ความหมาย โรคจิต
โรคจิต (Psychosis) คือ ภาวะอาการทางจิตที่ผู้ป่วยมักมีอาการหลงผิดไปจากความเป็นจริง ประสาทหลอน หูแว่ว เห็นภาพหรือรับรู้ในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง อาการโรคจิตหรือวิกลจริตนี้เป็นปัญหาสุขภาพจิตที่อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งปัจจัยภายในอย่างความผิดปกติทางจิตต่าง ๆ อาการเจ็บป่วยทางร่างกาย และปัจจัยภายนอกอย่างการใช้ยาหรือสารเสพติด แม้อาการบางอย่างของผู้ป่วยโรคจิตจะทำให้ครอบครัวและบุคคลรอบข้างเป็นกังวล แต่หากได้รับการรักษาและการดูแลสนับสนุนที่เหมาะสม ผู้ป่วยมีโอกาสที่จะอาการดีขึ้นจนกลับมาใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้
อาการโรคจิต
ผู้ป่วยโรคจิตแต่ละคนอาจมีลักษณะท่าทางและอาการที่ปรากฏแตกต่างกันไป แต่โดยทั่วไปแล้ว กลุ่มอาการหลัก ๆ ของโรคจิต ได้แก่
- ประสาทหลอน ประสาทรับรู้ทั้ง 5 เปลี่ยนแปลงและผิดไปจากความเป็นจริง เช่น เห็นภาพหลอน มองเห็นสีหรือรูปร่างผิดแผกไป ได้ยินเสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน รู้สึกถึงการสัมผัสทั้งที่ไม่มีใครแตะตัว ได้กลิ่นที่คนอื่นไม่รู้สึก และรับรู้ถึงรสชาติทั้ง ๆ ที่ไม่มีอะไรอยู่ในปากในขณะนั้น เป็นต้น
- หลงผิด มีความคิดหรือความเชื่ออย่างแน่วแน่ในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง เช่น หลงผิดคิดว่าตนเองกำลังถูกปองร้ายหรือมีคนวางแผนฆ่าตนเอง หลงผิดว่าตนเองเป็นบุคคลสำคัญที่มีอำนาจ หรือมีพลังวิเศษ เป็นต้น
- มีความคิดสับสนวุ่นวาย หรือมีรูปแบบกระบวนการคิดที่ไม่เป็นลำดับ ซึ่งส่งผลให้มีอาการต่าง ๆ เช่น พูดไม่คิด พูดออกมาในทันที พูดเร็ว พูดแล้วฟังไม่ได้ศัพท์ จัดเรียงลำดับคำในประโยคไม่ถูกต้อง สื่อสารไม่เข้าใจ พูดขาด ๆ หาย ๆ พูดไม่ต่อเนื่อง หยุดพูดเป็นระยะ เป็นต้น
- ขาดการตระหนักรู้ ผู้ป่วยโรคจิตมักไม่รับรู้ว่าอาการหลงผิดและประสาทหลอนที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความจริง ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการอื่น ๆ ที่เป็นปัญหาตามมา เช่น อาการตื่นตระหนก ตกใจกลัว ทุกข์ทรมาน เป็นต้น
- ซึมเศร้า เก็บตัว
- แยกตัวจากเพื่อนและครอบครัว
- นอนนานกว่าปกติ หรือนอนไม่พอ
- หวาดระแวง ขี้สงสัย
- วิตกกังวล กระวนกระวาย ไม่มีสมาธิ
- อารมณ์แปรปรวน มีอาการซึมเศร้ามาก หรือดีใจมากผิดปกติ
- ไม่รักษาความสะอาด
- ไม่สนใจทำกิจกรรมใด ๆ อย่างที่เคย
- มีความคิดแปลก ๆ
- มีการเคลื่อนไหวร่างกายที่ช้ากว่าปกติ แปลก หรือผิดปกติ
- มีพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น
- มีความคิดหรือพยายามฆ่าตัวตาย
แม้ในทางการแพทย์จะยังไม่มีการระบุสาเหตุที่แน่ชัดของอาการโรคจิตได้ แต่มีความเชื่อมากมายเกี่ยวกับปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลกระทบให้ผู้ป่วยเผชิญภาวะโรคจิต ได้แก่
ปัจจัยภายใน
- ความผิดปกติทางสมอง และระดับสารเคมีในสมอง นักวิจัยหลายคนเชื่อว่า อาการโรคจิตอาจเกิดจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สารสื่อประสาทโดปามีน (Dopamine) ที่ทำหน้าที่ควบคุมกระบวนการคิดและการรับรู้ที่นำไปสู่การเกิดพฤติกรรมต่าง ๆ หากการทำงานของสมองและสารสื่อประสาทได้รับความกระทบกระเทือน อาจส่งผลให้เกิดอาการโรคจิตได้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้สนับสนุนแนวคิดนี้ด้วยหลายงานค้นคว้าวิจัย ที่แสดงลักษณะทางกายภาพของสมองผ่านภาพสแกนสมอง และการทดลองควบคุมระดับโดปามีน ซึ่งมีส่วนช่วยลดการเกิดอาการโรคจิตได้ด้วย
