ความหมาย โรคด่างขาว
โรคด่างขาว (Vitiligo) เป็นโรคที่เกิดความผิดปกติกับเซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างเม็ดสีผิว (Melanocyte) ซึ่งเซลล์ดังกล่าวอาจถูกทำลายหรือหยุดการสร้างเม็ดสีผิว (Melanin) จึงทำให้เกิดเป็นด่างสีขาวคล้ายน้ำนมตามผิวหนัง และสามารเกิดขึ้นกับบริเวณใดก็ได้บนร่างกาย แต่โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่ใบหน้า คอ มือ หรือตามรอยพับ และไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดมากหรือน้อยเพียงใด
ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะพบว่าเกิดโรคก่อนอายุ 40 ปี และประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยทั้งหมดจะเกิดโรคก่อนอายุ 20 ปี สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกสภาพผิว แต่ผู้ที่มีผิวสีเข้มก็จะทำให้เห็นได้เด่นชัด อย่างไรก็ตาม โรคด่างขาวเป็นโรคที่ไม่เป็นอันตรายและไม่ใช่โรคติดต่อ แต่อาจส่งผลให้ผู้ที่เป็นโรคนี้ขาดความมั่นใจ และการรักษาจะช่วยทำให้รอยด่างขาวที่ปรากฏลดน้อยลงแต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
อาการของโรคด่างขาว
อาการของโรคด่างขาว มักจะเกิดอย่างค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากมีผิวซีดและค่อย ๆ เปลี่ยนไปจนเป็นด่างขาวโดยมักไม่มีผื่นคันนำมาก่อน อาจมีจุดกึ่งกลางของด่างขาวเป็นสีขาวและรายล้อมด้วยสีซีด แต่รอยด่างขาวอาจเป็นสีชมพูอ่อนหากเกิดขึ้นบริเวณผิวหนังที่มีหลอดเลือดอยู่มาก โดยลักษณะของผิวหนังอาจเรียบหรือไม่เรียบก็ได้ และในบางรายอาจมีผิวแดง อักเสบ มีสีผิวที่เข้มขึ้น (Hyperpigmentation) หรืออาจมีอาการคันร่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม อาการของแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป รูปร่างรอยด่างอาจกลม รี หรือเป็นเส้นยาวก็ได้ มีขนาดต่างกันตั้งแต่เล็กถึงใหญ่ อาจมีวงเดียวหรือหลายวง กระจายได้ทั่วตัว และมักจะเริ่มเกิดขึ้นบริเวณผิวที่สัมผัสกับแสงแดด เช่น มือ แขน เท้า ใบหน้าและริมฝีปาก
บริเวณที่มักพบได้บ่อยว่าเกิดด่างขาว ได้แก่
- ในปาก รอบปากและรอบดวงตา
- นิ้วมือและข้อมือ
- รักแร้
- ขาหนีบ
- อวัยวะเพศ
โรคด่างขาวสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก ดังนี้
- โรคด่างขาวทั่วไป (Non-segmental Vitiligo) เป็นประเภทที่พบได้มากที่สุด มักจะมีอาการเกิดขึ้นในบริเวณเดียวกันทั้ง 2 จุดในร่างกาย หรือพบได้หลายตำแหน่งตามร่างกาย และพบได้ทั้งข้างซ้ายและข้างขวา เช่น หลังมือ แขน รอบดวงตา เข่า ข้อศอก และเท้า
- โรคด่างขาวเฉพาะที่ (Segmental Vitiligo) เป็นด่างขาวที่พบเฉพาะบริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกาย มักเป็นจุดหรือกลุ่มเล็กๆ โดยจะพบมากในเด็ก
สาเหตุของโรคด่างขาว
สาเหตุการเกิดโรคนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่จากการสันนิษฐานพบว่ามีสาเหตุมาจากเซลล์ผิวหนังที่เรียกว่าเมลาโนไซต์ (Melanocyte) ซึ่งมีหน้าที่ผลิตเม็ดสีผิว (Melanin) อาจหยุดทำงานหรือถูกทำลาย ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยดังต่อไปนี้
