรคกลัวชนิดอื่น ๆ แต่ก็มีการศึกษาพบว่าโรคกลัวบางชนิดอาจมีพันธุกรรมและสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยเสี่ยง หรือบางครั้งก็อาจเกิดจากความผิดปกติในการทำงานของสมอง นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่าผู้ป่วยโรคกลัวความรักส่วนหนึ่งมีประวัติได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ ถูกทำร้าย หรือถูกทอดทิ้งในวัยเด็กมาก่อน ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวอาจทำให้ผู้ป่วยฝังใจจนไม่กล้าไว้ใจหรือมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับใคร
การวินิจฉัยโรคกลัวความรัก
โรคกลัวความรักนั้นไม่มีวิธีวินิจฉัยแบบเฉพาะเจาะจง แพทย์อาจสอบถามอาการ ซักประวัติสุขภาพโดยรวม และตรวจร่างกายเพื่อดูความผิดปกติ จากนั้นอาจประเมินจากสิ่งที่ผู้ป่วยบอกเล่า เพื่อสันนิษฐานว่าอาการกลัวที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากโรคกลัวความรักหรือโรคกลัวชนิดอื่น
การรักษาโรคกลัวความรัก
โรคกลัวความรักมีวิธีรักษาหลายอย่าง โดยแพทย์จะให้การรักษาตามระดับความรุนแรงของอาการ ซึ่งวิธีรักษาที่อาจนำมาใช้ มีดังนี
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การทำกิจกรรมเพื่อคลายเครียดอาจช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายและสบายใจยิ่งขึ้น เช่น ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ ฝึกการหายใจ เป็นต้น
- การบำบัดให้หายจากความกลัว จิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาจะช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้การรับมือกับความกลัวที่เกิดขึ้นด้วยการพูดคุย เพื่อชี้ให้เห็นถึงความคิดและความเชื่อในทางลบที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดความกลัวขึ้น รวมทั้งพยายามช่วยให้ผู้ป่วยมองเห็นแนวทางแก้ไข แนะนำให้เริ่มสร้างความสัมพันธ์จากจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือแนะนำให้เริ่มจากการสร้างสัมพันธ์กับเพื่อนและคนใกล้ชิด เพื่อขจัดความกลัวไปทีละน้อย
- การใช้ยา หากผู้ป่วยมีความผิดปกติทางจิตชนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาต้านซึมเศร้าหรือยาคลายความวิตกกังวลควบคู่ไปกับการบำบัดด้วยการพูดคุย
ภาวะแทรกซ้อนของโรคกลัวความรัก
ผู้ป่วยที่มีอาการกลัวอย่างมากจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา เพราะหากปล่อยไว้อาจเสี่ยงทำให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมแยกตัวออกจากสังคม มีภาวะซึมเศร้าหรือภาวะวิตกกังวลได้ บางรายก็อาจเครียดจนหันไปพึ่งพาแอลกอฮอล์และยาเสพติด หรืออาจถึงขั้นพยายามฆ่าตัวตายเพื่อจบปัญหา
การป้องกันโรคกลัวความรัก
เนื่องจากทางการแพทย์ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคนี้ จึงยากที่จะระบุวิธีป้องกันได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม พ่อแม่หรือคุณครูอาจมีส่วนช่วยสอดส่องดูแลและเอาใส่ใจเด็ก เพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนทางจิตใจที่อาจเกิดขึ้นและกลายเป็นเรื่องฝังใจที่นำไปสู่โรคกลัวความรักได้เมื่อเด็กโตขึ้น