- ความผิดปกติทางจิต โรคจิตอาจเกิดจากความผิดปกติทางจิตหรือทางบุคลิกภาพ เช่น ป่วยเป็นโรคจิตเภท (Schizophrenia) ทำให้มีอาการหลงผิดและประสาทหลอน ป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar) ที่ทำให้มีอาการซึมเศร้าหรืออารมณ์ดีสุดขีด (Mania) มีความเครียด ความวิตกกังวลอย่างหนัก หรืออยู่ในภาวะซึมเศร้าอย่างรุนแรง
- ความเจ็บป่วยทางร่างกาย เมื่อผู้ป่วยเจ็บป่วยด้วยโรคบางอย่าง อาจส่งผลให้เกิดอาการโรคจิตได้ เช่น พักผ่อนไม่เพียงพอ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โรคไข้จับสั่นหรือมาลาเรีย โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน โรคพุ่มพวง หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคปลอกประสาทอักเสบ (Multiple Sclerosis) โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ซิฟิลิส การติดเชื้อเอชไอวีและกลุ่มอาการเอดส์ มีเนื้องอกในสมอง เป็นต้น
- กรรมพันธุ์ บางทฤษฎีเชื่อว่าอาการโรคจิตมีแนวโน้มถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากรุ่นสู่รุ่นได้
การใช้ยาหรือการได้รับสารเคมีใด ๆ เข้าสู่ร่างกายในทางที่ผิด หรือในปริมาณที่เกินพอดี อาจส่งผลกระทบทำให้เกิดอาการโรคจิตได้ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การเสพยาเสพติดอย่างโคเคน ยาบ้า (Amphetamine) ยาไอซ์ (Methamphetamine) ยาอี (MDMA: Ecstasy) ยาเค (Ketamine) หรือกัญชา เป็นต้น
อีกกรณีหนึ่ง หากผู้ป่วยหยุดใช้สารดังกล่าวข้างต้นหลังจากใช้ติดต่อกันมาเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดอาการโรคจิตได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในอาการถอนพิษยา
นอกจากนี้ แม้เป็นกรณีที่พบได้น้อยมาก แต่ในบางครั้งอาการโรคจิตอาจเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษาบางชนิดได้ หรืออาจเกิดจากการใช้ยาเกินขนาดได้เช่นกัน
การวินิจฉัยโรคจิต
หากผู้ป่วยเผชิญกับอาการต่าง ๆ ที่เป็นสัญญาณของโรคจิต ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาในทันที เพราะการบำบัดรักษาแต่เนิ่น ๆ จะเป็นผลดีต่อตัวผู้ป่วย
แต่หากผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่าป่วย ไม่รับรู้สถานการณ์ และไม่ยอมไปพบแพทย์ ผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยควรสังเกตอาการที่เกิดขึ้น แล้วปรึกษาแพทย์ ติดต่อผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต หรือพาผู้ป่วยไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วน
เมื่อไปพบแพทย์ ในเบื้องต้นแพทย์จะซักประวัติและสอบถามอาการ เพื่อหาสาเหตุของอาการโรคจิตที่เกิดขึ้น โดยแพทย์อาจถามเกี่ยวกับอาการและภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้น มีอาการหลงผิดหรือประสาทหลอนหรือไม่ อาการเป็นอย่างไร การดำเนินชีวิตในแต่ละวันที่ผ่านมา ประวัติการใช้ยาและสารเสพติด และประวัติการป่วยด้วยปัญหาสุขภาพจิตภายในครอบครัว เป็นต้น
หากตรวจอาการในเบื้องต้นแล้วแพทย์มีความเห็นว่าผู้ป่วยอาจมีอาการโรคจิตจริง แพทย์จะส่งต่อผู้ป่วยให้ไปตรวจรักษากับจิตแพทย์ ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต จิตแพทย์จะทำหน้าที่ตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการโรคจิต เพื่อวางแผนรักษาผู้ป่วยร่วมกับเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยทางจิตเวช เช่น นักจิตวิทยา และเจ้าหน้าที่พยาบาล โดยกระบวนการทั้งหมดอาจเกี่ยวข้องกับการใช้เทคนิคและเครื่องมือประกอบการตรวจวินิจฉัย ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจของผู้ป่วยด้วย
การรักษาโรคจิต