- โรคแพ้ภูมิตัวเอง เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานผิดปกติ โดยปกติจะทำหน้าที่ทำลายเซลล์ที่แปลกปลอม เช่น ไวรัส แต่กลับมาทำลายเซลล์หรือเนื้อเยื่อของร่างกายแทน โดยในที่นี้ ระบบภูมิคุ้มกันได้ทำลายเซลล์ผิวหนังเมลาโนไซต์ (Melanocyte) ที่ทำหน้าที่ผลิตเม็ดสีผิว
- สำหรับบางรายอาจพบว่าเกิดโรคด่างขาวที่มีความเกี่ยวข้องกับภาวะเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันตัวเอง เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน
- มีประวัติของคนในครอบครัวเป็นโรคด่างขาว หรือมีประวัติภาวะแพ้ภูมิตัวเองอื่น ๆ เช่น พ่อหรือแม่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 12 (Pernicious Anaemia)
- เป็นมะเร็งผิวหนังเมโลโนมา (Melanoma) หรือเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- มีการเปลี่ยนแปลงของยีนจำเพาะ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับโรคด่างขาวประเภททั่วไป
- สารเคมีที่ปล่อยจากปลายประสาทบริเวณผิวหนัง อาจเป็นพิษต่อเซลล์ผิวหนังที่เรียกว่าเมลาโนไซต์ (Melanocyte)
- มีเหตุกระตุ้น เช่น แดดเผา ความเครียด หรือสัมผัสกับสารเคมีอุตสาหกรรมที่เป็นอันตราย
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นด้วยการซักประวัติอาการต่าง ๆ และทำการตรวจบริเวณผิวหนังที่มีอาการ หรือวินิจฉัยแยกโรค โดยแพทย์อาจตรวจด้วยวิธีต่อไปนี้
- การส่องตรวจด้วย Wood's Lamp เป็นการใช้โคมไฟที่ฉายแสงรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ไปที่ผิวหนังของผู้ป่วย โดยจะช่วยให้แพทย์เห็นรอยด่างขาวได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงช่วยให้แยกแยะโรคด่างขาวออกจากภาวะผิวหนังอื่น ๆ ได้ เช่น โรคเกลื้อน ซึ่งเป็นโรคที่มีการสูญเสียเม็ดสีผิวจากการติดเชื้อรา
- การตัดเนื้อเยื้อส่วนที่เกิดอาการไปตรวจ (Biopsy)
- ตรวจเลือดเพื่อนำไปตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการ หรือเพื่อตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ เพราะโรคด่างขาวมีความเกี่ยวของกับโรคแพ้ภูมิตนเอง
โรคด่างขาวไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาจะเป็นการประคับประคองอาการหรือทำให้รอยด่างขาวที่ปรากฏดูดีขึ้น และวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการและความต้องการของผู้ป่วย ซึ่งมีการตอบสนองต่อการรักษาไม่แน่นอน การรักษาอาจมีผลข้างเคียงและอาจจะต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน โดยวิธีการรักษาในปัจจุบัน ได้แก่
- ครีมควบคุมการอักเสบ เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์สำหรับใช้เฉพาะที่ อาจช่วยให้สีผิวกลับมาใหม่ได้ และหากเริ่มใช้ในขณะที่เพิ่งเริ่มเกิดโรค อาจจะต้องใช้เวลาในการรักษาหลายเดือนจึงจะเห็นผล การรักษาด้วยวิธีนี้ค่อนข้างง่ายและมีประสิทธิภาพดี แต่ครีมชนิดนี้สามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงกับผิวได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้
- ยาครีมใช้เฉพาะที่ Calcipotriene เป็นยาในกลุ่มวิตามิน ดี สามารถใช้ร่วมกับคอร์ติโคสเตียรอยด์หรือการบำบัดด้วยการฉายอัลตราไวโอเลต (UV) แต่ยานี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ผิวแห้ง ผื่นขึ้นและคัน
- ยารักษาโรคที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน คือกลุ่มยาต้านแคลซินูริน สามารถใช้ได้ผลกับผู้ป่วยบางรายที่ผิวหนังขาดการสร้างเม็ดสีผิวบริเวณขนาดเล็ก เช่น ใบหน้าและคอ สามารถใช้ควบคู่ไปกับการรักษาด้วยการฉายแสงรังสียูวีบี (UVB) แต่ยาชนิดนี้มีผลข้างเคียงน้อยกว่าคอร์ติโคสเตียรอยด์
- การรักษาด้วยยาควบคู่ไปกับการฉายแสง เป็นการรักษาที่จะให้ผู้ป่วยใช้ยาซอราเลน ร่วมกับการฉายแสง (Photochemotherapy) ตัวยาจะทำให้ผิวมีความไวต่อแสงและทำให้ผิวเปลี่ยนเป็นสีชมพู ซึ่งเป็นการกระตุ้นการสร้างเม็ดสีผิวปกติให้กลับคืนมา โดยการรักษานี้จะมีผลข้างเคียง เช่น แดดเผาอย่างรุนแรง แผลพุพอง ผิวคล้ำมาก และเพิ่มความเสี่ยงเป็นต้อกระจกและมะเร็งผิวหนัง และไม่แนะนำให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี รักษาด้วยวิธีนี้
- การฉายแสงด้วยรังสียูวีบี (UVB) เป็นกระบวนการรักษาที่ง่ายและไม่ต้องใช้ยาซอราเลนร่วมด้วย ซึ่งการรักษาวิธีนี้จะมีประสิทธิภาพในการรักษาบริเวณใบหน้า ลำตัว แขนและขา โดยผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลประมาณ 3 ครั้งต่อสัปดาห์
- การรักษาด้วยเลเซอร์ เป็นการรักษาที่จะช่วยให้เกิดการสร้างเม็ดสีผิวขึ้นมาใหม่โดยการใช้เอ็กซ์ไซเมอร์ เลเซอร์ (Excimer Laser) แต่เป็นวิธีที่ใช้กับพื้นที่ขนาดเล็กเท่านั้น และมักใช้รักษาร่วมกับการใช้ยาทาผิว อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น แดงและแผลพุพอง
- วิธีฟอกสีผิว (Depigmentation) เป็นวิธีที่ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีด่างขาวแพร่กระจายเป็นบริเวณกว้างและการรักษาอื่น ๆ ไม่ได้ผล โดยจะใช้ยาที่มีส่วนประกอบของโมโนเบนโซน (Monobenzone) ทาลงไปบนผิวหนังที่ยังมีสภาพปกติ ซึ่งจะช่วยทำให้สีผิวค่อย ๆ ขาวขึ้นจนใกล้เคียงกับผิวที่เกิดด่างขาว นอกจากนั้น ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับบำบัดวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 9 เดือนขึ้นไป และต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้ผิวที่กำลังรักษาสัมผัสกับผิวผู้อื่นเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เช่น บวม แดง คันและผิวแห้ง
- การศัลยกรรม เช่น การปลูกถ่ายผิวหนัง (Skin Grafting) หรือการสัก (Micropigmentation) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการรักษา และสามารถใช้รักษาร่วมกับการบำบัดในข้างตันได้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ โดยวิธีศัลยกรรมจะถูกใช้เมื่อการรักษาด้วยการบำบัดและการใช้ยาไม่เป็นผล โดยมีจุดประสงค์ในการรักษาเพื่อทำให้สีผิวมีความสม่ำเสมอ
- การรักษาทางเลือก จากการศึกษาวิจัยพบว่า แปะก๊วย (Ginkgo Biloba) มีส่วนช่วยให้เกิดการสร้างเม็ดสีผิวอีกครั้งในผู้ป่วยโรคด่างขาวที่มีการแพร่กระจายช้า และพบว่ากรดโฟลิกและวิตามิน บี 12 ร่วมกับแสงแดด อาจช่วยคืนให้เกิดสีผิวกลับมาใหม่ได้ในผู้ป่วยบางราย แต่อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่กำลังใช้รักษาอยู่