โรคจิตรักษาและบรรเทาอาการได้ โดยปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตประจำวันต่าง ๆ ได้ดีขึ้น หรือได้ตามปกติ โดยกระบวนการรักษาหลัก คือ การรักษาด้วยยา และการบำบัดทางจิต
การรักษาด้วยยา
อาการโรคจิตมักรักษาควบคุมอาการได้ด้วยการใช้ยาต้านอาการทางจิต (Antipsychotics) ซึ่งเป็นยาตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น แพทย์อาจให้ยาแบบรับประทานหรือให้ผู้ป่วยมาพบเพื่อรับการฉีดยาเป็นระยะ
ยาต้านอาการทางจิตจะออกฤทธิ์ยับยั้งโดปามีน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทในสมอง เป็นการช่วยลดการเกิดอาการประสาทหลอนและอาการหลงผิด ช่วยให้ผู้ป่วยคิดและเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้ชัดเจน และอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงได้ดียิ่งขึ้น โดยยาต้านอาการทางจิตมีอยู่หลายชนิด แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าควรจะใช้ยาชนิดใด และจะใช้เป็นเวลานานเท่าใด
การรักษาทางยาเป็นการรักษาที่สำคัญมากวิธีหนึ่ง ดังนั้น การดูแลให้ผู้ป่วยได้รับยาอย่างสม่ำเสมอจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในขณะที่ผู้ป่วยบางรายอาจได้รับยาต้านอาการทางจิตรักษาในช่วงสั้น ๆ ผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้ยานี้เพื่อรักษาควบคุมอาการโรคจิตไปตลอดชีวิต เนื่องจากภาวะการเจ็บป่วยที่อาจทำให้อาการโรคจิตกำเริบกลับมาได้หากหยุดใช้ยา เช่น ผู้ป่วยโรคจิตเภท (Schizophrenia)
อย่างไรก็ตาม การใช้ยาต้านอาการทางจิตอาจส่งผลข้างเคียงและไม่นำไปใช้กับการรักษาผู้ป่วยทุกรายเสมอไป แพทย์อาจต้องดูแลอาการอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะในผู้ป่วยบางราย เช่น ผู้ป่วยโรคลมชัก เพราะยาต้านอาการทางจิตอาจส่งผลทำให้การเกิดอาการชักได้ หรือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ เพราะยาอาจส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ หลอดเลือด และการหมุนเวียนเลือด ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะที่เป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้ป่วยได้
ส่วนผลข้างเคียงทั่วไปที่อาจพบในผู้ป่วยบางรายหลังการใช้ยาต้านอาการทางจิต ได้แก่ อาการง่วงซึม ปากแห้ง เวียนหัว ท้องผูก ตัวสั่น ใจสั่น กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข ความต้องการทางเพศลดลง น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น กล้ามเนื้อกระตุกหรือหดเกร็งจนอาจทำให้เกิดความเจ็บปวด ทัศนวิสัยในการมองเห็นไม่ชัดเจน เป็นต้น
ทั้งนี้ หากผู้ป่วยหรือผู้ดูแลผู้ป่วยพบอาการที่เป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยา ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาให้ทันท่วงทีต่อไป
การบำบัดทางจิต
การบำบัดทางจิตอาจช่วยคลายความตึงเครียดและความวิตกกังวลที่เกิดจากอาการโรคจิต เช่น
การบำบัดด้วยการปรับความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioural Therapy: CBT) เป็นวิธีการดูแลสนับสนุนให้ผู้ป่วยได้พูดคุย บอกเล่าถึงสิ่งที่พวกเขากำลังเผชิญจนทำให้เกิดความทุกข์ นักบำบัดจะคอยกระตุ้นให้ผู้ป่วยทำความเข้าใจถึงสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย เพื่อให้พวกเขาผ่อนคลายและหาทางออกจากความทุกข์เหล่านั้นได้ในที่สุด วิธีการนี้มักได้ผลดีกับผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียวแล้วไม่เกิดประสิทธิผลมากเท่าที่ควร อีกทั้งเป็นวิธีที่อาจส่งผลดีในระยะยาวได้จากการที่ผู้ป่วยเรียนรู้ที่จะปรับ จัดการ จัดระเบียบรูปแบบความคิดและพฤติกรรมของพวกเขาเอง