ผู้ป่วยโรคด่างขาวอาจเพิ่มความเสี่ยง ดังต่อไปนี้
- เนื่องจากผู้ป่วยโรคด่างขาวจะขาดเม็ดสีผิว (Melanin) จึงทำให้ผิวมีความไวต่อแสงแดดหรือถูกแดดเผาได้ง่าย รวมไปถึงมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังเพิ่มขึ้น
- เกิดปัญหากับดวงตา เช่น ม่านตาอักเสบ
- อาจทำให้สูญเสียการได้ยินบางส่วนหรือหูตึง
- ผลข้างเคียงจากการรักษา เช่น ผิวแห้งและคัน
- เกิดความทุกข์ใจหรือเสียความมั่นใจ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคด่างขาวที่เกิดรอยด่างขาวบริเวณผิวหนังที่มองเห็นได้ง่าย
เนื่องจากไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคด่างขาวได้ แต่ผู้ป่วยอาจสามารถดูแลให้ผิวหนังที่เกิดอาการดูดีขึ้นหรือไม่ให้เกิดอาการที่แย่ลง ด้วยวิธีต่อไปนี้
- ปกป้องผิวจากแสงแดดและรังสียูวี (UV) ด้วยการใช้ครีมกันแดดที่มีค่าป้องกันแสงแดด (SPF) อย่างน้อย 30 ขึ้นไป ควรใช้เป็นประจำและทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง หรือใช้บ่อยขึ้นหากต้องว่ายน้ำหรือมีเหงื่อออกมาก นอกจากนั้นอาจสวมใส่เสื้อผ้าที่ช่วยปกป้องผิวจากแสงแดด เพราะการถูกแดดเผาอาจทำให้อาการแย่ลงได้ ที่สำคัญครีมกันแดดยังช่วยให้สีผิวไม่คล้ำลง ทำให้ความแตกต่างของสีผิวปกติกับสีผิวเกิดด่างขาวไม่แตกต่างกันเกินไป
- ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยปกปิดผิว เช่น เครื่องสำอาง ช่วยให้บริเวณผิวที่ปรากฏด่างขาวดูดีขึ้นและช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกมั่นใจขึ้นได้ ควรทดลองใช้ให้หลากหลายยี่ห้อจนกว่าจะเจอที่เหมาะสมกับตนเอง
- หลีกเลี่ยงการสักลายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคด่างขาว เพราะเสมือนเป็นการทำร้ายผิว และอาจทำให้เกิดรอยด่างขาวใหม่ขึ้นภายใน 2 สัปดาห์
- ติดต่อกับแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านผิวหนังที่มีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้เป็นอย่างดี ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาจะทำให้ผู้ป่วยสามารถขอคำปรึกษาได้อย่างทันท่วงที
- พยายามเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และศึกษาทางเลือกในการรักษาให้มากที่สุด เพื่อจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถตัดสินใจหรือปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง
- ควรเล่าหรือระบายความรู้สึกที่เกิดขึ้นให้แพทย์ฟัง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า เพราะแพทย์จะสามารถแนะนำหรือส่งตัวไปให้ผู้ให้บริการทางด้านสุขภาพจิตได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับภาวะซึมเศร้าได้
- เข้าร่วมกลุ่มที่ให้ความช่วยเหลือและให้คำแนะนำเกี่ยวกับโรคด่างขาว ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยได้ติดต่อพูดคุยเพื่อขอคำแนะนำต่าง ๆ กับผู้ป่วยที่เป็นโรคด่างขาวคนอื่นได้
- ควรให้คนในครอบครัวหรือเพื่อนที่ไว้ใจมีความเข้าใจในตัวผู้ป่วย เพราะความเข้าใจและการสนับสนุนจากคนในครอบครัวและเพื่อนเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขต่อไป