การบำบัดแบบครอบครัว เป็นวิธีการที่ให้ผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัวได้มาพูดคุยถึงความคิดความรู้สึก และปรึกษาหาทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวผู้ป่วยที่ส่งผลกระทบกับสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวไปด้วย ช่วยทำให้ญาติจัดการกับปัญหาของผู้ป่วยได้ดีขึ้น มีความรู้สึกเครียดกับความเจ็บป่วยของผู้ป่วยน้อยลง โดยขั้นตอนทั้งหมดจะอยู่ภายใต้การดูแลของนักบำบัดเช่นกัน วิธีการนี้มักเกิดประสิทธิผลที่ดีทั้งต่อตัวผู้ป่วยและบุคคลในครอบครัวในระยะยาวด้วย เพราะนำไปสู่การเกิดความรักความเข้าใจ และความเห็นอกเห็นใจกันภายในครอบครัวมากยิ่งขึ้น
การเข้าร่วมกลุ่มช่วยเหลือตนเอง (Self-Help Goups) นักบำบัดจะคอยดูแลสนับสนุนให้ผู้ป่วยที่เคยมีอาการโรคจิตได้พูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เนื่องจากการได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ที่เคยเผชิญเหตุการณ์คล้าย ๆ กัน อาจช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยเข้าถึงความรู้สึกของอีกฝ่าย และเข้าใจสถานการณ์ได้ดี จนเกิดประสิทธิผลที่ดีในการบำบัดรักษาตามมา
ภาวะแทรกซ้อนของโรคจิต
- การใช้ยาในทางที่ผิดและการใช้สารเสพติด ผู้ป่วยที่มีประวัติอาการโรคจิต มีแนวโน้มที่จะใช้ยาและสารเสพติดต่าง ๆ อย่างผิดจุดประสงค์หรือเกินขนาด เพื่อให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้น การใช้ยาหรือสารเสพติดในลักษณะนี้ อาจมีผลทำให้อาการโรคจิตกำเริบและทรุดหนักลง
- การทำร้ายตนเองและการฆ่าตัวตาย ผู้ป่วยที่มีประวัติอาการโรคจิต มีแนวโน้มในการทำร้ายร่างกายตนเองหรือพยายามฆ่าตัวตาย โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้มักสวมใส่เสื้อผ้าปกคลุมผิวหนังและร่างกายไว้แม้ในสภาพอากาศที่ร้อนมากก็ตาม เพื่อไม่ให้คนภายนอกมองเห็นร่องรอยหรือบาดแผลที่เกิดจากการทำร้ายตนเอง บุคคลใกล้ชิดจึงควรสังเกตอาการของผู้ป่วย หากพบเห็นสัญญาณของการทำร้ายตนเอง เช่น รอยแผลที่หาสาเหตุไม่ได้ รอยฟกช้ำ รอยไหม้จากการถูกบุหรี่จี้ ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที
โรคจิตอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเตุ ซึ่งบางปัจจัยก็เป็นเหตุที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่ในบางกรณี อาจป้องกันการเกิดอาการโรคจิตได้ด้วยการลดความเสี่ยงด้านต่าง ๆ เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติดให้โทษทุกชนิด ทั้งการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรือการใช้ยาเสพติด
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาอย่างผิดจุดประสงค์ หรือเกินปริมาณที่แพทย์กำหนด
- ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายหลั่งสารเคมีในสมองเซโรโทนิน ซึ่งช่วยในการกระตุ้นอารมณ์ผ่อนคลายต่าง ๆ
- เรียนรู้วิธีจัดการกับความเครียด สร้างความผ่อนคลายให้แก่ร่างกายแลจิตใจ โดยไม่ใช้วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่อาจทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้ อย่างการดื่มสุรา หรือการใช้ยาเสพติด
- บริหารอารมณ์และความคิด มองโลกในแง่ดี และคิดแก้ไขจัดการปัญหาต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์
- หมั่นสังเกตอาการและความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตนเองหรือบุคคลใกล้ชิด ทั้งทางร่างกายและจิตใจ หากพบความผิดปกติหรือมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือไปพบแพทย์ตรวจรักษา